รวมโรคมือยอดฮิต ที่รบกวนชีวิตคนยุคดิจิทัล

ปัจจุบันแม้โลกจะเต็มไปด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทันสมัย ที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่ท่ามกลางความก้าวล้ำดังกล่าวก็แฝงมาด้วยอันตรายที่พร้อมจะทำลายความสุขในการใช้ชีวิตได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือได้ว่าอยู่ใกล้ตัวใกล้มือของเรามากๆ โดยอันตรายที่ว่านั้นก็คือ กลุ่มโรคข้อมือ ข้อนิ้วที่เกิดจากการเล่นโซเชียลมีเดีย ใช้งานโทรศัพท์ แท็บเล็ต รวมถึงใช้มือทำงานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จนทำให้ส่งผลเสียต่อนิ้วและข้อมือของเราในที่สุด ซึ่งโรคในกลุ่มนี้แม้จะไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้แก้ไขรักษา ก็อาจทำให้คุณภาพและความสุขในการใช้ชีวิตลดลงได้ ทำให้เราไม่สามารถทำกิจกรรมด้วยมือที่ถนัดได้อย่างที่ใจต้องการ

3 โรคมือที่พบบ่อย ควรคอยหมั่นสังเกตอาการให้ดี

โรคที่เกี่ยวกับมือและนิ้วในปัจจุบันที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้มือเล่นโซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือ ไอแพด หรือพิมพ์งานจากโน๊ตบุ๊ค จนเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณรอบๆ ข้อมือข้อนิ้ว มีอยู่ด้วยกันหลายโรค แต่มี 3 โรคที่เป็นกันได้ง่ายและพบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้หญิงและคนทำงานจนถึงวัยกลางคน ได้แก่

โรคนิ้วล็อ

เป็นโรคที่มีอาการปวดบริเวณนิ้วมือ โดยอาจพบปวดเพียงนิ้วเดียวหรือมากกว่าก็ได้ เมื่อเป็นมากขึ้น นิ้วจะเริ่มฝืด เริ่มมีอาการสะดุด (Triggering) และตามด้วยถึงขั้นล็อค (Locking) คือนิ้วเริ่มงอ หรือเหยียดได้ไม่สุด เคลื่อนไหวได้น้อยลงกว่าปกติ จนอาจต้องใช้อีกมือหนึ่งช่วยดึงง้างให้หายจากอาการล็อค และรุนแรงสุดอาจทำให้นิ้วติดอยู่ในท่าที่งอจนไม่สามารถเหยียดได้ โดยส่วนมากแล้วจะพบเป็นที่นิ้วนางและนิ้วหัวแม่มือบ่อยที่สุด เพราะเป็นนิ้วที่ใช้งานคู่กันในการถือโทรศัพท์ สไลด์หน้าจอ ทั้งยังใช้ในการกำ บีบ สำหรับผู้หญิงอาจพบภาวะนิ้วล็อคได้จากการใช้มือในการหิ้วของ บิดผ้าซ้ำๆ ได้เช่นกัน

โรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท

เกิดจากการใช้เส้นเอ็นนิ้วมือซ้ำๆ จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้นบริเวณข้อมือที่อยู่บริเวณเดียวกับโพรงเส้นประสาทข้อมือ ทำให้เกิดการกดเบียดเส้นประสาทและอาจมีพังผืดเกิดขึ้นได้ ซึ่งเมื่อมีพังผืดเกิดขึ้นรัดเส้นประสาทจึงทำให้มีอาการชา โดยเฉพาะบริเวณที่มีเส้นประสาทไปเลี้ยง เช่น นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางบางส่วน นอกจากอาการชาแล้วอาจพบมีความรู้สึกซ่าเหมือนถูกเข็มทิ่มยิบ ๆ คล้ายกับเวลาเป็นเหน็บร่วมด้วย รวมถึงมีอาการปวดได้เช่นกัน ซึ่งอาจพบอาการปวดชาได้ในตอนกลางคืนทำให้รบกวนการนอนหลับได้

โรคเอ็นข้อมืออักเสบ

เป็นการอักเสบบริเวณเอ็นด้านข้างของข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งมักเป็นอาการที่เป็นผลมากจากการใช้นิ้วหัวแม่มือถือโทรศัพท์นานๆ หรือใช้สไลด์หน้าจอบ่อยๆ เช่น ขณะดูคลิปหรือเล่นเกมส์ จนทำให้เอ็นบริเวณโคนนิ้วโป้งและข้อมือด้านนั้นเกิดการอักเสบ และอาจมีพังผืดตามมาที่ปลอกหุ้มเอ็นได้ ซึ่งอาการของโรคนี้คือความปวดที่บริเวณข้อมือด้านฝั่งโคนนิ้วหัวแม่มือ โดยจะยิ่งปวดมากขึ้นเวลาขยับใช้ข้อมือ และนิ้วหัวแม่มือ

รักษาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคมือ

การรักษาโรคข้อมือและนิ้วยอดฮิตทั้ง 3 โรค อันได้แก่ นิ้วล็อค พังผืดข้อมือทับเส้นประสาท และเอ็นข้อมืออักเสบ จะมีแนวทางที่คล้ายกัน คือ พิจารณาว่าสาเหตุการเจ็บปวดนั้นเกิดจากพฤติกรรมการใช้มือแบบใด เช่น บางคนเกิดจากการใช้โทรศัพท์เยอะ บางคนเล่นเกมส์หนัก บางคนมีการหิ้วของหนักๆ ทุกวันร่วมด้วย ฯลฯ ซึ่งเมื่อทราบลักษณะพฤติกรรมการใช้มือแล้ว อันดับแรกสุดของการรักษาคือ การปรับลดพฤติกรรมการใช้มือที่เสี่ยงเหล่านั้นลง เพื่อลดการใช้เส้นเอ็น ข้อมือ ข้อนิ้วซ้ำๆ

นอกจากการปรับพฤติกรรมแล้ว อาจใช้อุปกรณ์ประคองบริเวณข้อมือนิ้วมือที่มีอาการให้อยู่นิ่ง เพื่อช่วยลดการใช้งานได้ รวมถึงการแช่น้ำอุ่นช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาลดอาการอักเสบบริเวณเส้นเอ็นหรือเส้นประสาท ซึ่งหากปรับพฤติกรรมแล้ว ทานยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ลำดับการรักษาต่อไปอาจพิจารณาการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดอาการอักเสบเฉพาะจุด แต่หากอาการรุนแรง รบกวนการใช้งานมากขึ้น หรือพบว่ามีพังผืดแข็งเยอะและเป็นมานานอาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคมือ

แนวทางในการดูแล ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคข้อมือและนิ้วยอดฮิตในยุคปัจจุบันนั้น สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้

  1. ต้องสำรวจเพื่อให้เข้าใจไลฟ์สไตล์การใช้มือของตัวเองและรู้ตัวว่ามีการใช้มือที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีท่าไหนบ้างที่ใช้ซ้ำๆ นานๆ ที่อาจเสี่ยงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคข้อมือและนิ้วได้
  2. เมื่อทราบถึงพฤติกรรมการใช้มือที่ไม่ถูกต้องแล้ว ต้องพยายามปรับลด ปรับท่าทาง เปลี่ยนสลับมือ หรือหาอุปกรณ์ช่วย เช่น ที่วางโทรศัพท์ ใช้หูฟังแทนการถือโทร เพื่อให้มือได้พัก
  3. ควรหลีกเลี่ยงการบริหารต่างๆ เช่น การกำลูกบอล เพราะในความเป็นจริงแล้วโรคข้อมือและนิ้วนั้น เมื่อเป็นหรือมีอาการแล้วควรได้รับการหยุดพักมือมากกว่า การบริหารที่เข้าใจว่าจะช่วยให้มือแข็งแรงขึ้นนั้น อาจเป็นการซ้ำเติมให้มีการอักเสบมากขึ้นได้ เพราะเส้นเอ็น นิ้ว ข้อมือจะถูกใช้งานหนักมากขึ้น
  4. หากพบว่าอาการปวด ชา เจ็บ ซึ่งคาดว่าอาจเป็นอาการหนึ่งของโรค ไม่ดีขึ้นเมื่อได้ปรับการใช้งานดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา

หากจะบอกให้เราเลิกใช้มือถือในยุคดิจิทัลนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่แม้ว่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องถือมือถือ ใช้มือทำงานกับมือถือ ไอแพด หรือคอมพิวเตอร์มากเพียงใด เราก็ต้องปรับลดการใช้มือลง ต้องมีการเว้นให้มือได้พักการใช้งานบ้าง เพื่อให้ข้อมือและนิ้วของเรายังแข็งแรงและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากสังเกตพบอาการต้องสงสัย เช่น เจ็บ ปวด ชา หรือมีอาการล็อค เหยียด งอ ลำบาก ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื้อรังไม่หาย ก็ไม่ควรชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้เราสามารถกลับไปใช้มือทำกิจกรรม สร้างความสุขในชีวิตได้อย่างคล่องแคล่ว ราบรื่นไม่มีสะดุดอีกครั้งโดยเร็ว

จันทร์, 18 ต.ค. 2021
แท็ก
นิ้วล็อค
เอ็นข้อมืออักเสบ
ปวดข้อมือ
ปวดมือ
ปวดนิ้ว
ปวดนิ้วหัวแม่โป้ง
ปวดโคนนิ้ว
พังผืดข้อมือ
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
การผ่าตัดคลายพังผืดที่กดทับเส้นประสาทที่ข้อมือผ่านการส่องกล้อง แผลเล็ก อยู่ในตำแหน่งข้อมือ ซึ่งไม่ขัดขวางการใช้งานของมือ ทำให้ฟื้นตัวกลับไปใช้งานได้เร็ว...
package 61,500* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
การผ่าตัดคลายปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือ เพื่อรักษาอาการเจ็บ นิ้วงอเหยียดสะดุดจากโรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมือ ข้อมือ และเเขน...
package 18,500* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
บทความอื่นๆ
อาการชาปลายนิ้วมือ สัญญาณอันตรายระบบประสาท ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ
อาการชาปลายนิ้วมือ สัญญาณอันตรายระบบประสาท ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ
Ganglion Cyst ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ เกิดจากอะไร พร้อมแนวทางรักษา
Ganglion Cyst ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ เกิดจากอะไร พร้อมแนวทางรักษา
รู้เท่าทันอาการ Tennis Elbow คืออะไร หาสาเหตุพร้อมวิธีรักษา
รู้เท่าทันอาการ Tennis Elbow คืออะไร หาสาเหตุพร้อมวิธีรักษา
กระดูกต้นแขนหัก กับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และแนวทางการรักษา
กระดูกต้นแขนหัก กับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และแนวทางการรักษา
top line line