อาการปวดสะบักหลังคืออะไร มีวิธีแก้อย่างไรบ้าง

ปวดสะบักหลัง

อาการปวดสะบักหลัง ถือเป็นหนึ่งในอาการปวดที่พบได้บ่อยในหมู่ชาวออฟฟิศ หรือกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จึงส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาได้ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นสาเหตุของการปวดสะบักหลังก็ยังแบ่งออกได้เป็นอีกหลายประการด้วย โดยแต่ละสาเหตุก็มีความอันตรายรุนแรงมากน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้น การทำความรู้จักอาการปวดสะบักหลังเอาไว้ จะช่วยทำให้เราสังเกตอาการและสามารถดูแลตัวเองให้ปลอดภัยได้มากขึ้น หรือเข้ารับการรักษาให้หายดีรวดเร็ว จนกลับมานั่งทำงานได้แบบไม่ปวดหลัง และมีความสุขกับการทำงานได้อย่างเต็มที่

Table of Contents

สะบักหลังคืออะไร รู้จักไว้เพื่อให้เข้าใจอาการปวดสะบักหลังได้ดียิ่งขึ้น

สะบักหลังคืออะไร รู้จักไว้เพื่อให้เข้าใจอาการปวดสะบักหลังได้ดียิ่งขึ้น

ก่อนจะทำความเข้าใจอาการปวดสะบักหลังได้ดีขึ้นนั้น เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่า “สะบักหลัง คืออะไร” โดยหากพิจารณาตามสรีระด้านหลังของคนเราแล้ว ตรงบริเวณหัวไหล่ของเราทุกคนจะมีกระดูกที่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมอยู่ ซึ่งก็จะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ข้าง ทั้งซ้ายและขวา ตรงบริเวณกระดูกสามเหลี่ยมที่ว่านี้เองที่เรียกว่า “สะบักหลัง” แต่อย่างไรก็ตาม เวลาคนไข้มาพบแพทย์ คนไข้บางรายก็มักจะบอกว่า “ปวดหลังด้านบน” หรือบางรายก็จะบอกว่า “ปวดหัวไหล่” ซึ่งแพทย์ก็จำเป็นจะต้องมาทำการซักประวัติตรวจร่างกายและดำเนินการวินิจฉัยอีกครั้งว่า สรุปแล้วคนไข้มีการปวดสะบักหลังจริงหรือไม่ หรือเป็นอาการปวดบริเวณอื่น ๆ เพราะบ่อยครั้งอาการปวดสะบักหลังก็มักมาร่วมกันกับอาการปวดบ่า ปวดคอ ได้ด้วยเช่นกัน

สาเหตุใดบ้างที่ทำให้ปวดสะบักหลัง

สาเหตุใดบ้างที่ทำให้ปวดสะบักหลัง

อาการปวดสะบักหลังนั้น สามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดได้หลายประการด้วยกัน ซึ่งก็จะเกี่ยวพันกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนว่ามีการใช้ชีวิตมาแบบไหนบ้าง ผ่านเหตุการณ์อะไรที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณหลังและสะบักมาบ้าง โดยสามารถแบ่งสาเหตุหลัก ๆ ของการปวดสะบักหลังมีดังต่อไปนี้

1. อาการปวดสะบักหลังที่มาจากกล้ามเนื้อมีปัญหา 

การปวดสะบักหลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อถือเป็นสาเหตุของอาการปวดสะบักหลังที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ สะบักหลัง ตลอดจนกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ เกิดการใช้งานอย่างหนักจนยึดตึง หรือถูกกระแทก ถูกชน ก็จะทำให้เกิดอาการปวดได้ในที่สุด

2.อาการปวดสะบักหลังที่เกิดจากกระดูกมีปัญหา 

สำหรับการปวดสะบักหลังที่เกิดจากกระดูก อาจมีปัญหาเรื่องกระดูกบริเวณคอ กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือมีภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จนทำให้เส้นประสาทบริเวณกล้ามเนื้อสะบักหลังตึง หรืออักเสบ ก็จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวที่สะบักหลังได้ แต่ก็ถือว่าพบได้ไม่บ่อยมากนัก หรือถ้าพบจากสาเหตุนี้ก็มักจะเจอร่วมกันกับอาการปวดกล้ามเนื้อ

3. อาการปวดสะบักหลังที่เกิดจากกระดูกแตกหัก 

มีสาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุจนทำให้กระดูกบริเวณสะบักหลังแตกหรือหัก ซึ่งเมื่อเกิดภาวะกระดูกแตก กระดูกหัก กล้ามเนื้อก็จะต้องเกร็งเพื่อพยุงกระดูก จึงทำให้เกิดอาการปวด หรือมีแผลเกิดขึ้น 

4. อาการปวดสะบักหลังที่เกิดจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ 

นอกจากสาเหตุอื่นๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว การปวดสะบักหลังยังสามารถเกิดได้จากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นอาจเกิดได้จากโรคออฟฟิศซินโดรม หรือจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แล้วเส้นประสาทที่ถูกทับนั้นเป็นเส้นที่เชื่อมโยงไปยังบริเวณสะบักหลังพอดี ก็จะทำให้กล้ามเนื้อตึง และเกิดการปวดสะบักหลังขึ้นมาได้

พฤติกรรมแบบไหน วิถีชีวิตแบบใด เสี่ยงทำให้ปวดสะบักหลังได้ง่ายที่สุด

พฤติกรรมแบบไหน วิถีชีวิตแบบใด เสี่ยงทำให้ปวดสะบักหลังได้ง่ายที่สุด

ใครก็ตามที่ไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย แล้วต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ทุกวัน นับได้ว่ารูปแบบการใช้ชีวิตแบบนี้ มีความเสี่ยงทำให้ปวดสะบักหลังได้ง่ายมาก โดยหนึ่งในพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุหลักของอาการปวดสะบักหลังในชาวออฟฟิศ ก็คือ การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ แล้วไม่ได้ยืดเส้นยืดสายบ่อยๆ 

การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ทำให้เกิดอาการปวดสะบักหลังนั้น ก็เพราะ ในท่านั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ แขนของเราจะยื่นออกไปข้างหน้า จนทำให้ไหล่ห่อ ซึ่งในท่าทางที่ไหล่ห่อนี้เอง กล้ามเนื้อหน้าอกจะตึงในขณะที่กล้ามเนื้อหลังจะหย่อน จนทำให้กล้ามเนื้อสะบักไม่ได้ถูกออกแรงเป็นเวลานาน พอทำแบบนี้บ่อยๆ ติดต่อกัน นานวันเข้าก็กลายเป็นกล้ามเนื้อสะบักจะไม่แข็งแรง ดังนั้นเมื่อเรามีจังหวะที่ได้ออกแรงใช้กล้ามเนื้อบริเวณสะบักแม้เพียงนิดเดียวก็เสี่ยงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นได้ เช่น เมื่อกล้ามเนื้อสะบักอ่อนแออยู่แล้ว และเราไปยกของหนักๆ ที่ต้องเกร็งสะบักหลังให้ตึงเพื่อยกของขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณสะบักหลังก็จะหดตัวอย่างรวดเร็ว จนเกิดการอักเสบและปวดได้ในที่สุด

อาการปวดสะบักหลัง ไม่จำเป็นต้องปวดที่เดียว แต่ปวดตรงอื่น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยได้ด้วย

อาการปวดสะบักหลัง ไม่จำเป็นต้องปวดที่เดียว แต่ปวดตรงอื่น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยได้ด้วย

คนไข้ที่มีอาการปวดสะบักหลังนั้น อาจไม่ได้ปวดแค่สะบักหลังเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่อาจมีอีกหลายๆ อาการร่วมด้วยได้ ซึ่งบางครั้งอาการร่วมอื่นๆ ก็อาจเด่นชัดมากกว่า จนทำให้ไม่แน่ใจว่าตัวเองปวดตรงไหน หรือเป็นอะไรกันแน่ โดยอาการอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมได้กับอาการปวดสะบักหลังนั้น มีดังต่อไปนี้

  • อาการอ่อนแรง มักมีสาเหตุเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือไม่ก็เส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหลังมีปัญหา มีภาวะผิดปกติรบกวน
  • อาการชา อาจเกิดได้ทั้งจากมีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณเส้นประสาทก็ได้ หรือเกิดความผิดปกติที่ตัวกล้ามเนื้อสะบักเองก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้มีอาการชาที่มือได้ เช่น หากกล้ามเนื้อที่บริเวณพื้นสะบักมีการอักเสบ เป็นปมกล้ามเนื้อ ก็จะทำให้เกิดอาการชาลงแขนแล้วลามมาที่มือได้
  • อาการหายใจไม่เต็มอิ่ม รู้สึกอึดอัด อาจเกิดได้จากการที่กล้ามเนื้อบางส่วนของสะบักด้านในบริเวณขอบๆ สะบักหลังเกิดการอักเสบจึงทำให้รู้สึกหายใจไม่ค่อยสะดวก หายใจแล้วรู้สึกไม่ค่อยสบาย
  • อาการเจ็บในหัวไหล่ แต่อาจบอกไม่ได้ว่าเจ็บจุดไหน ซึ่งก็อาจเป็นได้ทั้งกล้ามเนื้อหัวไหล่ที่มีปัญหาหรือไม่ก็กล้ามเนื้อที่สะบักหลังมีปัญหาจนทำให้เกิดอาการเจ็บหัวไหล่ได้

แนวทางในการวินิจฉัยอาการปวดสะบักหลัง ทำได้อย่างไรบ้าง

เมื่อคนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดสะบักหลัง แพทย์จะดำเนินการซักประวัติตรวจร่างกายเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าอาการปวดสะบักหลังนั้นเกิดมาจากสาเหตุใด เพราะแนวทางในการรักษาจะแตกต่างไปตามสาเหตุของอาการปวด โดยแนวทางในการวินิจฉัยการปวดสะบักหลังนั้น มีดังต่อไปนี้

  1. ตรวจดูอาการเพื่อแยกว่าเป็นอาการปวดจากภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือภาวะไขสันหลังบาดเจ็บหรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาจากอาการชา ว่ามีลักษณะที่เป็นผลมาจากเส้นประสาทหรือไม่ ตลอดจนพิจารณาอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ แขน หรือมือด้วย
  2. ใช้การคลำเพื่อตรวจสอบว่ามีจุดที่กล้ามเนื้อติดตึงหรือไม่ เพื่อมองหาสาเหตุว่าปวดสะบักหลังเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อที่มีปัญหาหรือไม่
  3. ในกรณีตรวจเบื้องต้นจากการซักประวัติ ตรวจอาการ ร่วมกับการตรวจร่างกายแล้วยังไม่แน่ชัด หากแพทย์คาดว่าสาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหลังมีปัญหา จะพิจารณาส่งเอกซเรย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย แต่หากคาดว่าอาการปวดสะบักหลังเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือข้อต่อมีปัญหา มีภาวะเสื่อม ก็จะพิจารณาส่งตรวจ MRI เพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

รักษาอาการปวดสะบักหลังอย่างไร ให้หายดี

รักษาอาการปวดสะบักหลังอย่างไร ให้หายดี

แนวทางในการรักษาอาการปวดสะบักหลังนั้น จะแบ่งออกไปตามสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นในคนไข้แต่ละราย และขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์ว่า อาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด และเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีการหรือเครื่องมือแบบไหน ซึ่งสามารถแบ่งแนวทางในการรัษาอาการปวดสะบักหลังออกได้ ดังต่อไปนี้

วิธีรักษาอาการปวดสะบักหลังเพราะกระดูกมีปัญหา 

หากปวดสะบักหลังมีสาเหตุมาจากปัญหากระดูกแตก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือกระดูกคอมีปัญหา จนทำให้เกิดอาการปวดสะบักหลัง จะต้องได้รับการให้คำปรึกษาแนวทางการรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านโรคกระดูกโดยเฉพาะ เพื่อให้ทำการรักษาได้อย่างแม่นยำและตรงจุดมากที่สุด

วิธีรักษาอาการปวดสะบักหลังเพราะกล้ามเนื้อมีปัญหา

ในกรณีมีอาการปวดมาก แพทย์จะพิจารณาให้รับประทานยาแก้ปวด หรือให้เป็นยาทาแก้ปวดก็ได้ เพื่อบรรเทาอาการ แต่ในกรณีที่อาการปวดไม่ได้มาก ไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิต หรือคนไข้ไม่อยากรับประทานยา ก็จะมีแนวทางในการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งจะแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ

การกายภาพบำบัดเพื่อลดปวดลดอักเสบ

หากสาเหตุของอาการปวดสะบักหลังมาจากกล้ามเนื้อที่อักเสบติดตึง แพทย์จะใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น เลเซอร์ อัลตราซาวด์ การกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อลดอาการ หรือหากคนไข้มีอาการปวดสะบักหลังแบบเป็นๆ หายๆ มานาน แต่ไม่ได้มีการอักเสบรุนแรง แพทย์ก็อาจพิจารณาให้ทำ Shockwave เพื่อใช้คลื่นกระแทกเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ หรือในกรณีคนไข้มีอาการกล้ามเนื้อยึดตึงรุนแรงจนจับตัวกันเป็นก้อน แพทย์ก็อาจพิจารณาใช้การฝังเข็ม หรือ Dry Needle เข้ามาช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ยึดตึง เป็นต้น 

ทั้งนี้การเลือกใช้เครื่องมือทางการกายภาพบำบัดว่าจะใช้เครื่องมือใดนั้น จะขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้และดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ แต่หากทำกายภาพบำบัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ภายใน 1-2 เดือน หรือมีอาการแย่ลง ก็จะต้องย้อนกลับไปวินิจฉัยสาเหตุอีกครั้งว่าเกิดจากกระดูกมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องส่งพิจารณาปรึกษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกเพิ่มเติม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นอกจากการทำกายภาพบำบัดแล้ว เพื่อให้คนไข้หายปวดสะบักหลังได้จริง และไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ก็จำเป็นจะต้องมีการปรับพฤติกรรมและออกกำลังกายร่วมด้วย โดยแพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของการทำให้เสี่ยงปวดสะบักหลัง เช่น หากการใช้ชีวิตประจำวันต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ต้องยื่นมือไปข้างหน้าเพื่อพิมพ์งานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ก็อาจจะต้องปรับให้คีย์บอร์ดขยับเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเอื้อมยื่นมือไปข้างหน้ามากเกินไป ต้องปรับให้ไม่นั่งทำงานต่อเนื่องนานๆ เช่น ให้เปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 20 นาที ลุกไปทำอย่างอื่นบ้าง หรือลุกยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อบ้าง เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อขยับแล้วกลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

การออกกำลังกาย กายบริหาร

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ มีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงเกิดอาการปวดสะบักหลังได้มาก เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึง ที่ยึดจับตัวกันเป็นก้อนคลายลง โดยจุดที่ควรได้รับการกายบริหาร ได้แก่ กล้ามเนื้อที่บริเวณอก และกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหลัง โดยท่าในการใช้บริหารกล้ามเนื้อง่ายๆ นั้น ก็ใช้ท่าเดียวกันกับการบริหารกล้ามเนื้อคอและกล้ามเนื้อบ่าได้เลย เช่น นำมือขวาจับเก้าอี้ แล้วใช้มือซ้ายดันศีรษะไปทางซ้าย เป็นต้น

ตัวอย่างท่าออกกำลังกายเพื่อการเคลื่อนไหว ของสะบักหลังและยืดกล้ามเนื้อสะบักหลัง

ตัวอย่างท่าออกกำลังกายเพื่อการเคลื่อนไหว ของสะบักหลังและยืดกล้ามเนื้อสะบักหลัง

ตัวอย่างท่าออกกำลังกาย เพื่อความแข็งแรงของสะบักหลัง

ตัวอย่างท่าออกกำลังกาย เพื่อความแข็งแรงของสะบักหลัง

 

วิธีรักษาอาการปวดสะบักหลังด้วยการผ่าตัด

แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดรักษาอาการปวดสะบักหลังในกรณีที่มีสาเหตุมาจากกระดูกหัก กระดูกแตก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังมีปัญหาเท่านั้น ซึ่งก็จะต้องให้แพทย์เฉพาะทางด้านโรคกระดูกเป็นผู้วินิจฉัยก่อนว่าจำเป็นจะต้องผ่าตัดหรือไม่ แต่โดยทั่วไปแล้วหากอาการไม่ได้รุนแรงมากนัก ก็จะเริ่มรักษาจากการให้ทำกายภาพบำบัดก่อน แต่ถ้าไม่ได้ผลหรือมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ก็จะค่อยพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเป็นลำดับต่อไป

วิธีรักษาอาการปวดสะบักหลังด้วยการปฐมพยาบาลตัวเอง

เมื่อคนไข้รู้สึกเจ็บมากๆ บริเวณสะบักหลัง สามารถบรรเทาอาการเจ็บด้วยตัวเองได้โดยการประคบเย็นประมาณ 15 นาที แล้วติดตามอาการ โดยการประคบเย็นจะช่วยให้ความเจ็บคลายลงได้ ในขณะเดียวกันหากอาการที่พบมีลักษณะเป็นอาการปวดแบบตึงๆ หน่วงๆ หรือรู้สึกเมื่อยๆ บริเวณสะบักหลัง ไม่ได้เป็นอาการเจ็บรุนแรง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบอุ่นตรงจุดที่รู้สึกมีอาการ โดยให้ทำจุดละ 20 นาที ก็จะช่วยคลายความปวดตึงเมื่อยล้าลงได้

ถ้าปวดสะบักหลังอย่าปล่อยให้เรื้อรัง เพราะร่างกายส่วนอื่น ๆ อาจพังตามไปด้วย

โดยทั่วไปแล้วเมื่อกล้ามเนื้อจุดหนึ่งมีปัญหาและไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้กล้ามเนื้อจุดอื่น ๆ ทำงานหนักขึ้นและมีอาการปวดตามมาได้ ดังเช่นที่คนไข้มักบอกว่า ตอนแรกปวดแค่ที่เดียว แต่พอผ่านไปสักระยะ ก็จะลุกลามไปปวดตรงบริเวณอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ อาการปวดจะขยับลุกลาม ขยายตัวจากอาการปวดสะบักหลังตรงจุดเล็กๆ กลายไปเป็นปวดทั่วหัวไหล่ ปวดบ่า หรือปวดต้นคอตามมาได้ หากปล่อยไว้ไม่ได้ดูแลรักษา แม้อาการปวดสะบักหลังจะไม่ได้รุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเราได้ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และหากปล่อยให้อาการปวดสะบักหลังเรื้อรัง จนกล้ามเนื้อตึงมากๆ ก็อาจมีอาการชา ปวดสะบักหลังร้าวลงแขน ลงมือ จนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตหนักขึ้นเรื่อย ๆ ได้

ปวดสะบักหลังรักษาที่ไหนดี kdms พร้อมดูแลเต็มที่ด้วยแพทย์เฉพาะทาง

ที่ kdms โรงพยาบาลข้อดีมีสุข มีบุคลากรทางการแพทย์พร้อมสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่ปวดสะบักหลังโดยทางโรงพยาบาลเปิดทำการเวลา 8.00-20.00 น. เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคกระดูกและข้อโดยตรง ทำให้ไม่ว่าคนไข้จะมาด้วยอาการปวดสะบักหลังจากกล้ามเนื้อหรือว่ากระดูกมีปัญหา ก็สามารถได้รับบริการให้คำปรึกษาและรักษาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วทันที จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคกระดูกและข้อร่วมกับทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จึงช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายดีจากอาการปวดสะบักหลังได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนั้นแล้วที่ kdms ยังเน้นการรักษาอาการปวดสะบักหลังแบบ Active Rehabilitation โดยเป็นการรักษาร่วมกับการปรับพฤติกรรมและออกกำลังกาย ทำให้คนไข้ได้ Active ได้มีส่วนร่วมกับแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาตัวเอง พร้อมกับมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำกายภาพบำบัดที่ครบเครื่องและทันสมัย อาทิ RedCord Exercise เครื่องออกกำลังกายแบบแขวนพยุง และ Huber 360 Evolution เครื่องสำหรับใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพกายภาพที่ครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย เป็นต้น ซึ่งด้วยความพร้อมในทุกๆ ด้านนี้เอง จึงทำให้คนไข้ปวดสะบักหลังที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล kdms ไม่ใช่แค่หายดี แต่หายขาดและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ใช้ชีวิตทำงาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุข

อาการปวดสะบักหลังนั้น หลักๆ มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยแข็งแรง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของที่ใช้กล้ามเนื้อแบบไม่สมดุล ทำงานนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ แล้วไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ได้ยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งในความเป็นจริงสามารถป้องกันได้ด้วยตัวเองง่ายๆ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับท่านั่งให้ถูกสุขลักษณะ ขยับตัวให้บ่อยขึ้น ลุกเดิน เปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 20 นาที แทนการนั่งทำงานท่าเดียวต่อเนื่องนานๆ ประกอบกับหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งถ้าทำได้ตามแนวทางที่แนะนำนี้ โอกาสที่จะมีปัญหาเรื่องของกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหลัง รวมถึงคอ บ่า ไหล่ ก็จะลดน้อยลงไปได้มาก

แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดปวดสะบักหลัง แล้วได้ลองยืดกล้ามเนื้อ ได้ลองนวด ประคบเย็น ประคบร้อนแล้วแต่ยังไม่หาย อาการไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างตรงจุดว่าเป็นอาการปวดสะบักหลังจากสาเหตุใดกันแน่ รุนแรงมากน้อยแค่ไหน แล้ววางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องตรงจุด เพื่อให้หายดีกลับมามีชีวิตที่ไม่ถูกอาการปวดสะบักหลังรบกวนอีกต่อไป

พุธ, 29 มี.ค. 2023
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นๆ
กระดูกสันหลังเคลื่อน
กระดูกสันหลังเคลื่อนมีวิธีรักษาอย่างไรบ้างให้หายดี
ปวดสะบักหลัง
อาการปวดสะบักหลังคืออะไร มีวิธีแก้อย่างไรบ้าง
กระดูกคอเสื่อม
อาการกระดูกคอเสื่อมมีอะไรบ้าง รู้ก่อนป้องกันได้
ผ่าตัดกระดูกสันหลังEndoscope
นวัตกรรมผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope กระดูกสันหลัง “แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว”
top line

Login