บทความ /

มวลกระดูกคืออะไร ทำไมต้องตรวจ ?

กระดูกของคนเราที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอวัยวะในร่างกายที่มีความแข็งแรงที่สุด สุดท้ายแล้วก็แตกหักได้เช่นกัน ถ้าไม่ระมัดระวังดูแลตัวเองให้ดี เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่กระดูกจะแข็งแรงน้อยลงจนเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนนั้นก็มีมากเป็นไปตามธรรมชาติร่างกาย เมื่อผู้สูงอายุหกล้มหรือประสบอุบัติเหตุ จะมีโอกาสกระดูกหักเป็นอันตรายได้ง่าย และรุนแรงกว่าคนในวัยหนุ่มสาว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถวางแผนป้องกันดูแลรักษาภาวะกระดูกพรุน และลดความเสี่ยงรุนแรงจากการเกิดกระดูกหักได้ ด้วยการตรวจมวลกระดูก เพื่อให้ทราบว่ากระดูกของเราแข็งแรงมากน้อยเพียงใด

มวลกระดูกคืออะไร ทำไมต้องตรวจ?

มวลกระดูก คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงภาวะความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งประกอบไปด้วยปริมาณและคุณภาพ โดยในเชิงปริมาณนั้น หมายถึงปริมาณแร่ธาตุและสารต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นเนื้อกระดูก เช่น ปริมาณความหนาแน่นของแคลเซียม ซึ่งถ้ามีน้อยก็จะส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อย เป็นต้น ส่วนในเชิงคุณภาพนั้น คือ สภาวะของกระดูกที่มีความพรุนมากหรือน้อย โดยหากมีรูพรุนมากก็จะหมายความว่ากระดูกมีคุณภาพไม่ดี

ดังนั้น การตรวจภาวะของมวลกระดูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบได้ว่า กระดูกของเราแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน เกิดภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ หรือมีความหนาแน่นของแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ ที่ทำให้กระดูกแข็งแรงลดน้อยลงมากแค่ไหน อันนำไปสู่การวางแผนดูแลรักษากระดูกให้แข็งแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการตรวจมวลกระดูก ง่าย ไว ไม่มีอะไรน่ากลัว

หลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้สูงวัย พอเอ่ยถึงการตรวจร่างกายแล้ว ก็มักมีความกังวล กลัวเสี่ยงเป็นอันตราย ทำให้เลือกตัดสินใจที่จะไม่เข้ารับการตรวจคัดกรอง ทั้งนี้ สำหรับการตรวจมวลกระดูกนั้น วิธีที่ใช้เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน คือการตรวจผ่านเครื่อง DXA Scan ซึ่งหลักการทำงานจะคล้ายกันกับเครื่องเอกซเรย์ โดยจะวัดค่าความสมบูรณ์ของมวลกระดูกจาก 2 ตำแหน่งหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ กระดูกสะโพก และ กระดูกสันหลังส่วนเอว เพราะ 2 บริเวณนี้มักเป็นจุดเกิดเหตุกระดูกยุบหักบ่อยที่สุด จึงใช้ค่าความสมบูรณ์ของมวลกระดูก 2 จุดนี้เป็นค่าอ้างอิงในการประเมินว่าผู้เข้ารับการตรวจมวลกระดูก มีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ รวมระยะเวลาในการตรวจจนถึงทราบผลแล้วประมาณ 10-15 นาที เท่านั้น

ผลจากการตรวจมวลกระดูก บ่งบอกอะไรเราได้บ้าง?

เมื่อตรวจมวลกระดูกเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะต้องเป็นผู้วิเคราะห์อ่านค่าและประเมินผลให้ เนื่องจากการอ่านค่ามวลกระดูกมีความซับซ้อน โดยผลของการตรวจวัดค่ามวลกระดูกนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  • มวลกระดูกปกติ หมายถึง กระดูกมีความแข็งแรงสมบูรณ์ดี
  • มวลกระดูกอยู่ในภาวะกระดูกบาง หรือ Osteopenia หมายถึง กระดูกเริ่มมีภาวะพร่องความแข็งแรง โดยอาจเป็นผลมาจากการขาดแคลเซียม ซึ่งแพทย์จะแนะนำการดูแลให้เหมาะสมตามสภาพมวลกระดูกของแต่ละบุคคล
  • มวลกระดูกอยู่ในภาวะกระดูกพรุน หรือ Osteoporosis หมายถึง เป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ตามความเหมาะสม โดยอาจใช้ยาเสริมสร้างกระดูก หรือลดการสลายของกระดูก เป็นต้น

การตรวจมวลกระดูกทำให้เราทราบสภาวะความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการวางแผนดูแลรักษาและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะกระดูกพรุน ซึ่งหากเราไม่ได้ตรวจมวลกระดูกเลย ก็จะไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุนอยู่ ทำให้หากเกิดอุบัติเหตุ หรือหกล้ม แม้จะไม่ได้รุนแรง ก็เสี่ยงกระดูกหักสูงกว่าคนที่มีภาวะมวลกระดูกปกติมากถึง 6-10 เท่า ดังนั้น การตรวจมวลกระดูกในกลุ่มผู้สูงวัย จึงสำคัญมากเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกหักให้น้อยลง

ใครบ้างที่ควรตรวจมวลกระดูก

โดยพื้นฐานแล้ว มวลกระดูกของคนเราจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน และในผู้ชายที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อถึงเกณฑ์ดังกล่าว ร่างกายจะสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งปัจจัยเรื่องฮอร์โมนเพศของผู้หญิงนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียมวลกระดูกโดยตรง จึงทำให้ผู้หญิงเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเตรียมตัวตรวจมวลกระดูก ให้คัดกรองภาวะกระดูกพรุนได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที สามารถแนะนำผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์ได้ดังต่อไปนี้

  • เพศหญิงตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป และเพศชายอายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ แต่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูก มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์ ในการรักษาโรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ หรือ โรค SLE เพราะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้เร็วกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเร็วกว่าอายุ 45 ปี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยมาก มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19

โดยส่วนใหญ่แล้ว การตรวจมวลกระดูกจะทำในผู้สูงอายุ สำหรับวัยหนุ่มสาวทั่วไปอาจไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ เพราะมีความเสี่ยงกระดูกพรุนน้อยมาก หรือสำหรับในนักกีฬาที่มีการใช้ร่างกายหนัก ๆ ก็เช่นกัน ที่อาจไม่จำเป็นต้องตรวจมวลกระดูก เพราะในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสม กระดูกจะยิ่งมีความแข็งแรงมากขึ้น แต่การออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาเรื่องข้อต่อ และการบาดเจ็บอื่น ๆ มากกว่า แต่ไม่ได้ส่งผลต่อภาวะกระดูกพรุนแต่อย่างใด

ใช้ชีวิตอย่างไร เสี่ยงทำให้กระดูกพรุนไวขึ้น

ในแง่ของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม อาทิ นมวัว ปลา ผักคะน้า ผักใบเขียว ฯลฯ ถือเป็นวิถีชีวิตที่จะช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรง และชะลอการลดลงของมวลกระดูกได้ดี ในขณะที่การไม่ค่อยออกกำลังกาย อยู่เฉย ๆ ไม่ค่อยทำกิจกรรมออกแรง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มกาแฟหนัก ๆ มากกว่าวันละ 6 แก้วขึ้นไป ฯลฯ วิถีชีวิตแบบนี้จะเสี่ยงทำให้ร่างกายสูญเสียมวลกระดูกเร็วขึ้น และเสี่ยงต่อภาวะกระพรุนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสำหรับใครที่แพ้นม หรือไม่ชอบทานนม ไม่ชอบทานผัก ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารของตนเองให้เหมาะสมมากขึ้น เพิ่มปริมาณอาหารที่ให้แคลเซียม เพื่อชะลอการสูญเสียมวลกระดูก

โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบสำหรับผู้สูงอายุทุกคน ซึ่งแท้จริงแล้วสามารถป้องกันและรักษาได้ โดยการตรวจมวลกระดูก เพื่อคัดกรองดูว่ากระดูกของเราอยู่ในสภาวะแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน เพื่อวางแผนในการดูแลรักษาให้เหมาะสม อันจะนำไปสู่การลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักรุนแรงได้ ดังนั้น สำหรับผู้สูงอายุทุกคน หรือ หากเราต้องการดูแลคุณพ่อคุณแม่ ญาติผู้สูงอายุ ให้ท่านมีคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีล่ะก็ การพาผู้สูงอายุใกล้ชิดเข้ารับการตรวจมวลกระดูกเมื่อถึงเกณฑ์ และหมั่นตรวจเป็นประจำทุก 1-2 ปี จะช่วยให้รับมือกับโรคกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตในบั้นปลายนั้นมีความปลอดภัยและมีความสุขได้มากขึ้น

อังคาร, 25 ม.ค. 2022
แท็ก
มวลกระดูก
กระดูกบาง
กระดูกพรุน
ตรวจมวลกระดูก

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope  แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว รักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง...
package 346,000* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
ผ่าตัดส่องกล้อง MIS TLIF 1 ระดับ เพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง  ...
package 416,000* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
รักษาโรคทางกระดูกสันหลังด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังโดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง...
package 35,000* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
บทความอื่นๆ
top line

Login