ข้อเท้าหักต้องรักษาอย่างไร ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง
“อาการข้อเท้าหัก” เป็นการบาดเจ็บที่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งมีตั้งแต่อุบัติเหตุรุนแรงน้อย ไปจนถึงอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก ส่งผลให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือกระดูกบริเวณข้อเท้าได้รับความเสียหาย บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นที่กระดูกข้อเท้าหัก ก่อให้เกิดอาการปวด และบวม ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวตามมาได้
ดังนั้น บทความนี้จะชวนไปทำความรู้จักกับสาเหตุของข้อเท้าหักว่าเกิดจากอะไรบ้าง มีวิธีการรักษาแบบใด รวมถึงแนวทางในการฟื้นฟูเพื่อให้กระดูกบริเวณนั้นกลับมาใช้งานได้ดังเดิม
Table of Contents
Toggleสาเหตุที่ทำให้ข้อเท้าหัก
ปัญหาข้อเท้าหักถือเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกที่พบเจอได้ค่อนข้างบ่อย เรียกว่าเป็นอันดับต้นๆ ที่พบเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญเป็นปัญหาที่สามารถพบได้ในทุกเพศ และทุกวัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเปราะบางของกระดูก โดยสาเหตุที่ทำให้ข้อเท้าหักนั้น สามารถแบ่งกลุ่มสาเหตุออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้
- อุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าพลิก เป็นอุบัติเหตุแบบรุนแรงน้อย (Low Injury Trauma) เกิดได้จากอุบัติเหตุหลายๆ อย่าง เช่น พลัดตกบันได ก้าวพลาดในบริเวณที่พื้นมีความต่างระดับ และการสะดุดล้ม
- อุบัติเหตุทางกีฬา เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นกีฬา ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเล่นกีฬาทุกประเภท แต่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ กับกีฬากลุ่มที่มีการปะทะระหว่างแข่งขัน เช่น ฟุตบอล หรือบาสเกตบอล เป็นต้น เมื่อมีการชน หรือกระแทกกันระหว่างผู้เล่นอาจทำให้ล้มลงผิดท่าจนทำให้ข้อเท้าพลิก หรือข้อเท้าหักได้
- อุบัติเหตุรุนแรง (High injury Trauma) เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าหักหรือกระดูกข้อเท้าหักได้
อาการข้อเท้าหักมีอะไรบ้าง
เมื่อกระดูกข้อเท้าหัก อาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการหัก แต่อาการส่วนใหญ่ ที่สามารถพบได้บ่อยๆ มีดังนี้
- มีอาการปวด รวมถึงมีอาการบวมร่วมด้วย
- ไม่สามารถลงน้ำหนักที่ข้อเท้าข้างที่หักได้
- ไม่สามารถเดิน หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้เหมือนเดิม
ทั้งนี้ บางครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าพลิก อาจไม่ได้บ่งบอกว่าจะมีข้อเท้าหักหรือกระดูกข้อเท้าหักเสมอไป โดยอาการของข้อเท้าพลิกนั้นจะมีอาการปวดและบวมเหมือนกับอาการข้อเท้าหัก แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ ผู้ที่ข้อเท้าพลิกจะสามารถลงน้ำหนักได้บ้าง แม้จะรู้สึกเจ็บปวดในบริเวณดังกล่าว
รูปแบบของข้อเท้าหัก
ข้อเท้าหัก (Broken Ankle) หรือกระดูกข้อเท้าหัก (Ankle Fracture) นั้นมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ หากข้อเท้าหักอย่างเดียว ข้อเท้าจะไม่ผิดรูปมากนัก แต่หากมีปัญหาข้อเท้าหัก และกระดูกเคลื่อนร่วมด้วย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าข้อเท้าผิดรูปมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถลงน้ำหนักเท้าข้างที่ข้อเท้าหัก หรือข้างที่บาดเจ็บได้ เมื่อเอกซเรย์ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากระดูกมีรอยหัก
เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าพลิก! นอกจากข้อเท้าหัก สามารถเป็นอะไรได้อีกบ้าง?
เมื่อเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก นอกจากปัญหาข้อเท้าหักหรือกระดูกข้อเท้าหักที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถเกิดปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด หรือบวมบริเวณข้อเท้า รวมถึง ขยับข้อเท้า หรือเดินได้อย่างยากลำบากอีกด้วย เช่น
- เส้นเอ็นอักเสบฉีกขาด (Ankle Sprain หรือ Syndesmotic Sprain) เมื่อเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก เส้นเอ็นอาจเกิดการฉีกขาด ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดบวมบริเวณข้อเท้า โดยที่กระดูกไม่แตกหัก หากมีการวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์ ในภาพถ่ายรังสีจะไม่ปรากฏรอยหักของกระดูกข้อเท้า
- เอ็นร้อยหวายฉีกขาด (Achilles Tendon Rupture) ขณะที่เกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก เอ็นร้อยหวายจะเกิดการกระชาก และฉีกขาด บางครั้งอาจจะได้ยินเสียงดัง “ก๊อก” ในตอนที่บาดเจ็บ โดยผู้ป่วยจะมีจุดเจ็บบริเวณด้านหลังของข้อเท้า และอาการปวดร่วมด้วย สำหรับผู้ที่มีอาการเอ็นร้อยหวายฉีกขาดจะเดินไม่ค่อยได้ เพราะแรงถีบหายไป หากวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์ ในภาพถ่ายรังสีจะไม่ปรากฏรอยหักของกระดูก
- ข้อเคลื่อนหลุด (Subtalar Dislocation) อีกหนึ่งอาการที่พบได้เมื่อข้อเท้าเกิดการพลิก คือ อาการข้อต่อเคลื่อนหลุด โดยข้อเท้าจะบิดค้างอยู่ในท่านั้นๆ ทำให้เหยียดตรง หรือลงน้ำหนักไม่ได้ เมื่อทำการเอกซเรย์ก็จะเห็นว่าข้อเคลื่อนผิดรูป ซึ่งแพทย์จะทำการจัดข้อเท้าให้เข้าที่
วิธีปฐมพยาบาลหลังเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเท้า
เมื่อเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเท้า ควรทำการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงไปมากกว่าเดิม ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งหลังจากเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเท้าสามารถทำการปฐมพยาบาลได้ ดังนี้
- เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าให้หยุดการใช้งานในบริเวณที่บาดเจ็บ ไม่ลงน้ำหนักไปยังบริเวณขาข้างนั้นๆ
- หากพบว่าข้อเท้าหักหรือกระดูกข้อเท้าหัก ควรหาอุปกรณ์สำหรับดาม ไม่ว่าจะเป็น ไม้กระดานแบนๆ หรือกระดาษแข็ง โดยใช้ผ้าพันทั้งด้านข้าง และด้านล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณที่บาดเจ็บเคลื่อนที่
- ระหว่างเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาล ควรระวังไม่ลงน้ำหนักข้างที่บาดเจ็บ และป้องกันไม่ให้บริเวณนั้นได้รับการกระทบกระเทือน รวมถึงไม่ควรเคลื่อนไหวด้วย
- นอกจากนี้ ควรประคบเย็น และยกขาให้สูง เพื่อช่วยลดอาการปวดและบวม
ขั้นตอนการวินิจฉัย
เมื่อเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเท้า หากไม่แน่ใจว่าข้อเท้าหักหรือกระดูกข้อเท้าหัก หรือเพียงแค่ข้อเท้าแพลง จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งแพทย์จะมีขั้นตอนและการวินิจฉัย ดังนี้
- ซักประวัติ โดยแพทย์จะถามประวัติส่วนตัว และอาการเจ็บป่วย
- ตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะทำการตรวจบริเวณข้อเท้าว่ามีอาการอย่างไรบ้าง
- X-ray เพื่อหาตำแหน่งและความรุนแรงของการแตกหัก
- MRI หรือ CT-Scan หากต้องการข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม แพทย์อาจพิจารณาทำการตรวจด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) หรือ CT-Scan เพิ่มเติม
การรักษาข้อเท้าหัก ที่ช่วยให้กลับมาเดินได้อย่างมั่นใจ
สำหรับการรักษาข้อเท้าหัก หรือกระดูกข้อเท่าหักนั้นจะขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ โดยแพทย์จะวินิจฉัยและเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของคนไข้มากที่สุด ซึ่งการรักษาข้อเท้าหักนั้นจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ การรักษาแบบไม่ผ่าตัด และการรักษาแบบผ่าตัด ดังนี้
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาข้อเท้าหักแบบไม่ผ่าตัด จะเป็นการใส่เฝือกเพื่อประคองกระดูก ให้กระดูกข้อเท้าที่หักติดสนิท ส่วนใหญ่แล้วจะใช้รักษาในกรณีที่กระดูกข้อเท้าหัก แต่ไม่มีการเคลื่อนที่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ – 2 เดือน กว่ากระดูกจะกลับมาติดกันสนิท
โดยในกรณีนี้ ผู้ป่วยจะไม่สามารถถอดเฝือกได้ และจำเป็นต้องเข้ารับการเปลี่ยนเฝือกประมาณทุก 2 สัปดาห์ หรือตามการนัดของแพทย์
การรักษาแบบผ่าตัด
การรักษาข้อเท้าหักแบบการผ่าตัด จะเป็นการผ่าตัดเพื่อให้กระดูกกลับไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะใส่เหล็กยึดไว้ด้านใน เพื่อให้กระดูกเข้าที่ พร้อมทั้งใส่เฝือกด้านนอกบริเวณด้านหลังเพื่อช่วยประคองอีกที ซึ่งใช้เวลาในการรักษาพอๆ กับการรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือ ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ – 2 เดือน เพื่อช่วยให้กระดูกติด
แต่ในกรณีที่รักษาด้วยการผ่าตัดนั้น จะสามารถถอดเฝือกออกได้บางช่วงเวลา เพื่อทำกายภาพบำบัด ทั้งนี้ ช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์แรก หรือก่อนตัดไหม ผู้ป่วยต้องระมัดระวังไม่ให้บาดแผลโดนน้ำ
หลังผ่าตัดดูแล รักษาอย่างไรให้ฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ไว
ในช่วงที่รักษาอาการกระดูกข้อเท้าหัก ทำให้ร่างกายในส่วนนั้นไม่มีการเคลื่อนไหว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ จากการที่ขาดการออกแรงในการเดิน ซึ่งต้องมีการดูแล และฟื้นฟูร่างกายไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งแนวทางในการฟื้นฟูหลังการรักษาข้อเท้าหักด้วยการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยการผ่าตัด มีดังนี้
- เริ่มลงน้ำหนักที่ขา หลังจาก 6 สัปดาห์ที่กระดูกเริ่มสมาน และเข้าที่แล้ว ผู้ป่วยหลายๆ คนมักเจอกับปัญหากล้ามเนื้อลีบ เนื่องจากในช่วงที่ทำการรักษาไม่มีการออกแรงกล้ามเนื้อส่วนนั้น ส่งผลให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ จึงต้องกลับมาฟื้นฟูร่างกายด้วยการกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะแนะนำให้เริ่มจากการลงน้ำหนักที่ขาเพียงเล็กน้อย ก่อนจะเพิ่มปริมาณ เช่น เริ่มที่ 50% ก่อน พร้อมทั้งใช้ไม้เท้าช่วยพยุงร่วมด้วย และค่อยๆ เพิ่มการลงน้ำหนักที่ข้อเท้ามากขึ้นเรื่อยๆ เป็น 75% จนถึง 100% จนข้อเท้าเกิดความคุ้นชิน
- การดัดข้อเท้า เมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อเท้าเกิดการตึง และหดรั้ง สำหรับผู้ที่ข้อเท้าหัก ไม่ว่าจะรักษาด้วยการใส่เฝือกดาม หรือการผ่าตัด จำเป็นต้องมีการดัดข้อเท้า เพื่อช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น
- เทรนกล้ามเนื้อให้แข็งแรง อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยแก้ปัญหากล้ามเนื้อลีบ คือ การเทรนกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และมีแรงมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ด้วยกันหลายวิธี เช่น ปั่นจักร และว่ายน้ำ เป็นต้น
- ฝึกความคล่องแคล่ว ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการกลับไปเล่นกีฬา จะมีการฝึกความคล่องแคล่วในท่าการเคลื่อนไหวที่จำเป็นในกีฬาประเภทนั้นๆ
ข้อเท้าหักป้องกันได้ด้วยวิธีเหล่านี้
หากจะพูดถึงวิธีการป้องกันปัญหาข้อเท้าหักหรือกระดูกข้อเท้าหัก อาจจะทำได้ยาก เพราะส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ที่ไม่สามารถป้องกันได้ นอกจากการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังแล้ว ควรต้องมีการออกกำลังกาย บริหารข้อเท้าให้กล้ามเนื้อโดยรอบมีความแข็งแรงทั้งด้านในและด้านนอก เพื่อช่วยป้องกันข้อเท้า แม้จะไม่สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ แต่สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หากเกิดอาการบาดเจ็บก็จะช่วยลดความรุนแรงลงได้ ไม่ทำให้เจ็บหนัก
สรุป
“ปัญหาข้อเท้าหัก” เป็นอาการบาดเจ็บที่ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ ตั้งแต่อุบัติเหตุที่รุนแรงน้อยอย่าง ข้อเท้าพลิกจากการก้าวพลาดบริเวณที่พื้นต่างระดับ สะดุดล้ม และตกบันได รวมถึงอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ตลอดไปจนถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่รุนแรง ส่งผลทำให้ข้อเท้าหักหรือกระดูกข้อเท้าหัก บางครั้งอาจมีปัญหากระดูกเคลื่อนไปจากเดิม จนทำให้เท้าผิดรูปด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด ข้อเท้าบวม และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ อีกทั้งยังต้องมีการฟื้นฟูที่เหมาะสม เพื่อทำให้กลับมาเดินและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ
บทความโดย : นพ.กรกช ธรรมผ่องศรี ศัลยแพทย์ชำนาญด้านเท้า ข้อเท้า และเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่