แขนหัก ต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปล่อยไว้อาจทำให้กระดูกผิดรูป
กระดูกแขน แบ่งออกเป็นกระดูกต้นแขน (Humerus) และ กระดูกแขน (Forearm) โดยกระดูกแขนประกอบด้วยกระดูกสองส่วน คือกระดูก Radius (กระดูกฝั่งด้านนิ้วหัวแม่มือ) และกระดูก Ulna (กระดูกฝั่งนิ้วก้อย) และลักษณะของแขนหัก สามารถเกิดได้ทั้งแบบ แขนหักตำแหน่งต้น แขนหักตำแหน่งกลาง และแขนหักตำแหน่งปลาย
กระดูกแขนหักตำแหน่งกลาง สามารถหักได้หลายรูปแบบ คือกระดูก Radius หรือ Ulna หักด้านใดด้านหนึ่ง หรือกระดูกหักทั้งสองด้าน โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากการถูกของแข็งกระแทกบริเวณแขนอย่างรุนแรง การกระแทกอุบัติเหตุทางจราจร การหกล้มแล้วใช้แขนยันพื้นเพื่อรับน้ำหนัก และการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะกัน นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคกระดูกพรุน จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกแขนหักได้ง่ายกว่าคนปกติ
มาหาสาเหตุของอาการกระดูกแขนหัก อาการแทรกซ้อน รวมถึงแนวทางการรักษาแขนหักจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมวิธีการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้แขนหักได้ในบทความนี้
Table of Contents
Toggleแขนหัก มีอาการอย่างไร?
อาการกระดูกแขนหักหลักๆ คือ คนไข้จะรู้สึกปวดบริเวณแขนหลังเกิดอุบัติเหตุ หรือหลังจากแขนโดนกระแทก ถ้ามีกระดูกหัก ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมากกว่าปกติ รวมถึงรู้สึกปวดเมื่อกำแบมือ ขยับข้อมือหรือข้อศอก ทั้งนี้ ลักษณะของการหักเองก็สามารถส่งผลต่อความเจ็บปวดได้เช่นกัน การหักแบบบางส่วน มีรอยร้าวบริเวณกระดูก จะรู้สึกปวดน้อยกว่าผู้ที่กระดูกแขนหักสมบูรณ์
ในกลุ่มผู้ป่วยที่กระดูกแขนหักทั้ง 2 ด้าน (Radius และ Ulna) จะมีลักษณะอาการของแขนผิดรูปร่วมด้วย สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอก และผู้ที่กระดูกแขนหักแค่ส่วนเดียวแต่มีการเคลื่อนของกระดูกร่วมด้วย ก็จะสามารถสังเกตเห็นกระดูกผิดรูปได้เช่นกัน
แขนหักแบบไหน ควรรีบพบแพทย์
เมื่อสังเกตอาการแล้วพบว่าตรงกับอาการกระดูกหัก เช่น แขนรู้สึกปวด บวม ขยับไม่ได้ ให้รีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาทันที
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
สาเหตุของแขนหัก เกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการกระดูกแขนหัก สามารถพบได้ทั้งกลุ่มของคนอายุน้อย และผู้สูงอายุ โดยทั่วไปแล้วมักจะพบว่ากระดูกแขนหักด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้
- กระดูกแขนหักในกลุ่มคนอายุน้อย มีสาเหตุมาจากการกระแทกบริเวณแขนอย่างรุนแรง การกระแทกจากอุบัติเหตุทางจราจร การเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุหกล้มแล้วใช้แขนรับน้ำหนัก
- กระดูกแขนหักในกลุ่มผู้สูงอายุ มักมีภาวะกระดูกบาง หรือโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย เมื่อแขนถูกกระทบ หรือหกล้ม อาจจะไม่รุนแรงมากแต่ก็เสี่ยงกระดูกแขนหักได้ง่ายมากกว่าปกติ
ภาวะแทรกซ้อนจากอาการแขนหัก
เมื่อกระดูกแขนหักจากอุบัติเหตุรุนแรง สามารถมีอาการเส้นเลือด หรือเส้นประสาทบาดเจ็บร่วมได้ นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่แขนหักแบบแผลเปิด จะมีความเสี่ยงแผลติดเชื้อ หลังกระดูกหักอาจมีเลือดคั่ง หรือกล้ามเนื้อบวมขึ้น ทำให้ความดันภายในช่องแขนเพิ่ม กดเบียดเส้นเลือดต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงของแขนขาดเลือดได้
การปฐมพยาบาลเมื่อกระดูกแขนหัก
เมื่อกระดูกแขนหัก แพทย์แนะนำให้ใช้ไม้ยาวในการดาม ตั้งแต่ข้อศอกจนเลยข้อมือ เพื่อให้ตำแหน่งแขนอยู่นิ่งที่สุด แต่หากไม่มีอุปกรณ์ดาม สามารถใช้ผ้าคล้องคอในการคล้องต้นแขนให้นาบไปกับลำตัวได้เช่นกัน
การวินิจฉัยอาการแขนหักโดยแพทย์
การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นทำได้ด้วยการซักประวัติหาสาเหตุของการแขนหัก จากนั้นจะตรวจร่างกาย นอกจากอาการบวม ปวด แพทย์จะกดบริเวณที่ปวดเพื่อหาบริเวณที่กระดูกเป็นขั้น ไม่เรียบ หรือมีการเคลื่อนที่ ก็สามารถระบุได้ว่าบริเวณนั้นมีกระดูกแขนหัก แล้วแพทย์จึงจะส่งตัวคนไข้ไป X-ray เพื่อระบุลักษณะการหักของแขนว่าเป็นรูปแบบไหน เพื่อใช้ประกอบแนวทางในการรักษาในขั้นตอนต่อไป
แนวทางการรักษาอาการแขนหัก ทำได้อย่างไรบ้าง
การรักษากระดูกแขนหัก ส่วนมากจะใช้วิธีการผ่าตัด แต่ในกรณีที่ไม่ผ่าตัดแต่ต้องใส่เฝือกได้เช่นกัน โดยกระบวนการรักษาทั้ง 2 แบบ มีรายละเอียดดังนี้
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษากระดูกแขนหักแบบไม่ผ่าตัด หรือการใส่เฝือก รักษาได้ในกรณีเดียว คือกรณีที่กระดูกฝั่ง Ulna หักแบบไม่เคลื่อน โดยแพทย์จะใส่เฝือกไว้จนกว่ากระดูกจะติดกัน จากนั้นจะนัดมาถอดเฝือกแล้วทำกายภาพตามที่แพทย์แนะนำเพื่อให้แขนกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
การรักษาแบบผ่าตัด
การรักษากระดูกแขนหักแบบผ่าตัด คือ การผ่าตัดเพื่อเรียงกระดูก จากนั้นจะใส่เหล็กยึดกระดูก ทำได้ในกรณีที่กระดูกแขนหักทั้งบริเวณ Radius, Ulna และกระดูกแขนหัก 2 ท่อน มีขั้นตอนขึ้นอยู่กับกระดูกที่หัก แต่ขั้นตอนโดยทั่วไปมีดังนี้
- คนไข้จะได้รับการดมยาสลบ หรือการใช้ยาชาโดยเฉพาะที่ ก่อนเริ่มผ่าตัด
- จากนั้นจะเปิดแผล ขนาดของตัวแผลจะขึ้นอยู่ลักษณะการหักของกระดูก
- เมื่อเจอกระดูกที่หัก แพทย์จะจัดกระดูกให้เข้าที่ ใกล้เคียงกับลักษณะของกายวิภาคโดยปกติให้มากที่สุด
- ใช้เหล็กยึดตำแหน่งต้นกระดูก และตำแหน่งปลายกระดูกเข้าด้วยกัน
- X-ray เพื่อยืนยันว่าได้แนวกระดูกที่ดี
- เย็บปิดแผล
โดยทั่วไปแล้ว หลังผ่าตัดกระดูกแขนหัก คนไข้ไม่จำเป็นต้องใส่เฝือก คนไข้สามารถเริ่มขยับมือ ข้อมือและข้อศอกได้เลย
การเตรียมตัวคนไข้ก่อนผ่าตัดกระดูกแขนหัก
- เจาะเลือด ดูค่าเม็ดเลือด
- X-ray ปอดเบื้องต้น เพื่อเตรียมการดมยาสลบ
- งดน้ำ อาหาร 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
- สำหรับผู้สูงอายุ จะได้รับการประเมินโดยอายุรแพทย์ก่อนการผ่าตัด เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงจากโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด
การฟื้นฟูหลังผ่าตัดกระดูกแขนหัก
หลังผ่าตัดรักษากระดูกแขนหัก คนไข้จะมีการฟื้นฟูดีขึ้นตามลำดับ และควรมีการดูแลตัวเอง ดังนี้
- ระวังไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ โดยแพทย์จะนัดติดตามอาการและเปลี่ยนผ้าพันแผลที่ 1 สัปดาห์ และตัดไหมที่ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- ในช่วงก่อนตัดไหม แพทย์จะแนะนำให้คนไข้ออกกำลังโดยการขยับมือ กำ-แบมือ ข้อศอก แบบเบาๆ เพื่อช่วยลดอาการบวม และป้องกันภาวะข้อติด
- ในช่วงหลังตัดไหม แพทย์แนะนำให้คนไข้ดัดข้อหากมีอาการข้อติด เพื่อให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
- งดสูบบุหรี่หลังผ่าตัด เพราะอาจทำให้กระดูกติดช้าได้
- กินยาแคลเซียมเสริมเพื่อบำรุงกระดูก
- หลังผ่านไป 1 เดือน คนไข้จะเริ่มกลับมาใช้งานมือและแขนแบบเบาๆ เช่น การหยิบ หรือจับสิ่งของได้
- กระดูกจะติดดีเมื่อผ่านไป 3 เดือน คนไข้จะเริ่มกลับไปใช้งานแขนและมือได้อย่างปกติ
- ในกลุ่มผู้สูงอายุ แพทย์แนะนำให้ตรวจมวลกระดูกเพิ่มด้วย
ผลการรักษาในระยะยาว
ผลการผ่าตัดในระยะยาวหลังผ่าตัดกระดูกแขนหัก หากคนไข้ใส่เหล็กในกระดูกหรือแขน หลังจากกระดูกติดแล้วจะสามารถใช้งานได้เกือบ 100% แต่อาจมีผลทำให้กระดูกบริเวณที่ติดกับเหล็กบางกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงกระดูกหักง่ายกว่า แพทย์แนะนำให้กลุ่มคนอายุน้อยที่กระดูกติดดีแล้ว ให้มานำเหล็กออกในภายหลัง
ผ่าตัดรักษากระดูกแขนหักที่ kdms Hospital ดีอย่างไร?
โรงพยาบาล kdms Hospital มีการรักษากระดูกแขนหักจากทีมแพทย์เฉพาะทางด้านมือและแขนโดยเฉพาะ มั่นใจได้ในเรื่องการลดความเสี่ยงอื่นๆ จากการผ่าตัด เช่น เอ็นข้อมือ ลดข้อผิดพลาดจากการผ่าตัด มีทีมกายภาพคอยให้คำแนะนำ ช่วยให้การรักษากระดูกแขนหักเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลับมาใช้งานได้เทียบเท่ากับปกติได้มากที่สุด
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
สรุป
กระดูกแขนหัก เกิดได้จากอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน ทั้งการกระแทกอย่างรุนแรง และการหกล้มแล้วใช้แขนรับน้ำหนักจนแขนหัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเกี่ยวกับกระดูกร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระดูกพรุน กระดูกบาง ที่ทำให้การกระทบบริเวณแขนด้วยแรงปกติมีความเสี่ยงกระดูกหักได้ง่ายยิ่งขึ้น ผู้ป่วยที่กระดูกหักมักมีอาการปวด บวม ตึงบริเวณแขน บางคนถึงขั้นกระดูกผิดรูป หากมีอาการเหล่านี้จึงควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยและหาแนวทางรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยที่สุด
โดยปกติแล้วการรักษากระดูกแขนหัก มักจะรักษาโดยการผ่าตัด ใส่เหล็กยึดกระดูก ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3 เดือนแขนจึงจะเริ่มใช้งานได้ตามปกติ ในระหว่างนั้นแพทย์จะแนะนำให้ทำกายภาพเบาๆ อย่างการขยับข้อมือ และข้อแขน และในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย หลังจากกลับมาใช้งานแขนได้ตามปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำให้มาเอาเหล็กดามออก เพื่อป้องกันกระดูกที่ติดกับเหล็กดามหัก เพราะส่วนนั้นจะเป็นบริเวณที่กระดูกบางกว่าบริเวณอื่นๆ
เข้ามารักษากระดูกแขนหักที่ kdms Hospital ที่นี่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คอยให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการผ่าตัด การผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัด เพื่อให้แขนกลับมาใช้งานได้ปกติ อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความโดย นพ.ศุภกร บูรณะวงศ์ตระกูล ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านมือและข้อมือ