อาการปวดไหล่เกิดจากอะไรบ้าง อาการไหนที่อันตราย ต้องรีบพบแพทย์

อาการปวดไหล่เกิดจากอะไรบ้าง

อาการปวดไหล่ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ใช้กล้ามเนื้อไหล่มาก เช่น นักกีฬาหรือผู้ที่ทำงานที่ต้องใช้ไหล่บ่อยๆ โดยอาการปวดไหล่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ คือ อุบัติเหตุและเกิดได้เอง นอกจากนี้ ตำแหน่งของอาการปวดไหล่ยังช่วยในการวินิจฉัยได้อีกด้วย

บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดไหล่ให้มากยิ่งขึ้น ว่าเกิดได้จากสาเหตุอะไรบ้าง มีการวินิจฉัย และแนวทางการรักษาอย่างไรได้บ้าง ไปดูกัน

 

อาการปวดไหล่ เกิดจากอะไร

อาการปวดไหล่ เกิดจากอะไร

ในการซักประวัติเพื่อมองหาสาเหตุของอาการปวดไหล่ แพทย์จะตรวจสอบว่าสาเหตุอาการปวดไหล่เกิดจากอุบัติเหตุ หรือเกิดขึ้นเอง โดยจะมีการพิจารณาดังนี้

 

ปวดไหล่จากอุบัติเหตุ 

  • การหกล้ม: ส่วนมากเป็นการกระแทกที่หัวไหล่โดยตรง อาจส่งผลให้เกินการฟกช้ำของกล้ามเนื้อ หรืออาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด ข้อไหล่เคลื่อน ข้อไหล่หลุด หรือหมอนรองกระดูกหัวไหล่ขาดได้ 
  • การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา: อาจเกิดจากการใช้งานซ้ำๆ หนักเกินความสามารถในการซ่อมแซม เช่น การขว้างลูกบอล การยกน้ำหนัก หรือการเล่นกีฬาที่ต้องใช้หัวไหล่ในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและแรง เช่น แบดมินตัน วอลเลย์บอล เป็นต้น
  • อุบัติเหตุทางการจราจร: การชนหรือกระแทกอย่างแรงสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกไหล่ ข้อต่อ และเส้นเอ็น อาจพบกระดูกหัก ข้อเคลื่อน และเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดได้

 

ปวดไหล่แบบเกิดขึ้นเอง 

  • ข้อหัวไหล่เสื่อม: มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ หรือ โรครูมาตอยด์ เกิดจากการสึกของผิวข้อ ส่งผลให้ให้ข้อเสื่อม หรืออาจเกิดจาก เอ็นไหล่ฉีกขาด เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดการเสื่อมของข้อไหล่ การรักษาอาจต้องผ่าตัดทำข้อไหล่เทียม 
  • การใช้งานไหล่ซ้ำๆ: เช่น การทำงานที่ต้องยกของบ่อย ๆ หรือการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน อาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบไหล่อักเสบ
  • ภาวะข้อไหล่ติด : เป็นอาการที่ทำให้ข้อต่อไหล่เคลื่อนไหวได้น้อยลงและเกิดอาการปวด 
  • โรคเส้นเอ็นอักเสบ/กระดูกงอกทับเส้นเอ็นไหล่: เกิดจากกระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ และอาจทำให้เอ็นฉีกขาดได้ 
  • หินปูนเกาะเส้นเอ็นไหล่: สามารถเกิดขึ้นได้เอง และมีอาการปวดรุนแรง โดยสามารถวินิจฉัยได้จากภาพถ่ายเอกซเรย์

 

ตำแหน่งของอาการปวดไหล่

ตำแหน่งของการปวดไหล่ อาจช่วยบอกสาเหตุของการปวดไหล่

  • ปวดไหล่ด้านหน้า อาจเกิดจากเอ็นกล้ามเนื้อไบเซป (biceps brachii tendon) อักเสบ หรือ ฉีกขาด การรักษาเริ่มจากพัก ให้ยาต้านการอักเสบ การฉีดสเตรอยด์ และการผ่าตัด เป็นต้น
  • ปวดไหล่ด้านบน อาจเกิดจากข้อต่อไหปลาร้าส่วนปลายอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  • ปวดไหล่ด้านข้าง มักมีสาเหตุจากเอ็นข้อไหล่ อาจเกิดการอักเสบ ฉีกขาด กระดูกทับเส้นเอ็นไหล่ มักมีอาการปวดขณะยกแขนสูงเหนือศีรษะ การปวดเวลานอนตะแคงข้างที่ปวด  แต่หากมีอาการปวดร้าวลงแขนอาจเป็นปัญหาจากกระดูกต้นคอทับเส้นประสาทได้เช่นกัน 
  • ปวดไหล่ด้านหลัง มักเกิดจากกล้ามเนื้อหัวไหล่อักเสบ ส่วนมากเกิดจากการใช้งาน อาการปวดมักปวดกล้ามเนื้อไหล่ด้านหลัง กล้ามเนื้อสะบักและต้นคอ เป็นต้น

 

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

 

ปวดไหล่ตอนกลางคืน เกิดจากอะไร

ปวดไหล่ตอนกลางคืน

ปวดไหล่ตอนกลางคืนอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การนอนตะแคงทับข้างที่ปวด การไม่ได้ขยับไหล่ การที่แขน ไหล่ และต้นคออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม บางครั้งการได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยจากการเล่นกีฬา อาจทำให้เกิดกระบวนการอักเสบตามมาในช่วงกลางคืน เป็นต้น

อาการปวดไหล่จากการออกกำลังกาย ป้องกันได้อย่างไร

ควรมีการยืดเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ ก่อนและหลังการออกกำลังกาย(warm up and cool down) เช่น การยืดกล้ามเนื้อไหล่และขยับหมุนข้อไหล่ในทุกทิศทาง การนวดเบาๆเพื่อเพิ่มการไหล่เวียนเลือด นอกจากนี้กีฬาที่มีการใช้ข้อไหล่อย่างมาก เช่น แบดมินตัน วอลเลย์บอล บาสเกตบอล ก็ควรมีการพักกล้ามเนื้อหัวไหล่ เพื่อให้เอ็นกล้ามเนื้อได้มีโอกาสฟื้นตัว และความเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง เหมาะสมในกีฬาแต่ละประเภท

อาการปวดไหล่เรื้อรัง ควรทำอย่างไร

หากมีอาการปวดไหล่เรื้อรัง นานเกิน 3-6 เดือน ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการปวดไหล่เรื้อรังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หากทำการวินิจจัยและรักษาล่าช้า อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง หรือ การรักษามีความยากและซับซ้อนมากขึ้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อมีบาดเจ็บข้อไหล่

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อมีบาดเจ็บข้อไหล่

ผู้ป่วยสามารถรักษาเบื้องต้นด้วยการประคบเย็นใน 24-48 ชั่วโมงแรก รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) และลดการใช้งาน หากมีการอ่อนแรง ชา ข้อไหล่ผิดรูป หรือ อาการปวดไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตามการปวดไหล่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ซึ่งทำให้มีการรักษาต่างกัน เช่น เอ็นอักเสบควรจำกัดการเคลื่อนไหวในระยะแรก ในทางกลับกันโรคไหล่ติดควรเน้นการขยับข้อไหล่ ดังนั้นจึงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาที่ตรงจุด ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และช่วยลดภาวะแทรกซ้อน

 

อาการปวดไหล่แบบไหนที่ควรรีบพบแพทย์

หากมีอาการปวดไหล่ที่ไม่ดีขึ้นหลังจากการกินยาแก้ปวด และมีภาวะแขนอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาการไหล่ติด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที การรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีจะช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูให้หายไวขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การวินิจฉัยโรคจากอาการปวดไหล่ ทำได้อย่างไร

แพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากการบาดเจ็บหรือเกิดขึ้นเอง และทำการตรวจร่างกาย หาจุดกดเจ็บ ขยับข้อไหล่เพื่อดูการเคลื่อนไหว ตรวจกำลังกล้ามเนื้อ 

การส่งตรวจเอกซเรย์ช่วยวินิจฉัยสาเหตุอาจเกิดจาก ข้อเสื่อม กระดูกงอก ข้อหลุดหรือเคลื่อน และหินปูนเกาะเส้นเอ็นไหล่ หากสงสัยเส้นเอ็นหรือหมอนรองกระดูกข้อไหล่ฉีกขาด แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพิ่มเติม

 

แนวทางการรักษา

แนวทางการรักษา

วิธีการรักษาสำหรับอาการปวดไหล่ โดยทั่วไป คือ แบบไม่ผ่าตัด และรักษาแบบผ่าตัด โดยทั่วไปแพทย์จะทำการวินิจฉัยและเสนอแนวทางการรักษามักเริ่มต้นด้วยการไม่ผ่าตัด

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

  • แนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หากเกิดจากการอักเสบ ฟกช้ำ ควรต้องพักการใช้งานก่อน หากเป็นข้อไหล่ติดแนะนำผู้ป่วยฝึกขยับข้อไหล่ ผู้ป่วยบางรายมีภาวะกระดูกงอกทับเส้นเอ็นไหล่ ควรหลีกเลี่ยงยกแขนเหนือศีรษะในช่วงที่ปวด เพื่อลดการอักเสบ เป็นต้น 
  • รับประทานยา เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เป็นต้น
  • การทำกายภาพบำบัด เช่น อัลตราซาวด์ ช็อกเวฟ (shock wave) ฝังเข็ม หรือการดัดไหล่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

การรักษาแบบผ่าตัด

แพทย์จะแนะนำผ่าตัดในกรณีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรักษา ปัจจุบันการผ่าตัดแบ่งออกเป็นผ่าตัดแบบส่องกล้องและผ่าตัดแบบเปิด ขึ้นอยู่กับตัวโรคและความรุนแรงของโรค 

การผ่าตัดแบบส่องกล้อง 

  • โรคข้อไหล่ติด: ผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดผังผืด ร่วมกับการดัดข้อไหล่
  • โรคเอ็นไหล่ฉีกขาด: ผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมเอ็นไหล่
  • โรคกระดูกงอกทับเส้นเอ็นไหล่: ผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดกระดูกงอก
  • โรคหินปูนเกาะเส้นเอ็นไหล่: ผ่าตัดส่องกล้องเพื่อนำหินปูนออก
  • โรคไหล่หลุดซ้ำ: ผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมหมอนรองกระดูกข้อไหล่

การผ่าตัดแบบเปิด

  • ข้อไหล่เสื่อม: ผ่าตัดทำข้อไหล่เทียม
  • เอ็นข้อไหล่ขาดเรื้อรังที่เย็บซ่อมไม่ได้: ผ่าตัดทำข้อไหล่เทียมแบบกลับด้าน 
  • ข้อหลุดกระดูกหัก: ผ่าตัดจัดข้อ ผ่าตัดกระดูกให้เข้าที่

 

จะเห็นได้ว่าเอ็นไหล่ขาด หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป จะทำให้อาการฉีกขาดรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเอ็นไหล่หดสั้นลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอ็นไหล่ฉีกขาดจากอุบัติเหตุ ซึ่งมีผลต่อวิธีการรักษา อาจทำให้ไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมได้ และต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นผ่าตัดแบบเปิด โดยทำข้อไหล่เทียมแบบกลับด้าน ดังนั้นหากสงสัยเกี่ยวกับการรักษา ควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

 

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

 

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดโรคเอ็นไหล่ขาด

ผู้ป่วยควรเตรียมสุขภาพให้แข็งแรง พร้อมสำหรับการดมยาสลบ และฝึกขยับข้อไหล่ตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันอาการไหล่ติด

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดโรคเอ็นไหล่ขาด

ภายหลังการผ่าตัดควรใช่อุปกรณ์ช่วยพยุงแขนประมาณ 6 สัปดาห์ และฝึกกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันไหล่ติดและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนสามารถใช้งานแขนและข้อไหล่ได้ตามปกติใน 6 เดือน 

 

อาการปวดไหล่ นานเท่าไรจึงควรพบแพทย์

หากเป็นอุบัติเหตุการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยอาการมักดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพราะอาจมีการฉีกขาดของเส้นเอ็น แต่หากภายหลังการบาดเจ็บมีการผิดรูปของข้อไหล่หรืออ่อนแรงควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจมีกระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือเอ็นฉีกขาดรุนแรง 

ในกรณีที่เป็นเรื้อรัง อาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ส่งตรวจเอกซเรย์ หรือ ทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และเหมาะสมต่อไป  

หลังผ่าตัดเอ็นไหล่ฉีก สามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ทันทีไหม

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเอ็น ระยะเวลาก่อนการผ่าตัด หากคุณภาพของเส้นเอ็นดี ร่วมกับการผ่าตัดที่เหมาะสม ผู้ป่วยสามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ปกติ ภายใน 6-9 เดือน 

ผ่าตัดเอ็นไหล่ฉีก ที่ kdms Hospital ดีอย่างไร

ที่โรงพยาบาล kdms Hospital มีการวินิจฉัยและรักษาอาการปวดไหล่จากแพทย์เฉพาะทาง ระบุหาสาเหตุอาการได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังมีการส่งตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ที่รวดเร็ว ระยะเวลารอคอยการผ่าตัดไม่นาน การผ่าตัดส่องกล้อง อาการปวดน้อย ฟื้นตัวไว และมีโปรแกรมการกายภาพบำบัดที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ผลลัพธ์การรักษาเป็นไปได้อย่างราบรื่นอีกด้วย

 

สรุป

อาการปวดไหล่ เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการปวดไหล่จากอุบัติเหตุหรืออาการปวดไหล่ที่เกิดขึ้นเองจากการใช้งานหัวไหล่ที่มากเกินไป หากฝืนใช้งานหัวไหล่และละเลยการดูแลรักษา อาจพัฒนาเป็นอาการปวดไหล่เรื้อรังได้อีกด้วย 

หากมีอาการปวดไหล่ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยอาการปวดไหล่ หาสาเหตุของอาการปวดไหล่ พร้อมแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้กลับมาใช้งานไหล่ได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม

บทความโดย: นพ.พงษ์เทพ ณ นคร ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่

ศุกร์, 12 ก.ค. 2024
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
  อาการปวดที่รบกวนชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อที่ต้องได้รับการดูแล อย่าปล่อยให้อาการเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่  ...
package เริ่มต้นที่ 1800* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2025
ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าจากอาการบาดเจ็บ เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด (ACL Injury) หรือโรคเกี่ยวกับข้อเข่าอื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 245,000* บาท
ผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ เพื่อรักษาอาการเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear), ข้อไหล่เสื่อม หรือโรคเกี่ยวกับข้อไหล่อื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 275,000* บาท
บทความอื่นๆ
รักษากระดูกไหปลาร้าหัก
อุบัติเหตุกระดูกไหปลาร้าหักเกิดขึ้นได้ แต่จะมีวิธีรักษาอย่างไร?
อาการปวดไหล่เกิดจากอะไรบ้าง
อาการปวดไหล่เกิดจากอะไรบ้าง อาการไหนที่อันตราย ต้องรีบพบแพทย์
เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบคือ? คนออกกำลังกายควรรู้
กล้ามเนื้อฉีกขาด
อาการกล้ามเนื้อฉีกขาด พร้อมแนวทางการรักษาและวิธีฟื้นฟู
top line line