บทความ /

ทำความรู้จัก “โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท” ผ่านซีรีส์ Hospital Playlist

แฟน ๆ ซีรีส์เกาหลีสายฟิวกู๊ด คอมเมดี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักซีรีส์ที่เพิ่งจบไปอย่างสวยงามอย่างเรื่อง Hospital Playlist ของผู้กำกับชินวอนโฮ เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครหลักคืออาจารย์หมอทั้ง 5 คน ที่เป็นเพื่อนสนิท และพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขาทั้ง 5 กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลเดียวกัน ซึ่งการดำเนินเรื่องอบอวลไปด้วยความรัก มิตรภาพระหว่างเพื่อน และระหว่างหมอกับคนไข้ รวมถึงข้อคิดดี ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราได้เป็นอย่างดี

ในบทความนี้โรงพยาบาล kdms ขอนำเสนอเรื่องราวผ่าน “คุณหมออันชีฮง แพทย์ประจำบ้าน (Resident) แผนกศัลยกรรมประสาท ที่ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพที่ส่งผลให้เขาต้องเริ่มต้นในสายอาชีพใหม่ และพาทุกๆ ท่านมาทำความรู้จักโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท โรคที่คุณหมอฮันชีฮงเป็น และแนวทางในการป้องกันฟื้นฟูกันค่ะ

ทำความรู้จักกับคุณหมอ “อันชีฮง” จากซี่รี่ส์ Hospital Playlist

ภูมิหลังของคุณหมออันชีฮง ก่อนเป็นหมอเคยรับราชการทหารตำแหน่งร้อยเอก (Captain Capt.) ผู้ที่มีใจรักในอาชีพ และเป็นเส้นทางของความฝัน จนกระทั่งคุณหมออันชีฮงพบว่าตนเองป่วยเป็น “โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท” ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากนัก เมื่อได้รับการรักษาและฟื้นฟูเป็นอย่างดี แต่สำหรับคุณหมอชีฮงผู้ที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนักในการฝึกซ้อมอยู่เสมอ ทำให้เขาต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ร่างกายและการฝึกซ้อม ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางใหม่ โดยลาออกจากการเป็นทหารในวัย 29 ปี และเริ่มต้นกับเส้นทางอาชีพแพทย์

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณหมอชีฮงคือการไม่ยอมแพ้และการเริ่มต้นใหม่ โดยฉากที่ประทับใจ คือฉากที่คุณหมออันชีฮงให้กำลังใจคนไข้ขณะผ่าตัดสมองแบบรู้สึกตัว (Awake Craniotomy)

ในการรักษาคนไข้คิมฮยอนซู ซึ่งมีอาชีพเป็นตำรวจและตรวจพบว่าเกิดเนื้องอกจากเซลล์แอสโตรไซต์อยู่ในสมองซีกเด่น และเริ่มลามไปยังสมองส่วนต่าง ๆ ทำให้เขาได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดสมองแบบรู้สึกตัว เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการรักษา

จุดเชื่อมโยงระหว่างคนไข้คิมฮยอนซูและคุณหมออันชีฮงคือความวิตกกังว่าตนจะไม่สามารถกลับไปทำงานแบบปกติได้ และอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่คนไข้คิมฮยอนซูรัก ในระหว่างการทำการผ่าตัดแบบรู้สึกตัว อาจารย์หมอที่ทำการผ่าตัดสั่งให้คุณหมออันชีฮงชวนคนไข้คุยเพื่อทดสอบการทำงานของสมองในส่วนต่าง ๆ ว่าได้รับผลกระทบ และยังใช้งานได้ปกติหรือไม่ โดยคุณหมออันชีฮงได้ถามคำถามที่เกี่ยวกับคนไข้ เช่น ชื่ออะไร มีพี่น้องกี่คน อาศัยอยู่ที่ไหน จนกระทั่งมาถึงคำถามที่ว่าคนไข้ประกอบอาชีพอะไร คนไข้เหมือนลืมไปชั่วขณะว่าเขาประกอบอาชีพอะไร หมออันชีฮงจึงบอกว่าคนไข้เป็นตำรวจและเริ่มถามต่อไปว่าทำไมคนไข้ถึงอยากเป็นตำรวจ

ในจุดนี้เองที่ทำให้เห็นว่าคนไข้เริ่มมีความกังวลและกลัวว่าตนเองจะไม่สามารถกลับไปเป็นตำรวจได้อีกเนื่องจากโรคและการรักษา เมื่อได้ยินดังนั้นคุณหมออันชีฮงจึงตอบกลับไปว่า…

คุณจะกลับไปทำงานก็ได้ หรือไม่ก็เริ่มสายงานใหม่ก็ได้ครับ ยังไม่สายไปหรอก ผมเองตอนอายุ 29 ปี ก็ป่วยเหมือนกันครับ ป่วยกะทันหันเลยต้องออกจากทหารครับ เป็นโรคหมอนรองกระดูกคอแข็งเหมือนกับกระดูก ตอนกำลังฝึกก็เกิดเป็นอัมพาตขึ้นมาครับ เมื่อรับการผ่าตัดและฟื้นฟูร่างกาย ไม่ว่าจะอยากทำอะไรก็เริ่มต้นใหม่ได้เสมอครับ” เป็นประโยคที่คุณหมออันชีฮงพูดกับคนไข้

ทำความรู้จัก โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกสันหลังอยู่ระหว่างกระดูกหลังส่วนคอในแต่ละปล้อง ซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลังมีหน้าที่ในการรับน้ำหนักและช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวของคอ ส่วนมากพบในผู้ป่วยช่วงอายุ 30 – 50 ปี และการแสดงอาการของโรคจะขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของหมอนรองกระดูกเคลื่อนมากดทับเส้นประสาท

อาการของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

อาการปวดคอร้าวลงมาที่บ่า ไหล่ สะบัก แขน อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย ตามตำแหน่งของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนมากดทับเส้นประสาท โดยส่วนมากมักเกิดข้างใดข้างหนึ่งทำให้การใช้งานบริเวณมือแย่ลง การเดินและการทรงตัวที่ไม่ดี เนื่องจากการกดทับบริเวณไขสันหลังส่วนคอ

สาเหตุของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

  • พฤติกรรมการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เช่น การสะบัดคอบิดหมุนคออย่างรุนแรง หรือการก้มคอทำงานเป็นเวลานาน
  • การสูบบุหรี่
  • การยกของหนัก
  • การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

การวินิจฉัยโรค

การซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทางกระดูกสันหลัง ก็สามารถบอกได้เบื้องต้นว่าท่านน่าจะเป็นโรคนี้หรือไม่  การตรวจด้วยเครื่อง MRI จะทำให้เราเห็นตำแหน่งและขนาดของหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทได้อย่างชัดเจนเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

วิธีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

วิธีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาทมีหลายวิธีด้วยกัน และแต่ละวิธีในการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

วิธีการรักษาด้วยการประคับประคองหรือการรักษาตามอาการ เป็นการรักษาเบื้องต้นในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง เป็นวิธีการรักษาที่ง่ายและสะดวก และได้ผลดี โดยมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  • Medication การรักประทานยาแก้ปวด การรับประทานยาแก้ปวดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่เริ่มมีอาการรุนแรงหรือรู้สึกปวด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการรักประทานยาแก้ปวดมีหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการปวดควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชียวชาญก่อนการรับประทาน เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและตรงจุด
  • Physiotherapy การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งประกอบไปด้วยวิธีการรักษาที่หลากหลายที่ช่วยลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นการประคบร้อน อัลตราซาวด์ เลเซอร์ หรือฝังเข็ม  สามารถช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่หดเกร็ง เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ หรือฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายได้
  • Cervical traction การใช้เครื่องดึงคอ เป็นวิธีที่ช่วยขยายโพรงกระดูกสันหลังทำให้ลดอาการปวดจากการกดทับเส้นประสาทได้
  • Cervical manipulation การนวดจัดกระดูกคอนั้นยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในการรักษา ถ้าจะทำต้องระมัดระวังโดยเฉพาะการบิดหมุนคออย่างรุนแรง บางครั้งอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • การออกกำลังกายด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายด้วยวิธีนี้จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณคอ และช่วยลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ

การรักษาด้วยวิธีการแบบประคับประคองเป็นการรักษาที่ได้ผลการรักษาค่อนข้างดี โดยผู้ป่วย 80% อาการจะดีขึ้นภายใน 4 -6 สัปดาห์ ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการชาและอ่อนแรงที่มากยิ่งขึ้น ควรได้รับการรักษาในวิธีการผ่าตัด

การรักษาแบบผ่าตัด

การรักษาหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาทด้วยวิธีการผ่าตัด เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก เมื่อไม่มีหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทแล้วจะทำให้หายปวด อาการชาและอ่อนแรงดีขึ้นตามลำดับ

การดูแลตัวเองหลังจากรักษา

  • หลีกเลี่ยงการใช้งานที่จะทำให้ปวดคอได้ง่าย เช่น ยกของหนัก ก้มคอหรือเงยคอเป็นเวลานานๆ  สะพายของที่คอ เป็นต้น
  • ปรับการใช้งาน เช่น หาเก้าอี้มีพนักพิงศีรษะ ขยับคอหรือเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆขณะนั่งทำงาน
  • ออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นคอเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้คอของเราเพื่อลดอาการปวด

ท่าในการบริหารกล้ามเนื้อเพื่อช่วยลดอาการปวดตึงบริเวณคอ

ท่าหมุนคอ เป็นการบริหารในส่วนของกล้ามเนื้อลำคอ โดยการหันไปทางด้านขวาและกดค้างไว้ 2 – 3 วินาทีและค่อย ๆ หันกลับมาอยู่ในท่าหน้าตรงและพักสักครู่ก่อนที่จะหันไปทางด้านซ้าย ซึ่งทำการบริหารในท่าหมุนคอ 10 – 15 ครั้ง

ท่าเอียงคอ ยืดคอตรงและมองมายังด้านหน้า จากนั้นจึงเอียงศีรษะไปทางด้านขวา โดยพยายามให้หูแตะที่บริเวณไหล่ (พยายามไม่ยกไหล่ขึ้น) และค้างไว้สักครู่ก่อนจะกลับมาอยู่ในท่าเดิมและทำสลับทางด้านซ้าย และควรทำ 10 – 15 ครั้ง

ท่างอคอ เอียงศีรษะและแตะคางให้แนบชิดกับบริเวณคอโดยค้างไว้สักครู่ ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจเข้าและออกอย่างช้า ๆ ในการออกกำลังกาย การหายใจเข้าและออกอย่างช้า ๆ ช่วยในเรื่องของการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ในท่างอคอควรทำอย่างน้อง 10 – 15 ครั้ง

ท่าม้วนไหล่ สามารถทำได้ทั้งในท่านั่งและยืน โดยการใช้แขนทั้งสองข้างและงอข้อศอก พยายามบีบสะบักเข้าหากัน หมุนไหล่ไปข้างหลัง 10 – 15 ครั้ง และเปลี่ยนสลับหมุนไปยังด้านหน้าอีก 10 – 15 ครั้ง

นอกจากการบริหารหารร่างกาย สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง นั่นก็คือการลดความเครียด  โดยเฉพาะความเครียดทางอารมณ์โดยความเครียดสามารถเพิ่มความตึงเครียดที่คอ และรบกวนหรือชะลอกระบวนการฟื้นตัว การลดความเครียดอาจช่วยป้องกันอาการปวดคอไม่ให้เกิดขึ้นอีก

พฤหัส, 14 ต.ค. 2021
แท็ก
หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
ปวดบ่าไหล่
ปวดคอ
หมอนรองกระดูกคอ

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope  แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว รักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง...
package 346,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
ผ่าตัดส่องกล้อง MIS TLIF 1 ระดับ เพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง ผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope  แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว รักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเค...
package 416,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
รักษาโรคทางกระดูกสันหลังด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังโดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง...
package 35,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
top line

Login