นวัตกรรมผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope กระดูกสันหลัง “แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว”
กระดูกสันหลังเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งกระดูกสันหลังของมนุษย์นั้น จะมีตั้งแต่ส่วนต้นคอ ทรวงอก ส่วนเอว ไปจนถึงอุ้งเชิงกราน มีหน้าที่หลักเป็นแกนกลางของโครงสร้างกระดูกของลำตัว และมีเส้นประสาทไขสันหลังวิ่งอยู่ทางด้านหลังของโพรงเส้นประสาท ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้นและไลฟ์สไตล์การaใช้ชีวิตโดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มักนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือมีการออกกำลังกายที่มากขึ้น มีแนวโน้มอาจส่งผลไปให้มีปัญหาข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาอาการปวดเรื้อรัง ส่งผลเสียต่อชีวิตและการงาน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการรักษาด้วยการประคับประคองอาการ เช่น การกินยา แล้วยังไม่เห็นผล หรืออาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบัน ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกันเลย
Table of Contents
Toggleทำความรู้จัก! นวัตกรรมผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้กล้อง Endoscope คืออะไร?
กล้อง Endoscope คือ หนึ่งในเครื่องมือสำหรับช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง (Endoscopic Spine Surgery) ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำ และประสิทธิภาพในการรักษา โดยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียง ซึ่งจะใช้เทคนิคการส่องกล้องแบบรูเดียว ซึ่งจะมีขนาดกล้องมาตรฐานอยู่ที่ 8-12 มม. หรือแบบสองรูที่กล้องมีขนาด 4 มม. และแยกรู เพื่อใส่เครื่องมือช่วยในการรักษาผู้ป่วย
โดยหลักการทำงานนั้น แพทย์ผู้ผ่าตัดจะทำการเจาะแผล จากนั้นจึงสอดกล้องเข้าไปในจุดที่แพทย์จะทำการผ่าตัด ซึ่งข้อดีของการใช้กล้อง Endoscope คือ แพทย์สามารถมองเห็นระหว่างทำการผ่าตัดได้ชัดเจนมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ การพิจารณาเลือกการรักษาด้วยการส่องกล้อง Endoscope จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และโรคของผู้ป่วยแต่ละราย
เทคโนโลยีที่ช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?
ในอดีตแพทย์จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์มากนัก ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นที่นาน แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลังได้พัฒนามากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด และลดโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงไม่พึ่งประสงค์ โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังมากมาย ดังนี้
- กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Surgery): การผ่าตัดวิธีนี้จะใช้การส่องกล้องจากภายนอกร่างกาย และซูมภาพไปยังบริเวณที่ทำการผ่าตัด ช่วยให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ การผ่าตัดโดยใช้กล้องจุลทรรศน์จำเป็นที่จะต้องเปิดแผลขนาดใหญ่ เช่น 2-3 ซม. หรือ 4 ซม. โดยการผ่าตัดด้วยกล้องประเภทนี้จะนิยมใช้กับเคสที่จำเป็นต้องเปิดแผลขนาดใหญ่ เช่น การผ่าตัดใส่โลหะดามกระดูก การผ่าตัดกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า หรือเนื้องอกกระดูกสันหลัง
- กล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Surgery): การผ่าตัดวิธีนี้ได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้แผลของผู้ป่วยมีขนาดเล็กลง ซึ่งจะช่วยให้ลดระยะเวลาในการพักฟื้น และลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ โดยการใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กรูปร่างคล้ายปากกาที่มีกล้องอยู่ตรงปลาย เพื่อใช้ในการทำหัตถการภายในตัวของผู้ป่วย ซึ่งจะนิยมใช้รักษาในเคสที่ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลขนาดใหญ่ เช่น ปัญหาโพรงประสาทตีบแคบ เป็นต้น
- หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robot-Assisted Surgery): เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำของแพทย์ในการรักษา และการผ่าตัดกระดูกสันหลัง โดยมีหลักการทำงานเช่นเดียวกับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเทียม แต่จะมีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป ตามลักษณะการใช้งาน
- เครื่องเอกซเรย์สามมิติ (3D X-ray) หรือเทคโนโลยีการผ่าตัดระบบนำวิถีด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Navigator System): เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการวางแผนการผ่าตัด โดยการสร้างภาพจำลองร่างกายผู้ป่วยในส่วนที่จำเป็นต้องรักษา และมีการนำวิถี เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด
โดยในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง แพทย์จะวินิจฉัย และหาแนวทางในการรักษาร่วมกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับโรคมากที่สุด
การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้อง Endoscope สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง?
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (Disc Herniation) โดยสามารถใช้การผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope ในส่วนกระดูกสันหลังส่วนเอวและต้นคอ
- ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมโพรงเส้นประสาทตีบแคบ (Spinal Stenosis) โดยสามารถใช้การผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope ในส่วนกระดูกสันหลังส่วนเอวและต้นคอ
- ข้อกระดูกสันหลังเคลื่อน ที่ต้องการการเชื่อมข้อ (Spondylolisthesis) โดยสามารถใช้การผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope ในส่วนของกระดูกสันหลังส่วนเอว
- ภาวะความผิดปกติอื่นๆ เช่น ติดเชื้อ มีหนอง หรือเนื้องอกกดเบียดเส้นประสาท
การผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope อันตรายไหม และมีผลข้างเคียงอย่างไร?
เนื่องจากการผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope เป็นนวัตกรรมที่มีกำลังขยายที่สูง และมีแสงสว่างที่มาก ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างหรือรอยโรคต่างๆ ของผู้ป่วยได้ชัดเจนมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ ดังนั้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี และลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาด ที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้
สำหรับใครที่สงสัยว่า การผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope จะมีผลข้างเคียงหรือไม่ ในการผ่าตัดต่างๆ จะมีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อน ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดเป็นปกติ ซึ่งความเสี่ยงจะมีในระดับที่มากหรือน้อยนั้น จะขึ้นอยู่กับความแข็งแรง และโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละราย
เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้อง Endoscope? มีข้อบ่งชี้อะไรบ้าง?
โดยทั่วไปแล้ว ในการรักษาขั้นต้น สำหรับโรคต่างๆ แพทย์จะอาศัยการให้ยา การงดพฤติกรรมเสี่ยง หรือทำกายภาพร่วม เพื่อประคับประคองอาการจนดีขึ้น แต่หากอาการแย่ลง เช่น มีภาวะอ่อนแรงและกล้ามเนื้อลีบหรือชา รวมถึง หากมีอาการปวดรุนแรง แพทย์ก็อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัดแทน โดยรูปแบบที่ใช้ในการผ่าตัด แพทย์จะเลือกให้เหมาะสมกับรอยโรค และข้อจำกัดต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น การผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope หรือกล้อง Microscope เป็นต้น เพราะหากปล่อยให้เรื้อรังจนเกิดอาการเจ็บหรือปวดหนักอาจส่งผลให้กระดูกและข้อเสื่อมจนยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาดีดังเดิมได้
ผ่าตัดกระดูกสันหลังราคาแพงไหม? และทำไมควรรักษาด้วยกล้อง Endoscope ที่ kdms?
ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังนั้น นอกจากจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น กล้อง Endoscope เพื่อใช้ในการรักษาแล้ว ยังต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางที่มากประสบการณ์ในการรักษา ตลอดจนการบริการที่น่าประทับใจ ซึ่งโรงพยาบาล kdms เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ที่มีแพทย์เป็นผู้ให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก
สำหรับใครที่อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการผ่าตัดกระดูกสันหลังราคาเท่าไรนั้น สามารถดูได้ที่นี่ : แพ็กเกจผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดแบบ Endoscope ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
สำหรับคนที่กำลังเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังอาจสงสัยว่าอันตรายหรือไม่ ก่อนทำจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ซึ่งในบทความนี้จะมาแนะนำขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจก่อนการผ่าตัดกระดูกสันหลัง โดยเริ่มต้นจาก
- แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการให้ชัดเจน ว่ากระดูกและข้อตรงส่วนไหนที่มีปัญหา หรือจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยปกติจะใช้ภาพถ่ายรังสี และ MRI สแกน เพื่อประเมิน และวางแผนการผ่าตัด ทั้งนี้ ในบางรายอาจมีการทำ CT Scan หรือตรวจมวลกระดูกร่วมด้วย หากแพทย์มีความเห็นว่าจำเป็น
- แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
- ในการเตรียมตัวนั้นจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและสภาพร่างกายของผู้ป่วย หากมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ก็จะมีการเตรียมตัวเหมือนการผ่าตัดทั่วไป และมีการตรวจสอบทุกระบบร่างกายที่จำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยมีความพร้อม และมีความปลอดภัยในการผ่าตัดที่ต้องดมยาสลบ ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ เป็นมาตรฐานของโรงพยาบาลที่จะปรึกษาร่วมกับอายุรแพทย์ เพื่อประเมินถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
แนวทางดูแลและฟื้นฟูตัวเอง หลังการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่องกล้องแบบ Endoscope
ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่องกล้องแบบ Endoscope ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งหากไม่มีปัญหาอื่นใดส่วนใหญ่จะสามารถจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลในเวลาเพียง 1-2 วัน
การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้อง Endoscope เป็นกล้องที่มีกำลังขยายสูง ช่วยให้แพทย์มองเห็นจุดที่ต้องทำการผ่าตัดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น รวมถึง ยังใช้วิธีการเจาะแผลขนาดเล็ก จึงทำให้ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บแผลน้อย และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่
บทความโดย : นพ.รัฐฤกษ์ อรุณากูร ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง