อุบัติเหตุกระดูกไหปลาร้าหักเกิดขึ้นได้ แต่จะมีวิธีรักษาอย่างไร?
|
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยที่เราไม่คาดคิด จนอาจทำให้กระดูกไหปลาร้าหักได้ ซึ่งอาจเกิดจากแรงกระแทกที่รุนแรงบริเวณหัวไหล่ หรือล้มแล้วเอาแขนค้ำพื้น ซึ่งกระดูกไหปลาร้าหักเป็นตำแหน่งที่พบได้ว่าหักบ่อย แต่จะเกิดจากอะไรได้บ้าง อันตรายมากหรือไม่ แล้วมีวิธีรักษาอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
Table of Contents
ทำความรู้จัก กระดูกไหปลาร้า
กระดูกไหปลาร้า (Clavicle) เป็นกระดูกยาวรูปโค้งที่เชื่อมระหว่างกระดูกหน้าอก (Sternum) กับกระดูกสะบัก (Scapula) ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างแขนและลำตัว โดยกระดูกไหปลาร้ามีลักษณะโค้งเหมือนตัว “S” ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างของร่างกาย
ความสำคัญของกระดูกไหปลาร้า คือ ทำหน้าที่ช่วยพยุงข้อไหล่และแขน ช่วยกระจายแรงจากแขนสู่ลำตัว นอกจากนี้ยังป้องกันเส้นเลือดและเส้นประสาทสำคัญที่อยู่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า หากได้รับบาดเจ็บ เช่น การหัก จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของแขนและอาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างรอบข้าง
กระดูกไหปลาร้าหัก มีอาการอย่างไร
สามารถสังเกตอาการเมื่อกระดูกไหปลาร้าหักได้ ดังนี้
- ปวดมากจนขยับแขนได้ลำบาก
- อาจมีรอยฟกช้ำ จ้ำเลือด มีจุดกดเจ็บชัดเจน
- สังเกตเห็นการเคลื่อนของกระดูก เห็นเป็นลักษณะนูนๆ ผิดปกติชัดเจน
- บางรายกระดูกอาจทิ่มทะลุผิวหนัง เพราะกระดูกไหปลาร้าอยู่ค่อนข้างตื้น มีเนื้อเยื่อปกคลุมไม่หนามากนัก
สาเหตุที่ทำให้กระดูกไหปลาร้าหัก เกิดจากอะไร
สาเหตุกรณีกระดูกไหปลาร้าหัก สามารถเกิดได้จากทั้งทางตรง และทางอ้อม ดังนี้
- ทางตรง: เกิดจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ ที่มีการกระแทกโดยตรงต่อกระดูกไหปลาร้า อาจเกิดจากการตกจากที่สูง หกล้ม อุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น
- ทางอ้อม เกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่ได้กระแทกโดยตรงตำแหน่งกระดูกไหปลาร้า แต่อาจเกิดแรงกระแทกจากแขน หรือไหล่ เช่น กรณีตกจากที่สูงแล้วไหล่กระแทก แล้วแรงส่งผ่านจนมาถึงกระดูกไหปลาร้า ซึ่งหากแรงมากพออาจทำให้กระดูกไหปลาร้าหักได้
กระดูกไหปลาร้าหักอันตรายหรือไม่
โดยทั่วไป กระดูกไหปลาร้าหักมักไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่หากเกิดการหักแล้วเคลื่อนตัวผิดรูป อาจส่งผลกระทบต่อเส้นเลือด เส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอาจทำให้เกิดการอ่อนแรง รวมถึงทำให้เกิดอาการปวดมากและเคลื่อนไหวแขนลำบาก หากไม่รักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้กระดูกทิ่มทะลุผิวหนัง เกิดการติดเชื้อได้ อาจเกิดการเชื่อมติดผิดรูป ส่งผลต่อการทำงานของแขนในระยะยาว
การวินิจฉัยเบื้องต้น กรณีกระดูกไหปลาร้าหัก
การวินิจฉัยเบื้องต้นในกรณีกระดูกไหปลาร้าหักสามารถทำได้โดยการสัมภาษณ์ประวัติ การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจ
ประวัติ: แพทย์จะสัมภาษณ์ประวัติ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีประวัติอุบัติเหตุ เช่น การล้มลงบนไหล่หรือแขน หรือได้รับการกระแทกอย่างแรง อาการปวดจะเกิดขึ้นทันทีและมักรุนแรง ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงกระดูกหักและบอกตำแหน่งได้ชัดเจน นอกจากนั้นแล้วแพทย์อาจซักประวัติเพื่อหาความอื่นบาดเจ็บเพิ่มเติม เช่น อาการหายใจติดขัด อาการชา หรืออ่อนแรง
การตรวจร่างกาย:
- จะพบอาการฟกช้ำ หรือผิดรูปบริเวณไหปลาร้า ตรวจบริเวณผิวหนังเพื่อหาแผลเปิด
- การสัมผัส เพื่อหาจุดเจ็บ การผิดรูป
- ไหล่อาจดูต่ำลง หรือมีการยื่นของกระดูกออกมาอย่างชัดเจนในกรณีที่กระดูกเคลื่อนตัว
การถ่ายภาพรังสี (X-ray): เป็นวิธีการวินิจฉัยที่ใช้ในการยืนยันการหักของกระดูกไหปลาร้า ช่วยระบุตำแหน่งของการหักและความรุนแรง และใช้ในการพิจารณาในการผ่าตัด เช่น กระดูกหักหลายชิ้น กระดูกเคลื่อนตัวมากเกินไป เป็นต้น ในบางกรณีที่ซับซ้อนหรือสงสัยว่ามีการบาดเจ็บต่อโครงสร้างใกล้เคียง เช่น เส้นเลือดหรือเส้นประสาท อาจต้องใช้ CT Scan เพิ่มเติม
การรักษากระดูกไหปลาร้าหัก
แม้ว่ากระดูกจะสามารถสมานต่อกันได้ตามธรรมชาติ แต่หากกระดูกไหปลาร้าหัก จำเป็นต้องปฐมพยาบาลให้เรียบร้อย แล้วไปรักษาโดยแพทย์ทันที เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนร้ายแรง ที่อาจตามมาได้
1. การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับกระดูกไหปลาร้าหักมีความสำคัญในการลดอาการปวดและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้:
- หยุดกิจกรรมทันที: หากผู้บาดเจ็บเกิดอุบัติเหตุหรือรู้สึกว่ากระดูกไหปลาร้าหัก ควรหยุดกิจกรรมและพยายามไม่ขยับบริเวณที่บาดเจ็บ
- ประคองแขน: ใช้ผ้าพันหรือผ้ายืดมาทำเป็นสามเหลี่ยมผูกยึดแขนไว้ที่หน้าอกเพื่อลดการเคลื่อนไหวของกระดูกไหปลาร้า วิธีนี้ช่วยลดอาการปวดและป้องกันการเคลื่อนตัวของกระดูกที่หัก
- ประคบเย็น: ใช้ผ้าเย็นหรือเจลประคบเย็นวางบนบริเวณที่บวมและเจ็บ ช่วยลดอาการปวดและบวม ควรประคบเย็นเป็นเวลา 15-20 นาที หลีกเลี่ยงการวางน้ำแข็งลงโดยตรงบนผิวหนัง
- ลดการเคลื่อนไหว: แนะนำให้ผู้บาดเจ็บหลีกเลี่ยงการขยับแขนหรือไหล่ข้างที่บาดเจ็บ เพื่อป้องกันการหักที่รุนแรงขึ้น ควรอยู่ในท่าที่สบายมากที่สุด
- ให้ยาแก้ปวด: สามารถให้ยาพาราเซตามอลหรือตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดอาการปวดระหว่างรอการรักษา
- นำส่งโรงพยาบาล: ควรนำผู้บาดเจ็บไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสี (X-ray) เพื่อดูตำแหน่งและความรุนแรงของการหัก
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
2. การรักษาโดยแพทย์
วิธีการรักษากระดูกไหปลาร้าหัก จะแตกต่างกันไปตามระดับความร้ายแรงของกระดูกที่หัก หรืออาจมีการรักษาร่วมกันหลายวิธี ดังนี้
การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
หากกระดูกมีการเคลื่อนเพียงเล็กน้อย การหักไม่ซับซ้อน แพทย์จะทำการรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยแนะนำใส่ผ้าคล้องแขน(arm sling) หรือสายรัดพยุงกระดูกไหปลาร้า(clavicle brace) โดยใส่ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้จะติดตามการเชื่อมติดของกระดูกจากภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์เป็นระยะ หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หากอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือมีอาการชา อ่อนแรงร่วมด้วยให้พบแพทย์ทันที
การรักษาโดยการผ่าตัด
ข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด
- กระดูกหักแบบเคลื่อนที่มาก (Displaced Fracture): ทำให้กระดูกไม่สามารถเชื่อมติดได้ อาจส่งผลให้กระดูกไม่เชื่อมติด จึงจำเป็นต้องผ่าตัด
- การหักที่แตกเป็นชิ้นหลายชิ้น (Comminuted Fracture): ในบางกรณีที่มีการแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเชื่อมติดได้โดยธรรมชาติ
- กระดูกไม่เชื่อมติดกัน (Nonunion): เมื่อกระดูกไม่สามารถเชื่อมติดกันได้เองหลังจากที่มีการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด
- กระดูกเชื่อมผิดตำแหน่ง (Malunion): กระดูกเชื่อมติดกันแต่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการเคลื่อนไหวหรือรูปลักษณ์ที่ผิดปกติ
- การบาดเจ็บร่วม (Associated Injury): มีการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทหรือหลอดเลือดในบริเวณที่กระดูกหัก ซึ่งต้องการการซ่อมแซมด่วน
ข้อบ่งชี้อาจมีนอกเหนือจากข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และความต้องการของผู้ป่วย โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่ และใช้โลหะยึดดามกระดูก โดยผู้ป่วยจะต้องใส่ผ้าคล้องแขนและติดตามภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ เป็นระยะๆ เช่นเดียวกับการรักษาแบบไม่ผ่าตัด
ทำกายภาพบำบัด
ผู้ป่วยควรมีการยืดเหยียด ข้อศอก ข้อมือ และข้อนิ้ว เพื่อป้องกันข้อติด เนื่องจากการใส่ผ้าคล้องเเขน สำหรับการขยับข้อไหล่สามารถขยับได้เท่าที่ไม่ปวดในช่วงแรก และค่อยๆขยับมากขึ้นหากอาการปวดดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ที่ทำการรักษา
กระดูกไหปลาร้าหัก หายเองได้หรือไม่
การรักษากระดูกไหปลาร้าหักส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หากไม่มีการเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมมาก เพราะกระดูกสมานเองได้ตามธรรมชาติหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หากได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดผิดรูป กระดูกไม่ติด เส้นเลือดเส้นประสาทบาดเจ็บ ส่งผลต่อการใช้งานได้ในอนาคต
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้หากกระดูกไหปลาร้าหัก
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการหักของกระดูกไหปลาร้าหัก เช่น กระดูกไม่ติด กระดูกติดผิดรูป เส้นเลือดเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ ความผิดปกติของการทำงานข้อไหล่ ข้อไหล่ติด หรือ อาจมีอาการปวดเรื้อรังจากกระดูกไม่ติด ได้
รักษากระดูกไหปลาร้าหักที่ kdms ดีอย่างไร
โรงพยาบาล kdms Hospital มีการรักษากระดูกไหปลาร้าหัก ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย ให้คำแนะนำผู้ป่วยทราบถึงข้อดีและข้อเสียของการรักษาแบบต่างๆ และทำการตัดสินใจร่วมกันในการรักษาอย่างเหมาะสม พร้อมกับโปรแกรมกายภาพบำบัด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะข้อไหล่ติด เป็นต้น
ทำการรักษาโดยทีมแพทย์ชำนาญการด้านการรักษากระดูกข้อไหล่ ไม่ว่าจะหัก เคลื่อน หรือไหล่หลุด พร้อมทำความเข้าใจอาการของคนไข้ ร่วมกันตัดสินใจระหว่างคนไข้ และแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ให้คำแนะนำวิธีการรักษา ทั้งแบบผ่าตัด และไม่ผ่าตัด ว่าแต่ละวิธีมีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร ที่สำคัญ คือไม่มีการชักนำให้คนไข้รักษาด้วยวิธีการรักษาที่ไม่จำเป็น
สรุป
กระดูกไหปลาร้าหักเกิดจากแรงกระแทก เช่น การล้มจากที่สูงหรือการชนในกีฬา สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย การรักษามีทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บและสิ่งที่ต้องระวังคือภาวะแทรกซ้อน เช่น การบาดเจ็บของเส้นเลือดและเส้นประสาท หรือกระดูกหักแบบเปิด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หลังการรักษาควรทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันข้อไหล่ติด การรักษาที่เหมาะสมต้องพิจารณาร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยการให้คำแนะนำที่ครบถ้วนและถูกต้องมีความสำคัญในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
บทความโดย นพ.พงษ์เทพ ณ นคร ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่