บทความ /

ข้อไหล่ติด ไปนวดแล้วหายไหม? มาบริหารหัวไหล่กันดีกว่า

ข้อไหล่ติด หรือ Frozen shoulder เป็นภาวะที่ข้อไหล่ติดแข็งไม่สามารถหมุนข้อไหล่ได้เต็มที่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในห้องตรวจกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ โดยก่อนอื่นคงต้องมาทำความรู้จักว่าข้อไหล่ติดเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง  สาเหตุของไหล่ติดจากการศึกษาพบว่าประมาณ 60 -70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอาการไหล่ติด เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ  แต่มักพบเสี่ยงสูงในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป  ผู้หญิง และมีประวัติเป็นเบาหวาน หรือมักพบสัมพันธ์กับโรคบางโรค เช่น  ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ  ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ อัมพฤกษ์  เป็นต้น ส่วนอีก 30 – 40 เปอร์เซ็นต์  เกิดจากกิจวัตรประจำวัน อุบัติเหตุ หรือโรคที่มีสาเหตุภายในข้อไหล่เอง ซึ่งทำให้เอ็นของกล้ามเนื้อข้อไหล่ต่างๆอักเสบ  หรือจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ต้องใช้ไหล่มาก

อ่านบทความไหล่ติดเพิ่มเติมได้ที่ : https://kdmshospital.com/article/frozen-shoulder/

อาการของโรคข้อไหล่ติด

ผู้ที่มีภาวะข้อไหล่ติดจะมีอาการแสดงต่างกันไปแล้วแต่ระยะของโรค  แต่อาการที่มักจะทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้แก่ อาการปวดไหล่ในตอนกลางคืน หรือเอื้อมมือไปด้านหลังไม่ได้  รู้สึกปวดบริเวณหัวไหล่ อย่างไรก็ตามอาการที่มาด้วยปวดบริเวณข้อไหล่นั้นสามารถมีสาเหตุมาจากหลายๆโรคได้  ดังนั้นจึงควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจแยกอาการของโรคอื่นๆที่อาจมีอาการแสดงคล้ายคลึงกัน โดยอาการแสดงที่สำคัญของภาวะข้อไหล่ติด นั่นคือจะมีการจำกัดขององศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในหลายๆมุมทั้งขณะที่เราขยับข้อไหล่เองหรือมีคนมาขยับข้อไหล่ให้ก็จะมีการจำกัดของมุมการเคลื่อนไหวทั้งคู่  ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเมื่อขยับแขนแล้วรู้สึกเจ็บ ก็ยิ่งไม่ขยับหัวไหล่ เมื่อไม่ขยับหัวไหล่ก็ยิ่งทำให้ไหล่ติดมากขึ้น  แม้ว่าระยะต่อมาความรู้สึกปวดอาจลดลงได้เอง  แต่อาการไหล่ติดส่วนใหญ่จะยังไม่หายไปไหน คือยังคงอาจจะไม่สามารถยกแขนทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ดังนั้นการรักษาที่สำคัญจึงไม่เพียงแค่รักษาอาการปวดเพียงอย่างเดียว จะต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนมุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ร่วมด้วย

การรักษาโรคข้อไหล่ติด

โรคนี้สามารถหายเองได้ แต่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามหากไม่รีบรักษา จะทำให้กล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ลีบลงได้  ดังนั้นหากเป็นข้อไหล่ติดระยะแรกที่ข้อไหล่ยังติดไม่มากนัก จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรค และรักษาอาการปวดให้หายก่อน จากนั้นออกกำลังกายด้วยการเหยียดยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ  อาการไหล่ติดจะค่อยๆ หายไปเอง  ในกรณีที่ข้อไหล่ติดมีอาการเอ็นอักเสบร่วมด้วย ในปัจจุบันมีวิธีรักษาหลายวิธี เช่น การทำ Shock Wave  การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น

การนวด ช่วยแก้อาการไหล่ติดได้หรือไม่ 

การนวดที่ให้บริการในสปาและร้านนวดทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นการนวดเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นการทำงานของน้ำเหลือง กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น ช่วยลดความเครียด นอนหลับได้ดีขึ้น ส่วนข้อไหล่ติดนั้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ข้อไหล่ หรือ เยื่อหุ้มข้อไหล่ (Capsule) อักเสบ ทำให้เยื่อหุ้มข้อไหล่ที่เคยยืดหยุ่นหนาตัวขึ้นจนเป็นพังผืด ส่งผลให้ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ตามปกติ และมีอาการปวด  ดังนั้นการนวดเพื่อการผ่อนคลายจึงไม่สามารถช่วยให้อาการข้อไหล่ติดดีขึ้นได้ เพราะไม่ได้รักษาอาการอันต้นเหตุของโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นข้อไหล่ติด สามารถไปนวดได้ ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ท่าบริหารสำหรับผู้หัวไหล่ติด

ท่าไต่กำแพงด้านหน้า

ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ยกแขนข้างมีอาการปวด แขนเหยียดตรง  ใช้มือไต่กำแพงขึ้น ให้รู้สึกว่าตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บเกินไปค้างไว้ 10-15วินาที แล้วค่อยๆ ลดมือลงมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น

ท่าไต่กำแพงด้านข้าง

ยืนหันข้างลำตัวเข้ากำแพง ยกแขนข้างมีอาการปวด แขนเหยียดตรง ใช้มือไต่กำแพงขึ้น ให้รู้สึกว่าตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บมากเกินไป ค้างไว้ 10-15 วินาที แล้วค่อยๆลดมือลงอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้งเช้า-เย็น

ท่ายืดหัวไหล่

มือสองข้างผสานกันที่ด้านหลัง แขนเหยียดตรง ค่อยๆ ยกแขนขึ้น ให้รู้สึกตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บมากเกินไป ค้างไว้ 10 – 15 วินาที ค่อยๆลดแขนลงกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น

ท่าถูหลัง 

ยืนตรงจับผ้าเช็ดตัวพาดบ่า มือจับปลายผ้าทั้ง 2 ข้าง แขนดีอยู่ข้างบน แขนปวดอยู่ด้านล่าง ค่อยๆใช้แขนดีดึงผ้าขึ้น ค้างไว้ 10-15 วินาที แล้วปล่อยกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 2 รอบ

ท่าหมุนแขนออก

ยืนใช้ไม้ช่วยโดยถือไม้ด้วยมือ 2 ข้าง แขนแนบลำตัวข้อศอกตั้งฉาก ท่าเริ่มต้นให้ใช้แขนข้างไม่ดีดันไม้ให้แขนด้านดีหมุนออก หลังจากนั้นเริ่มออกกำลังโดยใช้มือข้างดีดันแขนข้างไม่ดีให้หมุนออกโดยที่ข้อศอกยังอยู่ชิดลำตัวตลอดเวลา ดันออกให้ได้มากที่สุดจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 10-15 วินาทีแล้วปล่อยกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 2 รอบ

สรุป

หากเข้าใจสาเหตุของโรคไหล่ติดแล้วก็จะพบว่า การนวดนั้นไม่ได้ช่วยให้ข้อไหล่ที่ติดดีขึ้นแต่อย่างใด หรือบางครั้งถ้านวดแรงมากไปก็อาจจะทำให้เจ็บเพิ่มได้อีก สิ่งสำคัญก็คือรักษาอาการปวดให้หายโดยเร็ว หลังจากนั้นเมื่อเราไม่มีอาการปวดมากเราก็สามารถค่อยๆออกกำลังกายเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ 

พฤหัส, 07 ต.ค. 2021
แท็ก
ไหล่ติด
ข้อไหล่ติด
นวด
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าจากอาการบาดเจ็บ เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด (ACL Injury) หรือโรคเกี่ยวกับข้อเข่าอื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 245,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
ผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ เพื่อรักษาอาการเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear), ข้อไหล่เสื่อม หรือโรคเกี่ยวกับข้อไหล่อื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 275,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
เอ็นหมุนหัวไหล่อักเสบ
ทำความรู้จักกับเอ็นหมุนหัวไหล่อักเสบ พร้อมแนวทางการรักษา
เอ็นหัวไหล่ฉีก
รักษาอย่างไร? เมื่อเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
ไหล่หลุด
ภาวะข้อไหล่หลุด สาเหตุคืออะไร? แก้ได้ด้วยการรักษาที่ถูกวิธี
ข้อไหล่เสื่อม โรคข้อใกล้ตัวที่ควรรู้เท่าทัน
top line

Login