บทความ /

ข้อไหล่ติด อาการที่ใครก็เป็นได้ และรักษาหายได้ด้วยการปฏิบัติตัวที่ถูกวิธี

ไหล่ติด คืออาการเจ็บปวดบริเวณหัวไหล่ที่เกิดจากพิสัยในการขยับหัวไหล่ลดลง มักจะเจ็บในท่าทางที่ขยับหัวไหล่สุดไปในมุมในมุมหนึ่ง เช่น ไพล่หลังติดตะขอเสื้อใน เอื้อมมือหยิบของบนชั้นสูงๆ เมื่อขยับไหล่ไปเกินพิสัยที่ทำได้จึงมีอาการเจ็บเกิดขึ้น ผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่มากอาจจะมีอาการเจ็บเพียงท่าใดท่าหนึ่ง แต่หากอาการเป็นมากขึ้น พิสัยการขยับของไหล่ลดลงมาก ก็จะมีอาการเจ็บในหลายท่าทางการขยับได้

Table of Contents

สาเหตุของโรคไหล่ติดเกิดจากอะไร

สาเหตุของโรคไหล่ติดยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากการมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณหัวไหล่มาก่อน หรือเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นข้อไหล่ ซึ่งทำให้มีอาการเจ็บหัวไหล่เวลาใช้งาน ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้งานแขนข้างนั้นน้อยลง ประกอบกับการอักเสบทำให้เยื่อหุ้มข้อไหล่หนาตัวขึ้น พิสัยการขยับหัวไหล่ลดลง จึงเกิดอาการติดของหัวไหล่ ขยับไหล่แล้วมีอาการเจ็บ 

อาการของโรคข้อไหล่ติด

ผู้ที่มีภาวะข้อไหล่ติดจะมีอาการแสดงต่างกันไปแล้วแต่ระยะของโรค  แต่อาการที่มักจะทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้แก่ อาการปวดไหล่ในตอนกลางคืน หรือเอื้อมมือไปด้านหลังไม่ได้  รู้สึกปวดบริเวณหัวไหล่ อย่างไรก็ตามอาการที่มาด้วยปวดบริเวณข้อไหล่นั้นสามารถมีสาเหตุมาจากหลายๆโรคได้  ดังนั้นจึงควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจแยกอาการของโรคอื่นๆที่อาจมีอาการแสดงคล้ายคลึงกัน โดยอาการแสดงที่สำคัญของภาวะข้อไหล่ติด นั่นคือจะมีการจำกัดขององศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในหลายๆมุมทั้งขณะที่เราขยับข้อไหล่เองหรือมีคนมาขยับข้อไหล่ให้ก็จะมีการจำกัดของมุมการเคลื่อนไหวทั้งคู่  ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเมื่อขยับแขนแล้วรู้สึกเจ็บ ก็ยิ่งไม่ขยับหัวไหล่ เมื่อไม่ขยับหัวไหล่ก็ยิ่งทำให้ไหล่ติดมากขึ้น  แม้ว่าระยะต่อมาความรู้สึกปวดอาจลดลงได้เอง  แต่อาการไหล่ติดส่วนใหญ่จะยังไม่หายไปไหน คือยังคงอาจจะไม่สามารถยกแขนทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ดังนั้นการรักษาที่สำคัญจึงไม่เพียงแค่รักษาอาการปวดเพียงอย่างเดียว จะต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนมุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ร่วมด้วย

ใครที่จะมีโอกาสเป็นโรคไหล่ติดได้บ้าง


จริงๆ แล้วโรคไหล่ติดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย แต่ที่มักจะพบได้มาก ได้แก่

  • พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • พบมากในช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี

ทำความเข้าใจ 3 ระยะของโรคไหล่ติด

โรคไหล่ติดสามารถแบ่งตามอาการได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะอักเสบ

จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณหัวไหล่แม้ไม่ได้ขยับใช้งาน โดยอาการจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น พิสัยการขยับของหัวไหล่ค่อยๆ ลดลง ระยะนี้เป็นได้นาน 6 สัปดาห์ถึง 9 เดือน

2. ระยะข้อยึด

อาการปวดแบบระยะแรกจะค่อยๆ ลดลง แต่อาการของไหล่ติดจะเป็นมากขึ้น พิสัยการขยับลดลงชัดเจน ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 4-9 เดือน

3. ระยะฟื้นตัว

อาการของไหล่ติดจะค่อยๆ ดีขึ้น พิสัยการขยับทำได้มากขึ้น ระยะนี้อาจใช้เวลานาน 6 เดือน ถึง 2 ปี

โรคไหล่ติดมีขั้นตอนการรักษาอย่างไรบ้าง

โรคนี้สามารถหายเองได้ แต่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามหากไม่รีบรักษา จะทำให้กล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ลีบลงได้  ดังนั้นหากเป็นข้อไหล่ติดระยะแรกที่ข้อไหล่ยังติดไม่มากนัก จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรค และรักษาอาการปวดให้หายก่อน จากนั้นออกกำลังกายด้วยการเหยียดยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ  อาการไหล่ติดจะค่อยๆ หายไปเอง  ในกรณีที่ข้อไหล่ติดมีอาการเอ็นอักเสบร่วมด้วย ในปัจจุบันมีวิธีรักษาหลายวิธี เช่น การทำ Shock Wave  การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น


1. กายภาพบำบัด โดยการดัดหัวไหล่ที่ติดเพื่อเพิ่มพิสัยการขยับให้มากขึ้น เนื่องจากอาการไหล่ติดเกิดจากเยื่อบุข้อไหล่หนาตัวและแข็ง การรักษาจึงต้องค่อยๆ ยืดเพื่อให้เยื่อบุนิ่มลงและยืดหยุ่นขึ้น แนะนำให้ทำกายภาพวันละ 8-10 ครั้ง จะทำให้สามารถขยับหัวไหล่ได้มากขึ้น อาการเจ็บจากไหล่ติดก็จะลดลง

2. ฉีดยาเพื่อลดการอักเสบ เป็นการฉีดยาในกลุ่มยาลดอักเสบหรือกลุ่มสเตียรอยด์เข้าไปในข้อไหล่ เพื่อลดอาการอักเสบของเยื่อบุข้อไหล่ ทำให้การอักเสบลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้การกายภาพบำบัดดัดหัวไหล่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ให้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ สำหรับผู้ป่วยที่รู้สึกเจ็บบริเวณหัวไหล่ แพทย์จะให้ยาแก้ปวดและลดการอักเสบไปรับประทานเพื่อบรรเทา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ขั้นตอนข้อที่ 1, 2 และ 3 จะทำไปพร้อมกันในการตรวจดูอาการตั้งแต่ครั้งแรก หลังจากนั้นแพทย์จะนัดเพื่อติดตามอาการเป็นระยะ

4. การผ่าตัด จะเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์จะเลือกใช้ในการรักษา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไหล่ติดอย่างมาก รักษาด้วยวิธีก่อนหน้าแล้วยังไม่ได้ผล จึงจะแนะนำให้การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อเลาะตัดเยื่อบุข้อที่หนาและแข็งตัวออก ทำให้ข้อไหล่ขยับได้มากขึ้น และทำการดัดข้อไหล่ได้ง่ายขึ้น

ท่าการออกกำลังกายเพื่อบริหารข้อไหล่ติด

ท่าการออกกำลังกายเพื่อบริหารข้อไหล่ติด: ท่าหมุนข้อไหล่

ท่าหมุนข้อไหล่ ยืนก้มตัวลงเล็กน้อยโดยใช้มืออีกข้างยันโต๊ะไว้เพื่อพยุงตัว ปล่อยแขนข้างที่เจ็บลงมา แล้วค่อยๆ แกว่งแขนเป็นวงกลมเล็กๆ ในทิศทางเดียวกัน ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

ท่าการออกกำลังกายเพื่อบริหารข้อไหล่ติด: ท่าผ้าถูหลัง

ท่าผ้าถูหลัง ใช้ผ้าขนหนูขนาดประมาณ 90 ซม. พาดไปด้านหลัง ใช้มือจับปลายทั้งสองข้างไว้
โดยแขนข้างที่ไม่เจ็บอยู่ด้านบน ส่วนข้างที่เจ็บอยู่ด้านล่าง จากนั้นใช้มือที่อยู่ด้านบนดึงขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่ไหว แล้วค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่าการออกกำลังกายเพื่อบริหารข้อไหล่ติด: ท่านิ้วไต่กำแพง

ท่านิ้วไต่กำแพง หันหน้าเข้าหากำแพงในระยะ 3 ใน 4 ของความยาวแขน งอข้อศอกเล็กน้อย
แล้วใช้นิ้วไต่กำแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ให้สูงเท่าที่ทนปวดไหว โดยไม่มีการเขย่งหรือเอี้ยวตัว ทำซ้ำ 10 ครั้ง

การนวด ช่วยแก้อาการไหล่ติดได้หรือไม่ 

การนวดที่ให้บริการในสปาและร้านนวดทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นการนวดเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นการทำงานของน้ำเหลือง กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น ช่วยลดความเครียด นอนหลับได้ดีขึ้น ส่วนข้อไหล่ติดนั้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ข้อไหล่ หรือ เยื่อหุ้มข้อไหล่ (Capsule) อักเสบ ทำให้เยื่อหุ้มข้อไหล่ที่เคยยืดหยุ่นหนาตัวขึ้นจนเป็นพังผืด ส่งผลให้ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ตามปกติ และมีอาการปวด  ดังนั้นการนวดเพื่อการผ่อนคลายจึงไม่สามารถช่วยให้อาการข้อไหล่ติดดีขึ้นได้ เพราะไม่ได้รักษาอาการอันต้นเหตุของโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นข้อไหล่ติด สามารถไปนวดได้ ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ท่าบริหารสำหรับผู้หัวไหล่ติด

ท่าไต่กำแพงด้านหน้า

ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ยกแขนข้างมีอาการปวด แขนเหยียดตรง  ใช้มือไต่กำแพงขึ้น ให้รู้สึกว่าตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บเกินไปค้างไว้ 10-15วินาที แล้วค่อยๆ ลดมือลงมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น

ท่าไต่กำแพงด้านข้าง

ยืนหันข้างลำตัวเข้ากำแพง ยกแขนข้างมีอาการปวด แขนเหยียดตรง ใช้มือไต่กำแพงขึ้น ให้รู้สึกว่าตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บมากเกินไป ค้างไว้ 10-15 วินาที แล้วค่อยๆลดมือลงอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้งเช้า-เย็น

ท่ายืดหัวไหล่

มือสองข้างผสานกันที่ด้านหลัง แขนเหยียดตรง ค่อยๆ ยกแขนขึ้น ให้รู้สึกตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บมากเกินไป ค้างไว้ 10 – 15 วินาที ค่อยๆลดแขนลงกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น

ท่าถูหลัง 

ยืนตรงจับผ้าเช็ดตัวพาดบ่า มือจับปลายผ้าทั้ง 2 ข้าง แขนดีอยู่ข้างบน แขนปวดอยู่ด้านล่าง ค่อยๆใช้แขนดีดึงผ้าขึ้น ค้างไว้ 10-15 วินาที แล้วปล่อยกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 2 รอบ

ท่าหมุนแขนออก

ยืนใช้ไม้ช่วยโดยถือไม้ด้วยมือ 2 ข้าง แขนแนบลำตัวข้อศอกตั้งฉาก ท่าเริ่มต้นให้ใช้แขนข้างไม่ดีดันไม้ให้แขนด้านดีหมุนออก หลังจากนั้นเริ่มออกกำลังโดยใช้มือข้างดีดันแขนข้างไม่ดีให้หมุนออกโดยที่ข้อศอกยังอยู่ชิดลำตัวตลอดเวลา ดันออกให้ได้มากที่สุดจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 10-15 วินาทีแล้วปล่อยกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 2 รอบ

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคไหล่ติด

เพราะโรคไหล่ติดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งวิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคไหล่ติดนั้น ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังนี้

1. ใช้งานหัวไหล่ให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเหวี่ยงแกว่ง สะบัดหัวไหล่ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ และอาจนำมาสู่โรคไหล่ติดได้   

2. ทำการบริหารข้อไหล่ตามท่าที่แนะนำไปข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่คิดว่าตัวเองเริ่มมีอาการหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไหล่ติด สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น สังเกตอาการตัวเองว่ามีสิ่งผิดปกติบ้างหรือไม่ หรือหากไม่แน่ใจก็สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายของเราอยู่ในภาวะที่สมบูรณ์พร้อม ไร้อาการบาดเจ็บกวนใจ โดยเฉพาะการหมั่นบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพื่อที่โรคไหล่ติดจะได้ไม่ถามหาอีกต่อไป

Q&A

Q: มีอาการไหล่ติด ไปนวดกดจุดหรือฝังเข็มแล้วจะหายไหม

จริงๆ แล้วโรคไหล่ติดสามารถรักษาได้ด้วยการดัดข้อไหล่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการทำให้เยื่อบุนิ่มลงและยืดหยุ่นขึ้น แต่การนวดกดจุดหรือการฝังเข็มนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปเพื่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อภายนอก ซึ่งช่วยให้อาการปวดทุเลาลงเพียงบางส่วน แต่ยังไม่ใช่วิธีรักษาที่ตรงกับโรค เว้นแต่ว่าหมอนวดหรือนักกายภาพบำบัดจะทำการดัดข้อไหล่ให้ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้อาการไหล่ติดดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้คนไข้โรคไหล่ติดหมั่นบริหารข้อไหล่อย่างสม่ำเสมอด้วยตัวเองจะดีที่สุด เพราะสามารถทำได้ทุกวัน วันละหลายๆ รอบ แต่การไปใช้บริการนวดกดจุดหรือฝังเข็มอาจทำได้อย่างมาก 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งหากไม่ได้ทำอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายอาการไหล่ติดจะกลับมาอยู่ดี

Q: หากปล่อยให้หายเองโดยไม่ได้รักษาอย่างจริงจัง จะมีโอกาสไหล่ติดเรื้อรังหรือไม่

โดยปกติแล้วโรคไหล่ติดจะมีอยู่ 3 ระยะคือ อักเสบ ข้อยึด และฟื้นตัว ซึ่งตามทฤษฎีแล้วในแต่ละระยะจะใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือน นั่นหมายความว่าหากปล่อยให้หายเองจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี

วิธีการรักษาของแพทย์คือจะให้คนไข้กลับไปดัดข้อไหล่อย่างสม่ำเสมอเพื่อทำให้เข้าสู่ระยะที่ 3 (ระยะฟื้นตัว) เร็วขึ้น เช่น หากคนไข้มาพบแพทย์ในระยะที่ 2 และมีวินัยในการหมั่นบริหารข้อไหล่อย่างต่อเนื่องก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ได้เร็วขึ้น จนทำให้ไหล่กลับมาขยับและฟื้นตัวได้ไวขึ้น

Q: หากมีอาการไหล่ติดมากจนจำเป็นต้องผ่าตัด ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานแค่ไหน และมีผลข้างเคียงหรือไม่

สำหรับการผ่าตัดผู้ป่วยโรคไหล่ติดนั้นจะใช้วิธีการส่องกล้องเพื่อเลาะตัดเยื่อบุข้อที่หนาและแข็งตัวออก ทำให้ข้อไหล่ขยับได้มากขึ้น และทำการดัดข้อไหล่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก คนไข้ใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ

แต่สิ่งที่แพทย์จะกำชับให้ปฏิบัติคือการดัดข้อไหล่ทันทีหลังผ่าตัด ซึ่งในช่วงแรกคนไข้อาจจะยังมีความรู้สึกปวดแผลอยู่บ้าง แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหลังจากผ่าตัดเลาะพังผืดออกแล้วหัวไหล่จะขยับได้ง่ายขึ้น จึงต้องรีบใช้ช่วงเวลานี้ในการบริหารข้อไหล่เพื่อไม่ให้อาการไหล่ติดเกิดขึ้นซ้ำอีก

ศุกร์, 12 มี.ค. 2021
แท็ก
ไหล่ติด
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าจากอาการบาดเจ็บ เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด (ACL Injury) หรือโรคเกี่ยวกับข้อเข่าอื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 245,000* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
ผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ เพื่อรักษาอาการเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear), ข้อไหล่เสื่อม หรือโรคเกี่ยวกับข้อไหล่อื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 275,000* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
บทความอื่นๆ
เอ็นหมุนหัวไหล่อักเสบ
ทำความรู้จักกับเอ็นหมุนหัวไหล่อักเสบ พร้อมแนวทางการรักษา
เอ็นหัวไหล่ฉีก
รักษาอย่างไร? เมื่อเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
ไหล่หลุด
ภาวะข้อไหล่หลุด สาเหตุคืออะไร? แก้ได้ด้วยการรักษาที่ถูกวิธี
ข้อไหล่เสื่อม โรคข้อใกล้ตัวที่ควรรู้เท่าทัน
top line