โรคเกาต์ กับปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัว รู้ไว้ก่อนจะสายเกินแก้
- โรคเกาต์กับปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัว
- โรคเกาต์เกิดจากอะไร
- โรคเกาต์กินอะไรได้บ้าง
- กินไก่แล้วปวดเข่าเป็นเกาต์จริงไหม
- การตรวจวินิจฉัยโรคเกาต์
- รักษาโรคเกาต์ที่ kdms Hospital ได้รับคำวินิจฉัยที่แม่นยำจากทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ
โรคเกาต์เป็นชื่อที่หลายคนคุ้นเคยแต่กลับมีความเข้าใจผิดอยู่มาก เช่น การคิดว่าโรคเกาต์เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือมาจากการกินเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะกินไก่แล้วปวดขา แว่าล้วสันนิษฐานว่าเป็นโรคเกาต์ ทั้งที่ในความเป็นจริงโรคเกาต์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราเอง หากไม่รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง เราอาจใช้ชีวิตโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังเพิ่มโอกาสเกิดโรค เมื่ออาการปรากฏขึ้น อาจรุนแรงจนกระทบคุณภาพชีวิตระยะยาว
บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักโรคเกาต์ให้ลึกขึ้น ตั้งแต่สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงที่มักถูกมองข้าม ไปจนถึงแนวทางป้องกันและรักษา เพื่อให้คุณสามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้ก่อนจะสายเกินไป
Table of Contents
Toggleโรคเกาต์กับปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัว
ปัจจัยใกล้ตัวที่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ได้มากกว่าปกติ ได้แก่
- จากสถิติแล้วโรคเกาต์มักพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- กรรมพันธุ์ มีผลต่อโอกาสเกิดเกาต์ โดยพบว่าหากคนในครอบครัวเคยเป็นเกาต์มาก่อน โอกาสที่เราจะเป็นเกาต์ด้วยเหมือนกันก็จะยิ่งมีสูงขึ้น
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยหากยิ่งดื่มแอลกอฮอล์คู่กับโปรตีนหนัก เช่น สเต็ก เนื้อย่าง ก็จะยิ่งส่งผลต่อโอกาสเสี่ยงในการเกิดเกาต์ หรือทำให้อาการเกาต์รุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้
- ผู้ที่สุขภาพไตไม่ดี จะมีโอกาสเสี่ยงโรคเกาต์ได้มากกว่า เพราะความสามารถในการขับของเสียของไตลดลง ถ้ามีไตแข็งแรง ดื่มน้ำได้ดี ปัสสาวะได้ปกติ โอกาสที่จะมีผลึกเกาต์เกิดขึ้นก็จะน้อยลง ดังนั้น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ 40 ปีขึ้นไป จึงมักพบว่าป่วยเป็นโรคเกาต์ได้มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ เพราะไตทำงานหนักมานาน และเริ่มมีความเสื่อมสภาพเกิดขึ้น
โรคเกาต์เกิดจากอะไร
โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการมีระดับกรดยูริก (Uric Acid) ในเลือดสูงเกินปกติ จนตกผลึกสะสมในข้อต่อและเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปวด บวม แดง และร้อนบริเวณข้อ โดยเฉพาะข้อที่นิ้วหัวแม่เท้าเป็นข้อที่พบได้มากที่สุด
3 สาเหตุที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงเกินปกติ
ระดับกรดยูริกในเลือดที่สูงผิดปกติอาจเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. ร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูงบ่อยๆ เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเลบางชนิด น้ำตาลฟรุกโตส เบียร์ และแอลกอฮอล์
2. ไตขับกรดยูริกออกได้ไม่ดี เช่น
- ในผู้ที่มีปัญหาไตเรื้อรัง
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ
- มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ
3. การใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อการสะสมของกรดยูริก
- ดื่มน้ำน้อย
- น้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน
กรดยูริก (Uric Acid) คืออะไร
กรดยูริก (Uric Acid) เป็นสารที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของพิวรีน (Purine) ซึ่งพบได้ในอาหารบางชนิด เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนื้อแดง และเบียร์ รวมถึงในเซลล์ของร่างกายเองตามธรรมชาติ
ปกติแล้ว ร่างกายจะขับกรดยูริกส่วนเกินออกทางไตผ่านปัสสาวะ แต่หากร่างกายผลิตมากเกินไป หรือไตขับออกได้น้อยกว่าปกติ กรดยูริกจะสะสมในเลือด จนเกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเกาต์และปัญหาสุขภาพอื่นๆ
โรคเกาต์แท้และโรคเกาต์เทียมต่างกันอย่างไร
แม้ว่าโรคเกาต์แท้และโรคเกาต์เทียมจะมีอาการข้ออักเสบคล้ายกัน แต่ทั้งสองโรคมีสาเหตุและลักษณะของผลึกที่สะสมในข้อแตกต่างกัน ดังนี้
ลักษณะ | โรคเกาต์แท้ (Gout) | โรคเกาต์เทียม (Pseudogout) |
---|---|---|
สาเหตุ | กรดยูริก (Uric Acid) สะสมในข้อและตกผลึก | ผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (Calcium Pyrophosphate) สะสมในข้อ |
อาการ | ปวด บวม แดง ร้อน มักเกิดที่นิ้วหัวแม่เท้า | อาการคล้ายโรคเกาต์ แต่พบได้บ่อยที่เข่า ข้อมือ หรือข้อไหล่ |
ปัจจัยเสี่ยง | อาหารที่มีพิวรีนสูง ไตทำงานผิดปกติ โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง | อายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะถ้าอายุมากกว่า 60 ปี โรคข้อเสื่อม หรือความผิดปกติของแร่ธาตุในร่างกาย |
การตรวจวินิจฉัย | ตรวจระดับกรดยูริกในเลือดและการตรวจน้ำในข้อพบผลึกยูเรต | การตรวจน้ำในข้อพบผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต ภาพเอกซเรย์พบการสะสมของแคลเซียมในกระดูกอ่อน |
การรักษา | ยาลดกรดยูริก ยาต้านการอักเสบ ปรับพฤติกรรมการกิน | ยาต้านการอักเสบและการรักษาตามอาการ |
แม้ว่าโรคทั้งสองจะมีอาการคล้ายกัน แต่การวินิจฉัยที่แม่นยำโดยแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากแนวทางการรักษาแตกต่างกัน
โรคเกาต์และโรครูมาตอยด์ต่างกันอย่างไร
แม้ว่าโรคเกาต์ (Gout) และโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis, RA) จะเป็นโรคข้ออักเสบเหมือนกัน แต่มีสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
ลักษณะ | โรคเกาต์ (Gout) | โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis, RA) |
---|---|---|
สาเหตุ | เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริก (Uric Acid) ในข้อ | เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune) ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุข้อ |
อาการ | ข้ออักเสบเฉียบพลัน ปวด บวม แดง ร้อน มักเกิดที่นิ้วหัวแม่เท้าก่อน | ข้ออักเสบเรื้อรัง อาการปวดมักเป็นแบบสมมาตรคือมักเป็นทั้งสองข้างของร่างกาย เช่น ข้อมือ นิ้วมือ หัวเข่า |
ลักษณะของอาการ | มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันเป็นระยะ (เป็นๆ หายๆ) โดยที่เวลาหายมักจะหายสนิท | เป็นโรคเรื้อรัง อาการค่อยๆ แย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป |
ปัจจัยเสี่ยง | อาหารที่มีพิวรีนสูง ดื่มแอลกอฮอล์ โรคไต น้ำหนักเกิน หรือมีภาวะโรคอ้วน | พันธุกรรม การสูบบุหรี่ เพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าชาย |
การตรวจวินิจฉัย | ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด และตรวจน้ำในข้อพบผลึกยูเรต | ตรวจเลือดหาค่า Rheumatoid Factor (RF), Anti-CCP ค่าการอักเสบในเลือด และการตรวจภาพถ่ายเอกซเรย์ |
การรักษา | ยาลดกรดยูริก ยาต้านการอักเสบ ปรับพฤติกรรมการกิน | ยากดภูมิคุ้มกัน ยาต้านการอักเสบ การทำกายภาพบำบัด |
ผลกระทบระยะยาว | อาจเกิดนิ่วในไต ข้อผิดรูป หรือปุ่มก้อนโทฟัส (Tophi) นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย | ทำให้ข้อผิดรูป เสื่อม และเกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะอื่น เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบ หัวใจ และปอด |
สรุป
- โรคเกาต์ เกิดจากการสะสมของกรดยูริก อาการมักเกิดขึ้นเป็นระยะและรุนแรงแบบเฉียบพลัน
- โรครูมาตอยด์ เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ส่งผลให้ข้ออักเสบเรื้อรังและอาจนำไปสู่ข้อผิดรูปถาวร
โรคเกาต์อาการเป็นอย่างไร
อาการโรคเกาต์มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงกลางคืนหรือหลังการดื่มแอลกอฮอล์ โดยลักษณะคือ บวม แดง ร้อน และกดเจ็บ ข้อเคลื่อนไหวลำบาก มักพบบ่อยที่นิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็อาจเกิดที่ข้อเท้า เข่า หรือข้อมือได้ อาการสามารถดีขึ้นเองภายใน 1-2 สัปดาห์ แม้ไม่มีการรักษา อาการอาจบรรเทาลงได้เอง แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม
- มีอาการปวดข้อซ้ำๆ โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่เท้า
- อาการปวดแย่ลงหลังรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเล
- ปวดข้อรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- พบก้อนใต้ผิวหนัง (Tophi)ซึ่งเป็นการสะสมของผลึกกรดยูริกตามข้อ เอ็น หรือใบหู
- เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น นิ่วในไต หรือไตเสื่อม จากการสะสมของกรดยูริกในร่างกาย
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- มีอาการข้ออักเสบเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาการปวดรุนแรงและไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง
- มีอาการของโรคเกาต์ร่วมกับไข้หรือหนาวสั่น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในข้อ
โรคเกาต์กินอะไรได้บ้าง
แม้ว่าโรคเกาต์จะเกี่ยวข้องกับระดับกรดยูริกในร่างกาย แต่ยังสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและไม่กระตุ้นอาการเกาต์ได้ โดยเน้นอาหารที่มีพิวรีนต่ำและช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
อาหารที่แนะนำ
ผักและผลไม้
- ผักใบเขียวทุกชนิด เช่น ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี
- ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี เชอร์รี (ช่วยลดระดับกรดยูริก)
- กล้วย อะโวคาโด (มีโพแทสเซียมสูงช่วยขับกรดยูริก)
ธัญพืชและแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี
- ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ข้าวโอ๊ต
- ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง (ปริมาณพิวรีนต่ำ)
โปรตีนจากพืชและแหล่งโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ
- ไข่ขาว
- นมและผลิตภัณฑ์จากนมพร่องมันเนย (ช่วยลดกรดยูริก)
- ปลาเนื้อขาวบางชนิด เช่น ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม (ในปริมาณพอเหมาะ)
เครื่องดื่มและของว่างที่ดีต่อสุขภาพ
- ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร ช่วยขับกรดยูริกทางปัสสาวะ
- ชาสมุนไพร เช่น ชาเขียว ชาขิง (มีสารต้านการอักเสบ)
- ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (ทานในปริมาณจำกัด)
โรคเกาต์ห้ามกินอะไร เรื่องที่ต้องใส่ใจเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า
หากมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเกาต์หรือรู้สึกเริ่มมีอาการปวดข้อ การเลือกรับประทานทานอาหารจะต้องเคร่งครัดมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้
อาหารที่มีพิวรีนสูง
- เครื่องในสัตว์ (ตับ ไต สมอง)
- เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ
- อาหารทะเลบางชนิด เช่น หอย ปู กุ้ง ปลาแอนโชวี่ ปลาซาร์ดีน
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เบียร์ ไวน์ และเหล้า (กระตุ้นให้กรดยูริกเพิ่มสูงขึ้น)
อาหารและเครื่องดื่มที่มีฟรุกโตสสูง
- น้ำอัดลม เครื่องดื่มรสหวาน น้ำผลไม้เข้มข้น
- ขนมหวาน เช่น เค้ก โดนัท
กินไก่แล้วปวดขาพาให้เป็นเกาต์จริงหรือไม่
เหมือนเป็นประโยคติดปากใครหลายๆ คนไปแล้ว เมื่อกินไก่แล้วปวดขา ก็จะสงสัยว่าเป็นเกาต์หรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้วการกินไก่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์โดยตรง แต่ในผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเกาต์หรือมีระดับกรดยูริกสูง อาจกระตุ้นให้เกิดอาการข้ออักเสบได้หากบริโภคมากเกินไป แต่หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและควบคุมอาหารโดยรวมการรับประทานไก่ก็ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการปวดข้อ หรือโรคเกาต์แต่อย่างใด
นอกจากเรื่องของอาหารการกินแล้ว เรื่องของพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็มีส่วนให้เกิดภาวะเสี่ยงกับการเป็นโรคเกาต์เหมือนกัน
พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่เสี่ยงกับการเป็นโรคเกาต์
1. ไม่ออกกำลังกาย
การไม่ออกกำลังกายทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานช้าลง ส่งผลให้กรดยูริกขับออกได้น้อยลง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดโรคเกาต์ได้ง่ายขึ้น
2. น้ำหนักเกินและโรคอ้วน
- ไขมันส่วนเกินส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญและการกำจัดกรดยูริก
- โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคเกาต์ถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักปกติ
3. พักผ่อนไม่เพียงพอหรือพฤติกรรมการนอนที่ไม่ดี รวมถึงความเครียดสะสม
การอดนอน ความเครียดสะสม ทำให้ร่างกายผลิตสารอักเสบมากขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการเกาต์กำเริบ
การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์
ในการวินิจฉัยว่าเราป่วยเป็นโรคเกาต์หรือไม่นั้น แพทย์ต้องใช้ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจภาพถ่ายทางการแพทย์ เพื่อยืนยันว่ามีระดับกรดยูริกสูงและการสะสมของผลึกยูเรตในข้อต่อ
1. การตรวจร่างกาย (Clinical Evaluation)
แพทย์จะประเมินอาการ ได้แก่
- ปวด บวม แดง ร้อนที่ข้อ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า
- อาการข้ออักเสบเฉียบพลันเป็นๆ หายๆ
- ปัจจัยเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง ดื่มแอลกอฮอล์ โรคอ้วน โรคไต หรือประวัติครอบครัวเป็นโรคเกาต์
2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Tests)
- ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด (Serum Uric Acid Test) ระดับกรดยูริกที่สูงเกิน 6.8 mg/dL อาจบ่งบอกถึงโรคเกาต์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีกรดยูริกสูงจะเป็นโรคเกาต์ และบางคนที่เป็นโรคเกาต์อาจมีค่ากรดยูริกปกติในช่วงอาการกำเริบได้
- การเจาะน้ำในข้อเพื่อตรวจผลึก (Synovial Fluid Analysis) – วิธีที่แม่นยำที่สุด โดยใช้เข็มดูดน้ำไขข้อไปตรวจหากพบ ผลึกยูเรตทรงเข็ม (Monosodium Urate, MSU) ภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ ถือเป็นหลักฐานยืนยันโรคข้ออักเสบเฉียบพลันจากผลึกเกาต์ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีตรวจที่ช่วยแยกโรคเกาต์ออกจาก โรคเกาต์เทียม (Pseudogout) ซึ่งมีผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตได้อีกด้วย
- การตรวจเลือดอื่นๆ เพื่อแยกโรคข้ออักเสบอื่นๆ
- CBC (Complete Blood Count) เพื่อตรวจหาอาการติดเชื้อ
- ESR และ CRP เพื่อตรวจระดับการอักเสบในร่างกาย
3. การตรวจทางภาพถ่ายทางการแพทย์ (Imaging Studies)
- เอกซเรย์ (X-ray)ใช้ตรวจหาความเสียหายของข้อในกรณีที่เป็นโรคเกาต์เรื้อรัง
- อัลตราซาวด์ (Ultrasound) สามารถตรวจพบการสะสมของผลึกยูเรตและภาวะข้ออักเสบ แต่ต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการอ่านผลอัลตราซาวน์ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจึงจะได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบพลังงานคู่ (Dual-Energy CT Scan, DECT) วิธีที่แม่นยำสูง สามารถตรวจพบการสะสมของผลึกยูเรตในเนื้อเยื่อแม้จะไม่มีการอักเสบ แต่ราคาสูงและไม่ได้มีใช้กันทั่วไป
สรุป การวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดคือ การเจาะน้ำในข้อเพื่อตรวจหาผลึกยูเรต ร่วมกับการตรวจเลือดและการตรวจภาพถ่ายทางการแพทย์
หากถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ ก็ควรดูแลตัวเองอย่างมีวินัย เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรม การเลือกอาหาร และการพบแพทย์เมื่อพบอาการผิดปกติ
รักษาโรคเกาต์อย่างไรให้หายดี
การจัดการโรคเกาต์มี 2 เป้าหมายหลักคือ บรรเทาอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน และป้องกันการเกิดซ้ำ โดยใช้ยา ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และควบคุมอาหารเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
1. รักษาอาการปวดเฉียบพลัน (Acute Treatment)
เป้าหมายคือ ลดอาการอักเสบและปวดให้เร็วที่สุด โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการเกาต์กำเริบ
- ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)เช่น Ibuprofen, Naproxen, Indomethacinควรใช้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่ควรใช้อย่างระมัดระวังในผู้ที่มีปัญหาไต หรือโรคกระเพาะอาหาร
- Colchicine ได้ผลดีที่สุดหากรับประทานภายใน 24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการ อาจมีผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย
- สเตียรอยด์ (Corticosteroids)ใช้เมื่อ NSAIDs หรือ Colchicine ไม่สามารถใช้ได้ มีทั้งรูปแบบรับประทาน (Prednisone) และรูปแบบฉีดเข้าข้อ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วมด้วย
2. การป้องกันการเกิดซ้ำ (Long-Term Management)
เป้าหมายคือ ควรรักษาระดับกรดยูริก ต่ำกว่า 6 mg/dL (หรือต่ำกว่า 5 mg/dL ในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง) โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเกาต์กำเริบบ่อยครั้ง มีโทฟัสตามตัว หรือมีนิ่วในไต ยิ่งต้องรักษาต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ป่วยเรื้อรังมีอาการรุนแรง จนก้อนโทฟัสเข้าไปขวางอยู่ในข้อไม่หาย ก็อาจจำเป็นต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด แต่มีโอกาสน้อยมาก เพราะโรคเกาต์เป็นโรคที่รักษาหายด้วยยา และการควบคุมกรดยูริก ควบคุมอาหาร ไม่ใช่โรคที่รักษาด้วยการผ่าตัด
รักษาโรคเกาต์ที่ kdms Hospital ดีอย่างไร
การดูแลและรักษาโรคเกาต์ให้ได้ผลดีในระยะยาว ต้องอาศัยทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเกาต์และโรคข้อต่างๆ อย่างลึกซึ้ง รวมถึงการวางแผนดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่ง kdms Hospital เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ที่รวบรวมแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลโรคกระดูก ข้อ รวมถึงกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะ และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ หรือสงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคเกาต์จะได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำที่มาพร้อมเครื่องมือทันสมัยกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ดูแลผู้ป่วยโรคข้ออักเสบเรื้อรังอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น โรคเกาต์ (Gout) หรือโรครูมาตอยด์ อีกทั้งยังมีการดูแลรักษาแบบองค์รวมคือการวินิจฉัย รักษา ตลอดจนการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง
การดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดเมื่อเป็นโรคเกาต์
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์คือ จะต้องทราบว่าระดับยูริกในเลือดของตัวเราเองนั้นสูงหรือต่ำแค่ไหน เพื่อหาความสมดุลที่เหมาะสมในการรักษา ในผู้ป่วยบางรายที่มีระดับเกาต์สูง การควบคุมอาหารก็อาจไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการรับประทานยาควบคุมระดับกรดยูริกในร่างกายด้วย ซึ่งจำเป็นต้องทานต่อเนื่องจนกว่าจะควบคุมระดับกรดยูริกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ จนเมื่ออาการดีขึ้นเกิน 6 – 12 เดือน ไม่มีอาการปวด บวม ก็จะค่อย ๆ ลดยาลงให้เหลือน้อยที่สุดที่สามารถควบคุมระดับยูริกในเลือดให้อยู่ในระดับเหมาะสมได้ โรคเกาต์เป็นโรคกระดูกและข้อที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก เพราะปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร และการดูแลสุขภาพของตัวเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญแต่มักถูกมองข้ามไปก็คือ เรื่องการดูแลสุขภาพไต โดยเราอาจเข้าใจว่าหลีกเลี่ยงการรับประทานยอดผัก ไม่ทานข้อไก่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วจะปลอดภัย แต่ถ้าดูแลสุขภาพไตไม่ดี ไตไม่แข็งแรง ทำงานได้ไม่เป็นปกติ ขับของเสียได้ไม่เต็มที่ ก็เกิดการตกผลึกที่ทำให้เป็นโรคเกาต์ได้ ดังนั้น การดูแลสุขภาพไตจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ตั้งแต่วันนี้ ด้วยการไม่ทานเค็มจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควบคุมปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวันให้ไม่น้อยกว่า 2 ลิตร และหากพบอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราเสี่ยงเป็นเกาต์ มีอาการปวดข้อ ข้อบวม ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อให้ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
สรุป
โรคเกาต์เป็นภาวะข้ออักเสบที่เกิดจากการสะสมของผลึก กรดยูริก ในข้อ สาเหตุหลักมาจาก การรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง และ ร่างกายขับกรดยูริกออกได้น้อย พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์บ่อย การกินอาหารแปรรูป และเนื้อสัตว์บางชนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงได้
อาการของโรคเกาต์มักเริ่มจาก ข้อบวม แดง ร้อน และปวดเฉียบพลัน โดยพบบ่อยที่นิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็อาจเกิดได้ในข้ออื่น เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อมือ การวินิจฉัยที่แม่นยำต้องแยกโรคเกาต์ออกจาก โรคเกาต์เทียม และ โรครูมาตอยด์ ซึ่งมีอาการคล้ายกันแต่เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน
การรักษาโรคเกาต์ต้องใช้ทั้ง ยาเพื่อลดการอักเสบระยะเฉียบพลัน และ การควบคุมระดับกรดยูริกในระยะยาว ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต หากมีอาการปวดรุนแรง ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและรักษาได้อย่างถูกต้อง
คำถามที่พบบ่อย
แม้ว่าโรคเกาต์มักพบใน ผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ วัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นก็สามารถเป็นโรคเกาต์ได้ แม้ว่าจะพบได้น้อยกว่าก็ตาม
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ในวัยหนุ่มสาว
- กรรมพันธุ์: หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเกาต์ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น
- อาหารที่มีพิวรีนสูง: การรับประทานเนื้อแดง อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ อาหารแปรรูป และดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ อาจเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือด
- เครื่องดื่มที่มีฟรุกโตสสูง: น้ำอัดลม น้ำหวาน ชาไข่มุก เพิ่มความเสี่ยงของกรดยูริกสูง
- โรคอ้วนและน้ำหนักเกิน: คนที่มี BMI สูงมีแนวโน้มเป็นโรคเกาต์มากขึ้น
- โรคไตหรือความผิดปกติในการขับกรดยูริก: ผู้ที่มีไตทำงานผิดปกติอาจขับกรดยูริกออกได้น้อย
- การใช้ยาบางชนิด: เช่น ยาขับปัสสาวะ และยากดภูมิคุ้มกัน
อาการของโรคเกาต์ในวัยหนุ่มสาว
- ปวด บวม แดง ร้อนที่ข้อ (มักเริ่มที่นิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็เกิดที่ข้ออื่นได้)
- อาการปวดเกิดขึ้นกะทันหัน มักเป็นตอนกลางคืน
- หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการกำเริบบ่อยขึ้นและนำไปสู่ข้อผิดรูป
แนวทางป้องกันสำหรับวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น
- ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนัก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ (อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน) เพื่อช่วยขับกรดยูริก
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม
สรุป
แม้ว่าวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหลักของโรคเกาต์ แต่ ก็สามารถเป็นได้ หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น พันธุกรรม อาหาร น้ำหนักเกิน หรือโรคไต หากมีอาการปวดข้อผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจระดับกรดยูริกและรับการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
ตามแนวทางล่าสุด การกินไก่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์โดยตรง แต่ถ้ากินมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงของการสะสมกรดยูริกในร่างกาย ซึ่งอาจกระตุ้นอาการเกาต์ในบางคนได้
ควรกินไก่อย่างไรให้ปลอดภัย?
สัตว์ปีกสามารถรับประทานได้ แต่ต้องควบคุมปริมาณ โดยสัตว์ปีกมีพิวรีนระดับปานกลาง ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริก แต่ไม่สูงเท่ากับเนื้อแดงหรืออาหารทะเลบางชนิด จึงสามารถรับประทานได้เป็นครั้งคราว แต่ควรเลี่ยงการกินปริมาณมากติดต่อกัน โดยเลือกส่วนที่พิวรีนน้อยกว่าเช่น อกไก่ไร้หนัง ดีกว่าสะโพกหรือเครื่องใน เพราะมีพิวรีนน้อยกว่า
สรุป
กินไก่ได้ แต่ต้องกินอย่างพอดี และควบคุมอาหารโดยรวม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูงร่วมด้วย หากมีแนวโน้มเป็นโรคเกาต์หรือมีอาการข้ออักเสบบ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อคำแนะนำที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง
การเลือกอาหารที่เหมาะสมช่วยลดระดับ กรดยูริก ในร่างกาย และป้องกันอาการเกาต์กำเริบ เมนูที่ดีควรมี พิวรีนต่ำ ไขมันไม่สูง และช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกได้ดี
อาหารเช้า
ข้าวต้มปลาเนื้อขาว + ผักต้ม
- ใช้ปลาเนื้อขาว เช่น ปลานิล ปลาดุกแทนปลาโอ หรือปลาซาร์ดีนที่มีพิวรีนสูง
- เติมฟักทอง หรือแครอทต้ม ช่วยเพิ่มใยอาหาร
โจ๊กข้าวกล้อง + ไข่ลวก
- ข้าวกล้องช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและมีไฟเบอร์สูง
- ไข่ลวกเป็นโปรตีนที่ดีและมีพิวรีนน้อย
ขนมปังโฮลวีต + อะโวคาโด + นมพร่องมันเนย
- นมไขมันต่ำช่วยลดกรดยูริก
- อะโวคาโดมีไขมันดี ลดการอักเสบ
อาหารกลางวัน
สลัดผัก + อกไก่นึ่ง
- เลือกอกไก่แทนเนื้อแดง
- ใช้น้ำสลัดแบบน้ำใสหรือน้ำมันมะกอกแทนมายองเนส
ข้าวไรซ์เบอร์รี + ผัดผักรวม + เต้าหู้
- ข้าวไรซ์เบอร์รีมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ
- เต้าหู้เป็นโปรตีนที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์
แกงเลียงกุ้งสด
- เลือกใช้กุ้งสดในปริมาณเล็กน้อย เพราะกุ้งมีพิวรีนปานกลาง
- ผักในแกงเลียงช่วยขับกรดยูริก เช่น ฟักทอง บวบ ตำลึง
อาหารเย็น
ซุปเต้าหู้เห็ดหอม
- เต้าหู้เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี
- เห็ดหอมควรใช้ในปริมาณเล็กน้อย เพราะมีพิวรีนปานกลาง
ข้าวกล้อง + ต้มจับฉ่าย
- ผักใบเขียวช่วยขับกรดยูริก
- ไม่ควรใส่หมูสามชั้นหรือเนื้อสัตว์ติดมัน
ปลาเผา + น้ำจิ้มซีฟู้ดแบบเผ็ดน้อย
- เลือกปลาเนื้อขาว เช่น ปลาดุก ปลาทับทิม
- เลี่ยงปลาทะเลที่มีพิวรีนสูง
ของว่างและเครื่องดื่มที่แนะนำ
- ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (ในปริมาณพอเหมาะ)
- โยเกิร์ตไขมันต่ำ
- น้ำสมุนไพร เช่น น้ำตะไคร้ น้ำใบเตย น้ำมะนาว
- ชาเขียวไม่ใส่น้ำตาล (ช่วยลดการอักเสบ)
เมนูที่ควรหลีกเลี่ยง
- เครื่องในสัตว์ (ตับ ไต หัวใจ กึ๋น)
- เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมูติดมัน
- อาหารทะเลพิวรีนสูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปู หอย
- อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม
สรุป
ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรเน้นอาหาร พิวรีนต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ นมไขมันต่ำ และโปรตีนจากพืชหรือปลาเนื้อขาว หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นกรดยูริกสูงเพื่อป้องกันอาการกำเริบ การดื่มน้ำมากๆ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกาต์ได้เช่นกัน
บทความโดย พญ.อักษิกา สาลิง แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม
วิดีโอที่เกี่ยวข้อง
ปรึกษาอาการก่อนนัดพบแพทย์