“เกาต์” โรคใกล้ตัว เสี่ยงเป็นชัวร์ หากรู้ไม่เท่าทัน

เกาต์ ถือเป็นหนึ่งในชื่อโรคที่ทุกคนคุ้นหู ซึ่งมักมีใครสักคนไม่ใกล้ไม่ไกลตัวเราป่วยเป็นโรคนี้ แต่ถึงแม้จะได้ยินชื่อโรคเกาต์อยู่บ่อยๆ ก็มีน้อยคนนักที่จะรู้จักจริงๆ ว่าเกาต์คืออะไร? ซึ่งด้วยความไม่รู้จักโรคเกาต์นี้เอง จึงทำให้เราใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง และนำพาตัวเองไปสู่เส้นทางของการเจ็บป่วยด้วยโรคเกาต์อย่างไม่คาดคิดในที่สุด ดังนั้นการทำความรู้จักโรคเกาต์ให้เข้าใจไว้ตั้งแต่วันที่เรายังไม่มีอาการเจ็บป่วย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราและคนใกล้ตัวที่รักปลอดภัยจากโรคเกาต์ได้มากขึ้น

ทำความรู้จัก เกาต์ ในมุมที่เราอาจไม่เคยรู้

เกาต์ คือ ผลึกที่เกิดขึ้นในข้อ โดยปกติข้อของคนเราจะประกอบไปด้วยสารหล่อเลี้ยงข้อที่มีลักษณะเป็นน้ำเหลวลื่น แต่เกาต์จะเป็นการตกผลึกที่คล้ายเหมือนเข็มค้างสะสมอยู่ในข้อ ทิ่มแทงเส้นเอ็น และเยื้อหุ้มข้อรอบๆ จนทำให้เกิดการอักเสบ โดยผลึกของเกาต์นั้น คือ โมโนโซเดียมยูเรต (Monosodium Urate) ทั้งนี้ เกาต์ยังสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท ที่คนไม่รู้ คือ

เกาต์แท้ เป็นเกาต์ปกติที่พบได้บ่อยทั่วไป เกิดจากการตกผลึกของโมโนโซเดียมยูเรต (Monosodium Urate) โดยผลึกที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย มักพบได้ตามข้อ โดยอาจเกิดได้ทั้งที่ข้อนิ้วโป้งที่เท้า ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อศอก แต่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยแค่ว่าเกาต์เกิดขึ้นได้เฉพาะที่บริเวณเข่าเท่านั้น

เกาต์เทียม เป็นเกาต์ที่ไม่ได้เกิดจากการตกผลึกของกรดยูริก หรือ โมโนโซเดียมยูเรต (Monosodium Urate) แต่เป็น แคลเซียมไพโรฟอสเฟต (Calcium Pyrophosphate Dehydrate (CPPD) ) มักพบได้ในคนสูงวัยช่วงอายุ 60-70 ปี ระดับกรดยูริกในร่างกายจะไม่สูง แต่มีการอักเสบที่ข้อเหมือนกันกับเกาต์แท้ การควบคุมอาหารไม่มีผลต่อการรักษา ต้องใช้การลดอักเสบเท่านั้น

เมื่อป่วยเป็น เกาต์ เรามีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการแสดงของโรคเกาต์นั้นสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือมีอาการปวดที่บริเวณข้อนิ้วโป้งเท้า ข้อศอก หรือข้อเข่า อาจปวดแบบเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการบวบอักเสบร่วมด้วยก็ได้ ทั้งนี้ในกรณีของคนที่ป่วยเป็นโรคเกาต์เรื้อรังยาวนาน ผลึกจะสะสมขังตัวอยู่ในข้อจนกลายเป็นเหมือนก้อนกระดูกที่นูนงอกออกมาได้ แต่ก็ไม่ใช่กระดูกจริง

วินิจฉัยอย่างไรถึงมั่นใจว่าเป็น เกาต์ แน่ๆ

ในการวินิจฉัยว่าเราป่วยเป็นโรคเกาต์หรือไม่นั้น แพทย์จะทำการตรวจด้วยการเจาะเลือดเพื่อพิจารณาระดับกรดยูริกว่าสูงเกินมาตรฐานหรือไม่ หากพบว่ามีกรดยูริกสูงเกิน ก็แสดงว่าเราป่วยเป็นโรคเกาต์และต้องเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้ผลึกเกาต์สะสมเพิ่มขึ้นจนมีอาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม หรืออีกวิธีหนึ่งคือวินิจฉัยด้วยการเจาะนำเอาน้ำในข้อเข่า หรือข้อที่เกิดอาการผิดปกติมาตรวจเฉพาะทาง ซึ่งมักจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมาด้วยอาการข้อเข่าหรือข้อบริเวณอื่นๆ บวมอักเสบ ซึ่งแพทย์จะใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องตรวจดูน้ำในข้อเข่าเพื่อยืนยันว่ามีผลึกเกาต์หรือไม่ โดยหากมีผลึกเกาต์สะสมอยู่จำนวนมากจะส่องเห็นเหมือนเป็นก้อนสีขาวคล้ายยาสีฟัน ซึ่งทะลุงอกออกมารอบๆข้อที่มีความผิดปกติ โดยเราเรียกก้อนสีขาวนี้ว่า โทฟัส (Tophus) จะพบได้ในผู้ป่วยโรคเกาต์เรื้อรังที่เป็นมานานแล้ว

วิธีการรักษาโรคเกาต์ ทำอย่างไรให้เราหายดี?

รักษาอาการปวด
ด้วยการทำให้การอักเสบลดลง โดยแพทย์จะยังไม่ลดระดับกรดยูริกในขณะที่ยังมีอาการปวดอยู่ ซึ่งถือเป็นข้อควรระวังอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ซื้อยาประทานเอง เพื่อต้องการลดระดับกรดยูริก โดยเราห้ามทานยาลดระดับยูริกในขณะที่ยังมีอาการปวดอยู่เด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง มีผลึกเกาต์ตกสะสมเยอะมากขึ้น ในการรักษาอาการปวดจากโรคเกาต์นี้ จะใช้ยารับทานเฉพาะทาง ชื่อ “โคลชิซีน” (Colchicine) เป็นหลัก ร่วมกับยาแก้ปวด แก้อักเสบอื่น ๆ เพื่อลดอาการปวดบวม

ลดระดับยูริกในร่างกาย
เมื่อรักษาอาการปวดบวมให้ลดลงได้แล้ว แพทย์จะลดยาแก้ปวดลง แล้วเริ่มให้รับประทานยาลดระดับกรดยูริกในเลือดแทน โดยเกาต์จะหายขาดได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถควบคุมระดับกรดยูริกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปกติได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ป่วยเรื้อรังมีอาการรุนแรง จนก้อนโทฟัสเข้าไปขวางอยู่ในข้อไม่หาย ก็อาจจำเป็นต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด แต่มีโอกาสน้อยมาก เพราะโรคเกาต์เป็นโรคที่รักษาหายด้วยยา และการควบคุมกรดยูริก ควบคุมอาหาร ไม่ใช่โรคที่รักษาด้วยการผ่าตัด

ปัจจัยเสี่ยงใดทำให้เราเสี่ยง เกาต์ ?

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ได้มากกว่าปกติทั่วไป ได้แก่

  • จากสถิติแล้วโรคเกาต์มักพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • กรรมพันธุ์ มีผลต่อโอกาสเกิดเกาต์ โดยหากพบว่าคนในครอบครัวเคยเป็นเกาต์มาก่อน โอกาสที่เราจะเป็นเกาต์ด้วยเหมือนกันก็จะยิ่งมีสูงขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น ยอดผักต่าง ๆ หน่อไม้  ปีกไก่ ข้อไก่ ฯลฯ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเนื้อไก่จะทำให้เราเป็นเกาต์ แต่หากรับประทานข้อไก่ ปีกไก่เป็นปริมาณมาก ๆ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้
  • ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยหากยิ่งดื่มแอลกอฮอล์คู่กับโปรตีนหนัก อาทิ สเต็ก เนื้อย่าง ก็จะยิ่งส่งผลต่อโอกาสเสี่ยงเกิดเกาต์ หรือทำให้อาการเกาต์รุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้
  • ผู้ที่สุขภาพไตไม่ดี จะมีโอกาสเสี่ยงโรคเกาต์ได้มากกว่า เพราะความสามารถในการขับของเสียของไตลดลง ถ้ามีไตแข็งแรง ดื่มน้ำได้ดี ปัสสาวะได้ปกติ โอกาสที่จะมีผลึกเกาต์เกิดขึ้นก็จะน้อยลง ดังนั้น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ 40 ปีขึ้นไป จึงมักพบว่าป่วยเป็นโรคเกาต์ได้มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ เพราะไตทำงานหนักมานาน และเริ่มมีความเสื่อมสภาพเกิดขึ้น

เกาต์ VS รูมาตอยด์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?

รูมาตอยด์ คือ หนึ่งในโรคข้ออักเสบที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดบริเวณเข่าได้เช่นเดียวกันกับโรคเกาต์ จึงทำให้หลาย ๆ คนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคเดียวกัน หรือสงสัยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งนี้ ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง 2 โรค คือ เกาต์เป็นโรคที่เกิดจากผลึกสะสมในข้อ แต่รูมาตอยด์จะเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อ ซึ่งเป็นผลมาจากร่างกายแพ้ภูมิตัวเอง ถูกภูมิคุ้มกันร่างกายทำร้ายตัวเอง โดยเมื่อสาเหตุต้นตอของโรคต่างกัน วิธีการรักษาก็จะแตกต่างกันไปด้วย

เมื่อป่วยเป็น เกาต์ เราควรดูแลตัวเองอย่างไร?

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์คือ จะต้องทราบว่าระดับเกาต์ของตัวเราเองนั้นสูงหรือต่ำแค่ไหน เพื่อหาความสมดุลที่เหมาะสมในการรักษา ผู้ป่วยบางคนระดับเกาต์ไม่สูงมาก ใช้เพียงแค่การควบคุมอาหาร ไม่รับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง ก็เพียงพอให้อยู่ได้แบบไม่มีอาการเจ็บปวดแล้ว

แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีระดับเกาต์สูง การควบคุมอาหารก็อาจไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการรับประทานยาควบคุมระดับกรดยูริกในร่างกายด้วย ซึ่งจำเป็นต้องทานต่อเนื่องจนกว่าจะควบคุมระดับกรดยูริกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ จนเมื่ออาการดีขึ้นเกิน 6 – 12 เดือน ไม่มีอาการปวด บวม ก็จะค่อย ๆ ลดยาลง และสามารถหายขาดได้เมื่อระดับยูริกกลับมาเป็นปกติ

โรคเกาต์เป็นโรคกระดูกและข้อที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก เพราะปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร และการดูแลสุขภาพของตัวเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญแต่มักถูกมองข้ามไปก็คือ เรื่องการดูแลสุขภาพไต โดยเราอาจเข้าใจว่าหลีกเลี่ยงการรับประทานยอดผัก ไม่ทานข้อไก่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วจะปลอดภัย แต่ถ้าดูแลสุขภาพไตไม่ดี ไตไม่แข็งแรง ทำงานได้ไม่เป็นปกติ ขับของเสียได้ไม่เต็มที่ ก็เกิดการตกผลึกที่ทำให้เป็นโรคเกาต์ได้ ดังนั้น การดูแลสุขภาพไตจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ตั้งแต่วันนี้ ด้วยการไม่ทานเค็มจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควบคุมปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวันให้ไม่น้อยกว่า 2 ลิตร และหากพบอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราเสี่ยงเป็นเกาต์ มีอาการปวดข้อ ข้อบวม ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

อังคาร, 07 ก.ย. 2021
แท็ก
รูมาตอยด์
เกาต์

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดเต็มข้อ 1 ข้าง โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด MAKO โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าเเละข้อสะโพกเทียม  ...
package 330,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด MAKO เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าเเละข้อสะโพกเทียม...
package 379,500* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนรักษาอย่างไร? เข้าใจสาเหตุ และอาการ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
top line

Login