ปวดข้อมือมานานไม่หายสักที นี่คืออาการที่ต้องระวัง

ข้อมือ คือหนึ่งในอวัยวะที่ใช้งานสูงที่สุดในชีวิตประจำวัน ทุกกิจกรรมเรียกร้องการทำงานของข้อมือ และเนื่องจากข้อมือ เป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้รอบทิศทาง ซึ่งส่วน สำคัญที่ช่วยพยุงข้อต่อข้อนี้ของเราไว้ก็คือ เอ็นและกระดูกรอบๆ ข้อมือ การใช้งานในชีวิตประจำวันซำ้ๆ สามารถทำให้เอ็นและกระดูกส่วนนี้ได้รับบาดเจ็บได้ แม้ไม่เคยได้รับบาดเจ็บโดยตรงจากอุบัติเหตุ

อาการปวดข้อมือ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ เพราะอาการเจ็บข้อมือเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งยังมีรายละเอียดมากมายไม่แพ้เครื่องยนต์กลไลของนาฬิกาข้อมือที่เล็กและละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นเราไม่ควรมองข้ามอาการเจ็บหรือปวดที่ข้อมือ เพราะวิธีการรักษาในแต่ละสาเหตุก็ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมากเช่นกัน

โดยเฉพาะ อาการเจ็บหรือปวดที่ข้อมือ ที่เป็นมานาน ไม่หายสักที คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะตามปกติเเล้ว อาการเจ็บปวดของส่วนต่างๆ ในร่างกาย ควรจะหายเองได้หลังจากได้พักการใช้งาน หรือรับประทานยาลดปวด ลดอักเสบสักระยะหนึ่ง แต่หากอาการปวด หรือบาดเจ็บเหล่านี้ยังคงอยู่กับเรา ไม่บอกลาไปเสียที ย่อมบ่งบอกถึงปัญหาที่ต้องได้รับการวินิจฉัย และรักษาก่อนที่อาการเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการเจ็บข้อมือหรือไม่

ไม่ว่ากิจกรรมใดก็ตามที่ต้องการใช้งานข้อมือซำ้ๆในลักษณะเดิมๆ ก็เป็นเหตุที่ทำให้เจ็บข้อมือได้ทั้งนั้น จะเเตกต่างกันก็ตรงที่ส่วนไหนจะได้รับบาดเจ็บเท่านั้นเอง ซึ่งก็ขึ้นกับลักษณะของกิจกรรมที่ทำ แม้กิจกรรมเบาๆ ที่เราคิดไม่ถึงว่าเป็นสาเหตุได้เช่นการทำงานบ้านปกติ เล่นกีฬาที่เล่นเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งการทำงานบนโต๊ะทำงานที่เราคิดว่าเเสนจะปกติก็ตาม ซึ่งถ้ามากเกินไปก็อาจเป็นเหตุให้บางจุดเล็กๆ ในข้อมือเราเจ็บป่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากอุบัติเหตุหรือการใช้งานหักโหมต่างๆ

เพศไหนมีโอกาสปวดข้อมือมากกว่ากัน

  • โดยส่วนใหญ่เราพบว่าผู้หญิงจะพบการปวดข้อมือได้มากกว่า เนื่องจากการทำงานบ้าน การทำงานฝีมือ ทำอาหาร รวมถึงกิจกรรมที่ใช้มือต่างๆ 
  • สำหรับผู้ชาย มักจะเกิดอาการบาดเจ็บข้อมือจากการใช้ข้อมือผิดประเภท เช่น ทำสวน ทำงานช่าง โดยส่วนมากมักพบในผู้ที่ทำเป็นงานอดิเรก ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ ซึ่งกลุ่มนี้เองที่มักใช้งานมือที่ผิดท่าทาง จนทำให้บาดเจ็บได้

ช่วงวัยที่พบอาการปวดข้อมือ

  • อาการเจ็บข้อมือ มักไม่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ด้วยความที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยังมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ได้ใช้งานหนัก หรือใช้ทำงานมากจนเกินไป
  • กลุ่มที่พบอาการปวดข้อมือได้มาก คือวัยทำงาน วัยกลางคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้มือในการทำงานซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งมักเป็นการบาดเจ็บจากการใช้งานในชีวิตประจำวันมากๆ  หรือ เกิดจาดอุบัติเหตุ ซึ่งการบาดเจ็บ อักเสบนี้เกิดขึ้นได้กับทั้ง เส้นเอ็น เส้นประสาท และข้อต่อในข้อมือ
  • กลุ่มผู้สูงวัยจะมีอาการปวดข้อมือที่เกี่ยวข้องกับอาการข้อเสื่อม เช่น เอ็นเล็กๆ ข้างในข้อที่ฉีกขาด หรือเสื่อมสภาพ

อาการอาการปวดข้อมือ ถ้ามองในด้านกายภาพ จะพบว่าเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่ไม่น่ามีความสลับซับซ้อน แต่สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมือ จะมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียดของพื้นที่เล็กๆ ที่กลับเต็มไปด้วยเส้นประสาท เส้นเอ็น ข้อต่างๆ มากมาย ทำให้การวินิจฉัยเรื่องอาการบาดเจ็บข้อมือจะต้องทำโดยละเอียด เพื่อการรักษาที่ตรงสาเหตุ

อาการปวดข้อมือ

อาการปวดข้อมือลักษณะต่างๆ

อาการปวดบริเวณข้อมือ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่าง การสำรวจตัวเองเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะอาการแต่ละแบบอธิบายสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ เช่น

  • อาการปวดข้อมือที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน หรือในตอนที่ไม่ได้ใช้งาน
  • ไม่สามารถหยิบจับ หรือถือสิ่งของได้อย่างที่เคยเป็นมา
  • อาการปวดข้อมือที่ยังคงอยู่ แม้ว่าจะผ่านไปหลายวัน รวมทั้งพักการใช้งานแล้ว
  • เจ็บปวด หรือ ไม่สามารถยืดหรือเหยียดข้อมือได้ 
  • มีอาการเจ็บปวดบริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น แขน มือ
  • มีไข้ บวม แดง ร้อน นอกเหนือจากปวดข้อ

เมื่อเริ่มมีอาการปวดข้อมือควรทำอย่างไร

อาการเจ็บข้อมือที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะค่อยๆ มีอาการ โดยเริ่มต้นจะรู้สึกเจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหว อาการมักเป็นมากช่วงเช้า 

  • เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการ ควรจะลดการใช้งานในท่าที่ทำให้เจ็บ 
  • การประคบอุ่นเบื้องต้น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้ 
  • ถ้าหากว่าอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาการเจ็บปวดของเส้นเอ็นข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรังจะยิ่งยากต่อการรักษามากขึ้น 

ปวดข้อมือแบบไหนที่ควรพบแพทย์โดยด่วน

อาการเจ็บปวดข้อมือ ที่ทำให้เคลื่อนไหวข้อมือไม่ได้ มีความเจ็บปวดมาก มีอาการชาตลอดเวลา มีอาการบวมมากขึ้น รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ อย่างไข้สูง หรือแดง ร้อน ผิดสังเกต ควรรีบพบแพทย์ โดยไม่ต้องรอดูอาการ

โรคที่พบบ่อยเมื่อเจ็บข้อมือ 

อาการเจ็บปวดส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่ส่วนเอ็นรอบๆ ข้อมือ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เอ็นอักเสบ และเอ็นฉีกขาด ซึ่งจะเป็นตรงจุดไหนก็ขึ้นกับลักษณะการใช้งานเป็นสำคัญ

นอกจากสาเหตุภายในส่วนประกอบของข้อมือแล้ว อาการเจ็บข้อมือ ยังอาจเกิดการเจ็บร้าวมาจากข้อศอก หรือปัญหาที่ข้อศอก หรือต้นเหตุจากปัญหาที่ต้นคอได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการปวด รวมถึงอาการเสียว ชา เหล่านี้ มักจะเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อศอกหรือบริเวณอื่นใกล้เคียง แล้วแต่ว่าจะมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทเส้นไหน

เพราะฉะนั้น แม้ว่าข้อมือจะเป็นอวัยวะที่เล็ก แต่เป็นอวัยวะที่สำคัญและซับซ้อน ในหลายๆ ครั้งต้นเหตุของอาการปวดข้อมืออยู่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งโรคโดยทั่วไปบริเวณข้อมือที่พบบ่อย และทำให้เจ็บข้อมือ มีดังนี้

เอ็นอักเสบ

  • ส่วนมากเอ็นที่อักเสบ มักจะเป็นเส้นเอ็นยอดนิยม ซึ่งการวินิจฉัยไม่ยุ่งยาก การตรวจร่างกายก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ 
  • ส่วนเอ็นบางจุดที่ไม่ได้เป็นกันบ่อยๆ ทำให้มักถูกมองข้ามไป มักเป็นสาเหตุที่เจ็บเรื้อรังไม่หายสักที เส้นเอ็นที่อักเสบในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ในการตรวจจากแพทย์เฉพาะทางด้านมือและข้อมือ หรืออาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยภาพวินิจฉัย (diagnostic imaging) ที่เหมาะสม

อาการเอ็นอักเสบที่พบบ่อย

เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ (De Quervain’s tenosynovitis)

  • เป็นโรคเอ็นอักเสบที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บข้อมือทางฝั่งนิ้วหัวแม่มือ 
  • ถ้าลองคลำดูจะพบว่าจุดเจ็บจะอยู่เฉพาะที่ปุ่มนูนของข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง เนื่องจากเป็นการอักเสบของเอ็นนิ้วหัวแม่มือ 
  • การขยับเคลื่อนไหวนิ้วโป้งในบางทิศทางจะทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบขึ้นมาทันที 
  • ภาวะนี้มักพบในกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือซำ้ๆ หรือกระดกข้อมืออยู่เป็นประจำ 
  • กลุ่มอาชีพที่พบบ่อยได้แก่ คนทำอาหาร ยกของ หรือคุณแม่อุ้มเด็กๆ 
  • แม้ว่าเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบนี้เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดในการเจ็บบริเวณนี้ แต่ก็ยังมีภาวะอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายกันได้ ดังนั้นหากพักการใช้งานเบื้องต้นแล้ว ยังมีอาการเจ็บอยู่ ควรมาให้แพทย์ช่วยตรวจวินิจฉัยเพื่อไม่ให้อาการเรื้อรังจะดีที่สุด

อ่านบทความเพิ่มเติม: เอ็นข้อมืออักเสบ เจ็บได้ หายได้ ถ้าดูแลรักษาให้ถูกวิธี

เส้นประสาทถูกกดทับ

  • เป็นอาการเจ็บปวดข้อมือแบบหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ ซึ่งอาการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ มักยากจะบอกได้ว่าเป็นจุดใดบริเวณใดชัดเจน 
  • นอกจากอาการปวดเเล้ว มักจะมีอาการชา ยุบยิบ เหมือนเป็นเหน็บ หรืออาจพบอาการแสบร้อนบริเวณมือร่วมด้วยได้เช่นกัน 
  • อาการจากเส้นประสาทถูกกดทับนี้วินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจด้วยไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis) ร่วมเมื่อจำเป็น

เส้นประสาทถูกกดทับที่พบบ่อย

กลุ่มอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)

  • เกิดจากเส้นประสาทในข้อมือถูกเอ็นพังผืดเบียดทับ 
  • ทำให้เกิดอาการปวดข้อมือ ร่วมกับมีอาการชาที่บริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง 
  • ที่เรียกว่ากลุ่มอาการ เพราะว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีหลายอาการรวมกัน ทั้งปวด ทั้งชา บางรายเป็นคล้ายเป็นเหน็บ หรือบ้างก็แสบร้อน อาการอาจแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันสักทีเดียว ความรุนแรงของอาการก็อาจต่างกันได้ 
  • กลุ่มอาการนี้มักเกิดในคนที่ใช้มือซำ้ๆ เช่น ทำงานบ้าน ทำอาหาร หรือมีกิจกรรมที่ข้อมืออยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น ขับรถ เขียนหนังสือ ใช้โทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งถือของ หิ้วของเป็นเวลานาน 
  • หากมีอาการมานานไม่ควรละเลย เพราะการที่เส้นประสาทถูกกดเบียดนานๆ เส้นประสาทอาจจะเสื่อมได้ หรือกล้ามเนื้อที่มือก็อาจจะลีบ ส่งผลต่อการใช้งานของมือข้างนั้น

อ่านบทความเพิ่มเติม: การผ่าตัด รักษาอาการมือชา ที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับ

ถุงน้ำที่ข้อมือ (Carpal Ganglion Cyst)

  • ภาวะอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้บริเวณข้อมือจากการใช้งานในชีวิตประจำวันซ้ำๆ หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ จนเยื่อหุ้มข้อมือฉีกขาด ส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงในข้อมือรั่วออกมาเกิดเป็นถุงน้ำโป่งออกมาให้เห็น 
  • ถุงน้ำนี้มักจะอยู่ในบริเวณหลังข้อมือ ซึ่งขนาดของถุงน้ำขนาดอาจจะใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงบ้างบางช่วงเวลา แต่ก็จะไม่ขยายใหญ่จนเป็นอันตราย 
  • มีอาการเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ 
  • หากมีอาการเจ็บไม่หายแม้ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้ว หรือมีความกังวลเรื่องความสวยงามและบุคลิกภาพ ก็สามารถผ่าตัดรักษาเพื่อทำให้ซีสต์ถุงน้ำนั้นหายไป

โดยสรุป อาการปวดข้อมือ เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ดังนั้นหากมีอาการเข้าข่ายกับกลุ่มอาการต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว หรือมีอาการปวดข้อมือรุนแรง แนะนำให้มาพบปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Q&A

เมื่อเริ่มมีอาการปวดข้อมือควรทำอย่างไร ?

1. เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการ ควรจะลดการใช้งานในท่าที่ทำให้เจ็บ
2. ประคบอุ่นเบื้องต้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้
3. ถ้าหากว่าอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาการเจ็บปวดของเส้นเอ็นข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรังจะยิ่งยากต่อการรักษามากขึ้น

ปวดข้อมือแบบไหนที่ควรพบแพทย์โดยด่วน

อาการเจ็บปวดข้อมือ ที่ทำให้เคลื่อนไหวข้อมือไม่ได้ มีความเจ็บปวดมาก มีอาการชาตลอดเวลา มีอาการบวมมากขึ้น รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ อย่างไข้สูง หรือแดง ร้อน ผิดสังเกต ควรรีบพบแพทย์ โดยไม่ต้องรอดูอาการ

ศุกร์, 12 มี.ค. 2021
แท็ก
ปวดข้อมือ
เจ็บข้อมือ

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
การผ่าตัดคลายพังผืดที่กดทับเส้นประสาทที่ข้อมือผ่านการส่องกล้อง แผลเล็ก อยู่ในตำแหน่งข้อมือ ซึ่งไม่ขัดขวางการใช้งานของมือ ทำให้ฟื้นตัวกลับไปใช้งานได้เร็ว...
package 61,500* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
การผ่าตัดคลายปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือ เพื่อรักษาอาการเจ็บ นิ้วงอเหยียดสะดุดจากโรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมือ ข้อมือ และเเขน...
package 18,500* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
ปวดข้อศอกรักษาให้หายได้ อย่าปล่อยไว้จนเรื้อรัง
“ปวดข้อศอก” รักษาให้หายได้ อย่าปล่อยไว้จนเรื้อรัง
พังผืดทับเส้นประสาท
พังผืดทับเส้นประสาท โรคฮิตของคนใช้งานมือมากเกินไป ที่รักษาได้
“นิ้วล็อก” โรคยอดฮิต รักษาผิด เสี่ยงบาดเจ็บเพิ่ม
เจ็บข้อมือเรื้อรังไม่หาย ตรวจแบบส่องกล้องช่วยได้
top line

Login