รู้ไหม? เมื่อปวดส้นเท้า เราเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

ปวดส้นเท้า ถือเป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นได้เกือบกับทุกคน เพราะในแต่ละวันเราต่างก็ต้องใช้เท้าในการเดิน ทำงาน หรือทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางทีเราก็อาจจะคิดไปเองว่า อาการปวดส้นเท้าเป็นแค่อาการปวดธรรมดาๆ ทั่วไป ที่ไม่นานก็หายไป จึงไม่ได้ใส่ใจดูแลมากเท่าที่ควร แต่ในความเป็นจริงอาการปวดส้นเท้าที่เกิดขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวข้องกับเท้าและข้อเท้าของเราอยู่ก็ได้ ซึ่งก็อาจเป็นได้หลายโรค และแต่ละโรคก็มีความอันตรายรุนแรงแตกต่างกันไป

ดังนั้น เพื่อไม่ให้อาการปวดส้นเท้ารบกวนการใช้ชีวิต และเป็นการป้องกันไม่ให้อาการปวดส้นเท้ารุนแรงมากขึ้น ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า อาจนำไปสู่โรคอะไรได้บ้าง เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้เราระมัดระวังและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น 

Table of Contents

5 โรคที่เสี่ยงเป็นได้ เมื่อมีอาการปวดส้นเท้า

5 โรคที่เสี่ยงเป็นได้ เมื่อมีอาการปวดส้นเท้า ปวดส้นเท้าเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในกลุ่มโรคเท้าและข้อเท้า ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลากหลายโรค โดยโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้าที่พบได้บ่อยมากที่สุด เรียงลำดับ 3 ลำดับโรคแรก ได้แก่

  1. โรครองช้ำ
  2. โรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ
  3. โรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้ามีการกดทับ

จากทั้ง 3 โรคนี้ โรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ ถือเป็น 2 โรคที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนโรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้ามีการกดทับนั้น จะพบได้ในจำนวนที่น้อยกว่ามาก 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคใด ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ทุกคน จะมาด้วยอาการ “ปวดส้นเท้า” ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริง แต่ละโรคจะมีลักษณะของอาการปวด และสาเหตุอาการปวดส้นเท้าที่แตกต่างกัน ซึ่งการจะทราบได้ว่าอาการปวดส้นเท้าของผู้ป่วยเกิดจากโรคใด จำเป็นต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดจากแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเท้าโดยตรง

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

ปวดส้นเท้าหลังยืนเดินนานๆ เป็นสัญญาณเตือนของโรคใดได้บ้าง

ปวดส้นเท้าหลังยืนเดินนานๆ

ปวดส้นเท้าหลังยืน หรือเดินนานๆ โดยอาการจะสัมพันธ์กับการใช้งานเท้าโดยตรง คือ จะมีอาการเมื่อมีการยืนหรือเดิน หากนั่งพักหรือนอนอาการจะลดลง ในบางครั้งจะมีอาการเจ็บเมื่อลุกขึ้นเดินก้าวแรกหลังจากตื่นนอน หรือหลังจากการนั่งพักนานๆ ซึ่งโรคที่มีความสัมพันธ์กับอาการปวดส้นเท้าดังกล่าวนั้น มีด้วยกัน 3 โรค ได้แก่ โรครองช้ำ โรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ และโรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้ามีการกดทับ 

 

โรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ 

โรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่พบได้มากที่สุด โดยทั้ง 2 โรคมีลักษณะเป็นโรคที่มีการอักเสบที่จุดเกาะเส้นเอ็น มักพบในผู้ป่วยที่เส้นเอ็นตึง เช่น เอ็นร้อยหวายตึง และเอ็นพังผืดฝ่าเท้าตึง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีลักษณะการใช้ชีวิตที่ใช้งานเท้ามากเป็นพิเศษ เช่น ยืนนาน หรือเดินไกล อาทิ เป็นพ่อครัวแม่ครัว ที่ต้องยืนทำกับข้าวทั้งวัน ยิ่งหากใส่รองเท้าที่แข็ง และรูปร่างใหญ่ มีน้ำหนักตัวมากด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงปวดส้นเท้าและเป็นโรครองช้ำ หรือโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ในอีกกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงเป็น 2 โรคนี้ได้ง่าย ก็คือ กลุ่มนักกีฬาที่เดิน วิ่งทางไกล และใช้งานเท้าเยอะมากในทุกๆ วัน

 

โรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้ามีการกดทับ

โรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้ามีการกดทับ เป็นโรคที่อาการปวดไม่ได้เกิดจากเส้นเอ็นมีการอักเสบ แต่เป็นเพราะเส้นประสาทถูกกดทับจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น ซึ่งอาการก็จะสัมพันธ์กับการใช้งานเท้าได้ กล่าวคือ หากเส้นประสาทข้อเท้ามีการถูกกดทับอยู่ แล้วคนไข้เดินเยอะ ยืนเยอะ เดินไกลนานๆ ก็จะเริ่มมีอาการชา ร้าวลงฝ่าเท้า แต่เมื่อได้นั่งพักอาการชาก็จะทุเลาลงได้

 

วินิจฉัยอาการปวดส้นเท้าอย่างไร จึงรู้ว่าป่วยเป็นโรคไหน

วินิจฉัยอาการปวดส้นเท้าอย่างไร

เนื่องจากผู้ป่วยทุกคนจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ “ปวดส้นเท้า” แพทย์จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถตอบได้ว่าอาการปวดที่คนไข้แต่ละคนเป็นอยู่นั้นเกิดจากโรคใด ซึ่งแนวทางในการวินิจฉัยสามารถทำได้ ดังต่อไปนี้

 

1. พิจารณาจุดกดเจ็บ

แพทย์จะทำการตรวจหาจุดกดเจ็บบริเวณเท้าเพื่อสำรวจดูว่า “สาเหตุของรอยโรค” ของคนไข้อยู่ตรงไหน ซึ่งมีหลักการคือ กดตรงไหน เจ็บตรงนั้น โดยหากเป็นโรครองช้ำ จุดกดเจ็บจะอยู่บริเวณส้นเท้าที่สัมผัสกับพื้น หรือเมื่อกดตรงจุดเกาะพังผืดฝ่าเท้าก็จะเจ็บ แต่หากเป็นโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ กดตรงจุดเกาะเอ็นร้อยหวายก็จะเจ็บ หรือจุดกดเจ็บจะอยู่บริเวณส้นเท้าด้านหลังที่ไม่ได้สัมผัสพื้นซึ่งเป็นบริเวณที่เอ็นร้อยหวายเกาะเข้ากับส้นเท้านั่นเอง 

สำหรับคนไข้แล้ว ทั้ง 2 จุดดังกล่าวจะเรียกว่าส้นเท้าเหมือนกัน แต่สำหรับในการวินิจฉัยของแพทย์ จะถือเป็นคนละจุดกัน และเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ที่บอกได้ว่า อาการปวดส้นเท้าที่คนไข้เป็นนั้น เป็นสัญญาณเตือนของโรคใดกันแน่

2. พิจารณาลักษณะของอาการปวดส้นเท้า

ลักษณะของอาการปวดส้นเท้าของแต่ละโรคนั้นจะไม่เหมือนกัน โดยสามารถแบ่งได้ง่ายๆ ออกเป็น 2 กลุ่มอาการปวด ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มอาการปวดเส้นเอ็น

กลุ่มอาการปวดเส้นเอ็น ได้แก่ โรครองช้ำ และโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ นั้นอาการปวดมักจะสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น เมื่อเดินเยอะก็จะมีอาการ แต่เมื่อพักการใช้งาน อาการก็จะทุเลาลงก็จะทุเลาลง 

หรืออีกหนึ่งลักษณะอาการปวดที่เด่นชัดของกลุ่มโรคอาการปวดเส้นเอ็น ก็คือ “Morning Pain” หรือ “อาการปวดส้นเท้าตอนเช้า” กล่าวคือ ในตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะไม่ได้ใช้งานเท้า จึงเป็นช่วงเวลาที่เอ็นได้พัก แต่เมื่อตื่นเช้าลุกลงจากเตียง เส้นเอ็นจะถูกใช้งานทันทีหลังจากที่พักมานาน จึงทำให้เกิดอาการเจ็บมากตั้งแต่ก้าวแรก แต่พอเมื่อเดินไปสักพัก จนเส้นเอ็นเริ่มคุ้นเคยกับการใช้งานแล้ว อาการเจ็บก็จะบรรเทาลง ซึ่งหากสังเกตพบเห็นว่าตัวเองมีอาการ Morning Pain ดังที่กล่าวมานี้ ก็สันนิษฐานได้ว่ามีโอกาสเป็นโรครองช้ำ หรือไม่ก็โรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบได้

  • กลุ่มอาการปวดเส้นประสาท

กลุ่มอาการปวดเส้นประสาท ได้แก่ โรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้ามีการกดทับ ลักษณะของอาการปวดจะเป็นการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้า เช่น ถ้าเคาะไปตรงที่เส้นประสาทถูกกดทับอยู่ ก็จะรู้สึกปวดร้าวลงไปทางด้านปลายเท้าได้เลย ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มปวดเส้นเอ็นที่กดตรงไหน เจ็บแค่ตรงนั้น

3. พิจารณาการตรวจเพิ่มเติม

เพื่อให้การวินิจฉัยอาการปวดส้นเท้าได้คำตอบที่ชัดเจนแม่นยำ แพทย์อาจจะพิจารณาให้ผู้ป่วยทำการตรวจเอกซเรย์ MRI หรือ ทำ CT Scan เพิ่มเติมได้ โดยแต่ละการตรวจจะช่วยในการวินิจฉัยโรคที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

  • โรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ

โรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ จะวินิจฉัยได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อทำการตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติม โดยเมื่อเอกซเรย์แล้ว หากจะพบว่ามีแคลเซียมพอกอยู่บริเวณที่มีการอักเสบ คือตรงบริเวณที่เป็นรองช้ำ หรือตรงจุดเกาะเอ็นร้อยหวาย จะมีกระดูกงอกอยู่

  • โรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้าและข้อเท้ามีการกดทับ

โรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้าถูกกดทับ จะวินิจฉัยได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อทำการตรวจ MRI เพราะการเอกซเรย์จะมองไม่เห็นเส้นประสาท แต่การทำ MRI จะทำให้เห็นรอยโรคเพิ่มเติมชัดเจนขึ้นว่า มีกล้ามเนื้อ หรือถุงน้ำไปเบียดกดทับเส้นประสาทอยู่หรือไม่

  • โรคเนื้องอกบริเวณกระดูกส้นเท้า 

โรคเนื้องอกบริเวณกระดูกส้นเท้า จะวินิจฉัยได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อทำการเอกซเรย์เพิ่มเติม โดยจะทำให้เห็นว่าตรงเนื้อกระดูกมีความผิดปกติหรือไม่ หรือตรงกระดูกส้นเท้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีเนื้องอกออกมาหรือไม่

 

รักษาอย่างไรให้อาการปวดส้นเท้า กลับมาก้าวเดินได้แบบหายดีไม่เจ็บปวด

รักษาอย่างไรให้อาการปวดส้นเท้า

วิธีการรักษาอาการปวดส้นเท้าให้หายดีนั้น จะแบ่งได้ตามโรคที่เป็น โดยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มโรค และมีแนวทางในการรักษาแต่ละกลุ่มโรค ดังต่อไปนี้

1. กลุ่มอาการปวดส้นเท้าจากโรคเส้นเอ็นอักเสบ

กลุ่มอาการปวดส้นเท้าจากโรคเส้นเอ็นอักเสบ ได้แก่ โรครองช้ำ และ โรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ มีแนวทางในการรักษา 2 วิธี คือ 

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด 

คนไข้ส่วนใหญ่ 80-90% หายดีได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งวิธีการรักษาจะมีดังนี้ 

  • การยืดและนวดเส้นเอ็น ที่ตึงให้คลายออก โดยแพทย์จะแนะนำวิธีการยืดเอ็นร้อยหวาย ยืดเอ็นฝ่าเท้า ให้กับคนไข้นำไปปฏิบัติ 
  • การปรับพฤติกรรมการใช้งานเท้า ให้เดินน้อยลง ยืนน้อยลง แนะนำให้สวมใส่รองเท้าที่พื้นนุ่มเพื่อกระจายแรงกดและดูแลเท้าได้ดีขึ้น 
  • กินยา แพทย์อาจมีให้รับประทานยาร่วมด้วยเพื่อลดอาการอักเสบ
  • กายภาพบำบัด แพทย์อาจแนะนำให้ทำ Shock Wave ร่วมด้วย ซึ่งเป็นการใช้อุปกรณ์ยิ่งคลื่นเสียงเข้าไปกระแทกตรงจุดเกาะเอ็นที่มีการตึงอักเสบ ให้คลายตัว และลดการอักเสบลง ถือว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง

การรักษาแบบผ่าตัด 

โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีเพียงแค่ประมาณ 10% เท่านั้นของคนไข้ที่รักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วไม่ดีขึ้น จึงทำให้แพทย์ต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด โดยหากเป็นโรครองช้ำ จะเป็นการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเข้าไปยืดเส้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้าที่ตึงให้หย่อนลง และหากพบว่ามีกระดูกงอกยื่นมาด้วย ก็จะทำการกรอกระดูกออกให้ 

ส่วนถ้าเป็นโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อยืดเอ็นร้อยหวาย และหากมีกระดูกงอกออกมาตรงจุดเกาะเอ็นร้อยหวาย ก็จะดำเนินการกรอกระดูกออกด้วยเช่นกัน ก่อนจะเย็บเอ็นกลับคืนให้เป็นปกติ

2. กลุ่มอาการปวดส้นเท้าจากโรคเส้นประสาท 

มีแนวทางในการรักษา 2 วิธี คือ

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

แพทย์จะให้รับประทานยาในกลุ่มที่ช่วยลดอาการล้าของเส้นประสาท ร่วมกับวิตามินบำรุงปลายประสาท ซึ่งจะต้องคอยติดตามดูว่าหลังรับประทานยาไปแล้ว อาการปวดร้าวเส้นประสาทและอาการชาทุเลาลงหรือไม่ โดยหากเป็นคนไข้ที่อาการไม่รุนแรง การรับประทานยาไปสัก 1 เดือนจะพบว่ามีอาการดีขึ้น เดินได้มากขึ้น แพทย์ก็จะปรับยาเพิ่มเติมให้รับประทานต่อเนื่องอีกประมาณ 3-4 เดือน ถ้าอาการทุเลาลงก็ให้หยุดยาได้ 

แต่ทั้งนี้ นอกจากรับประทานยาแล้ว ก็ยังต้องมีการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย โดยแพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงท่าทาง หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกดทับซ้ำในบริเวณเดิมที่เส้นประสาทถูกกดทับอยู่ เพราะจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือหายช้าได้

การรักษาแบบผ่าตัด 

แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดก็ต่อเมื่อรับประทานยาไปแล้ว 3-4 เดือน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ยังคงเป็นหนักมากไม่หาย  ซึ่งพิจารณาร่วมกับการทำ MRI แล้วพบว่ามีถุงน้ำมาดัน มีกล้ามเนื้อมาทับเส้นประสาทอยู่ ก็จะดำเนินการรักษาด้วยการผ่าตัด 

โดยจะเป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดให้เส้นประสาทโล่ง กล่าวคือ ถ้ามีถุงน้ำเบียดอยู่ก็ผ่าตัดเอาถุงน้ำออก ถ้าถูกกล้ามเนื้อดันกดทับเส้นประสาทอยู่ ก็ผ่าตัดเลาะกล้ามเนื้อขึ้นให้เส้นประสาทโล่ง ซึ่งเมื่อเส้นประสาทไม่ถูกเบียดกดทับแล้ว อาการปวดส้นเท้าก็จะหายไป

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

ป้องกันได้อย่างไร ให้ห่างไกลอาการปวดส้นเท้า

ป้องกันอาการปวดส้นเท้า

โดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดส้นเท้าที่พบนั้น จะเป็นสัญญาณเตือนของโรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ ซึ่งแนวทางในการป้องกัน ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการปวดส้นเท้าของทั้ง 2 โรคนี้ได้มากที่สุดนั้น สามารถทำได้โดย

  • หมั่นบริหาร ยืดเส้นเอ็น ยืดเอ็นร้อยหวายเป็นประจำ รวมถึงนวดเอ็นฝ่าเท้าให้นิ่ม ยืดหยุ่นอยู่เสมอ เพราะโรคทั้ง 2 นี้เกิดจากการที่เราใช้งานเส้นเอ็นจนตึงอักเสบ
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการยืน หรือเดินนาน ให้น้อยลงถ้าทำได้ แต่หากประกอบอาชีพที่ต้องยืนเยอะ เดินเยอะอยู่แล้ว ไม่สามารถลดการใช้งานเท้าลงได้ ก็ต้องหมั่นบริหารยืด นวดเส้นเอ็น อย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากจนเกินไป เพราะยิ่งน้ำหนักตัวมาก จะยิ่งเพิ่มแรงกดทับให้กับเท้า ทำให้เมื่อใช้งานเท้าหนักจะยิ่งเสี่ยงเกิดอาการปวดส้นเท้าได้ง่ายมากขึ้น
  • เลือกสวมใส่รองเท้าที่ดีต่อเท้า พื้นรองเท้านิ่ม ไม่แข็ง เพื่อช่วยลดแรงกดทับจากการใช้เท้า ทำให้โอกาสเสี่ยงปวดส้นเท้ามีน้อยลง

ท่าบริหารแบบไหนบ้าง ช่วยให้เราไกลห่างอาการปวดส้นเท้า

ท่าบริหารแบบไหนบ้าง ช่วยให้เราไกลห่างอาการปวดส้นเท้า

การหมั่นบริหารเส้นเอ็น นวดบริหารฝ่าเท้า คือ หนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยทำให้เราห่างไกลจากอาการปวดส้นเท้าที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคยอดฮิตอย่างโรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบได้มากที่สุด ซึ่งอาจบอกได้ว่าถ้าเราหมั่นยืดเอ็นฝ่าเท้าให้นิ่ม ให้ยืดหยุ่นอยู่เสมอเป็นประจำได้ ก็แทบจะปลอดภัยจากโรคทั้ง 2 นี้ได้เลย โดย 3 ท่าบริหารที่แนะนำและสามารถทำได้เองง่ายๆ ที่บ้าน ได้แก่

  • ท่ายืนดันโต๊ะ หรือดันกำแพง ทำได้โดยการถอยเท้าไปข้างหลัง แล้วโน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อยืดเหยียดน่อง ในลักษณะคล้ายกับท่ายืดก่อนวิ่ง ให้ทำสลับกันไปมาทั้งข้างขวาและข้างซ้าย ครั้งละ 15 วินาที 
  • ท่ายืนบนพื้นเอียงหรือไม้กระดก ใช้หลักการเดียวกันกับท่ายืนดันโต๊ะ แต่เปลี่ยนไปยืนบนพื้นเอียง หรือไม้กระดกแทน โดยให้กระดกข้อเท้าขึ้น แล้วก็ยืดตัวไปให้ชิดกับไม้กระดก ให้น่องยืด เพื่อเป็นการยืดเอ็นร้อยหวาย
  • ท่านวดฝ่าเท้า ทำได้โดยใช้ท่อ PVC ขนาดเส้นรอบวงประมาณ 1-2 นิ้ว ตัดยาวประมาณ 1 ฟุต วางลงบนพื้น นั่งลงบนเก้าอี้แล้วคลึงที่เท้าทีละข้าง คลึงท่อ PVC ให้กลิ้งไปตามเท้า ตั้งแต่อุ้งเท้าจนถึงส้นเท้า ทำสลับไปมาทั้งเท้าซ้ายและเท้าขวา ข้างละ 1 นาที โดยอาจทำในระหว่างที่นั่งดูทีวีอยู่ที่บ้านก็ได้

หากเราใช้ท่าบริหารดังกล่าว บริหารน่อง บริเวณเอ็นฝ่าเท้า ให้นิ่มได้อยู่เสมอเป็นประจำ ความเสี่ยงในการปวดส้นเท้าจากเส้นเอ็นอักเสบ ก็จะลดลงไปได้อย่างมากเลยทีเดียว

 

สรุป

อาการปวดส้นเท้าส่วนใหญ่ที่พบนั้น จะเป็นสัญญาณของโรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายเป็นหลัก ส่วนโรคเส้นประสาทบริเวณข้อเท้าถูกกดทับจะพบได้รองลงมา ซึ่งสำหรับโรครองช้ำและโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ ถือว่าไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง เพียงแต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบรักษา ก็จะยิ่งลุกลามรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิต ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างไม่เต็มที่ และไม่มีความสุข ดังนั้น หากพบอาการปวดส้นเท้า แล้วนวดเอง ทำท่าบริหารเส้นเอ็นเองแล้วไม่หาย อาการไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ตรงจุด ด้วยการยืดและนวดเส้นเอ็น ร่วมกับการทำ Shock Wave ก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติตามเดิม จะยืน เดินเหิน ใช้เท้าทำกิจกรรมได้อย่างสบายใจ คล่องแคล่ว ไม่มีอาการปวดส้นเท้ารบกวน

บทความโดย นพ.กรกช ธรรมผ่องศรี ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าและข้อเท้า

จันทร์, 25 มี.ค. 2024
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
  อาการปวดที่รบกวนชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อที่ต้องได้รับการดูแล อย่าปล่อยให้อาการเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่  ...
package เริ่มต้นที่ 1800* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2025
บทความอื่นๆ
ปวดข้อเท้าอย่างไรคือข้อเท้าเสื่อม ดูแลแบบไหนให้เดินได้อย่างคล่องตัว
ปวดข้อเท้าอย่างไรคือข้อเท้าเสื่อม ดูแลแบบไหนให้เดินได้อย่างคล่องตัว
เจ็บฝ่าเท้า
เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ อาการเจ็บฝ่าเท้าบอกโรคได้ มีวิธีรักษาอย่างไร?
วิธีเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพให้เหมาะสม แก้ปัญหาปวดเท้า โรครองช้ำ
วิธีเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพให้เหมาะสม แก้ปัญหาปวดเท้า โรครองช้ำ
รู้ไหม? เมื่อปวดส้นเท้า เราเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?
top line line