การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมที่เกิดจากข้อสะโพกเสียหายหรือเสื่อมสภาพ ซึ่งทำให้มีอาการปวดบริเวณข้อสะโพก สะโพกผิดรูป หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วยจนไม่สามารถใช้งาน หรือใช้ชีวิตได้อย่างปกติ การผ่าตัดรักษาจะทำเมื่อคนไข้ได้รับการรักษาด้วยการกายภาพบำบัด ฉีดยา หรือทานยาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่ทำให้อาการดีขึ้น 

ดังนั้น บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

เอ็กซ์เรย์เพื่อออกแบบการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

Table of Contents

ข้อสะโพกเทียม และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คืออะไร?

ข้อสะโพกเทียม คือ วัสดุสังเคราะห์ทางการแพทย์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนข้อสะโพกตามธรรมชาติ ผลิตจากโลหะอัลลอยด์ ไทเทเนียม โคบอลต์ โครเมียม หรือ เซรามิก เป็นต้น ซึ่งข้อเทียมนั้นสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย และใช้งานได้ทนทานยาวนานนับสิบปี

โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้นจะเป็นการผ่าตัดนำข้อสะโพกเดิมที่มีปัญหาออก และแทนที่ด้วยข้อสะโพกเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก และกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบได้บ่อยว่าป่วยเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นข้อสะโพกเสื่อม

กลุ่มที่มักพบว่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม และต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งมีการใช้งานข้อมาเป็นระยะเวลานาน เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถพบได้บ่อยและพบเป็นจำนวนมาก เพราะมีสาเหตุที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามอายุ หรือการใช้งานข้อสะโพกมาอย่างยาวนาน

กลุ่มผู้ป่วยที่มีสาเหตุ หรือโรคอื่นๆ นำมาก่อน เป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ได้รับอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บที่ข้อสะโพก รวมถึงการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือเคยติดเชื้อที่ข้อสะโพก เป็นต้น

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสร้างภาพ 3D กระดูกคนไข้ขึ้นมา เพื่อช่วยให้ศัลยแพทย์ออกแบบการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมน่ากลัวหรือไม่?

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด อย่างที่ kdms นั้น มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเทียมมาช่วยศัลยแพทย์ในการทำผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำมากขึ้น โดยขั้นตอนในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ มีดังนี้

  • เริ่มจากการวางแผนด้วยการประมวลผลจากภาพ CT Scan ในส่วนของกระดูกข้อสะโพก และสร้างภาพ 3D ของกระดูกคนไข้ขึ้นมาเป็นอันดับแรก
  • ศัลยแพทย์จะเลือกขนาด และวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ขนาด ตำแหน่งข้อ ความยาวขาที่เหมาะสม ก่อนทำการผ่าตัดจริง เป็นการวางแผนผ่าตัดรายบุคคลให้เหมาะกับสภาพกระดูก หรือปัญหาของข้อสะโพกของคนไข้แต่ละคน
  • แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะช่วยศัลยแพทย์ในการตัด หรือ กรอกระดูก ให้ได้ตำแหน่ง และมุมตามที่กำหนดไว้
  • หุ่นยนต์จะช่วยควบคุมตำแหน่งการใส่ข้อสะโพกเทียม เพื่อให้ได้ตำแหน่ง มุมเปิด มุมคว่ำ ตามที่ศัลยแพทย์กำหนด ซึ่งจะเหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย

โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้นจะช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถปรับสมดุลของข้อสะโพกเทียมได้ในระดับ 1 มิลลิเมตร หรือ 1 องศา เพื่อให้ข้อสะโพกเทียมนั้นเหมาะกับร่างกายของผู้ป่วยมากที่สุด นอกจากนั้นยังช่วยลดการบาดเจ็บ ลดความผิดพลาด และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวรวดเร็ว เคลื่อนไหวข้อเทียมได้อย่างดี ข้อมีความมั่นคงกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้นจะคล้ายกับการผ่าตัดทั่วไป เช่น การตรวจร่างกาย การรักษาสุขภาพอนามัย หรือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น แต่ว่าสิ่งที่ผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มีทั้งหมด 3 สิ่ง ดังนี้

ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี

สิ่งแรกที่ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวให้ดีก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คือ การควบคุมโรคประจำตัว เพราะว่าโรคประจำตัวบางชนิดสามารถส่งผลต่อการผ่าตัด หรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • โรคเบาหวาน ถ้าหากไม่ควบคุม และปล่อยให้น้ำตาลขึ้น อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อจากเบาหวานได้
  • โรคความดัน ถ้าหากไม่ทานยา และเข้ารับการผ่าตัด อาจส่งผลให้ระหว่างผ่าตัดเลือดออกเยอะกว่าปกติ

ถ้าหากผู้ป่วยมีแพทย์ที่ดูแลโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์ว่าควรปรับการทานยา หรือควรปรับพฤติกรรมอย่างไรก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้ และถ้าหากผู้ป่วยละเลย และไม่ควบคุมให้ดี สามารถส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงมากขึ้น และอาจเกิดอาการต่างๆ ตามมาได้ในอนาคต

งดทานยาที่ส่งผลต่อการผ่าตัด

ผู้ป่วยควรงดทานยาบางชนิดก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เช่น

  • ยาละลายลิ่มเลือด ควรงดก่อนผ่าตัดประมาณ 3-7 วัน (ควรปรึกษาแพทย์ในการหยุดยา)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ควรงดก่อน ผ่าตัดประมาณ 7 วัน (ควรปรึกษาแพทย์ในการหยุดยา)
  • ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ควรงดก่อนผ่าตัดประมาณ 7 วัน
  • สมุนไพร อาหารเสริม ควรงดก่อนผ่าตัดประมาณ 14 วัน

เพราะว่ายาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการผ่าตัด เช่น เลือดแข็งตัวช้า เลือดออกเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังจากผ่าตัด เป็นต้น และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในระหว่างการผ่าตัด หรือหลังผ่าตัดได้อีกด้วย

งดสูบบุหรี่

สำหรับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่นั้นควรงดสูบก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้การทำงานของปอด และหลอดลมดีขึ้น โดยจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อของแผล และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดตามมาได้ในอนาคต 

ถ้าหากผู้ป่วยไม่งดสูบบุหรี่ก่อนเข้ารับการผ่าตัด สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ปอดทำงานแย่ลง และเส้นเลือดมีปัญหา แถมยังทำให้การต่อติดของกระดูก และแผลผ่าตัดหายช้าลงอีกด้วย

ควรระมัดระวังในการเคลื่อนไหวท่าหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

ในปัจจุบัน หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจะใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยมาก และผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานข้อสะโพกใกล้เคียงกับปกติ หรือเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว แต่ว่าผู้ป่วยก็ยังคงต้องดูแลตัวเองด้วยข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ตัวเองนั้นสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ โดยสิ่งที่ผู้ป่วยควรทำ และควรระมัดระวังหลังจากการผ่าตัดมีทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

ระมัดระวังในการเคลื่อนไหวบางท่า

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันทีภายในวันที่ผ่าตัด และใช้เวลาแค่ 3-4 วันก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ว่าผู้ป่วยยังคงต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหวบางท่าทางในช่วง 2 เดือนแรก เช่น ท่าที่ต้องบิดเท้าออกด้านนอกตัว ท่านั่งพับเพียบ และการก้มเก็บของที่พื้น เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนกับข้อสะโพกที่อาจตามมาได้

บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก

สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำเป็นประจำ คือ การบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก โดยผู้ป่วยจะต้องบริหารกล้ามเนื้อตามโปรแกรมที่แพทย์และนักกายภาพบำบัดแนะนำ เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกกลับมาแข็งแรง และสามารถใช้งานได้อย่างปกติเร็วขึ้น

ดูแลสุขภาพ และโรคประจำตัว

สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติทั้งก่อน และหลังเข้ารับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม คือ การดูแลสุขภาพ และโรคประจำตัวอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากเข้ารับการผ่าตัด และสามารถกลับไปใช้งานข้อสะโพกได้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว

ข้อสะโพกเทียมทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ทางการแพทย์ สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ใช้งานได้ยาวนานถึง 10 ปี

ประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

ประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คือ การช่วยรักษาให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดจากการเสื่อมสภาพของข้อสะโพก เมื่อเดินลงน้ำหนักก็ไม่เจ็บ และเดินได้อย่างปกติ ขยับข้อสะโพกได้ดี ไม่ติดขัด และขากลับมามีความสั้นยาวตามปกติเท่ากับขาอีกข้าง ในกรณีที่อีกข้างก็ไม่มีโรคข้อสะโพกเสื่อมเช่นกัน โดยการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจะมีประสิทธิภาพและได้ผลดีที่สุด ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีสะโพกผิดรูปอย่างมาก ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกเช่นเดิม และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ผู้ป่วยอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงก่อนในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม

ผู้ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม อาจจะมีคำถามเกี่ยวการผ่าตัดที่ยังคงกังวล หรือค้างคาใจ แต่ว่าไม่สามารถหาข้อมูลได้ ดังนั้น เราจึงได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมาให้ทุกคนแล้ว โดยมีทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

หลังจากผ่าตัดข้อสะโพกเทียมแล้วเดินได้เมื่อไร?

ผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันทีหลังจากเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม แต่อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงก่อนในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เพราะว่ากล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกยังไม่แข็งแรงเป็นปกติ และหลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ หรือเกือบ 100% เลยทีเดียว

ข้อสะโพกเทียมมีอายุการใช้งานนานแค่ไหน?

จากข้อมูลสะสมทั่วโลก พบว่าข้อสะโพกเทียมนั้นมีอายุการใช้งานมากถึง 30 ปี และยังมีข้อเทียมที่ใช้งานได้ยาวนานกว่านั้น และการแพทย์ในปัจจุบันนั้นมีการพัฒนามากขึ้น จึงมีโอกาสทำให้ข้อสะโพกเทียมนั้นมีความคงทนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผู้ป่วยประมาณ 10%-20% ที่มีปัญหา และต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำ เพราะว่าได้รับอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม หรือเคลื่อนไหวในท่าที่ส่งผลกระทบต่อข้อสะโพกอย่างรุนแรง น้ำหนักเพิ่มขึ้น ไม่ดูแลสุขภาพและโรคประจำตัวให้ดี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ส่งผลให้อายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียมน้อยลง

ข้อสะโพกเทียมส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้หรือไม่?

ข้อสะโพกเทียมมีความปลอดภัยขณะที่อยู่ในร่างกายเรา เพราะว่าเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความปลอดภัย พัฒนามายาวนาน เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกับร่างกายมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เป็นวิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมที่เห็นผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงหลังจากผ่าตัดได้อย่างชัดเจน ซึ่งนิยมใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นแล้ว โดยเป็นการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดร่วมด้วย ซึ่งการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมากยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นลงด้วยการคำนวณที่แม่นยำ และส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้น กลับมาเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติ และกลับไปใช้ชีวิตในทุกวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างไร้กังวล

พุธ, 08 มิ.ย. 2022
แท็ก
ข้อสะโพก
สะโพกเสื่อม
หุ่นยนต์ผ่าตัด
ข้อสะโพกเสื่อม
ข้อสะโพกเทียม
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดเต็มข้อ 1 ข้าง โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด MAKO โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าเเละข้อสะโพกเทียม  ...
package 330,000* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด MAKO เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าเเละข้อสะโพกเทียม...
package 379,500* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
บทความอื่นๆ
top line