ท่าไม้ตายน้องเทนนิส (Hook Kick) จากอาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หลัง และข้อสะโพกหลวม
โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข (kdms) ขอแสดงความยินดีกับ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดหญิงขวัญใจชาวไทย สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองอีกครั้งในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 33
ทั้งนี้จากบทสัมภาษณ์ที่น้องเทนนิส ได้ให้ไว้กับ THE STANDARD เรื่องท่าไม้ตาย “ท่าตอกส้นเข้าท้ายทอย” (Hook Kick) ซึ่งเป็นท่าที่ทุกคนให้ความสนใจ และกล่าวถึงกันอย่างมากมาย โดยน้องเทนนิสให้สัมภาษณ์ว่าที่สามารถทำท่านี้ได้ดีเป็นเพราะเคยมีประวัติ “เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บ” กับ “ข้อสะโพกหลวม” ซึ่งทำให้สามารถใช้ท่านี้ได้ในองศาที่เยอะ จึงกลายมาเป็นท่าไม้ตายของเธอ
ในบทความนี้ ทางโรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข มาให้ความรู้ในเรื่องของอาการ “เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บ” กับ “ข้อสะโพกหลวม” ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และมีวิธีการรักษาอาการบาดเจ็บอย่างไร
“เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บ”
เอ็นไขว้หลัง หรือ Posterior Cruciate Ligament (PCL) เป็นเอ็นแกนสำคัญหนึ่งของข้อเข่า ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของข้อเข่า ทำหน้าที่ป้องกันการเคลื่อนที่ไปทางด้านหลังของกระดูกหน้าแข้ง ทำให้ข้อเข่ามั่นคง โดยการบาดเจ็บของเอ็น PCL นี้มักเกิดจากการบาดเจ็บโดยตรงจากการกระแทกด้วยแรงทางหน้าเข่า (dashboard injury) หรือการบาดเจ็บในท่าเหยียดเข่าแล้วเกิดการแอ่นมากขึ้น (hyperextension injury)
การวินิจฉัยการบาดเจ็บของ PCL จำเป็นต้องอาศัยประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจทางรังสีเพิ่มเติม โดยหากพบว่ามีการแตกหักของจุดเกาะเอ็นร่วมด้วยและมีการเคลื่อนที่ อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกที่แตกดังกล่าว แต่หากเป็นการบาดเจ็บของเอ็นโดยไม่มีกระดูกแตกหัก แพทย์ผู้รักษาจะทำการประเมินความรุนแรงและความหลวมของเอ็น PCL ดังกล่าว รวมทั้งประเมินการบาดเจ็บร่วมของโครงสร้างรอบๆ ข้อเข่า ซึ่งอาจจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าข้อเข่า (MRI) เพิ่มเติม โดยการรักษาเอ็นไขว้หลังที่บาดเจ็บอาจทำโดยการใส่เฝือก การผ่าตัดเพื่อยึดตรึงเอ็นไขว้หลัง หรือการผ่าตัดส่องกล้องสร้างเอ็นไขว้หลังใหม่ เป็นต้น
ในกรณีที่เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บเรื้อรังและมีการหลวม หากการหลวมของเข่าไม่มาก สามารถดูแลรักษาได้ด้วยการฝึกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดเข่า (quadriceps strengthening exercise) ร่วมกับการจำกัดการใช้งานข้อเข่าหากมีอาการปวด ซึ่งในบางครั้ง ผู้ที่มีเอ็นไขว้หลังหลวมอาจมีอาการปวดที่หน้าเข่าจากการปวดข้อกระดูกสะบ้า (patellofemoral pain) ได้ โดยผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หลังนี้ ควรได้รับการดูแลและประเมินอาการโดยแพทย์ ว่าเป็นการบาดเจ็บในระดับใดและสามารถใช้งานข้อเข่าในการออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด
อาการบาดเจ็บในส่วนเอ็นไขว้หลังอาจเกิดร่วมกับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณเอ็นไขว้หน้าร่วมด้วย
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (ALC Injury)
“ข้อสะโพกหลวม”
ข้อสะโพกเป็นข้อที่รับน้ำหนักมากในร่างกายและเป็นส่วนเชื่อมต่อของแกนกลางของร่างกายกับรยางค์ส่วนล่าง โดยข้อต่อสะโพก จะให้การเคลื่อนไหวในองศาที่มาก ในหลายมุมการเคลื่อนที่ ดังเช่นในข้อไหล่ อย่างไรก็ตามการที่ข้อสะโพกทำหน้าที่มากก็จะสามารถเกิดปัญหาหรือความผิดปกติตามมาได้เช่นกัน
ข้อสะโพกหลวมสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการ คือ ข้อสะโพกหลวม (hip laxity) และ ข้อสะโพกไม่มั่นคง (hip instability) ซึ่งต่างกันตรงที่ “ข้อสะโพกหลวม” เป็นการที่ข้อสะโพกสามารถขยับได้ในองศาที่มากกว่าปกติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดหรือปัญหาจากการเคลื่อนไหว แต่ใน “ข้อสะโพกไม่มั่นคง” จะมีความหลวมของข้อสะโพกร่วมกับอาการผิดปกติ อาทิเช่น ข้อสะโพกเคลื่อนหลุดหรือมีอาการปวดข้อสะโพกเมื่อเคลื่อนไหว
ในกรณีที่ข้อต่อในร่างกายหลวมนั้น อาจทำให้เราสามารถขยับเคลื่อนไหวข้อในองศาที่มากกว่าปกติได้ และอาจเป็นข้อได้เปรียบในการใช้งานของข้อนั้นๆ ดังจะเห็นได้จากกีฬาหลายชนิด เช่น การเล่นยิมนาสติก หรือในกรณีของ “ท่าไม้ตายของน้องเทนนิส” (Hook Kick) ดังที่ได้กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามภาวะข้อหลวมก็อาจเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บของโครงสร้างรอบๆ ข้อต่อนั้นได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน และอาจนำไปสู่ภาวะข้อต่อไม่มั่นคงได้ด้วย ผู้ที่มีข้อหลวมจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนกำลังกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อนั้น รวมถึงทักษะการใช้งานข้อต่อนั้นในหลายๆด้าน โดยเฉพาะความยืดหยุ่นและการฝึกฝนเส้นประสาทรับความเคลื่อนไหวของข้อ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงของข้อและป้องกันการบาดเจ็บรอบข้อได้
แต่ทั้งนี้อาการ “เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บ” กับ “ข้อสะโพกหลวม”ไม่ควรปล่อยไว้นาน อาจเป็นอันตรายต่อข้อเข่า และข้อสะโพก และส่งผลให้มีอาการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น คนไข้ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บได้อย่างถูกต้อง และป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต
ศึกษาอาการบาดเจ็บจากกีฬาที่สามารถเกิดขึ้นได้เพิ่มเติมที่บทความ: บาดเจ็บจากเล่นกีฬา รักษาอย่างตรงจุด กับแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การกีฬา