เคลื่อนไหวลำบาก ออกกำลังได้จำกัด ให้ “ธาราบำบัด” ช่วยฟื้นฟู
การจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้นั้น คงเกิดขึ้นได้ยาก หากเราไม่สามารถออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากความไม่อยากออกกำลังกายของเราเองแล้ว อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชีวิตห่างไกลจากการออกกำลังกายก็คือ อาการบาดเจ็บ เจ็บปวด จากอุบัติเหตุ และโรคต่าง ๆ นั่นเอง แต่ปัจจุบันทางการแพทย์เรามี “ธาราบำบัด” เป็นทางเลือกในการออกกำลังกายพร้อมช่วยบำบัดอาการเจ็บปวด ข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ร่างกายจะอยู่ในสภาวะไม่พร้อมต่อการออกแรง แต่ก็สามารถออกกำลัง ฟื้นฟูสมรรถภาพของตัวเองได้ไปพร้อมกันในคราวเดียว
Table of Contents
ธาราบำบัด คืออะไร มีข้อดีอะไรบ้าง?
ธาราบำบัด หรือ Hydrotherapy คือ การใช้น้ำเข้ามาช่วยในการรักษาผู้ป่วย โดยอาศัยคุณสมบัติต่าง ๆ ของน้ำ ได้แก่ เรื่องแรงลอยตัว (Buoyancy) แรงต้านของน้ำ (Resistance) และ Hydrostatic Pressure ของน้ำ ซึ่งข้อดีของการรักษาด้วยธาราบำบัดนั้น ได้แก่
แรงลอยตัวของน้ำ จะทำให้น้ำหนักที่กดลงไปตามข้อต่อมีน้อยลง ลดปริมาณแรงกระแทกในการออกกำลังกาย จึงเป็นผลดีต่อคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องปวดข้อ หรือมีน้ำหนักตัวมาก ที่ไม่สามารถออกกำลังกายบนพื้นได้ เพราะจะเจ็บปวดและเหนื่อยง่าย การออกกำลังกายในน้ำด้วยธาราบำบัด จะตอบโจทย์ทำให้ออกกำลังกายได้มากขึ้น และเจ็บปวดน้อยลง
คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่า ปวดเข่ามาก ๆ จากอาการข้อเข้าเสื่อม ปกติจะออกกำลังกายได้น้อย หรือไม่ได้เลยเพราะเจ็บปวดเข่า ซึ่งหากไม่ได้ออกกำลังกายเลย ก็เสี่ยงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่ออาการรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมได้ การได้ทำธาราบำบัด ออกกำลังกายในน้ำ จึงช่วยทำให้คนไข้ออกกำลังกายได้นานขึ้น มีความทนทานได้มากขึ้น จึงส่งผลดีต่อการควบคุมน้ำหนัก และควบคุมอาการรุนแรงของโรคได้ดีขึ้น
คนไข้หลังผ่าตัด ที่ขยับร่างกาย และออกกำลังกายลำบาก ธาราบำบัดจะช่วยให้สามารถออกกำลังกายได้ดีขึ้นแบบไม่มีแรงกระแทก ทำให้เสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ดี ร่างกายหลังการผ่าตัดฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ในการทำธาราบำบัดของคนไข้หลังผ่าตัด จะต้องมีการปิดแผลผ่าตัดให้ดี เพื่อป้องกันแผลโดนน้ำหรือติดเชื้อได้
กลุ่มคนไข้กระดูกแตก กระดูกหัก ที่ต้องการออกแรงเพื่อเพิ่มความเร็วในการฟื้นฟู แต่ไม่ต้องการลงน้ำหนักมาก ธาราบำบัดก็ตอบโจทย์ได้ดี เพราะไม่เพิ่มแรงกระแทกที่เป็นอันตราย
กลุ่มคนไข้เด็ก และกลุ่มสตรีมีครรภ์ ที่ต้องการการออกกำลังกายแบบไม่หนัก แรงพยุงตัวของน้ำจากการทำธาราบำบัดจะช่วยทำให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย
การทำธาราบำบัด เป็นการออกกำลังกายที่ให้ความเพลิดเพลิน แปลกใหม่ สร้างความสนุกสนานให้กับคนไข้ได้ ยิ่งมีการออกกำลังกายร่วมกันเป็นกลุ่ม ก็จะยิ่งสนุกมากขึ้น และทำให้จิตใจของคนไข้ผ่อนคลายได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีทำให้ฟื้นตัวจากการรักษาได้เร็วมากขึ้น
ธาราบำบัด เหมาะกับใครบ้าง?
ในความเป็นจริงแล้ว ธาราบำบัดสามารถใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เพราะถือเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่มีประโยชน์ สนุกสนาน และมีความแปลกใหม่ แต่จะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้อย่างที่ควรจะเป็น จนส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอ และมีอาการของโรครุนแรงมากขึ้น โดยธาราบำบัดเหมาะใช้ทำการรักษาในกลุ่มต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ที่มีอาการปวดเข่า หรือมีปัญหาข้อต่อ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อเสื่อม หรือในกลุ่มผู้ที่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ ที่มีปัญหาเรื่องอาการปวดข้อรุนแรง และไม่ต้องการออกกำลังด้วยการลงน้ำหนักเยอะ
- กลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด ที่ต้องการให้ได้ออกแรงเพื่อเพิ่มการฟื้นตัว แต่ไม่อยากให้ออกกำลังแบบลงน้ำหนักที่ขามาก
- กลุ่มผู้ป่วยเด็ก เช่น เด็กกระดูกหัก หรือเด็กที่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคที่มีเลือดออกในข้อ มีเลือดออกในข้อได้ง่าย
- กลุ่มสตรีมีครรภ์ ที่ต้องออกกำลังกายแต่ไม่ต้องการให้ออกกำลังหนักมาก
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดตัวมาก ๆ ไม่สามารถออกกำลังกายแบบปกติได้ มีอาการปวดเมื่อยล้ารุนแรง
- กลุ่มนักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เช่น เอ็นฉีก จนมีอาการเจ็บปวด หรือข้อเท้าพลิก การมาทำธาราบำบัด ออกกำลังกาย เช่น วิ่งในน้ำ ก็จะช่วยลดแรงที่ข้อต่อลงได้ ทำให้ได้ออกกำลังกายรักษาสภาพความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น แม้จะบาดเจ็บ
- กลุ่มผู้ป่วยระบบประสาทที่มีอาการอ่อนแรง ในภาวะปกติอาจออกกำลังกายลำบาก เหนื่อยง่าย ล้าง่าย การทำธาราบำบัดที่อาศัยแรงต้านของน้ำ ช่วยเป็นแรงต้านแบบ Resistance Exercise ทำให้เพิ่มความแข็งแรงได้ดี และแรงลอยตัวของน้ำยังช่วยพยุงทำให้สามารถออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น
เตรียมตัวอย่างไร ก่อนลงสระธาราบำบัด
สระธาราบำบัดนั้น มีลักษณะคล้ายกันกับสระว่ายน้ำปกติ แต่จะสามารถปรับระดับน้ำได้ เพราะระดับความสูงของน้ำจะมีผลต่อแรงลอยตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งก็จะเหมาะกับสภาวะร่างกายของคนไข้ที่แตกต่างกันไป ตามแต่ละจุดประสงค์ของการทำธาราบำบัด ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ของการทำธาราบำบัด จะเป็นการออกกำลังกายเพื่อบำบัด เสริมสร้าง ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งควรทำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากต้องการจะให้เห็นผลลัพธ์ของการออกกำลังกายอย่างชัดเจน โดยก่อนลงสระธาราบำบัด จะมีข้อปฏิบัติในการเตรียมตัว ดังต่อไปนี้
- ต้องได้รับการตรวจสภาพร่างกายก่อนลงสระธาราบำบัดทุกครั้ง สำหรับผู้สูงอายุ จะมีการวัดความดันก่อน ซึ่งหากความดันสูงเกินไป ก็ไม่แนะนำให้ทำธาราบำบัด เพราะเมื่อลงไปออกกำลังกายในน้ำโดยเฉพาะน้ำอุ่น จะยิ่งทำให้ความดันสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายได้
- กรณีผู้ป่วยหลังผ่าตัดลงทำธาราบำบัด จะต้องมีการปิดแผลเพื่อป้องกันน้ำ และการติดเชื้อ หากเป็นผู้ป่วยที่มีแผลสด แผลเปิด ที่มีโอกาสติดเชื้อนั้นจะห้ามทำธาราบำบัด
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการขับถ่าย เช่น กลุ่มผู้บาดเจ็บบริเวณไขสันหลังส่วนล่าง ควรหลีกเลี่ยงการทำธาราบำบัด
- ทำความสะอาดร่างกายก่อนลงสระธาราบำบัดทุกครั้ง
- สวมใส่ชุดว่ายน้ำ หรือชุดกีฬา เสื้อผ้าปกติก็ได้ แต่เน้นให้เป็นชุดเสื้อผ้าที่ไม่เกะกะ สวมใส่แล้วเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกมากที่สุด
- ก่อนลงสระธาราบำบัดควรอบอุ่นร่างกาย ยืดเส้น คลายกล้ามเนื้อ หรือ Warm Up ก่อนเสมอ
- ในระหว่างการออกกำลังกายในสระธาราบำบัด จะต้องอยู่ในความดูแลของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด และควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
การทำธาราบำบัด หรือ Hydrotherapy จัดเป็นการออกกำลังกายแบบ Whole Body Exercise หรือ การออกกำลังกายทั้งตัว ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ทุกส่วน ฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรงได้ดี ทั้งยังมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน จึงถือเป็นการบำบัดรักษาทั้งร่างกายและจิตใจไปด้วยพร้อมกัน เหมาะเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีปัญหาด้านข้อเข่า ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ ให้สามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น และมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้มากขึ้นในทุก ๆ วัน