เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบคือ? คนออกกำลังกายควรรู้
อาการเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ หรือ IT Band Syndrome เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ชอบออกกำลังกาย เพราะว่าอาการดังกล่าวนั้นมักจะเกิดขึ้นในระหว่างที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกันว่า IT Band Syndrome ว่าคืออะไร เกิดจากอะไร เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบมีอาการอย่างไร และมีวิธีรักษาแบบไหนบ้าง เพื่อที่จะได้สังเกตอาการของตัวเอง และเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้อง
Table of Contents
Toggleเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ คืออะไร?
เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ หรือ IT Band Syndrome คือ อาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอก หรือด้านข้าง ที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อสะโพกด้านข้างยาวลงมาผ่านเข่า และมาเกาะบริเวณด้านข้างของกระดูกเข่า โดยส่วนใหญ่หากเกิดการอักเสบมักจะก่อให้เกิดความรู้เจ็บ 2 ตำแหน่ง ได้แก่ บริเวณสะโพกด้านข้าง และบริเวณเข่าด้านนอก เพราะว่าเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอก และด้านข้างมัดนี้เชื่อมต่อมาจากสะโพก จึงทำให้เกิดอาการปวด หรือเจ็บในบริเวณดังกล่าว และในบางครั้งอาจจะมีอาการปวดเข่าร่วมด้วย
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบเกิดจากอะไร?
เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ (IT Band Syndrome) นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ มีดังนี้
- ใช้งานซ้ำๆ มากเกินไป โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการออกกำลังกายที่ใช้งานบริเวณสะโพก และขาซ้ำๆ เช่น การวิ่งมาราธอน วิ่งเทรล ขึ้นเขา ปั่นจักรยานเป็นเวลานาน ล้วนแต่เป็น Repetitive Overused และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุด
- ปัจจัยเดิมของคนไข้ เป็นสาเหตุที่ขึ้นอยู่กับร่างกายของคนไข้ที่อาจจะมีกล้ามเนื้อสะโพกไม่แข็งแรง หรืออ่อนแรง เมื่อทำการออกกำลังกายนานๆ เช่น การวิ่ง ก็จะทำให้มุมสะโพกผิด และเส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บง่ายขึ้น และเป็นสาเหตุที่มักจะเกิดได้ง่ายกับนักวิ่ง หรือนักกีฬา
- ได้รับบาดเจ็บ เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ หรือกระทบกระแทกในบริเวณสะโพก เช่น การหกล้ม หรือล้มกระแทกพื้น เป็นต้น แต่ว่าเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยที่สุด
นอกจากการออกกำลังกายอย่างการวิ่งมาราธอน วิ่งเทรล หรือการวิ่งออกกำลังกาย ที่สามารถส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวได้แล้ว การเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ ที่มีการลงน้ำหนักไปที่ขา เช่น ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล หรือเทนนิส ก็สามารถทำให้เกิดอาการเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบได้เช่นกัน แต่ว่าอาจจะมีโอกาสในการเกิดน้อยกว่าการวิ่งเป็นระยะเวลานาน
อาการของเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบที่สังเกตได้
ถ้าหากใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ สามารถเช็กอาการของตัวเองกับอาการของเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ ที่สังเกตได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันหรือไม่ โดยเอ็นต้นขาด้านข้างเสบมีอาการ ดังนี้
- มีอาการปวดด้านข้างของเข่า
- มีอาการปวดในระหว่างออกกำลังกาย
- มีอาการปวดในบริเวณสะโพกด้านข้าง และเข่าด้านนอก
- ในบางรายอาจมีการชาร่วมด้วย
สำหรับนักกีฬานั้นจะมีอาการปวด 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่วิ่งไปสักพักประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และช่วงหลังจากออกกำลังกาย โดยอาจจะเกิดอาการปวดได้ทั้งบริเวณสะโพก และเข่า เพราะว่าเส้นเอ็น และปุ่มกระดูกเกิดการเสียดสีกัน ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบได้
แพทย์วินิจฉัย IT Band Syndrome อย่างไร
ถ้าหากคนไข้มีอาการเจ็บ หรือปวดในบริเวณเดียวกันกับเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ แต่ไม่มั่นใจว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นใช่โรคนี้หรือไม่ ดังนั้น การพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
โดยการวินิจฉัยของแพทย์นั้นจะเริ่มจากการดูตำแหน่งที่คนไข้ปวด พร้อมกับการตรวจร่างกายพื้นฐาน รวมถึงตรวจดูกล้ามเนื้อสะโพกว่ามีความผิดปกติหรือไม่ มีกำลังมากน้อยแค่ไหน หรือมีอาการอ่อนแรงหรือเปล่า ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีวิธีการตรวจ ดังต่อไปนี้
-
- ยืน หรือนอนตะแคง พร้อมกับกางขา และหมุนขาออกด้านข้าง เพื่อตรวจสอบพละกำลังของกล้ามเนื้อ
- ยืนขาเดียว และย่อขาลง เพื่อดูว่าลักษณะของสะโพกเป็นอย่างไร
- นอนตะแคง และยกขา เพื่อตรวจความตึงของกล้ามเนื้อ ถ้าหากกล้ามเนื้อตึงจะทำให้ปวดง่ายขึ้น
- ตรวจข้อสะโพก เพราะว่าคนไข้บางคนมีข้อสะโพกผิดปกติ และอาจมีอาการปวดร้าว เมื่อขยับ หรือเคลื่อนไหวในส่วนเดียวกันกับเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
วิธีรักษาเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ
อาการเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบมีวิธีรักษาหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การกินยาลดปวด การรักษาด้วยการกายภาพบำบัด หรือการรักษาด้วยการฉีดยา โดยแต่ละวิธีการรักษานั้นมีรายละเอียด ดังนี้
กินยาลดปวด
การบรรเทาอาการปวดเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบด้วยวิธีการรักษากินยาลดปวด เป็นการรักษาโดยการกินยาต้านการอักเสบ หรือยาคลายกล้ามเนื้อ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของสเตียรอยด์ หรือในคนไข้บางรายอาจจะมีการใช้ยานวดร่วมด้วย เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ และใช้ความร้อนของตัวยา เพื่อบรรเทาอาการปวดลงไปด้วย
รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด
การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เป็นอีกวิธีการรักษาเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ หรือกล้ามเนื้ออักเสบจากการออกกำลังกาย โดยการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ การทำท่ากายบริหาร และการใช้เครื่องมือสำหรับการกายภาพบำบัด โดยแต่ละวิธีนั้นมีรายละเอียด ดังนี้
ทำท่ากายบริหาร
การทำท่ากายบริหารนั้นจะเน้นการกายภาพเป็นหลักที่สามารถช่วยยืดกล้ามเนื้อ IT Band ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมกับช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อแกนกลางให้มีความแข็งแรงมากขึ้นในเวลาเดียวกัน โดยท่ากายบริการที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ เช่น
ท่าสะพาน
เริ่มต้นด้วยการนอนหงาย และงอเข่าทั้ง 2 ข้าง 90 องศา พร้อมกับกางขาให้เท่ากับความกว้างของไหล่ วางฝ่าเท้าไว้ราบกับพื้น และวางมือแนบไว้ข้างลำตัว หลังจากนั้นให้ยกสะโพกขึ้นมาจากพื้น จนลำตัวตรง และระมัดระวังไม่ให้เข่าบิดเข้าด้านใน
ใช้เครื่องมือสำหรับการกายภาพบำบัด
การใช้เครื่องมือสำหรับการกายภาพบำบัดนั้นจะเป็นการใช้เครื่องมือ เพื่อลดอาการปวด และลดอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อ โดยส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ช็อกเวฟ (Shock Wave) และอิเล็กโตรแมกเนติก (Electromagnetic) ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวด คลายกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการของโรค MPS (Myofascial Pain Syndrome) ที่เป็นโรคปวดกล้ามเนื้อที่เป็นอาการปวดเรื้อรัง
รักษาด้วยการฉีดยา
การรักษาด้วยการฉีดยา เป็นวิธีการรักษาอาการเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบด้วยการฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดอาการปวด และคลายกล้ามเนื้อ และจะฉีดในบริเวณ หรือตำแหน่งที่มีอาการปวด โดยส่วนใหญ่คนไข้จะรู้สึกปวดน้อยลงทันทีหลังจากฉีดยา แต่ว่าอาการปวดจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดภายใน 2-3 วัน เพราะว่าหลังจากฉีดยาอาจจะยังมีอาการตกค้างหลังฉีดจากตอนปักเข็มฉีดยา หรือตอนเดินยาได้
วิธีป้องกันเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ
การป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บปวดในบริเวณ IT Band นั้นดีกว่าต้องมาหาวิธีแก้ปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย หรือระหว่างออกกำลังทีหลัง โดยวิธีการป้องกันเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มระหว่างออกกำลังกาย และกลุ่มเจ็บเฉียบพลัน ซึ่งรายละเอียดของวิธีป้องกัน มีดังนี้
- กลุ่มระหว่างออกกำลังกาย จะให้หยุดพักเมื่อมีอาการปวด พร้อมกับประคบเย็น และยืดกล้ามเนื้อ
- กลุ่มเจ็บเฉียบพลัน จะให้หยุดพักเมื่อมีอาการปวด และประคบเย็นเช่นกัน แต่ว่ากลุ่มเจ็บเฉียบพลันนั้นจะไม่ทำการยืดกล้ามเนื้อทันที แต่ว่าจะรอให้อาการปวดลดลงก่อน เพราะถ้าหากยืดกล้ามเนื้อทันทีอาจทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้นได้
เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ หรือ IT Band Syndrome คือ การปวดในบริเวณสะโพก และเข่าที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ในบริเวณเดิม แต่ว่าอาการเอ็นต้นขาอักเสบนั้นก็มีวิธีรักษาทั้งการกินยาลดปวด การกายภาพบำบัด และการฉีดยาให้ผู้ป่วยได้เลือกรักษา ทั้งนี้ วิธีการรักษาก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ด้วย และที่สำคัญ คือ ถ้าหากรู้สึกปวด หรือมีอาการที่บ่งบอกได้ว่าเอ็นต้นขาอักเสบก็ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่กว่าเดิม และจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
บทความโดย : นพ.พัฒนเกติ ชีวะก้องเกียรติ ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่