ทำไมต้องกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ ?

ในกระบวนการรักษาโรคกระดูกและข้อนั้น เชื่อว่าผู้ป่วยทุกคนจะโฟกัสไปที่การผ่าตัดเป็นสำคัญ โดยมักคิดว่าถ้าผ่าตัดได้ดีก็จะหายดีได้เป็นปกติ แต่ในความเป็นจริงนอกเหนือจากการผ่าตัดรักษาแล้ว “การทำกายภาพบำบัด” ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหว ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็อาจมองว่าการทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งยุ่งยาก กินระยะเวลานาน จึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญซึ่งนำไปสู่การฟื้นตัวที่อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้

ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ไว้ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ และไม่ละเลยมองข้ามไปจนทำให้ไม่ได้รับผลการรักษาที่ดีที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น

การทำกายภาพบำบัดคืออะไร ?

กายภาพบำบัด คือ หนึ่งในกระบวนการของทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูซึ่งมีการวางแผนโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด ซึ่งการทำกายภาพบำบัดนั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของคนไข้ ให้กลับมาเคลื่อนไหว และใช้ชีวิตเข้าสังคมได้อย่างเป็นปกติ โดยไม่เกิดความยากลำบากโดยจะมีใช้กระบวนการทางกายภาพบำบัดและอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ทำกายภาพ เพื่อลดปวด และกระตุ้นให้คนไข้ ขยับ เคลื่อนไหว ออกกำลังกายได้เอง จนกระทั่งมีสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ

การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด สำคัญอย่างไรต่อผู้ป่วยกระดูกและข้อ

เมื่อคนไข้เจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกและข้อไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลัง กระดูกแขน ขา ข้อเข่า หรือส่วนใดก็ตาม สิ่งที่คนไข้จะต้องเผชิญก็คือความเจ็บปวด ไม่สุขสบายก่อนผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดไปแล้ว การใช้งานกระดูกและข้อบริเวณนั้น ๆ ก็จะมีประสิทธิภาพต่ำลง ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม การทำงานของข้อเข่าและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อก็จะด้อยประสิทธิภาพลง รวมถึงยังมีเรื่องความเจ็บปวดหลังผ่าตัดรบกวนด้วย ซึ่งบทบาทของการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดกระดูกและข้อนั้น มีจุดประสงค์หลัก ๆ นั่นก็คือการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดหลังผ่าตัด และช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวจนหายกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด โดยที่ไม่ต้องใช้ยาเป็นจำนวนมากจนอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียง

นอกจากนั้น การทำกายภาพบำบัดก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยทำให้เป้าหมายการรักษาสูงสุดของคนไข้มีโอกาสเป็นจริงได้มากขึ้นด้วย เช่น คนไข้อยากกลับมาเดินได้ จนถึงขั้นไปปีนเขาไปเดินป่าได้เหมือนก่อนเจ็บป่วย การทำกายภาพบำบัดก็จะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะนำพาคนไข้ไปบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่เสี่ยงบาดเจ็บซ้ำเดิม ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดร่างกายที่มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติอาจกินเวลาที่นานและอาจทำให้ฟื้นตัวช้า กว่าปกติ และในขณะเดียวกันประสิทธิภาพของการฟื้นตัวนั้นก็อาจไม่ได้สมบูรณ์ตามเป้าหมาย 100%  

ช่วงระยะเวลาในการฟื้นฟู

ในการทำกายภาพหลังผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกและข้อนั้น จะมีระยะเวลายาวนานที่แตกต่างกันไปแล้วแต่สภาพร่างกายของคนไข้แต่ละคน รวมถึงความรุนแรงของโรคที่เป็นด้วย แต่ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

1.การทำกายภาพก่อนผ่าตัด

หรือเรียกอีกอย่างว่า Pre-operative Rehabilitation หมายถึง การวางแผนการเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมก่อนผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยเช้าใจแผนการกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด และเตรียมความพร้อมในการออกกำลังกายบางอย่างที่จำเป็นต้องทำหลังจากผ่าตัดเรียบร้อย เช่น การฝึกให้คนไข้ทดลองใช้อุปกรณ์บางอย่างก่อน เช่น Walker ทั้งนี้ การทำกายภาพก่อนผ่าตัดนั้น จะทำให้คนไข้ได้ร่วมวางแผน และเข้าใจวิธีการทำกายภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เพราะหลังผ่าตัดผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดจากแผลอาจไม่สามารถฝึกได้อย่างถูกวิธี และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเพิ่มเติมได้

2.การทำกายภาพหลังผ่าตัดในช่วงอยู่ที่โรงพยาบาล

ในระยะที่ 2 นี้จะเริ่มทำกายภาพบำบัดได้หลังจากที่สัญญาณชีพของคนไข้กลับมาเป็นปกติ และศัลยแพทย์เจ้าของไข้อนุญาตให้เริ่มทำกายภาพได้ ซึ่งการทำกายภาพบำบัดในระยะนี้ จะต้องทำงานร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้อย่างใกล้ชิด เพราะการผ่าตัดทุกชนิดจะมีข้อห้ามหรือข้อควรระวัง เช่น กรณีคนไข้ผ่าตัดเอ็นและกระดูกบางชนิด จะมีการห้ามเดินลงน้ำหนักในขาข้างนั้น ๆ  ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็จะต้องมีการประเมิน และจัดโปรแกรมการฝึกให้คนไข้สามารถฝึกเดินได้ตามแผน และใช้ชีวิตประจำวันได้แม้ว่าไม่ได้ลงน้ำหนักที่ขาข้างนั้น  เป็นต้น

โดยรูปแบบของการทำกายภาพในระยะนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะสำคัญใหญ่ ๆ ได้แก่ การทำกายภาพทั่วไปหลังผ่าตัด และการทำกายภาพแบบเฉพาะเจาะจงโรค ซึ่งการทำกายภาพทั้ง 2 รูปแบบ ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดอาการปวดบาดเจ็บ ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวหลังจากการผ่าตัดและดมยาสลบได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนนาน และไม่ให้เกิดอันตรายหลังจากผ่าตัด รวมถึงทำให้คนไข้บรรลุเป้าหมายในการรักษาให้ได้ ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็จะวางแผนการออกกำลังกายเพื่อให้ผู้ป่วยนำกลับไปทำต่อที่บ้านอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

3.การทำกายภาพบำบัดหลังออกจากโรงพยาบาล

ในระยะที่ 3 นี้ จะดำเนินการต่อหลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยเมื่อผู้ป่วยกลับมาตรวจประเมินหลังผ่าตัด นอกจากตรวจดูการหายของแผลแล้ว ก็จะมีการประเมินเพื่อทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง โดยที่โปรแกรมการฝึกของผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของแต่ละคนเอง โดยหากคนไข้แผลหายเร็วดีขึ้นแล้ว แพทย์เจ้าของไข้อนุญาติให้ออกกำลังกายได้มากขึ้น ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็จะค่อย ๆ เพิ่มโปรแกรมการออกกำลังกายให้คนไข้ โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การกายภาพเพื่อลดปวดเพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นในเรื่องของการเสริมสร้างความแข็งแรงให้คนไข้กลับมาใช้งานร่างกาย เคลื่อนไหวและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นและบรรลุเป้าหมายสูงสุดของผู้ป่วยได้

หลังการผ่าตัด ควรกายภาพอย่างไร

โดยปกติแล้วหลังผ่าตัด แพทย์จะอยากให้คนไข้ลุกขึ้นนั่ง ขยับตัว หรือทำกายภาพให้ได้เร็วที่สุดเมื่อสัญญาณชีพเป็นปกติ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นการทำกายภาพบางอย่างก็อาจจะไม่ต้องใช้นักกายภาพบำบัดก็ได้ แต่ผู้ป่วยสามารถทำได้เองทันที เช่น การขยับมือ ขยับขา หรือข้อต่อที่ไม่ได้มีการผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งในระยะแรกการพยายามขยับข้อ การพยายามลุก นั่ง หรือขยับตัวนี้ จะช่วยลดโอกาสการเกิดการถดถอยจากการนอนนาน หรือการติดเตียงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดในบริเวณแผลผ่าตัดได้เช่นกัน

ดังนั้นการที่มีทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูเช้าร่วมดูแลก็จะทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจและกล้าที่จะขยับมากขึ้นโดยอยู่ในความดูแลของทีม และใช้เทคนิคเพื่อให้เกิดความเจ็บปวดให้น้อยที่สุด การที่ได้มีการขยับลุกตามแผนการกายภาพโดยอยู่ในความดูแลของทีมจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และสามารถเริ่มทำตามโปรแกรมการฝึกได้รวดเร็วมากขึ้น อันจะนำไปสู่การหายดีเป็นปกติในที่สุด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยที่ดีที่สุดแล้ว คนไข้ผ่าตัดกระดูกและข้อทุกคนก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวางแผนในการดูแลรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้อย่างเหมาะสม จนทำให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

kdms Enhance Recovery Program คืออะไร

Enhance Recovery Program คือ โปรแกรมการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายคนไข้หลังผ่าตัดกระดูกและข้อของโรงพยาบาล kdms โดยจะเป็นการนัดคนไข้มาติดตามการรักษาหลังผ่าตัดอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเข้าพบทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ ซึ่งจะมีการนัดต่อเนื่องหลังจากที่คนไข้ออกจากโรงพยาบาลแล้วประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือขึ้นอยู่กับความสะดวกของคนไข้แต่ละราย

ข้อดีของโปรแกรม kdms Enhance Recovery

1.กระตุ้นให้คนไข้ได้ทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่ดี รวดเร็ว เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรืออาจจะมากกว่าแผนที่ตั้งใจ

2.ได้ตรวจสอบอาการคนไข้อย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อคนไข้ออกจากโรงพยาบาลกลับไปบ้านแล้ว จะต้องไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งอาจจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ตามคำแนะนำของแพทย์จนเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ การนัดคนไข้เข้ามารับโปรแกรม Enhance Recovery หลังผ่าตัด จะช่วยทำให้แพทย์ได้ตรวจสอบว่ามีปัญาเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง อันนำไปสู่การแก้ไขจนได้รับผลการรักษาที่น่าพอใจ

3.ช่วยพาคนไข้บรรลุเป้าหมายการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นหลังผ่าตัดคนไข้ฝันว่าไม่ได้แค่อยากกลับมาเดินได้เท่านั้น แต่อยากกลับไปปีนเขาเดินป่าได้เหมือนเดิม การเข้ามารับโปรแกรม Enhance Recovery จะทำให้แพทย์และคนไข้วางแผนร่วมกันได้ว่าจะต้องมีแนวทางปฏิบัติในการทำกายภาพอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งนอกเหนือจากการทำกายภาพบำบัดทั่วไปแล้ว ก็จะมีโปรแกรมกายภาพบำบัดเฉพาะทางเสริมเข้าไปให้กับคนไข้ แล้วทำการประเมินเป็นขั้นตอนไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เข้ารับการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ร่างกายคนไข้ดีขึ้นจนสามารถเคลื่อนไหวใช้งานร่างกายได้อย่างที่ใจต้องการ

4.มีอุปกรณ์พิเศษช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

โดยนอกเหนือจากอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดทั่วไปแล้ว โปรแกรม KDMS Enhance Recovery จะเน้นในเรื่องของการลดปวดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับคนไข้ ซึ่งจะมีอุปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมให้เลือกใช้เหมาะกับอาการของคนไข้แต่ละราย เช่น การทำ Hydrotherapy ในสระน้ำอุ่นขนาดเล็ก สำหรับคนไข้ที่ต้องฝึกออกกำลังกายแต่ยังมีอาการบาดเจ็บอยู่ การฝึกในน้ำจะได้แรงพยุงช่วยทำให้ไม่เจ็บ รวมถึงน้ำอุ่นก็จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวลดเจ็บปวดได้ด้วย

หรืออีกเครื่องมือหนึ่งที่เหมาะสำหรับการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับคนไข้ ที่มีชื่อว่า Huber360 ก็เป็นเครื่องออกกำลังกายชนิดพิเศษที่เหมาะกับคนไข้ที่สามารถทรงตัวยืนได้ดีแล้ว และต้องการเสริมกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวและหายดีเร็วขึ้น โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูอย่างเหมาะสมเมื่ออยู่ในโปรแกรม

5. ได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูและทีมนักกายภาพบำบัดทำงานวางแผนร่วมกับกับศัลยแพทย์เจ้าของไข้อย่างใกล้ชิด จึงทำให้มีความปลอดภัยสูง และสามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายคนไข้ให้กลับมาแข็งแรง เคลื่อนไหวเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์แบบมากขึ้น

โดยปกติแล้วร่างกายคนเรานั้นสามารถฟื้นตัวเองได้ แม้จะไม่ต้องทำการกายภาพเต็มรูปแบบโดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ชำนาญการ แต่ในบรรดาการฟื้นฟูร่างกายตัวเองนั้นจะมีอยู่ประมาณ 20-30% ที่แม้จะหายดีกลับมาแล้วแต่ก็จะพบว่าประสิทธิภาพในการใช้งานร่างกายนั้นไม่ดีเหมือนเดิม ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติตามธรรมชาติ ดังนั้น เพื่อให้การหายดีกลับมาหลังจากการผ่าตัดกระดูกและข้อเป็นการหายดีที่สามารถทำให้คนไข้กลับไปใช้ร่างกายได้อย่างอิสระตามที่ใจต้องการแล้วล่ะก็ การเข้ารับกระบวนการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะจะช่วยฟื้นฟูร่างกายคนไข้ให้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม สามารถกลับมาทำตามความฝันที่เป็นเป้าหมายได้อีกครั้งอย่างมีความสุข

จันทร์, 25 ก.ค. 2022
แท็ก
กายภาพหลังผ่าตัด

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นๆ
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ประโยชน์ และความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ประโยชน์ และความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
อันตรายหรือไม่ ! ขยับท่าไหนก็มีเสียงกระดูกลั่น
ทำไมต้องกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ ?
เคลื่อนไหวลำบาก ออกกำลังได้จำกัด ให้ “ธาราบำบัด” ช่วยฟื้นฟู
top line

Login