รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง

นักกีฬาคือหนึ่งในอาชีพที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนัก และมีโอกาสเสี่ยงต่อการปะทะ การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเล่นกีฬาได้ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนที่เล่นกีฬาเป็นอาชีพแล้วนั้น การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางอาชีพโดยตรง โดยอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้กลับมาเล่นกีฬานั้น ๆ ไม่ได้อีกเลยก็ได้ ทั้งนี้ ในกลุ่มของคนที่แม้ไม่ได้เล่นกีฬาเป็นอาชีพ แต่ชื่นชอบที่จะเล่นกีฬาเป็นประจำก็มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน โดย “ข้อเข่า” ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บบ่อย และมีความเสี่ยงบาดเจ็บรุนแรงที่สุด ซึ่งคนเล่นกีฬาทุกคนควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

5 โรคเข่ายอดฮิต ที่เกิดจากการเล่นกีฬา

เนื่องจากในการเล่นกีฬาแทบทุกชนิด จะต้องใช้เข่าในการเคลื่อนไหว กระโดด วิ่ง เปลี่ยนทิศทางและความเร็วอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นกับข้อเข่าได้จึงมีสูง และรูปแบบของอาการบาดเจ็บก็มีหลากหลายแตกต่างกัน โดย 5 โรคข้อเข่ายอดฮิตที่พบได้บ่อยในนักกีฬาและคนที่ชอบเล่นกีฬาเป็นประจำนั้น มีดังต่อไปนี้

1.เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด

เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) เป็นเอ็นที่ทำหน้าที่หลักในการป้องกันการเลื่อนหรือการบิดหมุนของข้อเข่า ซึ่งจะเกิดอาการบาดเจ็บได้ในกรณีที่เข่าได้รับการบิดหมุนรุนแรง หรือถูกกระแทกอย่างหนักจนบิดแอ่น ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าขึ้น ซึ่งการบาดเจ็บดังกล่าวอาจพบร่วมกับการบาดเจ็บของหมอนรองข้อเข่า กระดูกอ่อนข้อเข่า รวมถึงเส้นเอ็นรอบข้อเข่าอื่น ๆ อาทิเช่น เอ็นไขว้หลัง (posterior cruciate ligament) เอ็นด้านในเข่า (medial side injury) และเอ็นด้านข้างข้อเข่า (lateral side injury) ได้ โดยอาการสำคัญเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ในระยะแรกจะพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่ามากจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ หรืออาจพอเดินลงน้ำหนักได้ได้ แต่เข่ามีอาการปวดและบวมรุนแรง

วิธีการรักษา

แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยก่อนว่าเอ็นไขว้หน้าขาดจริงหรือไม่ ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีกระดูกแตกหักร่วมด้วยหรือไม่ รวมถึงเพื่อยืนยันว่าไม่มีอาการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นร่วมด้วย บ่อยครั้งแพทย์จะทำการส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าข้อเข่า (MRI) เพิ่มเติม ทั้งนี้หากพบว่าเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดอย่างเดียวโดยไม่ได้มีอวัยวะอื่นบาดเจ็บร่วมด้วย ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นนักกีฬา ก็อาจสามารถดูแลรักษาได้ด้วยการไม่ผ่าตัด คือให้ลดกิจกรรม รับประทานยา และทำกายภาพบำบัดจนอาการปวดบวมดีขึ้น ก็อาจสามารถกลับไปใช้งานข้อเข่าได้โดยอาจมีอาการเข่าหลวม ลั่นหรือคลอนในบางจังหวะการใช้งาน แต่หากเป็นนักกีฬาที่ต้องการกลับไปใช้งานข้อเข่าในการเล่นกีฬาหรือผู้ที่ต้องการใช้งานข้อเข่ามาก มักจะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อ “ส่องกล้องสร้างเอ็นไขว้หน้าใหม่” ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าใหม่ นิยมใช้การปลูกย้ายเอ็นส่วนอื่น ๆ ของผู้ป่วยเองมาทดแทน เช่น เอ็นหลังข้อเข่า (Hamstring) เอ็นลูกสะบ้า (Bone-patellar tendon-bone) หรือเอ็นเข่าที่อยู่เหนือลูกสะบ้า (Quadriceps) เป็นต้น ซึ่งเอ็นหลังข้อเข่าเป็นเอ็นที่ได้รับความนิยมสูงสุด สำหรับระยะเวลาในการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าใหม่นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

การดูแลหลังผ่าตัด

การดูแลหลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า หากผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าโดยไม่มีการบาดเจ็บของเอ็นหรือโครงสร้างอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจจะต้องใช้ไม้เท้าค้ำช่วยเดินหลังผ่าตัดจนกว่าจะหายเจ็บ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะสามารถเดินลงน้ำหนักได้อย่างเต็มที่ แต่ใน 3 เดือนแรกหลังผ่าตัด จะเน้นการฝึกเรื่องการเหยียดงอเข่าให้สุด เหยียดเข่าให้ตรง ร่วมกับการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการเกิดกล้ามเนื้อลีบฝ่อ ในช่วง 3-5 เดือนหลังผ่าตัด จะเน้นการฝึกออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อ เช่น การวิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ และในเดือนที่ 5-6 จึงสามารถเริ่มกลับมากระโดดหรือกลับไปเล่นกีฬาเบา ๆ ได้ ภายหลังการประเมินและความยินยอมจากแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาก่อน ทั้งนี้การกลับไปเล่นกีฬา (return to play) นั้นจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 8-10 เดือนหลังผ่าตัด

2.หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด

หมอนรองข้อเข่า มีหน้าที่ในการรับแรงกระแทก กระจายแรงที่เกิดขึ้นในข้อเข่า มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยวอยู่ในเข่าระหว่างกระดูกเข่าทั้งสองชิ้น ทั้งสองฝั่ง คือ ด้านในและด้านนอก โดยการฉีกขาด มักเกิดจากการบิดเข่า เข่ากระแทก หรือลงน้ำหนักอย่างแรง  ผู้ป่วยที่หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด มักจะมีอาการเข่าบวม ปวดเข่า โดยเฉพาะบริเวณตำแหน่งแนวผิวข้อเข่า ทั้งนี้ หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด อาจเกิดร่วมกับเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด หรือกระดูกอ่อนข้อเข่าบาดเจ็บร่วมด้วยได้

วิธีการรักษา

แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่วนใหญ่จะทำการส่ง MRI เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นลักษณะการฉีกขาดของหมอนรองข้อเข่า โดยหากมีการฉีกขาดขนาดมากกว่า 8-10 มิลลิเมตร มักจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมแซม เนื่องจากหมอนรองเข่าที่ฉีกขาดขนาดใหญ่จะไม่สามารถหายได้เอง หากไม่ผ่าตัดซ่อมแซมอาจนำนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อม และเสี่ยงบาดเจ็บเพิ่มเติมที่ข้อเข่าได้ ปัจจุบันการผ่าตัดเย็บซ่อมหมอนรองข้อเข่า จะใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเข้าไปเย็บซ่อมในบริเวณที่มีการฉีกขาด โดยหากการฉีกขาดมีความรุนแรงมากหรือสภาพของหมอนรองเข่านั้นไม่สามารถเย็บซ่อมได้ แพทย์จะทำการตัดแต่งหมอนรองเข่าที่ไม่สามารถซ่อมได้ออกเพื่อลดการขัดหรือล็อคในข้อเข่า

การดูแลหลังผ่าตัด

ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อเหยียดเข่า โดยมักจำเป็นต้องเดินค้ำไม้เท้าประมาณ 4-6 สัปดาห์ จึงจะเริ่มให้ลงน้ำหนักได้เต็มที่ หลังผ่าตัดประมาณ 3 เดือนจึงเริ่มวิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำได้ และผู้ป่วยมักจะสามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ประมาณ 4-6 เดือนหลังผ่าตัด ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าร่วมด้วย ก็จะใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นดูแลนานขึ้นตามการดูแลผู้ป่วยที่เอ็นไขว้หนาฉีกขาด

3.กระดูกอ่อนข้อเข่าบาดเจ็บ

กระดูกอ่อนข้อเข่าบาดเจ็บ มักพบได้ 2 แบบ คือ เกิดจากการกระแทกโดยตรงจนเกิดการแตกหัก ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมข้อเข่าภายหลังได้รับบาดเจ็บบริเวณเข่า และอีกรูปแบบหนึ่งจะเป็นกระดูกอ่อนที่แตกจากภาวะที่กระดูกอ่อนมีการแตกหลุดร่อนเองโดยที่ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บที่ชัดเจน เรียกว่า “osteochondritis dissecans (OCD)” ซึ่งมักเจอได้ในนักกีฬาเช่นกัน รวมถึงยังมีโอกาสเจอได้ในช่วงอายุน้อยประมาณ 10-20 ปี ซึ่งอาจมีอาการปวด บวม หรือ เข่าล็อคได้ เป็นต้น

วิธีการรักษา

แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำ MRI เพื่อยืนยันการวินิจฉัยก่อน หลังจากนั้นถ้าเป็นการแตกหรือบาดเจ็บของกระดูกอ่อนข้อเข่าเพียงเล็กน้อย ส่วนมากจะสามารถรักษาด้วยการให้รับประทานยา และหยุดพักการใช้งานข้อเข่าประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่หากมีการบาดเจ็บหรือแตกหักรุนแรง มีการหลุดของกระดูกอ่อนชิ้นใหญ่ อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามตำแหน่ง และขนาดของกระดูกอ่อนที่บาดเจ็บ โดยการผ่าตัดรักษานี้มีทั้งการผ่าตัดส่องกล้อง ร่วมกับการเจาะรูกระดูกใต้กระดูกอ่อนให้มีเลือดออก (microfracture) เพื่อให้เกิดการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อน นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดเพื่อเข้าไปวางโครงสร้าง (scaffold) ให้กระดูกอ่อนสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ รวมถึงยังสามารถผ่าตัดแบบเปิดแผลเข้าไปย้ายกระดูกอ่อนตำแหน่งอื่นที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน มาแทนตำแหน่งที่บาดเจ็บได้ด้วย (Osteochondral transplantation) ส่วนในกรณีของกระดูกอ่อนข้อเข่าบาดเจ็บที่เกิดจากโรค OCD การรักษาก็จะคล้ายกันกับกลุ่มที่เกิดการบาดเจ็บ คือหลังจากการได้รับการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะประเมินความรุนแรง ขนาดและตำแหน่งของรอยโรค และจะพิจารณาผ่าตัดรักษาบริเวณที่มีความผิดปกติดังกล่าว ซึ่งหากความรุนแรงน้อย เช่น กระดูกอ่อนปริแตกอาจใช้การรักษาด้วยการใส่สกรูเข้าไปยึดชิ้นกระดูกที่กำลังจะหลุดร่อนไม่ให้เกิดการแตกหลุดร่อนออกมา หรือผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปเจาะรูเพื่อให้กระดูกอ่อนมีการซ่อมแซมตัวเอง รวมถึงวิธีการผ่าตัดอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

การดูแลหลังผ่าตัด

มักจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันเพื่อเดินประมาณ 4-6 สัปดาห์ ร่วมกับการฝึกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดเข่า หลังจากผ่าน 3 เดือนจะเริ่มฝีกกำลังกล้ามเนื้อได้มากขึ้น ตลอดจนเริ่มออกแรงข้อเข่าเบา ๆ ได้ และประมาณ 4-6 เดือนหลังผ่าตัด จึงกลับมาเล่นกีฬาได้ตามปกติ

4.อาการปวดหน้าข้อเข่า ที่เรียกว่า Jumper Knee

เป็นโรคหรือภาวะที่พบได้บ่อยในนักกีฬา หรือคนเล่นกีฬาที่ต้องมีการใช้ข้อเข่าในการกระโดดหรือสปริงตัวเยอะ ๆ เช่น นักบาสเก็ตบอล นักฟุตบอล นักกรีฑา นักแบดมินตัน และนักเทนนิส เป็นต้น โดยอาการของโรคจะเป็นอาการปวดและอักเสบเรื้อรังบริเวณเอ็นสะบ้า ซึ่งผู้ป่วย Jumper Knee จะมีอาการปวดเจ็บบริเวณหน้าหัวเข่า เจ็บตรงบริเวณลำของเอ็นสะบ้า หรือบางคนก็รู้สึกเจ็บบริเวณเอ็นเหนือสะบ้า รวมทั้งปวดในลูกสะบ้าก็ได้ ทั้งนี้ การอักเสบของเอ็นสะบ้าเป็นได้ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง

วิธีการรักษา

เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงอาจเอกซเรย์ข้อเข่าเพิ่มเติม การรักษาจะใช้การรับประทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด จัดกิจกรรมการใช้ข้อเข่าให้เหมาะสม ฝึกออกกำลังกายเพื่อยืดเอ็นต่าง ๆ รอบข้อสะบ้าโดยเฉพาะเอ็นเหยียดเข่า (Quadriceps) และ เอ็นข้างเข่า ITB (iliotibial band) รวมถึงการฝึกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดเข่าให้แข็งแรง ซึ่งผู้ป่วยจะกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติก็ต่อเมื่อหายจากอาการเจ็บปวดดีแล้ว ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 2-4 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น จึงหายปวดและกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติ

5.ภาวะลูกสะบ้าหลวม

ภาวะลูกสะบ้าหลวม ไม่เพียงพบได้ในนักกีฬาเท่านั้น แต่ยังพบในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเรื่องความหลวมของเอ็นได้ด้วย ซึ่งมักเจอได้บ่อยในคนที่เคยได้รับบาดเจ็บจนสะบ้าหลุด หรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเอ็นหลวมอยู่เดิม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียวบริเวณหน้าหัวเข่า หรืออาจมีประวัติลูกสะบ้าหลุดออกไปด้านนอกแล้วได้รับการรักษาจนกลับเข้าที่

วิธีการรักษา

การวินิจฉัยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และใช้การเอกซเรย์ข้อเข่าเพิ่มเติม แต่ในบางกรณีก็อาจจะต้องทำการตรวจ MRI ร่วมด้วยเพื่อดูร่องรอยของอาการบาดเจ็บตลอดจนประเมินความรุนแรงและการบาดเจ็บร่วม การรักษานั้นสามารถทำได้สองวิธีหลัก คือ

รักษาแบบไม่ผ่าตัด

แพทย์จะประเมินว่ามีความเสี่ยงที่สะบ้าจะหลุดซ้ำมากน้อยเพียงใด หากโครงสร้างของกระดูกข้อเข่าไม่ได้ผิดปกติมากนัก รวมถึงผู้ป่วยไม่ได้ใช้งานข้อเข่ามากนัก ก็จะเน้นรักษาเบื้องต้นด้วยการฝึกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดเข่า ชื่อ VMO (Vastus Medialis Oblique) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการเหยียดเข่า ที่อยู่ด้านหน้าเข่า โดยวิธีการฝึกกำลังกล้ามเนื้อดังกล่าวที่นิยม ได้แก่ การปั่นจักรยาน การทำสควอท เป็นต้น ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อ VMO แข็งแรงขึ้นก็จะช่วยดึงให้เอ็นด้านในสะบ้า (medial patellofemoral ligament, MPFL) ตึงตัวขึ้นได้ และช่วยลดโอกาสสะบ้าหลุดซ้ำได้

รักษาแบบผ่าตัด

ในกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีโอกาสสะบ้าหลุดซ้ำบ่อย และหรือผู้ที่เป็นนักกีฬาที่ต้องทำกิจกรรมในการใช้ข้อเข่ามาก ก็จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดสร้างเอ็นสะบ้าด้านในขึ้นใหม่ ซึ่งเรียกว่า MPFL reconstruction คือเป็นการรักษาคล้าย ๆ กันกับการทำเอ็นไขว้หน้าใหม่ แต่ต่างกันตรงที่เป็นการทำเอ็นด้านในข้อสะบ้าแทน ซึ่งก็จะใช้เอ็นของคนไข้จากที่อื่นย้ายมาทำเอ็นเส้นใหม่เช่นกัน โดยที่นิยมใช้จะเป็นเอ็นหลังเข่า (Hamstring) หรือเอ็นเหยียดเข่า (Quadriceps) ทั้งนี้หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีโครงสร้างกระดูกรอบข้อเข่าที่ผิดปกติด้วย อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการตัดปรับแนวกระดูก (osteotomy) ในส่วนที่เป็นปัญหาได้เช่นกัน  

การดูแลหลังผ่าตัด

หลังผ่าตัดรักษาภาวะสะบ้าหลวม ด้วยการทำ MPFL reconstruction ผู้ป่วยจะสามารถเดินลงน้ำหนักได้ทันทีหากไม่มีอาการปวด แต่อาจจะต้องใส่อุปกรณ์พยุงเข่า (hinge knee brace) เอาไว้เพื่อป้องกันการงอเข่าในบางมุม ป้องกันการหลุดซ้ำในช่วงหนึ่งเดือนแรก และภายหลัง 1 เดือน ผู้ป่วยจะต้องเริ่มฝึกเพื่องอเข่า และค่อย ๆ กลับไปใช้งาน ออกกำลังกายข้อเข่าเบา ๆ ได้ภายใน 3 เดือน รวมระยะเวลาประมาณ 4-6 เดือนหลังผ่าตัด ก็จะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติ

ป้องกันดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคข้อเข่าจากการเล่นกีฬา

ตราบที่ยังเล่นกีฬาอยู่เป็นกิจวัตร หรือเป็นอาชีพ โอกาสที่ข้อเข่าเราจะได้รับการบาดเจ็บก็ยังคงมีอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ เราก็สามารถดูแลตัวเอง และลดโอกาสเสี่ยงบาดเจ็บได้ ด้วยการฝึกร่างกาย ฝึกกล้ามเนื้อให้พร้อม รวมถึงสภาพจิตใจก็ต้องพร้อมด้วยเช่นกัน เพราะหากร่างกาย จิตใจ กล้ามเนื้อไม่พร้อม ความคล่องตัวในการเล่นกีฬาไม่ดี โอกาสที่จะถูกปะทะ เกิดอุบัติเหตุได้ก็มีสูงขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ในการเล่นกีฬา ก็ควรเล่นในพื้นที่ที่เหมาะสม ในสนามที่ได้มาตรฐาน ไม่ลื่น ไม่ขรุขระ เพราะสภาพสนามที่ไม่สมบูรณ์ จะเพิ่มความเสี่ยงให้ข้อเข่าเป็นอันตรายและได้รับบาดเจ็บได้

โรคข้อเข่าในกลุ่มนักกีฬาและคนเล่นกีฬา ถือเป็นสิ่งที่คนเล่นกีฬาทุกคนควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะได้สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวเข่าได้อย่างทันท่วงที โดยหากพบอาการผิดปกติ ก็ไม่ควรชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้ ไม่ควรฝืนเล่นกีฬาต่อไปทั้งที่มีอาการผิดปกติอยู่ เพราะอาจส่งผลเสียต่อข้อเข่าได้ ทำให้ต้องรักษาตัวยาวนาน และเสียโอกาสในการใช้ชีวิต ในการประกอบอาชีพกีฬาที่รัก ซึ่งเราจำเป็นต้องตระหนักไว้ด้วยเสมอว่า อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับข้อเข่านั้น สามารถเกิดร่วมกันได้หลาย ๆ โรค เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ร่วมกับหมอนรองข้อเข่าฉีกขาด หรืออาจมีกระดูกอ่อนแตกร่วมด้วย หากยิ่งปล่อยไว้ อาการบาดเจ็บก็จะยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น การปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้เรากลับมามีข้อเข่าที่แข็งแรง กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี เคลื่อนไหวข้อเข่าและทำกิจกรรมได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง

อังคาร, 15 ก.พ. 2022
แท็ก
กระดูกอ่อนเข่าบาดเจ็บ
ปวดหน้าข้อเข่า
ลูกสะบ้าหลวม
เอ็นไขว้หน้าฉีก
หมอนรองเข่าฉีก
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าจากอาการบาดเจ็บ เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด (ACL Injury) หรือโรคเกี่ยวกับข้อเข่าอื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 245,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
ผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ เพื่อรักษาอาการเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear), ข้อไหล่เสื่อม หรือโรคเกี่ยวกับข้อไหล่อื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 275,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนรักษาอย่างไร? เข้าใจสาเหตุ และอาการ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
top line

Login