ข้อเข่าเทียมมีกี่แบบ เลือกอย่างไร ให้เหมาะสมกับปัญหาข้อเข่าเสื่อม
การผ่าตัดข้อเข่าเทียม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา มีจุดประสงค์เพื่อลดความเจ็บปวดบริเวณข้อเข่าของคนไข้ ช่วยให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างดี ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด โดยหมอจะพิจารณาผ่าตัดข้อเข่าเทียมหลังจากที่การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม ที่มีตั้งแต่การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย เพื่อสร้างกล้ามเนื้อต้นขา รวมไปถึงการรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่สามารถทำให้คนไข้กลับมาใช้งานดีดังเดิมได้ ทั้งนี้การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม หรือแบบไม่ผ่าตัด ผลลัพธ์ที่ได้จะขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของคนไข้แต่ละคนเช่นกัน
บทความนี้จะพาไปดูว่าข้อเข่าเทียมนั้นมีกี่แบบ การผ่าแบบ TKA และ UKA คืออะไร เหมาะกับใคร ควรเลือกแบบไหนดี? ไปดูกันเลย
Table of Contents
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการที่กระดูกผิดรูป กระดูกอ่อนสึกหรอ และทำลาย ทำให้กลไกของข้อเข่าเสีย ไม่สามารถกระจายแรงที่รับน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระดูกข้อเข่าบางส่วนจึงต้องรับน้ำหนักเยอะกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมตามมาได้ คนไข้จะรู้สึกเจ็บบริเวณข้อเข่า และเกิดเสียงดังในข้อเข่าเมื่อยืนหรือนั่ง มักเกิดกับคนไข้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป รักษาได้ด้วยการลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย เพื่อสร้างกล้ามเนื้อต้นขา รวมไปถึงการรับประทานยาแก้ปวด แต่ถ้าหากไม่ดีขึ้น หมอจะแนะนำให้ผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม และการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ข้อเข่าเทียมทำมาจากอะไร
อุปกรณ์ข้อเข่าเทียม ทำมาจากวัสดุเดียวกันคือ โลหะอัลลอยด์ และแผ่นรอง Polyethylene ที่กั้นระหว่างโลหะ แต่จะมีดีไซน์ที่แตกต่างกัน โดยดีไซน์ของข้อเข่าเทียมมีกี่แบบ? ดังนี้
- ข้อเข่าเทียมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (TKA) จะเป็นแผ่นรองแบบเคลื่อนไหวไม่ได้
- ดีไซน์สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) จะมีทั้งแผ่นรองที่เคลื่อนไหวได้ และแผ่นรองแบบเคลื่อนไหวไม่ได้
ข้อเข่าเทียมมีกี่แบบ
ข้อเข่าเทียมมีกี่แบบ? สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเทียมมีด้วยกันทั้งหมด 2 แบบ โดยจะขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ต่างๆ ของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ผ่าตัด ดังนี้
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (TKA)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (TKA) คือกระบวนการผ่าตัดเพื่อเอาผิวข้อเข่าที่สึกหรอ หรือข้อเข่าที่เสื่อมออกไปทั้งหมด ทั้งส่วนด้านใน ด้านนอก และสะบ้า จากนั้นจะแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียม
ประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (TKA)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (TKA) เป็นการผ่าตัดข้อเข่าเทียมแบบพื้นฐาน แพทย์มักเลือกการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด เพราะช่วยลดโอกาสเกิดการผิดพลาดจากการผ่าตัดได้
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
เหมาะกับใคร
- ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้
- ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่ระยะกระดูกอ่อนสึกทั้งหมด หรือกระดูกชนกัน
การฟื้นฟูหลังผ่าตัด TKA
การฟื้นฟูหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (TKA) จะมีกระบวนการอักเสบเหลืออยู่ในร่างกายประมาณ 2 ปี คนไข้จะมีความรู้สึกเจ็บ ปวด และตึง ประมาณ 3-6 เดือนแรกหลังผ่าตัด เพราะปริมาณโลหะที่ใส่เข้าไปในร่างกายมีปริมาณมาก การขยับข้อไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้กล้ามเนื้อรู้สึกเจ็บและฟื้นตัวได้ช้าหลังการผ่าตัด จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ
อายุการใช้งาน
ข้อเข่าเทียมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (TKA) จะเป็นแผ่นรองแบบเคลื่อนไหวไม่ได้ มีการสึกของแผ่นรองตามการใช้ชีวิตของคนไข้ โดยทั่วไปจะมีโอกาสผ่าตัดซ้ำหากแผ่นรองสึกในอีก 15-20 ปี
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA)
สำหรับคนไข้ที่ข้อเข่าไม่ได้เสียทั้งหมด หมอแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) ซึ่งคือกระบวนการผ่าตัดเพื่อเอาข้อเข่าเฉพาะส่วนที่เสื่อมออก แล้วแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียม สามารถทำได้ทั้งข้อเข่าเทียมด้านใน ด้านนอก และสะบ้า
ประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA)
- เป็นการผ่าตัดที่ยังเก็บข้อเข่าส่วนที่สภาพดีเอาไว้เหมือนเดิม
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก
- หลังผ่าตัด กลไกการเคลื่อนไหวจะเป็นธรรมชาติ ใช้งานได้ดีหลังผ่าตัด
- ลดอาการข้างเคียงหลังผ่าตัด เช่นลดโอกาสติดเชื้อ กระดูกหัก ลดเส้นเลือดอุดตันที่ขา หัวใจ และสมอง
- ไม่ต้องกินยาหลังผ่าตัดเยอะ ลดผลข้างเคียงที่ได้จากยาแก้ปวด
เหมาะกับใคร
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) เหมาะกับคนไข้ข้อเข่าเสื่อมที่ข้อเข่าไม่ได้เสียทั้งหมด ไม่ว่าคนไข้อายุเท่าไรก็สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้เพื่อรักษาอาการกระดูกข้อเข่าเสื่อมได้
การฟื้นฟูหลังผ่าตัด UKA
เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) จะใส่โลหะเข้าไปในร่างกายในปริมาณที่น้อย และดีไซน์ที่ช่วยให้กลไลการเคลื่อนของข้อแทบจะเหมือนปกติ ทำให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวได้เร็ว คนไข้จะขยับตัวได้ดีขึ้น และฟื้นตัวได้ดี ในช่วงเวลาประมาณ 6 สัปดาห์
อายุการใช้งาน
ดีไซน์สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) จะเป็นแบบแผ่นรองที่เคลื่อนไหวได้ ช่วยลดการสึกได้ดี มีอายุการใช้งานประมาณ 50 ปี
ข้อควรรู้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ส่วนมากคนไข้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคความดัน และโรคเบาหวาน อาจจะพบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมร่วมด้วย จึงไม่มีปัญหาสำหรับการผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น โรคหัวใจ หรือโรคเส้นเลือดในหมอง หมอแนะนำให้เข้ามาปรึกษากับหมออายุรกรรมเพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงก่อน โดยปกติแล้วหากมีปัจจัยเสี่ยงน้อยหรือปานกลาง สามารถผ่าตัดได้เลย โดยเฉพาะการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) ที่จะมีอาการบาดเจ็บน้อย ลดผลข้างเคียง ช่วยให้การผ่าตัดปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งสองข้างพร้อมกันได้หรือไม่?
การผ่าตัดข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) 70% ของคนไข้ที่เมื่อทำหนึ่งข้างแล้ว ข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดก็ดีตามขึ้นไปด้วยเช่นกัน เพราะคนไข้ฟื้นตัวเร็ว กลับมาใช้งานข้างที่ผ่าตัดได้ไว ไม่ต้องลงน้ำหนักขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดนานจนข้อเข่าเสื่อมตามกันไป
สำหรับคนไข้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (TKA) การลงน้ำหนักขาข้างที่ผ่าตัดจะเจ็บกว่า ทำให้ต้องลงน้ำหนักในขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดเยอะ และมีความเสี่ยงอาการข้อเข่าเสื่อมในบริเวณขาอีกข้าง และมีโอกาสสูงที่จะต้องผ่าตัดอีกข้างได้
ทั้งนี้ คนไข้สามารถผ่าตัดข้อเข่าพร้อมกันทั้ง 2 ข้างได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ผู้ผ่าตัด และหลังผ่าตัดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง หากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) หมอจะแนะนำให้นอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการหลังผ่าตัดก่อน 1 วัน หลังจากนั้นก็กลับบ้านได้ตามปกติ
อาการแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
อาการหลังผ่าตัดโดยทั่วไป เช่น รู้สึกปวด ตึง หรือชาบริเวณข้อเข่า ที่จะค่อยๆ หายไปหลังจากการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง และวิธีการผ่าตัดด้วย
นอกจากนี้ อาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ในทุกการผ่าตัดอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม โดยมีโอกาสแผ่นรองหลุด 0.003% มีโอกาสติดเชื้อ 0.01% มีโอกาสกระดูกหัก 0.001% และโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจ หรือเส้นเลือดสมองอุดตัน น้อยมากๆ
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
รักษาข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัดได้ไหม
สามารถรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัดได้ โดยปกติแล้วจะรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อนพิจารณาผ่าตัด โดยมีตั้งแต่การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย เพื่อสร้างกล้ามเนื้อต้นขา รวมไปถึงการรับประทานยาแก้ปวด แต่เมื่อรักษาโดยวิธีเหล่านี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หมอจึงจะแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
สรุป
คนไข้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม รู้สึกเจ็บบริเวณข้อเข่า หลังจากเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดข้อเข่าเทียมเพื่อแทนที่ข้อเข่าที่สึกหรอ หรือข้อเข่าที่เสื่อม ด้วยตัวข้อเข่าเทียม คนไข้บางคนอาจจะยังมีคำถามว่า การผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีกี่แบบ? โดยการผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีทั้งหมด 2 แบบด้วยกันคือแบบทั้งหมด (TKA) และแบบบางส่วน (UKA) แต่ละแบบจะมีจุดเด่นและข้อดีที่แตกต่างกัน วิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เพื่อให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) เป็นการผ่าตัดที่ยาก แพทย์จึงจำเป็นต้องมีการฝึกและการเทรน ก่อนจะได้รับใบ Certificate ว่าสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) ได้ดี โดยที่ kdms Hospital มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) สามารถผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมการดูแลหลังผ่าตัด แนะนำแนวทางการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อการฟื้นตัวที่ดี รักษาอาการข้อเข่าเสื่อมให้กลับมาใช้งานได้เทียบเท่าปกติมากที่สุด
บทความโดย ศ.นพ.บุญชนะ พงษ์เจริญ ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม