โรคข้อเข่าเสื่อม มีวิธีรักษาอย่างไร ทำไมต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทาง
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้งานข้อเข่ามาอย่างหนักหรือมากเกินไป เช่น นักกีฬา หรือกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก การเสื่อมของข้อเข่าเกิดขึ้นได้เมื่อกระดูกอ่อนที่ปกป้องข้อเข่าสึกหรอ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด และข้อเข่าฝืด โรคข้อเข่าเสื่อมมีวิธีรักษาที่หลากหลาย ทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัด ทั้งนี้ การรักษาเข่าเสื่อมกับแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม และเหตุผลที่ควรรักษากับแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ ไปดูกันเลย
Table of Contents
Toggleโรคข้อเข่าเสื่อม รักษาหายได้ด้วยตนเองไหม
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายได้ด้วยตนเอง เป็นไปได้ในบางกรณี โดยเฉพาะในช่วงเริ่มแรกของโรค ที่ข้อยังเสื่อมไม่มากนัก มีอาการปวด และข้อเข่าฝืดไม่มาก
ผู้ป่วยสามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายได้ด้วยตนเองด้วยการลดน้ำหนัก ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าอย่างสม่ำเสมอ และการปรับการใช้งานเข่าให้ถูกวิธีขึ้น วิธีเหล่านี้จะช่วยลดอาการ และชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้ อย่างไรก็ตามหากอาการข้อเข่าเสื่อมมาก หรือรักษาด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
วินิจฉัยอาการข้อเข่าเสื่อมได้อย่างไร
วิธีการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อประกอบการรักษา ทำได้โดยการตรวจร่างกายและการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการที่ผู้ป่วยรายงานและผลจากการตรวจเหล่านี้เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสม โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ประวัติอาการและการตรวจร่างกาย แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วย ซักถามอาการหรือปัญหาขณะใช้งานข้อเข่าในชีวิตประจำวัน ตรวจประเมินอาการปวด บวม โดยจะตรวจหาตำแหน่งที่มีความเจ็บปวดมากที่สุด ประเมินความโก่งงอของขา และตรวจการเคลื่อนไหวของข้อเข่า
- การถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray) เป็นวิธีการตรวจตรวจหลัก และเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งภาพเอกซเรย์สามารถแสดงการเปลี่ยนแปลงของกระดูกและกระดูกอ่อนในโรคข้อเข่าเสื่อมได้ เช่น เห็นการแคบลงของช่องว่างระหว่างข้อกระดูก ซึ่งแสดงว่ากระดูกอ่อนผิวข้อในส่วนนั้นบางหรือสึกหรอลงไป หรือในข้อเข่าที่เสื่อมระดับมากขึ้นจะเห็นการเพิ่มขึ้นของกระดูกงอกด้านข้างข้อ (osteophytes) เพิ่มมากขึ้น
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ไม่ได้เป็นวิธีแรกหรือการหลักในการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่ให้ภาพที่ละเอียดของส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆข้อเข่า (ส่วนที่ไม่ใช่เนื้อกระดูก) MRI ช่วยให้เห็นการบาดเจ็บของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกข้อเข่า และรายละเอียดของการสึกหรอของกระดูกอ่อนในคนไข้ที่เป็นระยะแรกของข้อเข่าเสื่อม หรือมีอาการไม่มากนัก ซึ่งภาพเอกซเรย์ธรรมดาจะยังไม่เห็นความผิดปกติที่ชัดเจน
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในผู้ป่วยบางรายที่มีข้ออักเสบมาก การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด จะช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยแยกโรค เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อได้
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
โรคข้อเข่าเสื่อม วิธีรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด
โรคข้อเข่าเสื่อม มีวิธีรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดได้หลากหลายกรณี โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกหรือในกรณีที่อาการไม่รุนแรงมาก การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดมีหลายวิธี ดังนี้
1. รักษาด้วยการลดน้ำหนัก
การลดน้ำหนักเป็นวิธีที่สำคัญในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายได้ด้วยตนเอง เพราะน้ำหนักที่เกินจะเพิ่มแรงกดบนข้อเข่า ทำให้กระดูกอ่อนข้อเข่าสึกหรอเร็วขึ้น การลดน้ำหนักจึงช่วยลดแรงกดและลดอาการปวดได้ คำแนะนำคือลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 5 พบว่าจะเริ่มทำให้อาการปวดข้อเข่าดีขึ้นได้ชัดเจน
2. รักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัดอีกหนึ่งวิธี คือการใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล และยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของข้อเข่าได้ดีในระยะแรก ซึ่งควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาในขนาดที่สูงเกินไป หรือใช้ยาเป็นเวลานานเกินจำเป็น อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงกับร่างกายได้
3. รักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์
การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเข่า เป็นวิธีรักษาข้อเข่าเสื่อมที่ใช้ลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง แต่ไม่ควรใช้บ่อยเกินไปเนื่องจากการใช้สเตียรอยด์มีผลข้างเคียงที่ต่อกระดูกอ่อนในส่วนที่ยังดีอยู่ ทำให้คุณภาพลดลง เกิดการบาดเจ็บสึกหรอได้ง่ายขึ้น
4. รักษาด้วยการฉีดสารน้ำเลี้ยงไขข้อสังเคราะห์ (HA)
สารน้ำเลี้ยงไขข้อ คือสารสังเคราะห์กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) มีคุณสมบัติการเพิ่มความหล่อลื่นในข้อเข่า ช่วยลดการเสียดสีและลดการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ การฉีดสารน้ำเลี้ยงไขข้อเหมาะสำหรับรักษาข้อเข่าเสื่อมระดับปานกลาง หรือผู้ที่ยังไม่ต้องการการผ่าตัด ระยะเวลาในการช่วยลดอาการปวดข้อจะสั้นหรือยาวขึ้นกับระดับความเสื่อมของข้อเข่าและระดับการอักเสบในข้อ
5. รักษาด้วยการฉีดพลาสม่าเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP)
การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet-Rich Plasma หรือ PRP) เป็นการสกัดแยกเลือดของผู้ป่วย ให้ได้ส่วนของเหลว (Plasma) ซึ่งอุดมไปด้วยเกล็ดเลือดและสารโปรตีน Growth Factors มาฉีดกลับเข้าข้อเข่าของผู้ป่วยเอง PRP มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ใหม่และการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บหรือเสียหายอยู่ ลดการอักเสบ และช่วยลดอาการปวดได้ วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนี้เป็นที่นิยม และได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง
6. รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด
กายทำภาพบำบัด ได้แก่ การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า การยืดกล้ามเนื้อ และการใช้เครื่องมือช่วยบำบัด เช่น shock wave, ultrasound หรือเครื่อง PMS ช่วยเพิ่มลดการอักเสบ ลดอาการปวดและเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อเข่า ช่วยให้การใช้งานข้อเข่าดีขึ้นได้
7. รักษาด้วยการใช้อุปกรณ์พยุงเข่า
การใช้อุปกรณ์พยุงเข่า เช่น สายรัดเข่า หรืออุปกรณ์พยุงข้อเข่า ช่วยลดแรงกดและเสียดสีบนข้อเข่า ลดอาการปวดและเพิ่มความมั่นคงในการเดิน ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เนื่องจากการใช้อุปกรณ์พยุงข้อเข่าที่นานเกินไป จะส่งผลให้กล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแอลดลงได้
โรคข้อเข่าเสื่อม วิธีรักษาแบบผ่าตัด
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยวิธีการผ่าตัดเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ คือการนำส่วนของผิวข้อเข่าที่สึกหรอ เสียหายออก และใส่วัสดุข้อเทียมเข้ามาแทนที่ เป็นการรักษาสำหรับผู้ที่มีความเสื่อมและอาการอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับสูง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Partial Knee Replacement)
วิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการเสื่อมของข้อเข่าเฉพาะซีกในของข้อเข่า วิธีนี้จะนำเฉพาะส่วนที่เสื่อมออกและแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมบางส่วน การผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดที่เก็บกระดูกอ่อนส่วนที่ยังคงดีอยู่ไว้ได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนเกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อจากการผ่าตัดน้อย เจ็บปวดน้อย และมีระยะเวลาการฟื้นตัวที่สั้นกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total Knee Replacement)
วิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมดเป็นวิธีการที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมที่ข้อเสื่อมมาก การผ่าตัดนี้จะนำกระดูกผิวข้อเข่าออกทั้งหมด และแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียม วิธีนี้ช่วยลดอาการปวดและเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมระดับมากให้ดีขึ้นได้มากกว่าวิธีการรักษาแบบอื่นๆ
หลังจากรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นอีกไหม
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยวิธีไม่ผ่าตัด เป็นการรักษาการอักเสบและความปวดจากข้อที่สึกหรอเท่านั้น ไม่ได้ทำให้กระดูกอ่อนส่วนที่เสียหายแล้วหนาตัวกลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้นผู้ป่วยจะมีโอกาสที่การอักเสบและความปวดจะกลับมาเป็นอีกได้ โดยเฉพาะถ้ายังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ เช่น น้ำหนักตัวเกิน หรือการใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยลดโอกาสในการกลับมามีอาการซ้ำให้ลดลงได้
วิธีเตรียมตัวก่อนผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
- รับคำแนะนำจากแพทย์และตรวจสุขภาพก่อนผ่าตัด เพื่อประเมินความเสี่ยงและเตรียมความพร้อม
- เตรียมบ้านและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการพักฟื้นหลังผ่าตัด เช่น การจัดที่นั่งและที่นอนให้สะดวกสบาย
- หยุดรับประทานยาบางชนิดตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- งดอาหารและน้ำตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนวันผ่าตัด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการวางยาสลบ
วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
- ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของข้อเข่า
- หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าอย่างหนักในช่วง 1 เดือนแรกหลังจากผ่าตัด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาและดูแลแผลผ่าตัด รักษาความสะอาดของแผลไม่ให้แผลถูกน้ำในช่วง 2 สัปดาห์แรก
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
ผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ kdms Hospital ดีอย่างไร
โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ kdms Hospital มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการรักษาข้อเข่าและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเทียมซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด การวางตำแหน่งข้อเทียม และลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อเข่าขณะผ่าตัดได้เป็นอย่างมาก และการรักษาที่นี่จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมผู้รักษา ทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ และความชำนาญเฉพาะทางในการดูแลคนไข้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูง ได้ผลลัพธ์จากการผ่าตัดที่ดี และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
สรุป
โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาได้ด้วยหลายวิธี ทั้งการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดและการผ่าตัด การรักษากับแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ จะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้ข้อเข่าของคุณมีสุขภาพดีและลดโอกาสในการกลับเป็นซ้ำอีก เมื่อจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ที่ โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข kdms Hospital มีที่แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีขั้นสูง ความชำนาญเฉพาะทางของทีมผู้ดูแลรักษา และคอยให้คำแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนและหลังผ่าตัด ช่วยให้การรักษาได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม (FAQs)
นอกจากเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในบทความแล้ว บทความนี้ยังได้รวบรวมเอาคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำตอบมาไขข้อข้องใจเพิ่มเติมแล้ว ไปดูกัน
1. โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาหายขาดได้หรือไม่?
โรคข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการและชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้ด้วยการรักษาที่เหมาะสม
2. การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ต้องผ่าตัดมีประสิทธิภาพแค่ไหน?
การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดสามารถบรรเทาอาการและชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้ในระยะเริ่มแรกหรือในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
3. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีความเสี่ยงอยู่เหมือนกับทุกๆ การผ่าตัด แต่อยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่น การติดเชื้อ การเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันที่ขาและปอด เป็นต้น
4. การฉีด PRP ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดีแค่ไหน?
การฉีด PRP ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและลดอาการปวดได้ดีมากในผู้ป่วยบางราย แต่ผลการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ในผู้ที่ข้อเสื่อมมาก ขาโก่งผิดรูป การฉีดยาหรือสารต่างๆจะได้ผลการรักษาที่ไม่ดี หรือ อาจจะได้ผลในระยะเวลาสั้นๆ โดยปกติจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่อายุไม่มาก ข้อเสื่อมระยะเริ่มต้น อาการไม่รุนแรงมาก หรือกระดูกอ่อนเสียหายจากการบาดเจ็บในระเวลาที่ไม่นานเกินไป
5. ควรทำกายภาพบำบัดอย่างไรหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม?
การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมควรทำตามคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ลดอาการปวดและเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว ปกติแล้วการทำกายภาพหลังผ่าตัดเพื่อฟื้นคืนสมรรถภาพร่างกายควรจะทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอในช่วง 3 เดือนแรกหลังผ่าตัด ซึ่งกล้ามเนื้อยังสามารถพัฒนาเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นได้ดีอยู่
บทความโดย : นพ.ณพล สินธุวนิช ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม