เข่าเสื่อมไม่ผ่าตัดรักษา เลือกทานยา อาจส่งผลข้างเคียงในอนาคต

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีภาวะโรคข้อเข่าเสื่อม มักไม่ค่อยยอมรับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะรู้สึกกลัวหรือกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัดหรือกังวลต่อค่าใช้จ่ายสำหรับการผ่าตัด จึงอดทนต่อความเจ็บปวดและเลือกการกินยาแก้ปวดไปเรื่อย ๆ ให้นานที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากอาการเข่าเสื่อมรุนแรงมากขึ้น การเลือกรับประทานยาต่อไปในระยะยาวนาน ๆ อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกาย เกิดผลข้างเคียงต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจจะทำให้ค่ารักษาตัวจากผลข้างเคียงของยา รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆได้

ด้วยเหตุนี้เองการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อรักษาอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงเป็นแนวทางการรักษาที่แก้ไขปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมปานกลางถึงรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้งานข้อเข่า ยืน เดิน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างดีมากขึ้นอีกด้วย

ทานยารักษาข้อเข่าเสื่อมไปนาน ๆ ร่างกายเสี่ยงทุกข์ทรมานไม่รู้ตัว

ยาสำหรับกลุ่มที่ใช้ในการรักษาข้อเข่าเสื่อม ไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุ แต่เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ คือใช้ยาเพื่อ “รักษาอาการปวดอักเสบ” เท่านั้น เพราะเวลาที่ข้อเข่าเสื่อม จะเกิดอาการปวดอักเสบขึ้นได้ จากการที่กระดูกอ่อนที่ผิวข้อสึกหรอ พอมีการเคลื่อนที่ก็จะเกิดการเสียดสีของผิวกระดูกอ่อน ทำให้มีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น เนื้อเยื่อรอบเข่าอักเสบ และเกิดเป็นอาการปวดตามมาในที่สุด

ดังนั้น ยาที่รับประทานเข้าไปจึงไม่ได้ช่วยรักษาเปลี่ยนแปลงสภาพข้อเข่าให้หายเสื่อม แต่เป็นเพียงแค่ “รักษาความเจ็บปวดจากความเสื่อม” เท่านั้น ซึ่งหากรับประทานยาแก้ปวดอักเสบนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ก็จะความเสี่ยงต่อร่างกาย เช่น อาจส่งผลทำให้การทำงานของไตแย่ลง ทำให้เสี่ยงไตเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ หรือ อาจทำให้เกิดอาการแสบท้อง ปวดท้อง ระบบทางเดินอาหารถูกรบกวน จนถึงขั้นมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ เป็นต้น

ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมอาจคุ้มค่ามากกว่าการรักษาด้วยการทานยาไปเรื่อย ๆ

ในมุมของด้านงบประมาณค่ารักษา หลายคนอาจมองว่าการผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า แต่ในความเป็นจริงของโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น หากอาการรุนแรงถึงขั้นอยู่ในจุดที่ “ไม่สามารถหยุดทานยาได้” ผู้ป่วยต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการตลอดชีวิต หากหยุดยาก็ปวด ค่าใช้จ่ายสำหรับยาที่ต้องใช้ก็อาจสูงพอ ๆ กันกับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

แต่ที่สำคัญเลยก็คือ หากการรับประทานยาส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายรุนแรง เช่น ทำให้มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ต้องรักษาด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร หรือทำให้ไตเสื่อม มีอาการไตวาย ฯลฯ งบประมาณที่ต้องใช้ในการรักษาผลข้างเคียงจากการทานยานั้นคือสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ และควบคุมไม่ได้ด้วย ซึ่งผลเสียต่อร่างกายนั้นก็มีได้หลากหลายรูปแบบ

ดังนั้น การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม จึงอาจคุ้มค่ามากกว่าการรักษาด้วยการทานยา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรงแล้ว ซึ่งในแนวทางปฏิบัติของการรักษา ผู้ป่วยทุกคนก็จะได้รับการดูแลรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดก่อน หรือรักษาไปตามอาการความรุนแรงของโรค โดยเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่า เช่น นั่งยอง ยกของหนัก ขึ้นลงบันไดมาก ๆ ร่วมกับการทานยา ประคบอุ่น ทำกายภาพบำบัด ฯลฯ แต่เมื่ออาการพัฒนารุนแรงขึ้นจนการรักษาอื่น ๆ ไม่ตอบโจทย์ได้แล้ว การผ่าตัดก็เป็นทางออกที่ควรพิจารณาในการเลือกรักษา เพื่อให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พบอาการรุนแรงเหล่านี้ ควรรักษาด้วยวิธีผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

เนื่องด้วยกระบวนการรักษาข้อเข่าเสื่อมนั้น แพทย์จะเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับระดับอาการความรุนแรงที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ ดังนั้น หากจะตัดสินใจว่า ควรผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดดี? เราอาจประเมินได้จากอาการเป็นสำคัญ โดยหากพบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม คือทางออกที่ตอบโจทย์ที่ไม่ควรมองข้าม

ปวดเข่ารุนแรง

หากมีอาการปวดเข่ารุนแรง จนถึงขั้นต้องรับประทานยาแก้ปวดในปริมาณมาก ต้องรับประทานยาบ่อย ต่อเนื่อง หยุดยาไม่ได้ หยุดยาแล้วก็ปวด ต้องใช้ยาแก้ปวดควบคุมอาการเป็นประจำ สถานการณ์เหล่านี้กำลังบอกเราว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่า เพื่อเรียกคืนชีวิตปกติกลับคืน และไม่ฝืนทานยาต่อไปจนเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงในอนาคต

พบอาการผิดรูปของข้อเข่า

เวลาที่ข้อเข่าเสื่อม ช่องข้อด้านในหรือด้านนอกจะแคบลง และมีกระดูกงอกขึ้นรอบ ๆ ผิวข้อ จนทำให้เกิดความผิดรูปขึ้นได้ เช่น ขาโก่ง จนงอ เหยียดได้ไม่สุด หรือมีอาการเข่าติดขัด ซึ่งอาการเหล่านี้ จะไม่สามารถแก้ไขรักษาได้ด้วยการรับประทานยา จำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดรักษาเท่านั้น

เข่าผิดรูป ปวดรุนแรง จนใช้ชีวิตลำบาก

หากอาการปวด และเข่าผิดรูปที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย กล่าวคือมีลูกหลานช่วยดูแล ไม่ต้องออกไปไหนมาไหนเอง ทำธุระเอง ความจำเป็นในการผ่าตัดก็อาจจะยังเลื่อนไปก่อนได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่อาการปวดและเข่าผิดรูปรบกวนชีวิต ทำให้ไม่สามารถเดิน เคลื่อนไหว ทำกิจกรรมได้อย่างสะดวก และไม่มีใครคอยดูแล การเลือกพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ถือเป็นทางออกที่ดี ที่จะช่วยทำให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขได้อีกครั้ง

ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เมื่อคิดผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

ในการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดข้อเข่า หรือผ่าตัดอื่น ๆ ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทความเสี่ยงด้วยกัน คือ ความเสี่ยงจากร่างกายคนไข้ อันได้แก่ โรคประจำตัวที่อาจทำให้การผ่าตัดเกิดผลข้างเคียงได้ และความเสี่ยงจากการผ่าตัด ในกรณีของการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ก็เช่น การปริฉีกขาดของเส้นเอ็น การบาดเจ็บของเส้นประสาท และ เส้นเลือดรอบ ๆ กระดูก และ ข้อ เป็นต้น

แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และความเชี่ยวชาญ รวมถึงประสบการณ์ของแพทย์ จึงทำให้สามารถลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดลงได้มาก ในส่วนของความเสี่ยงจากร่างกายคนไข้นั้น เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อมไม่ได้เป็นการผ่าตัดเร่งด่วน แพทย์จึงวางแผนตรวจร่างกายคนไข้ให้พร้อมกับการผ่าตัดได้ โดยหากพบว่าร่างกายยังไม่พร้อม ก็สามารถรอ หรือรักษาอาการป่วยอื่น ๆ จนร่างกายของคนไข้พร้อม แล้วค่อยนัดหมายวันผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้ ด้วยเหตุนี้เอง ในปัจจุบัน การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด มีความปลอดภัย และมีโอกาสสำเร็จสูง ทำให้คนไข้กลับมามีเข่าที่แข็งแรง ไม่เจ็บปวด และใช้งานได้อย่างปกติมีความสุขได้อีกครั้งหลังผ่าตัด

ความเสื่อมของเข่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่จะค่อย ๆ เสื่อมไปตามกาลเวลา การรักษาด้วยการทานยา จะช่วยเพียงแค่ชะลออาการที่เกิดจากความเสื่อมได้เท่านั้น ดังนั้น หากอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรงถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้ความเจ็บปวดจากเข่าที่มีปัญหา มาลดทอนคุณภาพความสุขในการใช้ชีวิตของเราลง ทำให้เราเสียโอกาสในการใช้เข่า เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตมีความสุข ซึ่งการเลือกรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ถือเป็นทางออกที่ดีและตอบโจทย์ ที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถช่วยให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จได้โดยไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลาย ๆ คนคิด

บทความโดย นพ.ณพล สินธุวนิช ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม

พฤหัส, 09 ธ.ค. 2021
แท็ก
เข่าเสื่อม
รักษาเข่าเสื่อม
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ
เข่าเสื่อมไม่ผ่าตัด
เข่าเสื่อมกินยา

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดเต็มข้อ 1 ข้าง โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด MAKO โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าเเละข้อสะโพกเทียม  ...
package 330,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด MAKO เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าเเละข้อสะโพกเทียม...
package 379,500* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนรักษาอย่างไร? เข้าใจสาเหตุ และอาการ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
top line

Login