ปวดหลังส่วนล่าง ภัยร้ายวัยทำงาน ที่ต้องระวัง
อาการปวดหลัง เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งอาการปวดหลังส่วนล่างจะพบได้บ่อยกว่าตำแหน่งอื่นๆ โดยจะปวดตั้งแต่บริเวณเอวลงไปจนถึงสะโพก ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวลงขาร่วมด้วย
กลุ่มที่พบได้มาก คือ คนที่อยู่ในท่าเดิมๆ ไม่ค่อยได้ลุกไปไหน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องมีการนั่งทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงต่อวัน หากเริ่มมีอาการควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ ก่อนที่อาการปวดจะลุกลามจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บทความนี้ได้รวบรวมเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคปวดหลังล่างมาให้อ่านกัน เพื่อที่จะได้รับมือได้อย่างถูกต้อง
Table of Contents
Toggleสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดหลังส่วนล่าง
ปวดหลังส่วนล่างเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดมักเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหลังถูกใช้งานมากเกินไป หรือกล้ามเนื้อหลังบาดเจ็บ ซึ่งมักจะพบในกลุ่มที่มีการใช้งานในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งทำงานทั้งวัน ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย หรือลุกไปไหน ซึ่งทำให้ชปวดหลังส่วนล่างได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกด้วย ดังนี้
- การยกของหนัก สำหรับกลุ่มคนที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง อันเนื่องมาจากน้ำหนักของที่ยกอาจจะมากเกินไป หรือการใช้ท่าทางในการยกของที่ผิด ดังนั้น ควรจะต้องยกของให้ถูกท่า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการใช้งาน
- กระดูกสันหลังเสื่อม พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะหมอนรองกระดูกสันหลังและข้อต่อจะมีการเสื่อมสภาพลงตามอายุ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ แต่ถ้ามีการกดเบียดทับเส้นประสาทในช่องโพรงกระดูกสันหลังร่วมด้วย หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “กระดูกทับเส้น” ก็จะมีอาการปวดหลังล่างร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงขา ชาหรืออ่อนแรงได้
- โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท มักพบในช่วงวัยทำงาน จะมีอาการปวดหลังล่างร่วมกับปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง ร่วมกับมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วยได้
- อุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็น พลัดตกหกล้ม การตกจากที่สูง อุบัติเหตุจราจร รวมถึง กลุ่มที่เกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาจทำให้เกิดปัญหากระดูกหัก หรือมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และทำให้ปวดหลังส่วนล่างได้
- เนื้องอก สำหรับอาการปวดหลังล่างที่เกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งลามไปที่หลัง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลังที่ผิดปกติ โดยที่จะมีอาการปวดค่อนข้างมาก กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น เช่น ปวดจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเคยมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อน
- ติดเชื้อ เมื่อกระดูกหรือข้อต่อเกิดการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดและมีไข้ แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยมากๆ
อาการที่อาจพบได้เมื่อปวดหลังส่วนล่าง
อาการปวดหลังล่าง ถ้าสาเหตุเกิดจากตัวกล้ามเนื้อหรือข้อต่อกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณหลัง และในบางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวมาที่สะโพกร่วมด้วยได้ แต่ถ้าตัวโรคที่เป็นมีการไปกดเบียดทับเส้นประสาทในโพรงกระดูกสันหลัง เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท หรือโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท นอกจากจะมีอาการปวดหลังล่างแล้ว ก็จะมีอาการปวดร้าวลงขา ชาหรืออ่อนแรงเวลายืนเดินได้ ตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของโรค
รักษาและฟื้นฟูอาการปวดหลังส่วนล่างโดยไม่ผ่าตัด
เมื่อปวดหลังส่วนล่าง ถ้าอาการนั้นรุนแรงหรือเป็นเรื้อรัง ควรเข้าไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค และทำการรักษาต่อไป ซึ่งวิธีการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างจะขึ้นอยู่กับตัวโรคที่เป็น โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำทางเลือกที่เหมาะสมกับอาการและข้อจำกัดของคนไข้แต่ละคน เพื่อให้ได้การรักษาที่ตรงจุด สำหรับวิธีการรักษาก็จะมีตั้งแต่การใช้ยา และการรักษาโดยเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ยา
การใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการปวด ยาลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาลดความปวดเส้นประสาท จะถูกจัดให้ตามความเหมาะสม และตามโรคที่คนไข้เป็น แพทย์จะเป็นผู้กำหนดให้เหมาะสมกับตัวโรค และข้อควรระวังในการใช้ยา แต่หากรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการปวดหลังส่วนล่างยังไม่ดีขึ้น ก็จะต้องเพิ่มการรักษาโดยการกายภาพบำบัด หรือทำการรักษาควบคู่กันไป
เวชศาสตร์ฟื้นฟู
เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นสาขาทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นการดูแลรักษา แก้ไขความเจ็บปวด ฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรง ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกมากขึ้น สำหรับผู้ที่ปวดหลังส่วนล่าง แพทย์อาจเพิ่มการรักษาโดยเวชศาสตร์ฟิ้นฟูแบบต่างๆ ที่จะออกแบบโปรแกรมให้กับผู้ป่วยแต่ละคนโดยเฉพาะ ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกันดังนี้
- การประคบแผ่นร้อน
- การใช้อัลตราซาวนด์ลดปวด
- การใช้เลเซอร์
- การช็อกเวฟ เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด
- การใช้เครื่องเรดคอร์ด (Red Cod) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย ปรับท่าทางให้ถูกต้อง ช่วยในการยืดเหยียด และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง
- การใช้เครื่อง Huber 360 เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถออกแบบให้เหมาะกับกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหาได้ เช่น เพิ่มความแข็งแรงเฉพาะส่วนหลังล่าง หรือจะเลือกโปรแกรมให้เหมาะสมกับการใช้งานตามประเภทกีฬาได้
- การใช้ธาราบำบัด เป็นการออกกำลังกาย และฟื้นฟูร่างกายที่ไม่ลงน้ำหนักที่หลังมากเกินไป โดยจะมีโปรแกรมให้คนไข้ออกกำลังกายในน้ำ พร้อมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ
รักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง ด้วยการผ่าตัด
การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาขั้นสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำ เมื่อการรักษารูปแบบอื่นๆ ไม่ได้ผล และเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท เป็นต้น
ปวดหลังส่วนล่างป้องกันได้ เพียงดูแลตัวเองให้เพียงพอ
ปัญหาปวดหลังส่วนล่างเป็นเรื่องที่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น จึงเป็นโรคที่สามารถลดความเสี่ยงและป้องกันได้ เพียงแค่ต้องมีการดูแลตัวเองให้เป็นอย่างดี และเหมาะสม ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก
- ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อหลังและแกนกลางลำตัวแข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ เช่น การยกของหนักมากๆ
- ไม่อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ หากต้องนั่งทำงานทั้งวันควรเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถทุกๆ 1 ชั่วโมง
สรุป
ปวดหลังส่วนล่างเป็นอาการปวดหลังตั้งแต่ตำแหน่งชายโครงไปจนถึงส่วนล่างของแก้มก้น ซึ่งปวดหลังส่วนล่างเกิดจากสาเหตุหลายอย่างตั้งแต่การใช้งานที่มากเกินไปและไม่เหมาะสม การเสื่อมของกระดูก อุบัติเหตุ และสาเหตุอื่นๆ ในบางรายอาจจะมีอาการปวดหลังส่วนล่างจนร้าวลงขาร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่ามีการกดทับเส้นประสาทที่หลังร่วมด้วย สำหรับวิธีการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างมีตั้งแต่การรักษาแบบไม่ผ่าตัด และการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์