ตอบทุกข้อสงสัย! ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาอย่างไร?

กล้ามเนื้ออักเสบ รักษา

เคยเป็นไหมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ จนบางครั้งจะใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณที่นำไปสู่การเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ หากปล่อยไว้นานไปก็อาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะมาแนะนำและไขคำตอบทุกข้อสงสัยว่าอาการกล้ามเนื้ออักเสบคืออะไร พร้อมแนวทางการรักษากล้ามเนื้ออักเสบที่ควรรู้ให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

Table of Contents

กล้ามเนื้ออักเสบคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

กล้ามเนื้ออักเสบ คือ อาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ โดยอาจเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ หรือเกิดได้จากอาการเจ็บป่วยหรือภาวะผิดปกติ ที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นก็ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือโรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อร่างกาย เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่รู้จักกันในนาม โรค SLE โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ฯลฯ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุหรือปัจจัยต่างๆ ดังนี้

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ หรือที่รู้จักกันในชื่อของโรค Myotisis ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อจากโรคนี้ โดยโรคกล้ามเนื้ออักเสบ อาจเกิดจากการอักเสบขึ้นเองของร่างกาย เกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยาบางชนิด หรือ เกิดตามหลังการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเองก็ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อหรือมัดกล้ามเนื้อนั้นๆ ที่อักเสบ ทำให้มีอาการปวดขณะเคลื่อนไหว หรือ กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อดังกล่าว ตลอดจนทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ได้  

ภาวะกล้ามเนื้อฉีกขาด

ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ พบบ่อยหลังเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่า Muscle Strain ซึ่งการอักเสบถือเป็นกระบวนการปกติของการซ่อมแซมในร่างกาย การบาดเจ็บดังกล่าวอาจเกิดจากการบาดเจ็บโดยตรง เช่น โดนกระแทก โดนบีบรัด หรือ การบาดเจ็บทางอ้อม เช่น การกระชากของเนื้อเยื่อจากการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วจากกริจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย 

นอกจากนั้นการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการบาดเจ็บซ้ำๆ จากการใช้งานร่างกายส่วนนั้นซ้ำๆ ทำให้เกิดการบาดเจ็บน้อยๆ สะสมอย่างต่อเนื่อง (Repetitive Microtrauma) ได้

ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบมีหินปูนจับ

ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบมีหินปูนจับ (Myositis Ossificans) เป็นภาวะที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อและกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสะสมของหินปูนที่ผิดปกติในกล้ามเนื้อเอง มักเกิดหลังจากการบาดเจ็บที่รุนแรงของกล้ามเนื้อ หรือในผู้ป่วยบางคนอาจเกิดจากการสร้างหินปูนที่ผิดปกติของสมอง ดังพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือผู้ป่วยที่เกิดตามหลังการบาดเจ็บทางสมองได้เช่นกัน 

ภาวะดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อเสียคุณสมบัติในการหดคลายตัวและเสียความยืดหยุ่นไป อาจทำให้เกิดก้อนหินปูนในกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาอาการปวดจากการอักเสบ ใช้งานกล้ามเนื้อที่เกิดโรคได้ไม่เต็มที่ หรือคลำได้ก้อนในลำกล้ามเนื้อก็ได้

อาการกล้ามเนื้ออักเสบมีอะไรบ้าง

อาการกล้ามเนื้ออักเสบมีอะไรบ้าง

ถึงแม้ว่าอาการกล้ามเนื้ออักเสบจะพบได้ในกลุ่มคนทุกช่วงอายุทุกเพศ หรือในกลุ่มผู้สูงอายุที่ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อเสียไป รวมถึง มวลกล้ามเนื้อที่ลดลง อาจเพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อได้ โดยอาการของกล้ามเนื้ออักเสบ มีดังนี้

  • ปวดตามรยางค์หรือมัดกล้ามเนื้อนั้นๆ โดยเฉพาะบริเวณจุดที่มีการใช้งานหรือเคลื่อนไหวเป็นประจำ ได้แก่ กล้ามเนื้อน่อง หรือต้นขาที่ใช้ในการเดิน กล้ามเนื้อแขนที่ใช้ในการขยับข้อมือ หรือ กล้ามเนื้อหลังที่ใช้ในการพยุงลำตัวขณะดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น
  • มีการจำกัดการเคลื่อนไหว หรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่อักเสบ หรือเกิดอาการล้าของกล้ามเนื้อบริเวณที่มีพยาธิสภาพได้ง่ายกว่าปกติ
  • หากมีการอักเสบมากขึ้น อาจพบอาการบวม แดง หรือร้อน ร่วมด้วยกับอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยหากมีอาการ บวม แดง หรือ ร้อน นับเป็นอาการที่ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อบริเวณนั้นได้

เช็กให้ชัวร์! อาการแบบนี้ ใช่โรคกล้ามเนื้ออักเสบหรือไม่?

ถึงแม้ว่าการเป็นกล้ามเนื้ออักเสบจะส่งผลให้ร่างกายเกิดความเจ็บ ปวด และมีอาการอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าอาการต่างๆ เหล่านี้ใช่โรคกล้ามเนื้ออักเสบจริงหรือไม่ สามารตรวจด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

การตรวจร่างกายทั่วไป

การตรวจร่างกายทั่วไป

การตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเบื้องต้น หากสงสัยว่าเป็นภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ ร่วมกับอาการไม่รุนแรง และไม่เหมือนการอักเสบจากการติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยารับประทานและติดตามอาการต่อเนื่อง

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดเป็นการช่วยตรวจสอบว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกาย หรือกล้ามเนื้อได้ทางอ้อม ทำโดยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน ด้วยการให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทำการเจาะเส้นเลือดดำและนำไปตรวจผลทางห้องปฏิบัติการ โดยนิยม

  • ตรวจนับเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกาย
  • ตรวจค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อ Creatine Phosphokinase (CPK) ซึ่งตรวจพบสูงขึ้นในภาวะที่มีการสลายของกล้ามเนื้อ
  • ตรวจค่าการอักเสบ Erythrocyte Sediment Rate (ESR) เพื่อดูการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงที่พบสูงขึ้นในกรณีที่มีการอักเสบของร่างกาย
  • ส่งตรวจโปรตีน C-reactive Protein (CRP) เพื่อยืนยันการอักเสบ การติดเชื้อหรือการทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย
  • อาจพิจารณาส่งเลือดไปเพาะเชื้อ (Blood Culture) เพิ่มเติมในกรณีสงสัยการติดเชื้อ
  • หรืออาจตรวจเลือดในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกัน ได้แก่ Antinuclear Antibody (ANA), Rheumatoid Factor (RF), Anti-cyclic Citrullinated Peptides (Anti-CCP), หรือ HLA-B27 เพิ่มเติม ในกรณีที่สงสัยกล้ามเนื้ออักเสบจากโรคทางภูมิคุ้มกัน อาทิเช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี/ลูปัส

การทำ EMG

ในบางกรณี โรคหรือภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ อาจใช้การตรวจ Electromyography (EMG) โดยการใช้เข็มเล็กๆจิ้มผ่านผิวหนัง เพื่อทดสอบการหดตัวและการตอบสนองของกล้ามเนื้อว่ามีการทำงานผิดปกติหรือไม่ ตรวจดูการทำงานของระบบเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งการตรวจ EMG นี้ จะทำการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

การตรวจรังสีวินิจฉัย X-ray

การตรวจรังสีวินิจฉัย X-ray

การตรวจ X-ray เพิ่มเติม อาจทำในกรณีสงสัยภาวะกล้ามเนื้ออักเสบมีหินปูนจับ (Myositis Ossificans) ซึ่งสามารถพบเห็นการสร้างหินปูนที่ผิดปกติได้ในชั้นกล้ามเนื้อที่มีพยาธิสภาพ ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้เวลาไม่นาน และใช้ในการบอกระยะของโรคที่เป็น รวมถึงวางแผนการรักษาได้

การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI)

การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI)

การตรวจด้วย MRI หรือใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการตรวจเพื่อดูโครงสร้างของเนื้อเยื่อต่างๆ ตลอดจนความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างดี ทั้งการอักเสบ การฉีกขาดหรือบาดเจ็บ ก้อน ตลอดจนเนื้อเยื่อข้างเคียง นับเป็นการตรวจด้วยภาพที่แม่นยำสูง และมีความปลอดภัยสูง

การตรวจชิ้นเนื้อกล้ามเนื้อ (Muscle Biopsy)

การตรวจชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อเพิ่มเติม มักทำในกรณีที่การวินิจฉัยโรคทำได้ยาก และต้องการตรวจสอบเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้ออย่างละเอียด เพื่อยืนยันการวินิจฉัยหรือวางแผนการรักษา โดยการตัดชิ้นเนื้ออาจใช้วิธีเปิดแผล (Open Biopsy) หรือใช้อุปกรณ์เจาะตัดชื้นเนื้อ (Percutaneous Needle Biopsy) ก็ได้ขึ้นกับขนาดของชิ้นเนื้อที่ต้องการตรวจเพิ่มเติม โดยการตรวจนี้จำเป็นต้องอาศัยแพทย์ในการเก็บชิ้นเนื้อ ร่วมกับพยาธิแพทย์ในการตรวจย้อมและแปลผลการตรวจ

วิธีการป้องกัน และรักษาอาการกล้ามเนื้ออักเสบ

หลายคนอาจกังวลว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบจะรักษาได้ไหม และมีแนวทางการรักษากล้ามเนื้ออักเสบอย่างไรบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ววิธีการนั้นไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ทั้งยังสามารถเข้ารับการปรึกษากับทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดกับทางผู้ป่วยนั่นเอง

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

เพราะการใช้ร่างกายอย่างหักโหมเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกิดจาก Repetitive Microtrauma ดังนั้นแล้ว จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ งดใช้งานร่างกายส่วนนั้นซ้ำๆ รวมถึงการเตรียมพร้อมของร่างกายก่อนการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรม เช่น การยืดกล้ามเนื้อในส่วนที่ใช้งาน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดโอกาสบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนทานของกล้ามเนื้อ 

ในบางครั้งกล้ามเนื้ออักเสบอาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดไขมันบางชนิด หากมีความเสี่ยงดังกล่าว อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อยืนยันและปรับยาที่ใช้

การปฐมพยาบาล

หากผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและมีกล้ามเนื้ออักเสบไม่รุนแรงมากก็สามารถทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเองได้เลย ซึ่งประกอบด้วยการประคบเย็น เพื่อลดการปวดบวมในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังบาดเจ็บ รวมถึง การประคบร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในกรณีการบาดเจ็บผ่านช่วง 3-5 วันแรกไปแล้ว 

การจำกัดการเคลื่อนไหวหรือพักกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ ก็มีความสำคัญในระยะแรกของการบาดเจ็บ

ในกรณีที่การบาดเจ็บมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อร่วมด้วยและมีข้อบ่งชี้ บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาใส่เฝือกอ่อน เฝือกรอบหรือวัสดุในการพยุงรยางค์ร่วมด้วย

การใช้ยารักษาโรค

การใช้ยารับประทาน โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ สามารถช่วยลดอาการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อได้ โดยการพิจารณาใช้ยาดังกล่าว ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

การทำกายภาพบำบัด

ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ สามารถบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้ด้วยการทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปกับวิธีอื่นๆ ซึ่งการกายภาพบำบัด สามารถช่วยลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ตลอดจนฟื้นฟูกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บและอักเสบให้ดีขึ้นได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและใช้งานกล้ามเนื้อได้เต็มประสิทธิภาพ 

โดยการกายภาพบำบัดประกอบไปด้วย การทำกายบริหารเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น คลื่นอัลตราโซนิกส์หรือกระแสไฟฟ้า เพื่อลดการอักเสบหรือกระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีพยาธิสภาพ

หากปล่อยให้ปวดกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังจะเป็นอันตรายหรือไม่?

หากปล่อยให้ปวดกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังจะเป็นอันตรายหรือไม่?

โรคกล้ามเนื้ออักเสบจำเป็นต้องได้รับการตรวจและดูแลอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งหากมีสาเหตุที่แน่ชัด จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขหรือรักษาที่สาเหตุนั้นๆ ด้วย หากท่านมีอาการปวดและสงสัยกล้ามเนื้ออักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอาการนานกว่า 4-6 สัปดาห์ มีความจำเป็นในการตรวจวินิจฉัย เพื่อป้องกันโรคที่ซ่อนอยู่หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ โดยความรุนแรงของโรคกล้ามเนื้ออักเสบที่จะส่งผลต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายนั้น ขึ้นกับสาเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบเอง

โรคออฟฟิศซินโดรม กับ กล้ามเนื้ออักเสบ

โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีการใช้งานของอวัยวะใดซ้ำๆ ในการทำงาน ซึ่งอาการปวดตึงหรือเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ เป็นอาการที่พบได้บ่อย ในลักษณะงานปัจจุบันที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือลักษณะงานนั่งโต๊ะ ทำงานเอกสาร

ในหลายครั้งผู้ป่วยกลุ่มออฟฟิศซินโดรมนี้ จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง แต่แท้ที่จริงแล้ว  ออฟฟิศซินโดรมไม่ได้เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เพียงแต่มีการเกร็ง หด หรือตึงตัวของกล้ามเนื้อนั้น ๆ การดูแลรักษาออฟฟิศซินโดรม จึงมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ต่างกับโรคกล้ามเนื้ออักเสบที่จำเป็นต้องหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุของการอักเสบด้วย

กล้ามเนื้ออักเสบถือเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่สามารถพบได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ  ยาหรือสารบางชนิด โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ตลอดจนการติดเชื้อของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบๆ   ดังนั้น เมื่อพบว่าตัวเอง มีอาการที่สงสัยจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบดังกล่าว จึงควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบจะได้รับการวินิจฉัยและหาสาเหตุของโรค ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม จากนั้นทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้แนวทางการรักษา รวมถึงอาจใช้ยาต่างๆ เพื่อที่จะให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

บทความโดย : นพ.อดินันท์ อภิวัฒน์การุญ ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่

จันทร์, 14 พ.ย. 2022
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
  อาการปวดที่รบกวนชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อที่ต้องได้รับการดูแล อย่าปล่อยให้อาการเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่  ...
package เริ่มต้นที่ 1200* บาท
package สิ้นสุด 31/10/2024
ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าจากอาการบาดเจ็บ เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด (ACL Injury) หรือโรคเกี่ยวกับข้อเข่าอื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 245,000* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
ผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ เพื่อรักษาอาการเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear), ข้อไหล่เสื่อม หรือโรคเกี่ยวกับข้อไหล่อื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 275,000* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
บทความอื่นๆ
รักษากระดูกไหปลาร้าหัก
อุบัติเหตุกระดูกไหปลาร้าหักเกิดขึ้นได้ แต่จะมีวิธีรักษาอย่างไร?
อาการปวดไหล่เกิดจากอะไรบ้าง
อาการปวดไหล่เกิดจากอะไรบ้าง อาการไหนที่อันตราย ต้องรีบพบแพทย์
เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบคือ? คนออกกำลังกายควรรู้
กล้ามเนื้อฉีกขาด
อาการกล้ามเนื้อฉีกขาด พร้อมแนวทางการรักษาและวิธีฟื้นฟู
top line