อาการชาปลายนิ้วมือ สัญญาณอันตรายระบบประสาท ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ
Key Takeaway
|
หลายคนอาจจะเคยมีอาการมือชา แต่ไม่รู้ว่าอาการชาพวกนี้ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอาการชาปลายนิ้วมือที่จริงๆ แล้วอันตรายกว่าที่คิด! เพราะหมายถึงผลกระทบที่มีต่อระบบประสาท ที่เกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาท อาการชาปลายนิ้วมือมีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง อันตรายมากไหม เป็นสัญญาณของโรคอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้
Table of Contents
อาการชาปลายนิ้วมือ เป็นอย่างไร
อาการชาปลายนิ้วมือ คนไข้อาจมีความรู้สึกว่ามือหนาขึ้น สัมผัสแล้วมีความรู้สึกน้อยลง หรือมีอาการเหมือนเป็นเหน็บ รู้สึกยิบๆ แสบๆ เหมือนเข็มทิ่ม ร่วมด้วยได้เช่นกัน
การศึกษาวิจัยที่ผ่านมา พบว่าอาการชาปลายนิ้วมือ มักพบเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยจะพบในผู้หญิงวัยกลางคน แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขเหล่านี้อาจเปลี่ยนไป เนื่องจากมีการใช้โทรศัพท์ในการทำงาน และในชีวิตประจำวันมากขึ้น อาการชาปลายนิ้วมือจึงพบบ่อยขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อย และผู้สูงอายุเช่นกัน
อาการชาปลายนิ้วมือ เกิดจากอะไร
อาการชาปลายนิ้วมือ มักเกิดจากความผิดปกติทางเส้นประสาทรับความรู้สึกปลายนิ้วมือ ซึ่งมีสาเหตุที่พบได้บ่อยอยู่ 3 ประการ ดังนี้
- การกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือหรือฝ่ามือ ซึ่งเกิดจากการทำกิจกรรมโดยใช้นิ้วมือมากๆ หรือข้อมืออยู่ในท่างอ หรือกระดก เป็นเวลานาน เช่น การพิมพ์คีย์บอร์ด การใช้โทรศัพท์ เป็นต้น
- การกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อศอก อาจเกิดจากการใช้มือทำกิจกรรมในขณะที่ข้อศอกอยู่ในท่างอนานๆ เช่น การใช้เครื่องมือสื่อสารในปัจจุบัน
- การกดทับรากประสาทบริเวณกระดูกต้นคอ อาจเกิดจากการก้มคอเพื่อใช้โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานาน หรือกระดูกต้นคอเสื่อม
อย่างไรก็ตาม อาการชาปลายนี้มืออาจเกิดจากโรค หรือปัจจัยอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ แต่มีโอกาสพบได้น้อยกว่า
อาการชาปลายนิ้วมือแต่ละนิ้ว แตกต่างกันไหม
อาการชาแต่ละนิ้ว มีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้
อาการชาปลายนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง หรือนิ้วนางครึ่งหนึ่ง
อาการชาปลายนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง หรือนิ้วนางครึ่งหนึ่ง อาจเกิดจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณฝ่ามือ กลางข้อมือ มักจะเกิดจากการที่ใช้นิ้วเยอะจนมีการอักเสบของเส้นเอ็น ข้อมืออยู่ในท่างอ และกระดกนานๆ ทำให้มีการกดเส้นประสาท หรือบริเวณข้อมือ และฝ่ามือ หรือมาจากการกดรากประสาทที่คอ จากกระดูกคอหรือหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
อาการชาปลายนิ้วนาง นิ้วก้อย
อาการชาปลายนิ้วนาง นิ้วก้อย อาจเกิดจากการกดเบียดเส้นประสาทบริเวณด้านในของข้อศอก ซึ่งอาจเกิดจากการงอข้อศอกนานๆ เช่น ใช้โทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือมาจากการกดรากประสาทที่คอ จากกระดูกคอ หรือหมอนรองกระดูกคอเสื่อมเช่นกัน
อาการชาปลายนิ้วมือแบบไหน ที่ควรรีบพบแพทย์
แล้วอาการชาแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ให้การรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาการชาปลายนิ้วมือที่ควรรีบพบแพทย์ มีดังนี้
- รู้สึกชามากขึ้นเป็นระยะเวลานานๆ รบกวนการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ
- อาการหนักจนถึงขั้นรบกวนการนอน ทำให้ต้องตื่นเวลากลางดึก หรือตื่นมาแล้วมีอาการชาเยอะชัดเจน
- เริ่มรู้สึกว่ากล้ามเนื้อมือ หรือนิ้วมือเริ่มอ่อนแรง จับของไม่ถนัด จับแล้วหลุดมือ
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
ขั้นตอนการวินิจฉัยอาการชาปลายนิ้วมือ
ขั้นตอนการวินิจฉัยอาการชาปลายนิ้วมือ ปกติแพทย์จะมีขั้นตอน ดังนี้
การซักประวัติ ว่ามีอาการชาที่น่าจะเป็นจากตำแหน่งไหน หรือกดทับเส้นประสาทบริเวณใด
- การตรวจร่างกาย การทดสอบระบบประสาท ความรู้สึก และกำลังของกล้ามเนื้อ เพื่อประเมินว่าเป็นการกดเส้นประสาทเส้นไหน ตำแหน่งใด และมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
- กรณีซักประวัติแล้ว ตรวจร่างกายแล้ว แต่ผลไม่ชัดเจน อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจไฟฟ้าเส้นประสาท เพื่อช่วยในการวินิจฉัยที่แม่นยำ ถูกต้อง ว่ามีการกดทับเส้นประสาทไหน รุนแรงระดับใด
นอกจากนี้ หากสงสัยว่ามีการกดทับรากประสาทที่คอร่วมด้วย แพทย์จะพิจารณาการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่คอเช่นกัน
วิธีรักษาอาการชาปลายนิ้วมือโดยแพทย์
วิธีรักษาอาการชาปลายนิ้วมือโดยแพทย์ โดยหลักๆ แล้วมีการรักษา ดังนี้
- รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คนไข้รับทราบว่ามีปัญหาในส่วนไหน แล้วทำการปรับลดการใช้งานมือ ปรับเปลี่ยนท่าทางการใช้งานของมือ และแขน
- รักษาด้วยการกินยา กินยาแก้อักเสบ เพื่อลดการอักเสบบริเวณเส้นเอ็น เส้นประสาท รวมทั้งให้วิตามินบำรุงเส้นประสาทที่เหมาะสมด้วย
- รักษาด้วยการใส่ที่ดามข้อมือ มีการใส่อุปกรณ์ดามข้อมือ เพื่อจัดตำแหน่งข้อมือไม่ให้มีการกดทับเส้นประสาท และเป็นการลดการใช้งานข้อมือไปในตัวด้วย
- รักษาด้วยการผ่าตัด จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดในกรณีที่การรักษาข้างต้นไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรง เช่น มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น
อาการชาปลายนิ้วมือ มีโอกาสกลับมาเป็นอีกไหม
แล้วอาการชาปลายนิ้วมือ หากหลังการรักษาจะมีโอกาสกลับมาเป็นไหม? กรณีถ้ามีอาการไม่รุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีอาการมาก และได้รักษาแบบผ่าตัดไปแล้วก็สามารถหายได้ โอกาสกลับมาเป็นใหม่น้อย กรณีที่มี อาการมาก และรักษาด้วยวิธีแบบไม่ผ่าตัดได้สำเร็จ ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีการใช้งานบริเวณข้อมือ แขน หรือข้อศอก ที่ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท
แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่น้อยมาก เพราะมีการตัดพังผืดที่ทับเส้นประสาทไปแล้ว โดยกรณีนี้ไม่รวมถึงการกดทับเส้นประสาทที่คอ ที่จะต้องพิจารณาเรื่องการรักษาแยกออกไป
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการชาปลายนิ้วมือ
วิธีป้องกัน เพื่อลดโอกาสที่จะกลับมามีอาการชาปลายนิ้วมือ ทำได้โดยการลดระยะเวลาการใช้งานมือ พยายามลดการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้ระยะเวลาพอดีๆ ไม่นานเกินไป ควรมีช่วงพัก เพราะถ้าฝืนใช้งานมือไปนานๆ จนไม่พักเลย ก็อาจมีโอกาสเป็นมากขึ้นได้ เราจึงต้องดูแลเรื่องการใช้งานมือ นิ้ว แขนให้เหมาะสม
นอกจากนี้ ควรปรับท่าทางการใช้งานมือ เช่น หากจำเป็นต้องใช้คีย์บอร์ด อาจจะมีอุปกรณ์ที่จะมาช่วยเรื่องการปรับท่าทางข้อมือ ให้อยู่ในลักษณะตรงๆ ไม่ให้งอ หรือกระดกข้อมือเยอะเกินไป อาจจะเปลี่ยนท่าทางการวางโทรศัพท์ ลดการงอข้อศอก หรือควรพักระหว่างการใช้งาน ระหว่างชั่วโมงการทำงาน หรือจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วยลดการงอข้อศอก เพื่อลดการกดทับเส้นประสาท
การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือที่ kdms Hospital
kdms Hospital ให้การรักษาโดยศัลยแพทย์กระดูกเฉพาะทางด้านมือ และแขนโดยเฉพาะ โดยคนไข้จะได้รับการตรวจร่างกาย ให้การวินิจฉัย และการดูแลรักษา ทั้งในช่วงที่ยังมีอาการน้อย หรือการรักษาในกรณีที่มีอาการรุนแรง เพื่อให้คนไข้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง และเหมาะสม การดูแลรักษาจะครอบคลุมทุกส่วน สะดวก รวดเร็ว
ส่วนกรณีที่มีอาการรุนแรง จะได้รับการผ่าตัดรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านมือ และแขน ซึ่งโดยทั่วไป การผ่าตัดบริเวณพังผืดทับเส้นประสาท เช่น บริเวณข้อมือ จะมีการรักษาด้วยการผ่าตัด ทั้งแบบเปิด และแบบส่องกล้อง เพื่อตัดพังผืดที่ทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือข้อศอก
ทั้งนี้ ก่อนการผ่าตัด กรณีจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม จะมีทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ร่วมตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นไฟฟ้าเส้นประสาท เพื่อให้คนไข้ได้รับการประเมินก่อนการผ่าตัด กรณีสงสัยว่าจะมีการกดทับเส้นประสาทบริเวณคอ จะมีทีมแพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ช่วยดูแลเรื่องการกดทับเส้นประสาทบริเวณคอร่วมด้วย
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
สรุป
อาการชาปลายนิ้วมือ เป็นอาการที่มีความรู้สึกว่ามือหนาขึ้น รู้สึกยิบๆ แสบๆ เหมือนเข็มกำลังทิ่ม หรือเหมือนเป็นเหน็บ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และสัมพันธ์กับการใช้งานของมือที่มากร่วมด้วย
อาการชาปลายนิ้วมืออาจเกิดจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือฝ่ามือ การกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อศอก หรือการกดทับรากประสาทบริเวณต้นคอ ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิต ควรพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัย ให้การรักษาโดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานมือ รักษาด้วยการกินยา การใส่ที่ดามข้อมือ หรือกรณีรุนแรง อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัด
บทความโดย รศ.นพ.ธนพงษ์ ไวทยะวิญญู ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านมือและข้อมือ