ปวดสะโพก อาการอันตราย ก่อนกลายเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม
อาการปวดสะโพก ถือว่าเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตรายที่สามารถนำไปสู่โรคข้อสะโพกเสื่อมได้ ซึ่งเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยทั้งในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอายุน้อย เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีสาเหตุอื่น ๆ นำมาก่อน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดจากความเสื่อมตามช่วงวัย นอกจากความผิดปกติบริเวณสะโพกจะสร้างความเจ็บปวดแล้ว ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอีกด้วย ทั้งนี้ ยังมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่คิดว่าเป็นเพียงอาการปวดธรรมดา หรือกลัวการรักษา จึงเพิกเฉยต่ออาการเหล่านั้นจนเกิดเป็นอาการของข้อสะโพกเสื่อมได้ในที่สุด โดยในปัจจุบันมีวิธีการรักษาทั้งแบบไม่ผ่าตัดและแบบผ่าตัด ซึ่งให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องพักฟื้นนาน และสามารถกลับไปเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ
Table of Contents
Toggleโรคข้อสะโพกเสื่อม คืออะไร?
โรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของข้อสะโพก รวมถึงการเสื่อมของส่วนอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง อย่างเช่นกระดูก เยื่อหุ้มข้อ และเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่ยึดรอบ ๆ สะโพก เป็นต้น โดยโรคข้อสะโพกเสื่อมทำให้มีอาการปวดเวลาขยับสะโพก ปวดเวลาเดินลงน้ำหนัก หรือเจ็บตลอดเวลาที่ขยับสะโพก นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการขาสั้นยาวไม่เท่ากันร่วมด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้น้อยลง หรือไม่สามารถเดินได้เลย จึงทำให้การใช้ชีวิตประจำวันมีความยากลำบากมากขึ้น
โรคข้อสะโพกเสื่อม เกิดจากอะไร?
ปัจจัยส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมมักเกิดจากการมีสาเหตุอื่น ๆ นำมาก่อน ซึ่งแตกต่างจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่มักจะเกิดขึ้นตามอายุซึ่งมีอัตราส่วนมากถึง 80% แต่สำหรับโรคข้อสะโพกเสื่อมที่เกิดขึ้นตามช่วงวัยมีเพียง 10 – 20% เท่านั้น และสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อม มีดังนี้
- พันธุกรรม ถ้าหากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคข้อเสื่อมมาก่อน หรือมีรูปร่างของข้อสะโพกที่โก่ง คด หรืองอที่ผิดรูปซึ่งถ่ายทอดกันมาจากพันธุกรรมในครอบครัวก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้
- ใช้งานร่างกายอย่างหนัก สำหรับผู้ที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนักในการประกอบอาชีพ หรือในชีวิตประจำวัน เพราะ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ และส่งผลให้ข้อต่อต่าง ๆ สึกหรอง่ายขึ้น
- มีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ข้อสะโพก อาการบาดเจ็บที่ข้อสะโพก เช่น ข้อสะโพกหลุด หรือแตกหัก ที่สามารถส่งผลต่อการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนผิวข้อหรือทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงที่ผิวข้อ สามารถส่งผลให้เกิดข้อสะโพกเสื่อมได้ในที่สุด
- โรคประจำตัว อย่างเช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ที่สามารถนำไปสู่โรคข้อสะโพกเสื่อมได้
- การติดเชื้อ สำหรับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติติดเชื้อในบริเวณสะโพกมาก่อน สามารถเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์และการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้หัวสะโพกขาดเลือดหรือเซลล์หัวสะโพกตาย ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมได้ในอนาคต
ปวดตรงไหน ถึงเสี่ยงเป็นโรคสะโพกเสื่อม
อาการปวดข้อสะโพก ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่โรคข้อสะโพกเสื่อมได้ โดยอาการเริ่มแรกของโรคข้อสะโพกเสื่อม จะมีอาการปวดบริเวณต้นขา และขาหนีบ ซึ่งอาการปวดในบริเวณเหล่านี้จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหว โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง อย่างเช่น เวลาเดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ว่ามีอาการปวด หรือเจ็บในบริเวณที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ และถ้าหากไม่เข้ารับการรักษา อาจทำให้เกิดอาการข้อสะโพกอักเสบได้ และจะส่งผลให้เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมเร็วมากขึ้น เนื่องจากผิวข้อมีการสึกหรอตลอดระยะเวลาที่ทำการเคลื่อนไหวร่างกาย
ปวดบริเวณต้นขา (Thigh pain)
อาการปวดบริเวณต้นขา หรือ Thigh pain เป็นอาการปวดที่มักจะพบในตำแหน่งด้านหน้าหรือด้านข้างของต้นขา ซึ่งอาการปวดบริเวณต้นขามีสาเหตุมาจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าบางชนิด เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคข้อลูกสะบ้าอักเสบ ที่มักเกิดอาการปวดในบริเวณนี้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดในบริเวณต้นขา จะต้องทำการตรวจประเมินข้อสะโพกพร้อมกับการตรวจประเมินข้อเข่าไปพร้อมกัน
ปวดบริเวณขาหนีบ (Groin pain)
อาการปวดบริเวณขาหนีบ หรือ Groin pain เป็นอาการปวดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับข้อสะโพก เพราะกระดูกข้อต่อสะโพกอยู่ในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ บริเวณขาหนีบยังอยู่ใกล้กับอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้องมากที่สุดอีกด้วย ดังนั้น อาการปวดบริเวณขาหนีบอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่เกิดภายในช่องท้องได้ เช่น โรคนิ่ว โรคไส้เลื่อน หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะในเพศหญิงสามารถปวดในบริเวณนี้ได้มากกว่าเพศชาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานของสตรี เช่น โรคของรังไข่ มดลูก ปากมดลูก หรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณขาหนีบ ควรรีบพบแพทย์และทำการตรวจบริเวณท้องและเชิงกราน ก่อนทำการรักษาบริเวณข้อสะโพกต่อไป
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคสะโพกเสื่อม
ก่อนทำการตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย ควรเริ่มจากการซักประวัติก่อน เพราะผู้ป่วยที่มาพบแพทย์นั้นมีอาการที่แตกต่างกันไป เช่น อาการปวด ข้อติด หรือเคลื่อนไหวข้อแล้วเกิดอาการสะดุด เป็นต้น ซึ่งการซักประวัติอย่างละเอียดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยบอกถึงตำแหน่งที่มีอาการเจ็บ ระยะเวลาที่มีอาการปวด หรือลักษณะอาการที่เป็น รวมถึง ปัจจัยที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง นอกจากนั้น ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ประวัติการได้รับบาดเจ็บ หรือข้อมูลส่วนตัวอย่างเพศ อายุ และโรคประจำตัว เพื่อจะเป็นข้อมูลให้แพทย์เลือกวิธีวินิจฉัยในขั้นตอนต่อไป
การคลำหาตำแหน่งเจ็บบริเวณสะโพก
วิธีการคลำหาตำแหน่งเป็นวิธีเบื้องต้นสำหรับการตรวจหาตำแหน่งเจ็บบริเวณสะโพก โดยวิธีการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในกรณีที่พบว่ามีอาการเจ็บเกิดขึ้นภายนอกข้อที่สามารถคลำหาได้ แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเจ็บอยู่ในตำแหน่งลึก จะไม่สามารถใช้วิธีการคลำหาตำแหน่งได้
การถ่ายภาพรังสีธรรมดาของสะโพก (Plain Radiography)
การตรวจด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีธรรมดาของสะโพก เป็นการตรวจที่ใช้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยมีประวัติได้รับบาดเจ็บ เพื่อทำการประเมินอาการแตกหักของกระดูกหรือข้อหลุด รวมถึง ผู้ป่วยที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคจากการซักประวัติหรือตรวจร่างกายได้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการวางแผนการรักษาในขั้นตอนต่อไป
การตรวจน้ำในข้อ
วิธีการตรวจน้ำในข้อ มักจะใช้กับผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบว่ามีน้ำในข้อมากกว่าปกติ โดยวิธีนี้จะทำการเจาะและดูดน้ำในข้อออกมาก่อน หลังจากนั้น จะทำการส่งตรวจเพื่อประเมินลักษณะ สี ความหนืดของน้ำ ระดับเม็ดเลือดขาว และส่งเพาะเชื้อ ซึ่งผลการตรวจจากน้ำไขข้อ สามารถทำให้แพทย์แยกโรคข้ออักเสบแบบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกันได้
การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging)
วิธีการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการในตำแหน่งที่การถ่ายภาพรังสีธรรมดาไม่สามารถประเมินได้ เช่น บริเวณกระดูกอ่อน เนื้อเยื่ออ่อนรอบข้อสะโพก และไขกระดูก ซึ่งข้อดีของการตรวจด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คือ ได้ภาพออกมาอย่างละเอียดและชัดเจน จึงทำให้ผลการวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น แต่มีข้อเสียคือ มีค่าใช้จ่ายสูง
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography)
วิธีการตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan มักจะใช้ในกรณีที่แพทย์คาดว่าอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยเกิดขึ้นที่บริเวณกระดูก เช่น กระดูกหัก ที่สามารถส่งผลต่อการเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม แต่จะใช้การตรวจด้วยวิธีนี้ก็ต่อเมื่อต้องวางแผนสำหรับการผ่าตัดหรือหลังจากทราบผลวินิจฉัยเบื้องต้นจากการถ่ายภาพรังสีธรรมดาแล้ว
แนวทางการรักษาโรคสะโพกเสื่อม
โรคข้อสะโพกเสื่อม มีแนวทางในการรักษา 2 รูปแบบ ได้แก่ การรักษาแบบไม่ผ่าตัด และการรักษาแบบผ่าตัด ซึ่งวิธีการรักษาในแต่ละแบบนั้น จะมีความเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการแตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
วิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมในระยะแรก หรือยังมีอาการไม่รุนแรงมาก โดยวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดที่นิยมใช้สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
รักษาโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต
วิธีการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต คือ การปรับกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม เพื่อรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมในผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมาก ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่ถูกต้อง พักการใช้สะโพก และออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ทำให้เคลื่อนไหวได้คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นวิธีที่สามารถทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้านและไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย
รักษาโดยการรับประทานยา
วิธีการรักษาโดยการรับประทานยา เป็นวิธีที่ผู้ป่วยหลาย ๆ คนนิยม เพราะว่าสามารถเห็นผลได้ไว ลดความเจ็บปวดได้ภายหลังการบริโภคยาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ยาหลาย ๆ ตัวมีผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้น การรับประทานยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร ไม่ควรซื้อยามาทานเองเด็ดขาด นอกจากนั้น ไม่ควรทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะอาจมีผลข้างเคียงตามมาได้
รักษาโดยการฉีดยา
วิธีการรักษาโดยการฉีดยา เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยแพทย์จะทำการฉีดยาแก้ปวด ในกรณีที่มีความปวดรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ และนอกจากนั้น ยังมีการฉีดยาในกลุ่มสารหล่อเลี้ยงข้อด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การฉีดข้อสะโพกไม่ค่อยเห็นผลดีเท่ากับการฉีดข้อเข่า ทั้งนี้ วิธีฉีดยาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
รักษาโดยการกายภาพบำบัด
วิธีการรักษาโดยการกายภาพบำบัด เป็นวิธีที่นิยมใช้หลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแล้ว เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เพื่อลดอาการปวด เพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อโดยรอบข้อ และลดโอกาสข้อติด ซึ่งการรักษาโดยการกายภาพบำบัดจะไม่เหมาะกับผู้ที่มีข้อสะโพกอักเสบ หรือข้อสะโพกเสื่อม เพราะอาจจะทำให้มีความเจ็บปวดรุนแรงมากกว่าเดิมได้
วิธีการรักษาแบบผ่าตัด
การรักษาแบบผ่าตัด เป็นการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาหรือไม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บด้วยวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดได้ ซึ่งวิธีการรักษาแบบผ่าตัดที่นิยมใช้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 วิธี ดังนี้
ผ่าตัดโดยการส่องกล้อง
การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง เป็นการรักษาที่มีข้อบ่งชี้หรือรอยโรคที่เหมาะสมกับวิธีดังกล่าวไม่มากนัก โดยทั่วไปแพทย์มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่ในระยะต้นเท่านั้น หรือใช้ในการรักษาโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะส่วนที่มีความรุนแรงต่ำ โดยแพทย์จะใช้วิธีในการผ่าตัดโรคข้อสะโพกเสื่อมก็ต่อเมื่อกระดูกอ่อนในข้อสะโพกเกิดการฉีกขาด รวมถึง มีเศษกระดูก หรือเศษกระดูกอ่อนหลุดมาอยู่ในข้อ ส่งผลให้เกิดเสียดสีกับข้อและขัดขวางการเคลื่อนไหวหรือสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยในขณะที่ขยับร่างกาย
ผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก
วิธีการผ่าตัดโดยการเปลี่ยนแนวกระดูก เป็นวิธีการผ่าตัดที่ค่อนข้างซับซ้อนเป็นอย่างมาก มักจะใช้กับผู้ป่วยที่เกิดอาการเสื่อมเฉพาะที่ เสื่อมเฉพาะส่วน หรือเคยได้รับบาดเจ็บจนกระดูกแตกหรือหักมาก่อนเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูกไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือสามารถใช้วิธีอื่นในการรักษาแทนได้ เพราะวิธีการนี้จะใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นค่อนข้างนาน กล่าวคือ ถ้าหากไม่ใช่กรณีที่มีความจำเป็น แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการรักษา
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
วิธีการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม มักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง หรือข้อสะโพกผิดรูป จนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่นิยมใช้เป็นอย่างมาก เพราะหลังจากรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้ว ความยาวของขา และการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยจะใกล้เคียงกับปกติ นอกจากนั้น ผู้ป่วยยังสามารถฟื้นตัวได้เร็ว และไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน เพราะว่าหลังจากวันแรกที่ได้รับการผ่าตัด แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดด้วยการเดินทันที จึงทำให้วิธีการรักษานี้มีผลลัพธ์ของการรักษาที่ชัดเจนมากที่สุด รวมไปถึง มีความน่าเชื่อถือมากกว่า 95% ทั้งนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมยังนิยมใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยในกรณีที่รับการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่เห็นผล
สรุป
โรคข้อสะโพกเสื่อม สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้งานร่างกายอย่างหนักในชีวิตประจำวัน เคยได้รับบาดเจ็บมาก่อน หรือโรคประจำตัว เป็นต้น แต่เมื่อเกิดอาการเจ็บปวดหรือเกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวแล้วนั้น ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อประเมินระดับความรุนแรง และป้องกันความเสื่อมที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึง การวางแผนการรักษาซึ่งมีทั้งวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัดหรือการรักษาโดยการผ่าตัดตามข้อบ่งชี้และดุลยพินิจของแพทย์ ว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้สามารถรักษาได้ทันท่วงทีและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
คำถามที่พบบ่อย
โรคข้อสะโพกเสื่อม เกิดจากอะไร?
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น เกิดจากพันธุกรรม การใช้งานร่างกายอย่างหนัก เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อสะโพก ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่นโรคข้ออักเสบอื่นๆ เป็นต้น
ปวดตรงไหน ถึงเสี่ยงเป็นโรคสะโพกเสื่อม
– ปวดบริเวณต้นขา (Thigh pain) เป็นอาการปวดที่มักจะพบในตำแหน่งด้านหน้าหรือด้านข้างของต้นขา ซึ่งอาการปวดบริเวณต้นขามีสาเหตุมาจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น
– ปวดบริเวณขาหนีบ (Groin pain) เป็นอาการปวดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับข้อสะโพก เพราะกระดูกข้อต่อสะโพกอยู่ในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ บริเวณขาหนีบยังอยู่ใกล้กับอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้องมากที่สุดอีกด้วย