เจ็บข้อสะโพก ร่างกายกำลังบอกอะไรกับเรา?

เนื่องจากข้อสะโพกเป็นข้อต่อขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งในร่างกายที่อยู่ระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขา ทำหน้าที่หลักในการรับน้ำหนักร่างกายส่วนบนในทุกอิริยาบถของเรา เช่น การเดิน การนั่ง หรือการยืน ดังนั้น อาการปวดสะโพก ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างลำตัว ที่เกิดขึ้นขณะร่างกายหยุดนิ่งหรือเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนท่าทาง ย่อมสร้างความรำคาญใจและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ อาการปวดข้อสะโพกสามารถหายไปเองได้ หลังจากได้รับการดูแลที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากอาการดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น มีอาการปวดร้าวเมื่อเดินลงน้ำหนัก นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคเรื้อรังบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา

ทำความรู้จัก “ข้อสะโพก”

โครงสร้างของกระดูกข้อสะโพก

ข้อสะโพก คือ กระดูกข้อต่อขนาดใหญ่ของร่างกายที่ยึดกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขาเข้าด้วยกัน จึงมีหน้าที่หลักในการรองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบน รวมไปถึงมีหน้าที่ช่วยในการเหยียดงอของขาในอิริยาบถต่าง ๆ โดยข้อสะโพกมีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ หัวกระดูกสะโพก (Head of Femur หรือ Femoral Head) มีรูปร่างเกือบเป็นทรงกลม และเบ้าสะโพก (Acetabulum) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของกระดูกเชิงกราน มีลักษณะเว้าเป็นหลุมลึกคล้ายถ้วยเพื่อรองรับส่วนกลมของกระดูกหัวสะโพกได้อย่างพอดี ทั้งนี้ ผิวสัมผัสของกระดูกทั้งสองส่วนจะถูกปกคลุมด้วยกระดูกอ่อนที่มีพื้นผิวเรียบลื่น รวมไปถึง มีความหนาและแข็งแรง เพื่อรองรับแรงกดของน้ำหนักตัว ช่วยให้ข้อสะโพกสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ติดขัด นอกจากนี้ บริเวณขอบของเบ้าสะโพกจะมีเนื้อเยื่อที่มีความหนา ความเหนียวและความแข็งแรง เรียกว่า Acetabular Labrum มีรูปร่างคล้ายวงแหวนอยู่ที่ขอบเบ้าสะโพกโดยรอบ ทำหน้าที่ช่วยเสริมความลึกของเบ้าสะโพก เพื่อทำหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับข้อสะโพก กล่าวคือ ความลึกนั้นจะช่วยป้องกันไม่ให้ข้อสะโพกหลุด และทำให้ข้อสะโพกสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติ

ปวดข้อสะโพก เกิดจากอะไร

อาการปวดข้อสะโพก ไม่ว่าจะเป็นการปวดบริเวณด้านหน้า ด้านข้าง หรือด้านหลังของลำตัว สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เนื้อเยื่อส่วน Acetabular Labrum บริเวณข้อสะโพกเกิดการฉีกขาด หรือกระดูกอ่อนบริเวณข้อสะโพกมีความบางลงหรือเกิดการสึกหรอจนมีลักษณะเป็นแผลที่ไม่เรียบ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป เช่น ความพิการผิดรูปแต่กำเนิด การบาดเจ็บที่เกิดกับข้อ การอักเสบของเยื่อบุ เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อในบริเวณโดยรอบของข้อ และการติดเชื้อของข้อสะโพก โดยปัจจัยที่ส่งผลต่ออาการเจ็บข้อสะโพก มีดังต่อไปนี้

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและสะสมเป็นระยะเวลานาน เช่น การนั่งต่ำอย่างท่านั่งยอง นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ ก่อให้เกิดการใช้งานข้อสะโพกในลักษณะที่บิดงอ รวมไปถึงทำให้เกิดแรงอัดในต่อข้อต่อสะโพกที่มากขึ้น ดังนั้น ในการถนอมข้อสะโพกหรือลดอาการปวดข้อสะโพก จึงควรนั่งในท่านั่งที่เหมาะสม คือ การนั่งบนเก้าอี้ที่ลำตัวและขาสามารถทำมุมได้ 90 องศา และในกรณีที่ต้องนั่งต่ำควรนั่งในท่าที่เหยียดขาออกไป รวมถึง หลีกเลี่ยงท่านั่งที่ต้องงอขาอย่างการนั่งขัดสมาธิหรือพับเพียบ แต่ถ้าหากต้องนั่งในท่าที่งอขาเป็นระยะเวลานาน ควรปรับเปลี่ยนท่านั่งหรือลุกเดินเป็นระยะเพื่อปรับอิริยาบถให้เหมาะสม

ประวัติการรักษา

ประวัติการรักษาคนไข้ ถือว่าเป็นอีกสิ่งสำคัญที่สามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บข้อสะโพกได้ เช่น ประวัติการประสบอุบัติเหตุ หรือการใช้ยาบางชนิดเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งจะสามารถช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์และทำการวางแผนการรักษาง่ายมากขึ้น

อุบัติเหตุ

เนื่องจากกระดูกข้อสะโพกเป็นข้อต่อที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้น อุบัติเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหรือการหักของกระดูกข้อต่อสะโพกได้นั้น มักเป็นอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงมาก เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ รวมไปถึง การกระแทกอย่างแรงในผู้สูงวัย เช่น การตกบันได หรือการล้มก้นกระแทก เป็นต้น ทั้งนี้ กระดูกข้อสะโพกหักจะส่งผลให้เกิดปัญหาเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณกระดูกไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์กระดูกของหัวกระดูกสะโพกตายและยุบลงจนหัวสะโพกผิดรูปร่างได้ นอกจากนี้ อุบัติเหตุอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บกับผิวข้อ จนเกิดการทำให้กระดูกอ่อนเสียหายหรือสึกหรอไป ก็เป็นอีกสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยของข้อกระดูกสะโพกและอาการเจ็บปวดตามมาในอนาคตได้

ประวัติการใช้ยา

การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ในปริมาณมากและใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพื่อรักษาโรคเรื้อรังบางประเภท เช่น โรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease) อย่างโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (SLE: Systemic Lupus Erythematosus) หรือโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นต้น สามารถส่งผลให้กระดูกหัวสะโพกเกิดอาการขาดเลือดและยุบตัวได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเจ็บข้อสะโพกได้

ปวดข้อสะโพก เป็นสัญญาณเตือนของโรคอะไร

อาการปวดข้อสะโพกในขณะที่ขยับร่างกายเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถนั้น ถึงแม้จะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มักจะสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ที่มีอาการเสมอ นอกจากนี้ ในบางครั้งอาการปวดสะโพกอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเรื้อรังบางประเภทที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้ ดังนี้

โรคข้อสะโพกขาดเลือด (Avascular Necrosis)

โรคข้อสะโพกขาดเลือด

โรคข้อสะโพกขาดเลือด เกิดจากปริมาณเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณเซลล์กระดูกของหัวกระดูกสะโพกไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้เซลล์กระดูกตายหรือผิดรูป ทำให้กระดูกบริเวณดังกล่าวยุบตัวลงและรูปร่างผิดไปจากเดิมจนไม่เป็นทรงกลมตามปกติ โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดภาวะขาดเลือด เช่น เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสะโพก การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาสเตียรอยด์ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โรคเลือดบางชนิด โรคความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดและกลุ่มโรคภูมิแพ้ตัวเองที่มีการทำลายผิวข้อหรือการอักเสบบริเวณผิวข้อ เช่น โรครูมาตอยด์ และโรค SLE เป็นต้น

โรคข้อสะโพกเสื่อม

โรคข้อสะโพกเสื่อม

โรคข้อสะโพกเสื่อม คือ การสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อภายในสะโพก และเส้นเอ็นยึดรอบสะโพกได้เสื่อมถอยลง โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น หัวสะโพกตายหรือขาดเลือดจากอุบัติเหตุ หรือการใช้ยากลุ่มยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้คนไข้เกิดอาการเจ็บขัดหรือเกิดความเจ็บปวดบริเวณขาหนีบด้านหน้า เวลาเปลี่ยนท่าทาง เดินลงน้ำหนัก และขยับสะโพกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดิน หรือการนั่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย อาจมีปัญหาความยาวของขาไม่เท่ากัน เนื่องจากอาการกระดูกข้อสะโพกข้างใดข้างหนึ่งทรุดตัวลงร่วมด้วย

โรคกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

โรคกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

โรคกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท คือ การที่กระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับบริเวณเส้นประสาทไขสันหลัง ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ต่อมาจากสมอง ต่อเนื่องลงมาที่โพรงกระดูกสันหลังตั้งแต่ส่วนคอด้านหลัง จนมาสิ้นสุดที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างซึ่งติดต่อกับบริเวณส่วนเอว โดยในกรณีของโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทนั้น เกิดจากการเกิดความเสื่อมที่หมอนรองกระดูกสันหลังเนื่องมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังแต่ละปล้องผิดปกติไป ทำให้เกิดการงอกยื่นของขอบกระดูกสันหลังส่วนบนและล่าง ทั้งนี้ การที่กระดูกงอกเป็นหนึ่งในกลไกตอบสนองของร่างกาย กล่าวคือ ร่างกายจะสร้างกระดูกออกมาเมื่อมีการรับน้ำหนักของกระดูกผิดปกติไป ซึ่งการที่หมอนรองกระดูกสันหลังมีการทรุดตัวลงร่วมกับการงอกยื่นของขอบกระดูกสันหลัง ส่งผลให้โพรงกระดูกสันหลังแคบลงและกดเบียดเส้นประสาทไขสันหลังได้ และในอีกกรณีของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทนั้น เกิดได้จากการที่หมอนรองกระดูกแตกปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาท หลังจากที่ผ่านการใช้งานกระดูกสันหลังมาอย่างหนัก จึงทำให้ในขณะที่ยืนหรือเดิน เกิดอาการปวดหน่วง ปวดร้าวลงขา หรือปวดข้อสะโพกค่อนไปทางด้านหลังตามแนวของเส้นประสาท

โรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease)

โรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease)

โรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยนั้นทำลายเนื้อเยื่อปกติภายในร่างกายของตนเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบและสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย มักพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์ โดยตัวอย่างโรคในกลุ่มภูมิแพ้ตัวเองที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บข้อสะโพก มีดังนี้

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus)

อาการปวดข้อสะโพกในโรค SLE สามารถเกิดจากตัวโรคที่ก่อกวนระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายเยื่อบุข้อสะโพก จึงส่งผลให้เกิดการทำลายผิวข้อและเกิดการอักเสบขึ้น ทั้งนี้ การอักเสบ คือ กลไกของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บหรือเสียหาย โดยปกติเลือดจะถูกลำเลียงมาบริเวณกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บในปริมาณมาก และส่งผลให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณกระดูกลดน้อยลง ในกรณีของโรค SLE ได้ไปรบกวนการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไม่มาเลี้ยงกระดูก ส่งผลให้เซลล์กระดูกหัวสะโพกขาดเลือดและตายได้ นอกจากนี้ ในการรักษาโรค SLE ยังใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หัวสะโพกขาดเลือดและทรุดตัว ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการเจ็บข้อสะโพกได้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis)

โรครูมาตอยด์ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อต่อ โดยส่วนใหญ่มักเกิดการอักเสบรุนแรงที่ข้อขนาดเล็ก เช่น ข้อต่อนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า เป็นต้น แต่ก็สามารถพบได้ที่ข้อต่อที่มีขนาดใหญ่ อย่างข้อเข่า หรือข้อต่อสะโพก ซึ่งการอักเสบเรื้อรังก่อให้เกิดการทำลายผิวข้อที่สร้างอาการปวดข้อสะโพกได้ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้เกิดความพิการเช่นกัน ส่วนใหญ่โรครูมาตอยด์พบบ่อยในช่วงอายุ 20-30 ปี และ 50-60 ปี โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนี้ โรคดังกล่าวยังใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ในการรักษาเช่นเดียวกับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือ SLE ที่สามารถส่งผลให้คนไข้รู้สึกปวดข้อสะโพกได้

กลุ่มอาการปวดกระดูกเชิงกรานด้านหลัง (Sacroiliac Joint Dysfunction หรือ SI Joint Pain)

กลุ่มอาการปวดกระดูกเชิงกรานด้านหลัง (Sacroiliac Joint Dysfunction หรือ SI Joint Pain)

เนื่องจากเป็นกลุ่มอาการที่เกิดกับข้อต่อของกระดูกเชิงกรานโดยตรง ทำให้เกิดความเจ็บปวดที่บริเวณหลังส่วนล่างหรือสะโพกทางด้านหลัง ซึ่งเป็นที่อยู่ของกระดูกเชิงกราน แต่จะไม่พบอาการปวดบริเวณขาหนีบร่วมด้วยเหมือนโรคข้อสะโพกเสื่อม โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการดังกล่าว คือ ประสบอุบัติเหตุที่เกิดการกระแทกบริเวณหลังส่วนล่าง เช่น การล้มอย่างแรง การถูกชนหรือกระแทกตอนเล่นกีฬา หรือเกิดจากปัจจัยที่ทำให้ข้อต่อบริเวณกระดูกเชิงกรานทำงานหนัก อย่างเช่น การอุ้มท้อง และคลอดบุตร นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการรับน้ำหนักที่ขาทั้งสองด้านไม่สมดุลกัน เช่น ปัญหาขาทั้งสองข้างมีความยาวไม่เท่ากัน ซึ่งอาจจะเป็นโดยกำเนิดหรือเป็นอาการจากความผิดปกติของข้อเข่าหรือข้อต่อสะโพก เป็นต้น เพราะการลงน้ำหนักไม่เท่ากันของขาทั้งสองข้างนั้น สามารถส่งผลให้การขยับของข้อเชิงกรานด้านหลังขาดดุลยภาพและเพิ่มการทำงานมากขึ้น จึงทำให้เกิดการอักเสบได้ นอกจากนี้ การอักเสบในผู้ป่วยบางราย สามารถเกิดจากข้ออักเสบในกลุ่มโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease) บางชนิด เช่น ข้ออักเสบในโรคสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis) ได้เช่นกัน

แนวทางการดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อรู้สึกเจ็บบริเวณข้อสะโพก

เมื่อรู้สึกปวดข้อสะโพก ผู้ป่วยควรหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่และหยุดพักการใช้งานของข้อสะโพกทันที รวมไปถึง หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่จะก่อให้เกิดแรงดันในข้อ เช่น การนั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิ เป็นต้น และควรปรับท่าทางให้เหมาะสม โดยการนั่งบนเก้าอี้ที่ส่วนลำตัวและส่วนขาสามารถทำมุมฉากกันได้ หรือนั่งเหยียดขาในกรณีที่ต้องนั่งต่ำ นอกจากนี้ อาจรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดควบคู่ไปด้วย

ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหรือทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น รู้สึกเจ็บข้อสะโพกเมื่อยืน ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ หรือเจ็บจนไม่สามารถขยับสะโพกได้ อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีการอักเสบรุนแรงในข้อ นอกจากนี้ หากมีอาการปวดร่วมกับการมีไข้ อาจสงสัยว่ามีการติดเชื้อ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

สรุป

วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดอาการเจ็บข้อสะโพก คือ การดูแลตนเองและการใช้งานข้อสะโพกในอิริยาบถที่ถูกต้อง เพราะการป้องกันก่อนเกิดอาการบาดเจ็บเป็นสิ่งที่จะสามารถถนอมข้อสะโพกได้อย่างดีที่สุด แต่ถ้าหากเกิดความผิดปกติหรือมีอาการเจ็บปวดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยหาสาเหตุของโรค เพราะการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็วและทันท่วงทีจะช่วยรักษาและยืดอายุของข้อสะโพกของเราให้ทำงานเป็นปกติได้อย่างยั่งยืน

คำถามที่พบบ่อย

ปวดข้อสะโพก เกิดจากอะไร

อาการปวดข้อสะโพก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กระดูกอ่อนบริเวณข้อสะโพกมีความบางลงหรือเกิดการสึกหรอจนมีลักษณะเป็นแผลที่ไม่เรียบ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป เช่น ความพิการผิดรูปแต่กำเนิด การบาดเจ็บที่เกิดกับข้อ การอักเสบของเยื่อบุเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อในบริเวณโดยรอบของข้อ

ปวดข้อสะโพก เป็นสัญญาณเตือนของโรคอะไรได้บ้าง

ในบางครั้งอาการปวดสะโพกอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเรื้อรังบางประเภทที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้ เช่น โรคข้อสะโพกขาดเลือด โรคข้อสะโพกเสื่อม โรคกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเอง กลุ่มอาการปวดกระดูกเชิงกรานด้านหลัง เป็นต้น

ศุกร์, 01 ต.ค. 2021
แท็ก
ปวดสะโพก
ข้อสะโพก
สะโพกเสื่อม
เจ็บสะโพก

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดเต็มข้อ 1 ข้าง โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด MAKO โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าเเละข้อสะโพกเทียม  ...
package 330,000* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด MAKO เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดข้อเข่าเเละข้อสะโพกเทียม...
package 379,500* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
บทความอื่นๆ
โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนรักษาอย่างไร? เข้าใจสาเหตุ และอาการ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
top line

Login