สลักเพชรจม ปวดสลักเพชร เกิดจากสาเหตุอะไร และรักษาได้อย่างไร
Key Takeaway
|
สลักเพชร (Piriformis Muscle) คือกล้ามเนื้อสะโพกที่อยู่ระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระเบนเหน็บ ช่วยขยับสะโพก และต้นขา ให้เคลื่อนไหวได้หลายๆ ทิศทาง ซึ่งหน้าที่หลักก็คือการช่วยการหมุนข้อสะโพก ในขณะที่สะโพกเหยียด และงอ รวมถึงยังช่วยในเรื่องของการกางสะโพกอีกด้วย
หลายคนอาจเคยประสบปัญหาสลักเพชรจม แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุใด สลักเพชรจมเกิดขึ้นที่บริเวณใดของร่างกายกันแน่? อะไรเป็นสาเหตุของอาการนี้? หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาจะเป็นอันตรายหรือไม่? และเราจะรักษาอาการนี้ได้อย่างไร? บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับสลักเพชรจมที่คุณอยากรู้ทั้งหมด!
Table of Contents
ภาวะสลักเพชรจม คืออะไร
ภาวะสลักเพชรจม หรือที่เรียกในทางการแพทย์ว่าคือภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome) เกิดจากเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic) โดนกล้ามเนื้อ piriformis หรือที่เรียกว่าสลักเพชรกดทับ ซึ่งเส้นประสาท Sciatic จะอยู่ใต้ขอบล่างของกล้ามเนื้อสลักเพชร และทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว พร้อมกับรับรู้ความรู้สึกร่างกายส่วนล่าง ตั้งแต่สะโพกไปจนถึงขาของเรานั่นเอง
ภาวะสลักเพชรจม มีอาการอย่างไร
เมื่อเส้นประสาท Sciatic โดนกดทับ และเกิดภาวะสลักเพชรจม จะมีอาการดังนี้
- มีอาการปวดลึกๆ ในสะโพก ก้น หรือก้นกบ
- รู้สึกเจ็บเมื่อกดบริเวณสะโพก
- ปวดสลักเพชรจม จะมีอาการปวดร้าวลงขาด้านหลัง ซึ่งเป็นไปตามเส้นประสาท Sciatic
- ในบางครั้งอาจจะมีอาการชาร่วมด้วย
มักจะรู้สึกปวดเมื่อเส้นประสาท Sciatic โดนยืดตึง เมื่อนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ หรือช่วงตื่นนอนตอนเช้า จะทำให้อาการปวดสลักเพชรจมมากขึ้น แต่อาการปวดจะดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ลุก ยืน เดิน
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสลักเพชรจม
สาเหตุที่ทำให้เกิดสลักเพชรจม มีดังนี้
- กล้ามเนื้อ Piriformis ตึงตัว หดเกร็ง เมื่อนั่งเป็นเวลานาน หรืออาจจะเกิดจากการอักเสบจากตัวกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากการเปลี่ยนท่าทันที
- การเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ Piriformis(hypertrophy) ซึ่งเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำๆ หรือออกกำลังกายเล่นกล้ามเนื้อสะโพกเยอะๆ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้ขยายตัวขึ้น จึงทำให้ง่ายต่อการไปกดทับเส้นประสาท Sciatic
- กล้ามเนื้อ Piriformis โดนกระแทก จนเกิดการอักเสบ หรือบวมขึ้น ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อไปกดทับเส้นประสาท Sciatic ได้เช่นกัน
- กล้ามเนื้อ Piriformis ตึง ที่เกิดร่วมกับโรคอื่น เช่น โรคกระดูกสันหลัง โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดรอบสะโพกและเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อรอบสะโพกตึงตัวหดเกร็งมากขึ้นได้
- กายวิภาคที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ซึ่งกล้ามเนื้อ Piriformis จะไปกดทับเส้นประสาท Sciatic ง่ายกว่าคนทั่วไป
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
ใครบ้างที่เสี่ยงมีภาวะสลักเพชรจม
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสลักเพชรจมได้แก่กลุ่มดังต่อไปนี้
- กลุ่มคนที่ทำงานออฟฟิศ เนื่องจากต้องนั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
- กลุ่มคนที่ต้องขับรถทางไกล หรือนั่งเกร็งตัว ตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นไป โดยไม่ได้เปลี่ยนท่า
- กลุ่มคนที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อสะโพกเยอะๆ อาทิ นักกีฬา หรือกลุ่มคนที่ออกกำลังกายเน้นบริเวณสะโพก
- กลุ่มคนที่ต้องยกของที่มีน้ำหนักเยอะอยู่เป็นประจำ
- กลุ่มคนที่เกิดอุบัติเหตุ และสะโพก หรือก้นมีการโดนกระแทกโดยตรง
- กลุ่มคนที่ไม่ออกกำลังกาย ขาดการยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกไม่แข็งแรง และอาจจะทำให้กล้ามเนื้อตึงได้ง่ายขึ้น
ภาวะสลักเพชรจม วินิจฉัยได้อย่างไร
โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา จึงต้องวินิจฉัยแยกออกจากโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคกระดูกสันหลัง โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และโรคข้อต่อสะโพก โดยจะมีการวินิจฉัย ดังนี้
- ซักประวัติผู้ป่วย เช่น มีลักษณะอาการปวดรุนแรงแค่ไหน มีอาการอื่นปวดร่วมด้วยหรือไม่ อาชีพหรือไลฟ์สไตล์กาคใช้ชีวิต ออกกำลังกายหรือไม่ เป็นต้น
- ตรวจร่างกาย โดยการสังเกตเมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวสะโพก หรือกดจุดบริเวณสลักเพชร
- ตรวจร่างกาย ด้วยท่าที่ทำให้เกิดการยืดตึงของกล้ามเนื้อ Piriformis
รวม 7 วิธีการรักษาภาวะสลักเพชรจม
การรักษาภาวะสลักเพชรจมจะมีทั้งการผ่าตัด และการไม่ผ่าตัด หรือเรียกว่าการรักษาแบบประคับประคอง โดยจะเริ่มจากการรักษาแบบประคับประคองก่อน หากรักษาแล้วอาการปวดสลักเพชรจมไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยการฉีดยาหรือผ่าตัดเป็นลำดับถัดไป
1. ประคบอุ่น
หากเริ่มปวดสะโพกในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยสามารถประคบอุ่นเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว โดยประคบบริเวณสะโพกประมาณ 15-20 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแสบร้อนของผิว จากนั้นค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อ Piriformis หรือกล้ามเนื้อบริเวณสลักเพชร ทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการกดทับเส้นประสาท Sciatic
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถรักษาอาการปวดสลักเพชรจมได้ เช่น ไม่ควรนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ไม่ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพื้นแข็งมากเกินไป และยืดกล้ามเนื้อ Piriformis ด้วยตัวเองบ่อยๆ เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมามีอาการปวดซ้ำอีก
3. การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อสะโพก
ควรออกกำลังกาย เพื่อสร้างความแข็งแรง และสร้างความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ สะโพก โดยจะมีทั้งการยืดกล้ามเนื้อ Piriformis และการบริหารกล้ามเนื้อสะโพก ซึ่งตัวอย่างท่าบริหารกล้ามเนื้อสะโพกจะสามารถทำได้เอง ดังนี้
ท่านอนหงาย (lying figure four stretch)
- นอนหงาย แล้วนำขาที่มีอาการปวดไขว่ห้าง ตั้งฉากกับขาอีกข้างเป็นเลขสี่
- ใช้มือสอดเข้าไปใต้เข่าที่ตั้งเอาไว้ และพยายามดึงขาเข้าหาตัวให้ได้มากที่สุด จนรู้สึกตึงสะโพกข้างที่มีอาการปวด
- ค้างไว้ประมาณ 10-15 นาที และทำทั้งหมด 3 เซตต่อวัน
ท่านั่งบนเก้าอี้ (seated figure four stretch)
- นั่งไขว่ห้าง โดยการนำขาที่มีอาการปวดพาดวางบนต้นขาอีกข้างเป็นเลขสี่
- กดเข่าไว้ให้อยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่เด้งขึ้นมา และให้รู้สึกตึง
- ค่อยๆ โน้มตัวจากบริเวณสะโพกไปด้านหน้า จนรู้สึกตึงสะโพกด้านที่มีอาการปวด
- ค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที และทำทั้งหมด 10 ครั้งต่อเซต ทำ 3 เซตต่อวัน
ท่ายืน (Figure fore table stretch)
- ยืนไขว้ขาข้างที่ปวด พาดขึ้นมาวางไว้บนโต๊ะ อาจจะเป็นโต๊ะที่มีความสูงระดับเอว
- ค่อยๆ โน้มตัวไปข้างหน้า จนรู้สึกตึงสะโพกด้านที่มีอาการปวด
- ค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที และทำทั้งหมด 10 ครั้งต่อเซต ทำ 3 เซตต่อวัน
ท่านอนตะแคง (side lying hip abduction)
- นอนตะแคง และกางขาขึ้น
- ดันขาไปด้านหลัง จากนั้นให้เอาขาลง
- ทำ 10 ครั้งต่อข้าง และทำทั้งหมด 3 เซต
- นอนตะแคงอีกข้าง และกางขาขึ้น จากนั้นให้ทำเหมือนเดิม จนครบ 3 เซต
นอกจากท่าบริหารที่กล่าวไปแล้ว ยังสามารถใช้ลูกเทนนิส นวดคลึงบริเวณกล้ามเนื้อสะโพก จะสามารถช่วยยืดกล้ามเนื้อได้เหมือนกัน
4. ใช้ยาแก้ปวด
หากดูแลตัวเองที่บ้านแล้ว อาการสลักเพชรจมยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องมาพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้วินิจฉัยโรค พร้อมให้การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ อย่างการใช้ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs (ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) หรือยาคลายกล้ามเนื้อ
5. กายภาพบำบัด
การกายภาพบำบัดจะใช้เครื่องมือทางการแพทย์โดยตรง ดังนี้
- กลุ่มเครื่องมืออัลตราซาวนด์ จะใช้คลื่นเสียงในการรักษา เพื่อลดการอักเสบ และกระตุ้นการคลายตัวของกล้ามเนื้อ Piriformis
- กลุ่มเครื่องมือ Shock Wave ด้วยการกระตุ้นให้มีการปล่อยสารอักเสบออกมา เพื่อให้มีการฟื้นตัว ช่วยในการคลายกล้ามเนื้อ
- การฝังเข็ม Dry needling หรือการฝังเข็มแบบตะวันตก จะใช้รักษาในกรณีที่คลำแล้วเจอจุดเกร็งของกล้ามเนื้อชัดเจน หรือจุดกดเจ็บ(trigger point) โดยการจะฝังเข็มลงไป สะกิดเพื่อคลายปมกล้ามเนื้อ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ไปที่บริเวณของกล้ามเนื้อที่เกร็งค้างอยู่
6. ฉีดยาเข้าข้อสะโพก
หากรักษาด้วยการใช้ยาแก้ปวด การกายภาพบำบัด ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาการสลักเพชรจมยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ในเรื่องของการฉีดยาสเตียรอยด์ หรือโบท็อกซ์เข้าข้อสะโพก เพื่อลดการอักเสบ
7. ผ่าตัดสลักเพชรจม
วิธีสุดท้ายที่ใช้รักษาภาวะสลักเพชรจม นั่นก็คือการผ่าตัด เพื่อคลายการกดทับของเส้นประสาท Sciatic ที่โดนกดทับจากกล้ามเนื้อ ซึ่งต้องปรึกษากับทางแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopaedic) เพื่อวินิจฉัย และวางแผนการรักษากันต่อไป
การป้องกันภาวะสลักเพชรจม
การป้องกันไม่ให้เป็นภาวะสลักเพชรจม สามารถปรับ หรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงได้ ดังนี้
- เลี่ยงการนั่ง นอน ยืน อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ควรเปลี่ยนท่าทุกๆ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
- เลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อสะโพกหนักเกินไป เช่น การเดิน หรือวิ่งเยอะๆ
- ปรับท่านั่ง โดยการที่เท้าสามารถแตะพื้นได้ หลังตรง ไม่เอนหลัง
- หากต้องยกของ แนะนำให้ค่อยๆ ย่อเข่าลงไป ยกของขึ้นมา ไม่ควรก้มลงไปยกทีเดียว
- ยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อแกนกลางร่างกาย
ภาวะสลักเพชรจม รักษาหายถาวรไหม?
สลักเพชรจมรักษาหายไหม? ภาวะสลักเพชรจม สามารถรักษาให้หายได้ โดยต้องบรรเทาอาการปวด ปรับพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อ พร้อมกับออกกำลังกายร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะสลักเพชรจมสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากกลับไปมีพฤติกรรมเสี่ยง การใช้งานที่ทำให้กล้ามเนื้อ Piriformis มีการตึงตัวอักเสบ หรือมีการบาดเจ็บ จนไปทับเส้นประสาท Sciatic อีก
รักษาสลักเพชรจมที่ kdms Hospital ดีอย่างไร
kdms Hospital มีความพร้อมในการรักษาอาการสลักเพชรจมอย่างครบวงจร ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด ศัลยแพทย์กระดูก และข้อ (สำหรับกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกร่วมด้วย)
ทีมแพทย์มีความชำนาญในการวินิจฉัยแยกโรค ทั้งที่เกิดจากกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญในการรักษาอาการปวด และการบาดเจ็บ ซึ่งโรงพยาบาลมีเครื่องมือทันสมัยสำหรับการวินิจฉัย เช่น เครื่องเอกซเรย์ และเครื่อง MRI เพื่อให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำสูงสุด
จุดเด่นของโรงพยาบาลคือการมุ่งเน้นการรักษาเชิงป้องกัน เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของอาการในระยะยาว ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
สรุป
สลักเพชรจม หรือภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome) เกิดจากเส้นประสาท Sciatic โดนกดทับจากกล้ามเนื้อ piriformis หรือที่เรียกกันว่าสลักเพชร ทำให้มีอาการปวดลึกๆ ในสะโพก ก้น หรือก้นกบ รู้สึกเจ็บเมื่อกดสะโพก ปวดร้าวลงขาด้านหลัง และอาจมีอาการชาร่วมด้วย
การวินิจฉัย จะอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคที่มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาคล้ายกัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเสื่อม หากสงสัยอาการของโรคอื่นๆร่วม อาจใช้การ X-RAY หรือ MRI ร่วมในการวินิจฉัย
ภาวะสลักเพชรจมรักษาสามารถรักษาแบบประคับประคอง โดยการประคบอุ่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อสะโพก การใช้ยาแก้ปวด การทำกายภาพบำบัด หากไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาการฉีดยาเข้าสะโพก หรือการผ่าตัดสลักเพชรจมในกรณีที่ร้ายแรง
บทความโดย พญ.อักษราภัค พนมพรพานิช แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู