4 ทริคจัดบ้านให้คลิกกับผู้สูงวัย ป้องกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ

ครอบครัวไหนมีคนสูงอายุหรือผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา จะต้องเคยได้ยินคำพูดทำนองว่า “ให้ระวังการหกล้มหรือลื่นล้มของสมาชิกครอบครัวที่มีผู้สูงวัย” เพราะว่าเมื่อมีอายุมากขึ้น กระดูก กล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ ภายในร่างกายมักจะเสื่อมไปตามกาลเวลา อาจเกิดอาการกระดูกพรุน และกระดูกเปราะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการลื่นล้มในบ้านได้ง่าย และเกิดผลเสียร้ายแรงกว่าคนที่อายุยังน้อย โดยเฉพาะหากเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับกระดูกหัก เช่น กระดูกสะโพก ก็อาจจะทำให้มีผลต่อการเคลื่อนไหว และกระทบต่อคุณภาพการใช้ชีวิต นอกจากนี้ ระบบการซ่อมแซมร่างกายของผู้สูงวัยก็อาจไม่ดีเหมือนก่อน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความร้ายแรงต่อร่างกายในระยะยาว

ดังนั้นการปรับแต่งบ้านใหม่เมื่อสมาชิกในครอบครัวเริ่มเข้าสู่วัยชรา จึงเป็นเรื่องควรทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ สำหรับใครที่ยังไม่มีไอเดีย หรือไม่รู้จะเริ่มปรับบ้านจากตรงไหนดี วันนี้ KDMS มีคำแนะนำดีๆ มาฝากทุกท่านค่ะ

ทริคปรับแต่งทางเดินในบ้าน

  • ตรวจสอบรอยร้าวหรือพื้นต่างระดับที่อาจทำให้สะดุดล้มได้ง่าย ถ้าเป็นรอยร้าวให้รีบซ่อมแซม ส่วนพื้นต่างระดับ ถ้าไม่สามารถปรับได้ ควรใช้สติ๊กเกอร์หรือสีมาแปะไว้ที่ทางเดินเพื่อทำให้เด่นและสะดุดตา
  • ตรวจดูแสงไฟบนทางเดินว่าสว่างเพียงพอในเวลากลางคืนหรือไม่ บางครอบครัวอาจจะมองข้ามสิ่งนี้ไปหรือลืมสังเกตกันไปได้
  • ตรวจดูว่ามีสายไฟ หรือของตกแต่งที่มีฐานอยู่ที่พื้นหรือไม่ เพราะจะทำให้สะดุดล้มได้ง่าย หากมีควรพับเก็บให้เรียบร้อย
  • ไม่ใช้วัสดุปูพื้น พรม หรือผ้าเช็ดเท้าที่ลื่นเกินไป แนะนำว่าผู้สูงอายุควรหารองเท้าที่มีพื้นแข็งสวมใส่ใส่ในบ้าน
  • ไม่ควรวางของเอาไว้สูงเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเขย่งหรือเอื้อม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ทริคปรับแต่งบันได

  • ตรวจราวจับบันไดว่ามีความมั่นคงแข็งแรงอยู่หรือไม่ หากสามารถปรับแต่งบันไดได้ ควรมีความสูงประมาณ 34 นิ้ว และมีเส้นผ่านศูนย์กลางราวจับอยู่ที่ 1.5 นิ้ว และขนาดของขั้นบันไดแต่ละขั้นที่เหมาะสม คือ สูง 7.2 นิ้ว กว้างอย่างน้อย 11 หรือ 12 นิ้ว
  • สวิตช์ไฟของบันไดควรเป็นระบบที่สามารถเปิดได้จากทั้งสองฝั่งของบันได ทำให้ไม่ต้องเดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ และมืดๆ
  • ทางเดินและชานพักบันไดไม่ควรมีของวางเยอะเกินไป

ทริคปรับแต่งห้องน้ำ

  • ควรติดตั้งราวจับให้ช่วยดันตัวหรือเกาะตัวตรงบริเวณโถส้วม และที่อาบน้ำ หรืออาจเพิ่มเก้าอี้กันลื่นสำหรับนั่งอาบ เพื่อไม่ให้เกิดความเมื่อย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เข่าอ่อนและลื่นล้มลงได้
  • ควรเปลี่ยนพื้นห้องน้ำให้เป็นแบบกันลื่นเพื่อลดความเสี่ยงและหาผ้าเช็ดเท้าหนาๆที่ซับความชื้นได้ดีมาวางไว้หน้าห้องน้ำ

ทริคปรับแต่งห้องนอน

  • ตรวจสอบว่าเตียงมีความสูงพอเหมาะสำหรับการลุกในเวลาตื่นนอน พราะหลายบ้านมักเคยชินกับเตียงเก่าและใช้เป็นเวลานาน ซึ่งความสูงที่เหมาะสมของเตียงคือสามารถนั่งที่ข้างเตียงแล้วเท้าเหยียบพื้นได้มั่นคง ไม่งอหรือสูงเกินไป สะโพกตั้งฉาก ไม่เกิดการกดทับหรือต้องดันตัวมากเกินพอดี
  • ควรมีไฟที่หัวเตียง และระมัดระวังเรื่องการวางของกีดขวางทางเดินไปห้องน้ำหรือประตูห้อง

นอกจากนี้ ในทุกห้องๆ ยังมีควรติดตั้งปุ่มเรียกฉุกเฉินหรือโทรศัพท์ที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดอุบัติเหตุโดยโทรศัพท์ควรอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงเกินไป เพราะบางครั้งหากโทรศัพท์อยู่สูง เมื่อเราล้มลงที่พื้นแล้วถ้าลุกขึ้นไม่ไหว อาจจะไม่สามารถเอื้อมหยิบโทรศัพท์ได้ ดังนั้นต้องวางในตำแหน่งที่สามารถเอื้อมถึงเมื่อล้มลงที่พื้น

เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้มหรือลื่นล้มจนเกิดอันตรายให้กับผู้สูงวัยที่คุณรักและเคารพได้แล้ว

ศุกร์, 20 ส.ค. 2021
แท็ก
ผู้สูงอายุ
อุบัติเหตุผู้สูงอายุ
จัดบ้าน
แต่งบ้าน
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นๆ
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ประโยชน์ และความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ประโยชน์ และความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
อันตรายหรือไม่ ! ขยับท่าไหนก็มีเสียงกระดูกลั่น
ทำไมต้องกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ ?
เคลื่อนไหวลำบาก ออกกำลังได้จำกัด ให้ “ธาราบำบัด” ช่วยฟื้นฟู
top line

Login