โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาการผิดปกติตามข้อต่อ พร้อมแนวทางรักษา
Key Takeaway
|
อาการปวดตามข้อต่อไม่ควรมองข้าม อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์! มาทำความรู้จักว่าโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร พร้อมเผยสาเหตุของโรค วิธีสังเกตอาการตั้งแต่ระยะเริ่มต้น พร้อมแนวทางการรักษา หาคำตอบได้ในบทความนี้
Table of Contents
Toggleโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ คืออะไร
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ คือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง โดยมีลักษณะเด่นคือมักจะทำลายบริเวณข้อเป็นหลัก แต่ในผู้ป่วยบางรายก็ยังพบว่ามีการทำลายอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักมีอาการปวดข้อ ในลักษณะสมมาตรกัน เช่น หากปวดบริเวณมือ ก็จะปวดทั้งสองข้างเหมือนกัน ปวดบริเวณข้อนิ้ว ก็จะรู้สึกปวดทั้งสองข้างเช่นเดียวกัน
โดยทั่วไปแล้ว พบว่าคนไทยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประมาณ 0.3% – 1% ของประชากรทั่วไป มักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1 ถึง 3 เท่า โดยเชื่อว่าเกิดจากผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่พบได้ในผู้หญิง ส่งผลกับการอักเสบ
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกิดจากอะไร
แพทย์ได้อธิบายว่าโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เกิดจาก 2 ปัจจัยหลักรวมกันคือ พันธุกรรมที่มีมาตั้งแต่กำเนิด และปัจจัยแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
พันธุกรรม
นับว่าเป็นแม่กุญแจหลักของการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยพันธุกรรมในตัวเราตั้งแต่กำเนิดที่มีชื่อว่า HLA-DR4 เป็นพันธุกรรมที่เกี่ยวมีส่วนทำให้เกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้หากถูกกระตุ้นโดยปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
ปัจจัยแวดล้อม
ปัจจัยแวดล้อม เป็นลูกกุญแจที่เข้าไปกระตุ้นให้ HLA-DR4 ทำงานผิดปกติ โดยมีปัจจัยที่พบบ่อย 3 ปัจจัย คือ
- บุหรี่ คือปัจจัยแวดล้อมที่กระตุ้นเนื้อเยื่อบุทางเดินหายใจ เมื่อเนื้อเยื่อถูกทำลาย เซลล์บริเวณนั้นจะปล่อยโปรตีนออกมา เมื่อโปรตีนเข้าไปสัมผัสกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเยื่อบุข้อขึ้นมา
- เหงือกและฟัน การติดเชื้อแบคทีเรีย (Porphyromonas gingivalis) บริเวณเหงือกและฟันเกิด กระตุ้นการสร้างโปรตีน (citrullination) ทำให้บริเวณนั้นเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
- ลำไส้ การขาดสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้อักเสบ และหากปล่อยไว้เป็นเวลานานจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ได้
เมื่อปัจจัยแวดล้อมรวมกับพันธุกรรม HLA-DR4 กระตุ้นการสร้างโปรตีน (citrullination) ที่ผิดปกติ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ จากนั้นภูมิคุ้มกันก็จะเข้าไปทำลายเยื่อบุข้อในร่างกาย เกิดเป็นโรคที่เรียกกันว่า โรครูมาตอยด์ นั่นเอง
สังเกตอาการโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
อาการรูมาตอยด์ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักจะรู้สึกตึง ปวด บวม บริเวณข้อรยางค์ โดยเฉพาะข้อเล็กๆ เช่น ข้อโคนและข้อกลางของนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า และข้อมือ
อาการรูมาตอยด์ระยะต่อมา อาการปวดจะเริ่มขยับเข้าใกล้แกนกลางของลำตัว เช่น ข้อไหล่ ข้อเข่า และกระดูกสันหลังบริเวณคอ ทั้งนี้ อาการปวดบริเวณนี้สามารถเกิดในระยะแรกกับผู้ป่วยบางรายได้ด้วยเช่นกัน แต่มักไม่พบอาการปวดตรงกระดูกสันหลัง หรือกระดูกสะโพก
อีกหนึ่งอาการรูมาตอยด์ที่สังเกตได้ชัดคือ ฝืด ตึง หรือขัดบริเวณข้อในตอนเช้า เพราะหากข้ออักเสบที่หยุดการใช้งานเป็นเวลานาน ซึ่งช่วงที่นอนหลับจะเป็นเวลาที่ข้อเราพักการใช้งานนานที่สุด ทำให้การกลับมาใช้งานใหม่ในตอนเช้าจะรู้สึกฝืด ตึง ขัดได้ และมักจะกินเวลามากกว่า 1 ชั่วโมงจึงจะกลับมาใช้งานตามปกติได้ โดยสังเกตได้ว่าอาการฝืดตึงสามารถพบได้เช่นกันในโรคข้อเสื่อม แต่ระยะเวลาของอาการจะต่างกัน โดยข้อเสื่อมจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีก็กลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อันตราย! หากไม่รีบรักษา
หากปล่อยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ไว้ไม่รักษาอาจมีอาการที่อวัยวะอื่นร่วมด้วยได้ เช่นอาการทางปอด ไม่ว่าจะเป็นพังผืดที่ปอด ปอดอักเสบ รวมถึงอาการทางตา เช่น ตาแห้ง ตาแดง ตุ่มนูนที่เยื่อบุตาขาว และตาขาวอักเสบ รวมถึงภาวะซีดเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองโต และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
ความเสี่ยงอื่นๆ จากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ได้ด้วย เนื่องจากอาการอักเสบที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดโรคร่วม ไม่ว่าจะเป็นไขมันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดในสมองตีบ โรคกระดูกพรุน และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้
วินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทำได้อย่างไร
แพทย์มีการวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ด้วยแนวทางการวินิจฉัยหลัก ดังนี้
- การซักประวัติ โดยแพทย์จะมีสอบถามเกี่ยวกับอาการบ่งชี้ของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่พบบ่อย เช่น ปวดบวมข้อ ตึงข้อในตอนเช้า (Morning Stiffness) ปวดสมมาตร และผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ น้ำหนักลด หรืออ่อนเพลีย
- ตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจตามตำแหน่งที่รู้สึกปวด ว่ามีอาการบวม แดง กดเจ็บหรือไม่ และหากผู้ป่วยรู้สึกปวดเรื้อรังมาเป็นเวลานาน บริเวณที่ปวดอาจมีอาการผิดรูปให้เห็นได้
- ตรวจห้องปฏิบัติการ แพทย์จะตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับโรครูมาตอยด์ เช่น Rheumatoid Factor, Anti-CCP รวมถึงการตรวจค่าการอักเสบร่วมด้วย จากนั้นแพทย์จะนำผลตรวจเหล่านี้ไปแปลผลอีกครั้งเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย
- การใช้ภาพถ่ายรังสี หากผู้ป่วยรู้สึกปวดเรื้อรังเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะมีการ X-Ray บริเวณข้อที่มีอาการ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รวมทั้งการทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจอัลตราซาวด์บริเวณตำแหน่งข้อ เพื่อดูว่ามีการอักเสบของเยื่อบุข้อ หรือมีของเหลวในข้อหรือไม่
แนวทางการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
แนวทางการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการอักเสบ และลดความเสียหายของข้อต่อ บรรเทาอาการปวดให้กับผู้ป่วย และช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยหลักที่มักจะทำร่วมกัน 3 วิธี ได้แก่
การใช้ยา
รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์โดยการใช้ยา มีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดการทำงานผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติไปทำลายส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยแพทย์จะจ่ายยา DMARDs เป็นยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค มีส่วนช่วยลดการอักเสบ โดยเวลาในการออกฤทธิ์ของยาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4-6 สัปดาห์ จึงจะสามารถประเมินการตอบสนองต่อการรักษาได้
ในระหว่างที่ยา DMARDs ยังไม่ออกฤทธิ์เต็มประสิทธิภาพ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตามข้อได้ แพทย์จึงพิจารณาจ่ายยาบรรเทาอาการอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และยาบรรเทาอาการอักเสบใช้สเตียรอยด์ ช่วยลดปวดให้เร็วกว่า 4-6 สัปดาห์ ใช้เพื่อประคองอาการปวดจนกว่ายา DMARDs จะเริ่มออกฤทธิ์เต็มที่
การผ่าตัด
แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ร่วมกับการกินยาในกรณีที่คนไข้ข้อต่อเสียหาย ข้อต่อผิดรูปรุนแรง ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติได้ หรือรู้สึกปวดมากจนใช้ชีวิตไม่ได้
การทำกายภาพบำบัด
โดยทั่วไปแล้ว การทำกายภาพบำบัดจะทำควบคู่ไปกับการกินยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับความเสียหาย หรือรู้สึกปวด
ป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทำได้อย่างไรบ้าง
มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ไม่สามารถป้องกัน 100% ได้ แต่ก็มีแนวทางการป้องกันที่แพทย์แนะนำเพื่อลดโอกาสเกิดของโรค ดังนี้
- งดสูบบุหรี่ ช่วยลดโอกาสเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติซึ่งเป็นตัวหลักในการเกิดโรค
- หมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก เพราะโรคปริทันต์กระตุ้นการอักเสบของโรคได้
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะคนที่ BMI เกิน 30 มีไขมันสะสม ทำให้เกิดข้ออักเสบ และยังกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกายได้ด้วยเช่นกัน
- กินอาหารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ อาหารที่ลดโอกาสเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เช่น ปลาที่มีโอเมกา 3 ผัก ผลไม้ พืช ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัส ล้างมือบ่อยๆ ลดโอกาสเกิดการอักเสบ
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รักษาที่ kdms Hospital ดีอย่างไร
รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ kdms Hospital ดีอย่างไร? ที่นี่เป็นโรงพยาบาลกระดูกและข้อที่มีจุดเด่นด้านการรักษามากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- ทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะโรคข้อและรูมาติสซั่ม ที่มีประสบการณ์
- วินิจฉัยแม่นยำ รวดเร็ว เพราะมีการตรวจเลือดอย่างละเอียด ถ่ายภาพรังสีขั้นสูง ทั้งการทำ MRI และ X-Ray ที่ทำให้วินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ตั้งแต่ระยะแรก
- มียารักษาสำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ครบครัน
- มีการติดตามผล และปรับแผนการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อย่างใกล้ชิด
- มีการดูแลแบบองค์รวม ประสานงานกับแพทย์โรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรครูมาตอยด์ได้ เช่น แพทย์ศัลยกรรมกระดูก แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นต้น
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
สรุป
โรครูมาตอยด์ คือโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานอย่างผิดปกติ ทำให้ตัวภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายตัวเอง โดยอาการมักจะเริ่มจากบริเวณข้อเป็นหลัก ผู้ป่วยมักจะรู้สึกถึงอาการรูมาตอยด์ไม่ว่าจะเป็นปวดข้อในลักษณะสมมาตร อาการบวมบริเวณที่ปวด รวมทั้งฝืด ตึง หรือขัดบริเวณข้อในตอนเช้า หลังจากวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะจ่ายยา DMARDs เพื่อลดการอักเสบ และพิจารณารักษาควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด และผ่าตัดหากจำเป็น
บทความโดย พญ.อักษิกา สาลิง แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม