การผ่าตัดข้อเทียม ด้วยเทคโนโลยี “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด”
ในปัจจุบัน ข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาที่สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวยังมีปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) ซึ่งมีความแม่นยำ ให้ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ลดระยะเวลาพักฟื้น และยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวและดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติเร็วขึ้นอีกด้วย
Table of Contents
การผ่าตัดข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดคืออะไร ?
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด คือการทำหัตถการโดยปราศจากแพทย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การผ่าตัดข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) คือ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้การผ่าตัดข้อเทียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ เพิ่มความเที่ยงตรง ปลอดภัย และลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดในการผ่าตัด เช่น อุปกรณ์และการวัดจากคอมพิวเตอร์สามารถวางตำแหน่งของข้อเทียมใหม่ให้มีความพอดี เหมาะสม และเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งมีโครงสร้างร่างกายโดยธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไปได้ ในจุดนี้ช่วยลดปัญหาความผิดรูปและความไม่สมดุลที่อาจส่งผลให้เกิดข้อเทียมหลวมหรือทรุดตัวลง ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยต้องรับการผ่าตัดครั้งที่สองเพื่อปรับแก้ไข เป็นต้น ซึ่งการใช้เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้น ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดแบบดั้งเดิมและต้องผ่านการฝึกอบรมการใช้งานหุ่นยนต์มาโดยเฉพาะ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดร่วมกับการทำงานของเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งในส่วนของแขนกลหุ่นยนต์ กล้องจับสัญญาณภาพ 3 มิติ ที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ และเครื่องมือที่ใช้สำหรับการประมวลผล ทำให้แพทย์สามารถปรับข้อเทียมให้เข้ากับการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยแต่ละคนได้ในระหว่างการผ่าตัด กล่าวได้ว่า การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้นช่วยสร้างข้อเทียมที่มีความเฉพาะสำหรับคนไข้แต่ละคนได้ ซึ่งเปรียบได้กับชุดสั่งตัด (Tailor-made) ที่ช่างตัดเสื้อได้ทำขึ้นเพื่อให้เจ้าของชุดใส่ได้อย่างพอดีโดยเฉพาะ
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีบทบาทสำคัญอย่างไรในการผ่าตัดรักษาข้อเทียม
ในทางการแพทย์ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ และมีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพโครงสร้างของกระดูกและข้อจากการสร้างภาพ 3 มิติได้อย่างชัดเจนขึ้นแล้วนั้น หุ่นยนต์ยังมีแขนกลที่สามารถเคลื่อนไหว ปรับให้โค้งงอ และหมุนได้ ทำให้การผ่าตัดในตำแหน่งที่เข้าถึงยากหรือมีความซับซ้อนเป็นเรื่องง่ายขึ้น ซึ่งช่วยในการลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยยังสามารถฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น เนื่องมาจากเสียเลือดน้อย และมีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็ก
ในปัจจุบันหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้ามาช่วยรักษาผ่าตัดโรคต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อาทิ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบตับ น้ำดี ตับอ่อน โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคทางนรีเวช โรคทางระบบหายใจและทรวงอก รวมถึง การผ่าตัดทั่วไป เช่น ผ่าตัดกระเพาะ ลำไส้ ข้อเข่า เป็นต้น
เปรียบเทียบการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแบบดั้งเดิมและการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
การผ่าตัดแบบดั้งเดิม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั่วไป เป็นการผ่าตัดผิวข้อส่วนที่เสื่อมออกแล้วทดแทนด้วยโลหะสังเคราะห์และพลาสติกพิเศษ มีข้อดีคือช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ ซึ่งในการผ่าตัดจะต้องอาศัยประสบการณ์ของแพทย์เป็นหลัก แต่แพทย์ยังมีความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) ที่ส่งผลต่อความแม่นยำในการผ่าตัด เช่น การวางองศาของข้อเข่าคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรเป็น ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ข้อเข่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างเช่น นั่งกับพื้น นั่งยอง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ วิ่งหรือออกกำลังกายได้
การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
หลักการทำงานของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมและการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือ การวางแผนก่อนผ่าตัดทั้งขนาด ตำแหน่งและมุมของข้อเข่า ด้วยการประมวลผลจากภาพ CT Scan ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่จะใช้ภาพจากการเอกซเรย์ หลังจากนั้น ทำการส่งผลไปยังแขนกลหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยลดการบาดเจ็บที่เกิดกับเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นบริเวณข้อเข่า รวมไปถึง ลดความผิดพลาดและป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัด เช่น หากแพทย์จะตัดโดนบริเวณอื่น หุ่นยนต์จะหยุดการทำงานทันที เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังช่วยให้แพทย์ปรับสมดุลของข้อเทียมได้ในระดับมิลลิเมตร เพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนมากที่สุด ทำให้ผู้ป่วยสามารถขยับข้อต่อได้ทุกองศาและสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเป็นปกติ
แม้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ต้องเพิ่มอุปกรณ์ที่ยึดระหว่างหุ่นยนต์และร่างกายที่มีขนาดจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละคน ส่งผลให้มีราคาที่เพิ่มเข้ามาจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ทาง KDMS Hospital มีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับผู้ป่วยในราคาที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ และมีความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่ผู้ป่วยได้รับ
ขั้นตอนวิธีการทำงานของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นอย่างไร?
เริ่มจากหุ่นยนต์ประมวลภาพของข้อเข่าที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมจากข้อมูลที่แพทย์ป้อนเข้าไป ทำให้ได้ภาพจำลองดิจิทัล ที่มีลักษณะเฉพาะเหมือนข้อเข่าของผู้ป่วยในแต่ละราย แพทย์จะเริ่มทำการเปิดบริเวณข้อเข่าที่ผิดปกติ แล้วใช้แขนกลตัดเฉพาะส่วนของกระดูกอ่อนและกระดูกหัวเข่าที่เสื่อมออก โดยดูจากภาพ 3 มิติ ที่ปรับความละเอียดในการตัดกระดูกได้ถึงครั้งละ 0.2 มิลลิเมตร และทำผลการผ่าตัดให้มีค่าความเบี่ยงเบนไม่เกิน 1 มิลลิเมตร หรือ 1 องศาของมุมของข้อเข่า หลังจากนั้น แพทย์จะทำการวางแผนการใส่ผิวข้อเข่าเทียม ก่อนทำการตัดเฉพาะส่วนผิวข้อที่ผิดปกติออกไป โดยระหว่างที่ทำการผ่าตัด แพทย์จะดูภาพ 3 มิติแบบเรียลไทม์ของข้อเข่าผ่านทางจอมอนิเตอร์ และเมื่อตัดเอาผิวข้อที่เสื่อมออกหมดแล้ว จึงนำผิวข้อเข่าเทียมเข้าไปวางแทนที่ในตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นผิวข้อที่เสื่อมได้อย่างแม่นยำ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยกลุ่มใด ?
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้น เหมาะกับผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการหรือมีความผิดปกติรุนแรง จนจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเข่าจนไม่สามารถเดินได้ มีข้อสะโพกหรือขาโก่งผิดรูป ความยาวของขาไม่เท่ากัน มีอาการติดขัดของข้อเมื่อทำการเหยียดงอ เป็นต้น รวมถึง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของข้อที่เกิดจากข้อเสื่อมตามช่วงวัย อุบัติเหตุ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยควรทราบถึงขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนรับการรักษาทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด เพื่อทราบถึงวิธีการเลือกเครื่องมือสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้มีความเหมาะสมและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา มีดังนี้
- ตรวจสุขภาพ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- หยุดทานยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด ถ้าหากมีโรคประจำตัว ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ฝึกบริหารกล้ามเนื้อ เพื่อเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อขารอบเข่าให้แข็งแรง
- ทำ CT Scan วางแผนก่อนผ่าตัด ให้แพทย์รู้ถึงขนาด ตำแหน่ง และมุมของข้อเข่า เพื่อวางแผนก่อนทำการผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะเหมือนกับการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดดั้งเดิม แต่แตกต่างที่ผู้ป่วยต้องทำ CT Scan เพื่อความแม่นยำในการผ่าตัด
หลังการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดควรปฎิบัติตนอย่างไรบ้าง?
หลังจากเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยควรทราบถึงขั้นตอนการดูแลตนเอง เพื่อคลายความกังวลของตัวผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึง ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนหลังจากได้รับการผ่าตัด ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือพยาบาลที่เป็นผู้ดูแลได้ โดยการดูแลตนเองหลังเข้ารับการรักษา มีดังนี้
- ควรปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และรับประทานยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์สั่ง
- ในระหว่างการพักฟื้นที่โรงพยาบาล ทีมแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด จะฝึกให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้เข่า
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลผ่าตัดโดยตรง แพทย์จะปิดแผลด้วยแผ่นปิดแบบกันน้ำ และเทปยึดติดผิวหนัง ผู้ป่วยต้องระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ และห้ามแกะแผ่นปิดแผลออกเองโดยเด็ดขาด
- สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเกาต์ ที่ต้องควบคุมอาหารเพื่อไม่ให้กระตุ้นอาการของโรค
- ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งและน้ำตาล เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป
- ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีระยะฟื้นตัวที่ต่างกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อายุยังน้อย จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ซึ่งการใช้หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีช่วยผ่าตัด จะช่วยลดระยะเวลาฟื้นตัวจากเดิม
เป้าหมายสูงสุดของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
ในการรักษาทั้งวิธีการไม่ผ่าตัดหรือผ่าตัดนั้น ล้วนมีเป้าหมายสูงสูดเพียงอย่างเดียว คือ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย กล่าวคือ ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหรือเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติที่สุด เพราะมีข้อต่อที่มั่นคง แข็งแรงและสมดุลในทุกองศาของการขยับตัว รวมไปถึง สามารถฟื้นตัวได้เร็วและไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา
สรุป
การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผลการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยที่คาดว่าตนเองมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางการรักษา เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และคุ้มค่ากับผู้ป่วยมากที่สุด
คำถามที่พบบ่อย
การผ่าตัดข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดคืออะไร ?
การผ่าตัดข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดคือ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้การผ่าตัดข้อเทียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ เพิ่มความเที่ยงตรง ปลอดภัย และลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดในการผ่าตัด เช่น อุปกรณ์และการวัดจากคอมพิวเตอร์สามารถวางตำแหน่งของข้อเทียมใหม่ให้มีความพอดี เหมาะสม และเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งมีโครงสร้างร่างกายโดยธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไปได้
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีบทบาทสำคัญอย่างไรในการผ่าตัดรักษาข้อเทียม ?
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ และมีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพโครงสร้างของกระดูกและข้อจากการสร้างภาพ 3 มิติได้อย่างชัดเจนขึ้นแล้วนั้น หุ่นยนต์ยังมีแขนกลที่สามารถเคลื่อนไหว ปรับให้โค้งงอ และหมุนได้ ทำให้การผ่าตัดในตำแหน่งที่เข้าถึงยากหรือมีความซับซ้อนเป็นเรื่องง่ายขึ้น