อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เกิดขึ้นได้อย่างไร ปล่อยไว้อันตรายหรือไม่

อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เกิดขึ้นได้อย่างไร ปล่อยไว้อันตรายหรือไม่

นั่งทำงานติดต่อกันนานๆ ไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดสะบักร้าวลงแขน หลายๆ คนที่สังเกตพบอาการแบบนี้ส่วนใหญ่อาจคิดว่าเป็นแค่อาการปวดเมื่อย หรือออฟฟิศซินโดรมธรรมดา ที่พักสักนิดก็น่าจะหายไปเองได้ แต่ในความเป็นจริง อาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่เป็นอยู่นั้น อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคอื่นๆ ที่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ก็จะยิ่งเป็นอันตรายรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น การทำความเข้าใจและรู้จักกับอาการปวดสะบักร้าวลงแขนให้ดีว่า เกิดได้จากสาเหตุอะไรได้บ้าง และเป็นสัญญาณเตือนมาจากโรคใดได้บ้าง เพื่อช่วยให้เราดูแลตัวเอง ดูแลคนที่รักใกล้ชิด และป้องกันอันตรายจากอาการปวดสะบักหลังร้าวลงแขนที่จะเกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น

Table of Contents

สะบักคืออะไร ทำความเข้าใจอาการปวดสะบักร้าวลงแขนได้ดีขึ้น

 สะบัก หรือ Scapula Area คือกระดูกชิ้นหนึ่งที่อยู่ตรงบริเวณช่วงอกทางด้านหลัง มี 2 ฝั่งทั้งซ้ายและขวา ซึ่งเป็นกระดูกลักษณะรูปสามเหลี่ยมที่ต่อจากบ่าลงไป โดยบริเวณกระดูกสะบักจะมีกล้ามเนื้อมาเกาะรัดอยู่ ซึ่งจะเชื่อมโยงติดกับบ่า ไหล่ และหลังบางส่วนด้วย

ดังนั้น ในความเข้าใจของผู้ป่วยเมื่อบอกว่าปวดสะบัก หรือปวดสะบักร้าวลงแขน มักจะเป็นการเหมารวมอาการปวดคอ บ่า ไหล่ รวมไปด้วย หรือเป็นอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อรอบกระดูกสะบักนั่นเอง

 อาการปวดสะบัก เป็นอย่างไร

เมื่อที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดบริเวณสะบัก แพทย์จะมีแนวทางในการตรวจวินิจฉัย และแบ่งอาการปวดสะบักออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้

  1. อาการปวดสะบักโดยตรง ซึ่งอาจมีส่วนประกอบของบริเวณสะบักที่มีปัญหา ได้แก่ กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และช่องอกที่อยู่ติดกับสะบัก ดังนั้น หากบริเวณเหล่านี้มีปัญหาก็อาจเกิดอาการปวดบริเวณสะบักได้
  2. อาการปวดสะบักที่ร้าวมาจากตำแหน่งอื่นๆ หรือที่เรียกกันว่า Referred Pain ซึ่งมักจะเป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยมีปัญหาที่บริเวณกระดูกคอ กล้ามเนื้อกระดูกคอ หรือบ่ามีอาการเกร็งขึ้นมา จนทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงมาที่สะบัก รวมถึงทำให้ปวดสะบักร้าวลงแขนได้ หรืออาจจะมีปัญหาจากการปวดเส้นประสาทที่คอ และอาจจะมาจากการที่เส้นเอ็นข้อไหล่มีปัญหาได้

เนื่องจากอาการปวดสะบักร้าวลงแขนมีสาเหตุที่มาได้จากหลากหลายจุด แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้สามารถค้นพบสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าเป็นอาการปวดที่บริเวณสะบักเองโดยตรง หรือเป็นอาการปวดร้าวมาจากตำแหน่งอื่นๆ อันจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ถูกต้องตรงจุด และได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

สาเหตุอาการปวดสะบักร้าวลงแขน

สาเหตุอาการปวดสะบักร้าวลงแขน

กลุ่มผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดสะบักร้าวลงแขนมีได้หลายสาเหตุแต่ที่พบได้บ่อย มักจะเป็นโรคดังต่อไปนี้

  • กลุ่มอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่มาจากโรคออฟฟิศซินโดรม หรือ Myofascial Pain Syndrome (MPS) เป็นกลุ่มผู้ป่วยปวดสะบักร้าวลงแขนที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบสะบักเกิดการเกร็งตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้งานซ้ำๆ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณช่วงคอ บ่า ไหล่ และสะบัก ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัวขึ้นมา เกิดจุดกดเจ็บ (Trigger Point) บริเวณดังกล่าวก็จะสร้างความปวดร้าวลงไปที่สะบักหรือแขนได้ จึงเรียกว่าเกิดอาการ ปวดสะบักร้าวลงแขน
  • กลุ่มอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่มาจากปัญหาบริเวณกระดูกคอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีปัญหาเรื่องภาวะกระดูกคอเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาทที่คอ ซึ่งเส้นประสาทบริเวณคอจะส่งตัวทอดยาวผ่านลงมาที่สะบักรวมถึงผ่านยาวลงมาที่บริเวณแขนด้วย ทำให้ปวดคอร้าวลงมาที่สะบัก และมีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนได้ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการชาและอ่อนแรงที่แขนร่วมด้วย
  • กลุ่มอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่มาจากปัญหาบริเวณข้อไหล่ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีปัญหาที่บริเวณข้อไหล่ เช่น เอ็นข้อไหล่อักเสบ ไหล่ติด หรือเอ็นข้อไหล่ฉีก จึงทำให้มีอาการปวดร้าวบริเวณข้อไหล่ แต่ในบางครั้งก็จะมีอาการปวดร้าวลงมาที่สะบัก แขน หรือข้อศอกร่วมด้วยได้

ปวดสะบักร้าวลงแขน ทิ้งไว้ไม่รักษา อันตรายไหม

อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนั้น การปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบรักษาจึงมีความเสี่ยงอันตรายแตกต่างกันไปตามสาเหตุของการเกิดโรค ดังต่อไปนี้

  • กรณีเกิดจากโรคออฟฟิศซินโดรม หากไม่ได้รับการรักษา ถือว่าไม่ได้เป็นอันตรายอะไร เพียงแต่จะสร้างความเจ็บปวด ความรำคาญในการใช้งานเท่านั้น เช่น ทำให้เราไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อได้เต็มที่ มีอาการปวดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • กรณีเกิดจากปัญหาบริเวณกระดูกคอ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะต้องทำการตรวจว่ามีปัญหาของการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อทำการรักษาต่อไป
  • กรณีเกิดจากปัญหาบริเวณไหล่ หากไม่ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ในกรณีมีอาการปวดเรื้อรังไม่หาย อาจจะเกิดจากเส้นเอ็นข้อไหล่อักเสบหรือมีเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด นอกจากทำให้ปวดแล้วหากปล่อยไว้นานก็อาจจะมีปัญหาไหล่ติดยกไหล่ไม่ขึ้นได้  เวลายกไหล่ก็ปวด นอนตอนกลางคืนก็ปวด มีอาการไหล่ตึง โดยเฉพาะเวลานอนตะแคงที่ต้องทับไหล่ ก็จะยิ่งปวดมากขึ้นได้ 

โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดสะบักร้าวลงแขนในกรณีใดก็แล้วแต่ หากสังเกตอาการแล้วพบว่าปวดไม่หาย ทานยาแก้ปวดเองแล้วไม่หาย ไปทำกายภาพบำบัดที่คลินิกมาบ้างแล้วไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัย และหาแนวทางในการรักษาที่ตรงจุดกับสาเหตุของโรค เพื่อให้หายดีและกลับมาใช้ชีวิตประจำวัน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ

กลุ่มเสี่ยงอาการปวดสะบักร้าวลงแขน

อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เป็นอาการที่ใครก็สามารถเป็นได้ แต่ก็จะมีกลุ่มเสี่ยงที่พบได้บ่อยซึ่งจะแยกไปตามสาเหตุของอาการ ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่มาจากโรคออฟฟิศซินโดรม พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมทำงานที่ต้องก้มคอนานๆ แล้วไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ เช่นกลุ่มคนวัยทำงาน หรือกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยๆ รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังทำงานหน้าคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
  • กลุ่มอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่มาจากปัญหาบริเวณกระดูกคอ จะพบได้บ่อยในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่ทำงานก้มคอเยอะๆ ติดต่อกันนานๆ และผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกคอเสื่อมไปตามวัย
  • กลุ่มอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่มาจากปัญหาบริเวณข้อไหล่ จะพบได้บ่อยในกลุ่มนักกีฬา หรือคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำที่ต้องใช้ไหล่เยอะกว่าปกติ หรือในกลุ่มผู้สูงอายุเองก็พบได้บ่อยเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงเอ็นข้อไหล่เสื่อมฉีกขาดได้ง่าย

ตรวจวินิจฉัยอาการปวดสะบักร้าวลงแขน 

เนื่องจากอาการปวดสะบักร้าวลงแขนของผู้ป่วยแต่ละราย มีสาเหตุที่แตกต่างกันไป แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง อันนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ถูกต้องตรงจุดได้ โดยแนวทางในการวินิจฉัยนั้น มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ซึ่งแพทย์จะสอบถามถึงลักษณะของอาการปวดสะบักว่า ว่ามีลักษณะอาการปวดอย่างไร ปวดร้าวลงแขนหรือไม่ มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อพิจารณาดูว่าเข้ากับสาเหตุของโรคกลุ่มไหน
  2. ตรวจร่างกาย ซึ่งจะทำได้ตั้งแต่การคลำหาจุดกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตลอดจนไปถึงอาจมีการตรวจร่างกายโดยละเอียดที่เรียกว่าการทำ Special Test เช่น การตรวจคอ ตรวจไหล่ เพื่อค้นหาว่ามีภาวะโรคกระดูกคอเสื่อม หรือมีภาวะเอ็นข้อไหล่มีปัญหาหรือไม่   
  3. ตรวจเอกซเรย์ เพื่อหาความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการปวดสะบักร้าวลงแขน เช่น เอกซเรย์กระดูกคอ เอกซเรย์กระดูกข้อไหล่ โดยการเอกซเรย์จะทำให้แพทย์เห็นสภาพพยาธิสภาพบางอย่างได้ชัดเจนว่า อาการผิดปกตินั้นเป็นสาเหตุมาจากอะไร
  4. ตรวจ MRI ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าอาการปวดสะบักร้าวลงแขนเป็นผลมาจากกระดูกคอเสื่อมหรือเคลื่อนกดทับเส้นประสาท รวมถึงสงสัยว่าอาจเป็นเพราะเอ็นข้อไหล่ฉีก โดยการทำ MRI จะช่วยให้เห็นความผิดปกติที่ชัดเจนอันนำไปสู่การวินิจฉัยหาสาเหตุที่แม่นยำได้มากที่สุด

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

การรักษาอาการปวดสะบักร้าวลงแขน ทำได้อย่างไรบ้าง

การรักษาอาการปวดสะบักร้าวลงแขน ทำได้อย่างไรบ้าง

แนวทางในการรักษาผู้ป่วยปวดสะบักร้าวลงแขนนั้น แพทย์จะพิจารณาจากอาการและกลุ่มโรคเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงให้พบก่อนว่าอาการปวดสะบักร้าวลงแขนนั้นเกิดจากสาเหตุใด โดยมีแนวทางในการรักษาและบรรเทาอาการ ดังต่อไปนี้

  • จ่ายยาระงับปวด ลดอักเสบ คลายกล้ามเนื้อ หรือลดอาการปวดที่บริเวณเส้นประสาท ซึ่งก็จะพิจารณาจัดยาให้เหมาะสมกับอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่จำแนกไปตามแต่ละสาเหตุของการเกิดโรค
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่เกิดจากออฟฟิศซินโดรม แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานนานๆ นั่งก้มคอนานๆ ควรมีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถอย่างน้อยทุกหนึ่งชั่วโมง เช่นลุกขึ้นเดิน ยืน ยืดเหยียด เป็นต้น ส่วนในกรณีกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนจากเอ็นข้อไหล่ฉีก แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือการขยับตัวที่ทำให้เกิดอาการปวด รวมถึงไม่ควรยกของหนักเกินไป
  • กายภาพบำบัด ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การทำช็อกเวฟ การใช้เลเซอร์ การฝังเข็ม ultrasound เป็นต้น ตลอดจนการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา หรือ Therapeutic exercise โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วย มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปวดคลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งเกิดการคลายตัว บรรเทาอาการเจ็บปวด และป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
  • การผ่าตัด แพทย์จะพิจารณารักษาอาการปวดสะบักร้าวลงแขนด้วยการผ่าตัด เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเท่านั้น เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท หรือเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งเคยทำการรักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล หรือในกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะเอ็นข้อไหล่ฉีกและรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่หาย ก็จะพิจารณาผ่าตัดรักษาได้เช่นกัน

ข้อควรรู้ในการรักษาอาการปวดสะบักร้าวลงแขน

อาการปวดสะบักร้าวลงแขน สำหรับบางคนอาจมองว่าเป็นอาการปวดเมื่อยทั่วๆ ไปที่ไม่เป็นอันตราย แต่ในความเป็นจริงอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้มากกว่าที่คิด ซึ่งไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษา วินิจฉัย และทำการรักษาให้หายดี ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ มีข้อควรรู้ในการรักษาอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  • อาการปวดสะบักร้าวลงแขนมีหลายสาเหตุ อาจไม่ใช่แค่อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อธรรมดา แต่เป็นผลมาจากภาวะกระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท เอ็นข้อไหล่อักเสบ ฉีกขาด ก็ได้เช่นกัน ดังนั้น ในการรักษาจึงต้องวินิจฉัยอาการให้ถูกต้องว่าเป็นเพราะอะไร จึงจะสามารถรักษาได้อย่างถูกต้อง
  • ควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อโดยตรง เพื่อความถูกต้องแม่นยำ และการวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับอาการของโรค
  • รักษาหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จนทำให้เกิดความผิดปกติที่กล้ามเนื้อ กระดูกคอ บ่า ไหล่ ดังนั้น แนวทางในการรักษาและการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ จึงต้องอาศัยวินัยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ป้องกันอาการปวดสะบักร้าวลงแขนได้อย่างไร

ป้องกันอาการปวดสะบักร้าวลงแขนได้อย่างไร

ในการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดสะบักร้าวลงแขนนั้น มีแนวทางในการปฏิบัติตัวง่ายๆ สามารถแบ่งได้ตามสาเหตุของการเกิดโรค ดังต่อไปนี้

  • กรณีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนจากโรคออฟฟิศซินโดรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน เช่น ปรับเปลี่ยนท่านั่ง การมองหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ โดยต้องไม่นั่งก้มคอมากเกินไป ไม่นั่งหลังค่อม พยายามเลือกเก้าอี้ที่เข้ากับสรีระ ปรับหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา ก็จะช่วยลดอาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อสะบักได้ รวมถึงควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกหนึ่งชั่วโมง บริหารร่างกาย ยืดเหยียดบ้าง ก็จะยิ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดสะบักร้าวลงแขนได้ดีมากขึ้น
  • กรณีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนจากปัญหากระดูกคอเสื่อม ต้องระมัดระวังการนั่งก้มคอนานๆ เพราะการนั่งก้มคอจะเพิ่มแรงกดทับบริเวณกระดูกคอให้สูงขึ้น ส่งผลให้ปวดคอง่าย กระดูกคอเสื่อมไวขึ้น รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการสะบัดคอแรงๆ เพราะเป็นพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดสะบักร้าวลงแขนได้เช่นกัน
  • กรณีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนจากปัญหาข้อไหล่ ต้องระมัดระวังการทำกิจกรรมที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการปวดไหล่ หรือส่งผลทำให้เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เช่น ไม่ยกไหล่สูง ไม่ออกกำลังกายไหล่หักโหมเกินไป ไม่ยกของหนักเกินไป โดยรวมคือต้องลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณไหล่

รักษาปวดสะบักร้าวลงแขนที่ kdms Hospital ดีอย่างไร

เนื่องจากอาการปวดสะบักร้าวลงแขน เป็นอาการผิดปกติที่มีสาเหตุเกิดได้จากหลายโรคหลายปัจจุบัน ในการเข้ารับการรักษาจึงควรได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ที่ kdms Hospital ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ ว่าอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่เป็นอยู่นั้น เป็นผลมาจากโรคอะไร เป็นที่กล้ามเนื้อผิดปกติ กระดูกคอทับเส้นประสาท หรือเป็นที่เอ็นข้อไหล่มีปัญหา หรือว่าเป็นเพราะสาเหตุอื่นๆ

การวินิจฉัยที่ถูกต้องจะนำไปสู่แผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อาการปวดหายดี ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก หรือไม่ลุกลามรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล kdms Hospital จะช่วยสร้างความมั่นใจและความอุ่นใจให้กับทุกคนได้ เพราะทุกๆ ขั้นตอนจะดูแลโดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อโดยตรง 

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

สรุป 

เมื่อเราใช้ร่างกายนานๆ นั่งนานๆ นั่งก้มคอ นั่งหลังค่อม ออกกำลังกาย และใช้ชีวิตด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ซ้ำๆ เดิมๆ หรือหนักเกินไป ก็เสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติที่กระดูกสะบักและกล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดอาการปวดสะบักร้าวลงแขนได้ ซึ่งสาเหตุนั้นก็มีหลายปัจจัย โดยอาจเป็นผลมาจากการปวดกล้ามเนื้อโดยตรง หรือเป็นผลมาจากภาวะกระดูกคอเสื่อม หรือมีความผิดปกติที่ข้อไหล่ก็ได้ 

หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติ ปวดสะบักร้าวลงแขน ซึ่งกินยาแก้ปวดเองแล้วไม่หาย และปวดเรื้อรัง ควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและวางแผนการรักษาให้ถูกต้อง ให้สามารถลดอาการปวดหายดีและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

คำถามที่พบบ่อย

เมื่อเกิดอาการปวดสะบักร้าวลงแขนขึ้นมา หลายๆ คนก็อาจมีความสงสัยขึ้นในใจ ซึ่งต้องการคำตอบเบื้องต้นก่อนที่จะตัดสินใจไปพบแพทย์ ซึ่งเราได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำตอบเอาไว้ในเบื้องต้นแล้วเพื่อช่วยคลายความกังวลสงสัย ให้กับทุกคนที่มีอาการปวดสะบักร้าวลงแขน ดังต่อไปนี้ 

ปวดสะบักร้าวลงแขน รักษาด้วยวิธีไหนดีที่สุด?

การรักษาอาการปวดสะบักร้าวลงแขน มีทั้งมีการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาโดยการไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ โดยแบ่งเป็นการให้ยาเพื่อลดปวด การปรับพฤติกรรม การทำกายภาพบำบัด โดยถ้าทำทุกวิธีแล้วไม่ได้ผล จึงจะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป 

อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่ดีที่สุดนั้น จะขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรด้วย เพราะอาการปวดสะบักร้าวลงแขนมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย จึงต้องวินิจฉัยหาสาเหตุให้พบก่อนว่าเป็นโรคอะไร จึงจะสามารถหาแนวทางในการรักษาที่ตอบโจทย์และเหมาะสมที่สุดได้ 

อยากรู้ว่ามีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนไหม ต้องสังเกตตัวเองอย่างไร?

สังเกตได้ง่ายๆ จากความรู้สึกปวดบริเวณกระดูกสะบัก ซึ่งอยู่หน้าหลังบริเวณช่วงอกที่ต่อจากบ่า ทั้งนี้ อาจมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ร้าวลงแขนร่วมได้ และในกรณีที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกคอเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท อาจมีอาการชา อ่อนแรงที่แขนร่วมด้วยได้

การนวดแก้อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เจ็บไหม?

ในความเป็นจริงแล้วการนวด เป็นหนึ่งในวิธีการลดปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ดี แต่ต้องทำอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย นอกจากนั้นแล้ว เพื่อความปลอดภัย ก็จำเป็นต้องทราบด้วยว่า อาการปวดสะบักร้าวลงแขนนั้นมาจากสาเหตุอะไร เพื่อให้การนวดเป็นไปอย่างปลอดภัยที่สุด 

หากอาการปวดสะบักร้าวลงแขน เป็นผลมาจากกระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกคอเคลื่อน หากนวดคอแรงเกินไปจนอาการรุนแรงมากขึ้นได้ เช่นกันกับในกรณีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนที่เกิดจากข้อไหล่มีปัญหา การนวดไหล่โดยไม่ทราบอาการผิดปกติ ก็อาจทำให้เป็นอันตรายได้

ทางที่ดีที่สุด ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อน และหากจำเป็นต้องนวด ทำกายภาพบำบัดรักษา ก็ควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อโดยตรง

อาการปวดสะบักร้าวลงแขน กับ สะบักจม ต่างกันอย่างไร?

ไม่ต่างกัน โดยรวมแล้ว “สะบักจม” เป็นคำเรียกอาการปวดสะบัก หรืออาการปวดสะบักร้าวลงแขนของคนทั่วไป ซึ่งไม่ได้มีความหมายเจาะจงหรือแยกแยะชัดเจนว่าเป็นการปวดสะบักร้าวลงแขนที่เกิดจากสาเหตุไหน ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียกว่าอาการปวดสะบักร้าวลงแขน หรืออาการสะบักจม ก็ถือว่าไม่ต่างกัน แต่ถือเป็นอาการสัญญาณเตือนว่าร่างกายมีความผิดปกติ ที่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุโรคและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง

บทความโดย: นพ.จิรชัย พิสุทธิ์เบญญา ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง

ศุกร์, 12 ก.ค. 2024
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
  อาการปวดที่รบกวนชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อที่ต้องได้รับการดูแล อย่าปล่อยให้อาการเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่  ...
package เริ่มต้นที่ 1800* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2025
ผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope  แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว รักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง...
package 346,000* บาท
ผ่าตัดส่องกล้อง MIS TLIF 1 ระดับ เพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง ผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope  แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว รักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเค...
package 416,000* บาท
บทความอื่นๆ
สะบักจมคืออะไร รู้สาเหตุ รักษาสะบักจมให้ตรงจุด หยุดอาการปวดเรื้อรัง
สะบักจมคืออะไร รู้สาเหตุ รักษาสะบักจมให้ตรงจุด หยุดอาการปวดเรื้อรัง
อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เกิดขึ้นได้อย่างไร ปล่อยไว้อันตรายหรือไม่
อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เกิดขึ้นได้อย่างไร ปล่อยไว้อันตรายหรือไม่
กระดูกสันหลังยุบ จากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
กระดูกสันหลังยุบ จากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
กระดูกสันหลังเคลื่อนมีวิธีรักษาอย่างไรบ้างให้หายดี
top line line