วิธีเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพให้เหมาะสม แก้ปัญหาปวดเท้า โรครองช้ำ
Key Takeaway
|
การเลือกรองเท้าให้เหมาะสมนั้นสำคัญมาก เพราะสรีระเท้าคนเราไม่เท่ากัน รองเท้าที่เหมาะกับแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน หากเลือกรองเท้าไม่เหมาะสมกับเท้า หรือกิจกรรมที่ทำ อาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะโรครองช้ำ ปวดส้นเท้า เล็บขบ เป็นแผล ตาปลา (Corns) หรือข้อเท้าเคล็ดได้ จึงควรเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับสุขภาพเท้าและลักษณะการใช้ชีวิต เพื่อช่วยลดความเสี่ยงอาการปวดเท้า และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
Table of Contents
รองเท้าเพื่อสุขภาพ เป็นอย่างไร
สำหรับรองเท้าเพื่อสุขภาพที่เหมาะสมของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่รองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี คือ รองเท้าที่ตอบสนองวัตถุประสงค์การใช้งานที่เหมาะสม โดยมีคุณสมบัติช่วยปกป้องเท้าผู้สวมใส่ ซัพพอร์ตน้ำหนักที่มารวมที่เท้าได้อย่างดี ใส่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้โดยไม่ได้ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดเมื่อย ปวดเท้า ปวดข้อเท้า ปวดสะโพก หรือเกิดแผล ตาปลา เป็นต้น
ซึ่งรองเท้าเพื่อสุขภาพบางรูปแบบ ถูกออกแบบมาเพื่อกิจกรรมนั้นๆ โดยเฉพาะ เพื่อซัพพอร์ตผู้สวมใส่ให้ดีที่สุด เช่น รองเท้าช่วยเสริมความมั่นคง รองเท้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยืนเดิน หรือจะเป็นรองเท้าที่ออกมาเหมาะกับการทำกิจกรรมการออกกำลัง เช่น รองเท้าสำหรับนักกีฬา เป็นต้น
เลือกรองเท้าผิดประเภท อันตรายอย่างไร
รองเท้ามีหลายประเภท และรองเท้าที่เราใส่ ไม่จำเป็นต้องเป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพก็ได้ อาจจะเป็นรองเท้าประเภทที่เหมาะสมกับกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ แต่ก็ต้องเลือกให้เหมาะกับสรีระของเท้า ให้มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้สวมใส่สบายขึ้น และถ้าเลือกรองเท้าที่ขนาดไม่เหมาะสม ผิดประเภท ก็อาจทำให้ส่งผลตามมาเช่นกัน ดังนี้
- รองเท้าที่ไม่เหมาะกับสรีระเท้า หรือขนาดไม่พอดี อาจทำให้บีบหน้าเท้า จนปวดจมูกเท้า และเมื่อเสียดสีไปนานๆ อาจทำให้เกิดแผล ตาปลา กระดูกนิ้วเท้าเกซ้อนกัน หรือเกิดภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (Bunion) ได้
- รองเท้าที่มีพื้นแข็ง หรือรองเท้าส้นสูง เมื่อใส่ไปนานๆ อาจทำให้ปวดฝ่าเท้าด้านหน้าได้
- หากพื้นรองเท้าไม่รองรับพอดีกับเท้า เกิดจุดลงน้ำหนักไม่เหมาะสมในบางจุด อาจเกิดตาปลา หรือหนังด้านบริเวณฝ่าเท้า
- หากเลือกรองเท้าที่ระบายอากาศไม่ดี เมื่อใส่ไปนานๆ อาจเกิดการอับชื้น จนทำให้เกิดปัญหาเชื้อราที่เท้าได้
รองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี ควรมีคุณสมบัติอย่างไร
รองเท้ามีหลายแบบ ซึ่งตอบโจทย์ผู้สวมใส่ต่างกัน และรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของรองเท้า ทั้งองค์ประกอบภายนอก และภายใน ดังนี้
หัวรองเท้า
การเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพ ควรเลือกหัวรองเท้าที่มีส่วนกว้างที่สุดพอดีกับส่วนที่กว้างที่สุดของหน้าเท้า หรือจมูกเท้า ไม่บีบหน้าเท้าเกินไป ควรมีพื้นที่เหลือจากปลายนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดประมาณครึ่งนิ้ว วัสดุยืดหยุ่น ไม่บดเบียดหน้าเท้า เพื่อลดการเสียดสี และลดอาการปวดที่จะตามมา
Upper หรือส่วนบนของรองเท้า
รองเท้าเพื่อสุขภาพ ควรมี Upper หรือส่วนบนรองเท้า ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อาจมีสายรัด หรือเชือกผูกที่ปรับให้เหมาะกับลักษณะของเท้า หรือขนาดของเท้าได้ อาจมีคุณสมบัติที่ช่วยปรับสายรัดได้ตามกิจกรรมที่ทำด้วย เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตนั่นเอง
แผ่นรองเท้า
แผ่นรองเท้า หรือ Insole มีหลายชั้น และหลายส่วน โดยส่วนบนสุดที่สัมผัสกับเท้า ควรมีความนุ่มแบบพอเหมาะ รองรับน้ำหนักได้ดี แต่ไม่ควรนุ่มเกินไป และไม่แข็งเกินไป หากมีปัญหารูปเท้าที่ต้องใช้แผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคล หรือ Total Contact Insoles (TCI) ได้ ควรเลือกรองเท้าที่สามารถถอดพื้นรองเท้าได้ เพื่อปรับให้เหมาะกับปัญหาเท้าได้
ถ้าเป็นแผ่นรองสำเร็จรูป ควรรองรับสรีระเท้าได้อย่างเหมาะสม มีส่วนของตัวพยุงอุ้งเท้าที่ดี ควรเลือกที่เหมาะกับสรีระเท้า เช่น เท้าแบน เท้าสูง และเท้าปกติด้วย เพราะตัวพยุงอุ้งเท้าจะต่างกัน เพื่อช่วยการกระจายน้ำหนักให้ลงได้ทั่วฝ่าเท้า ไม่กดส่วนใดมากจนเกินไป ออกแบบวัสดุที่ดี ทนทาน ระบายอากาศได้ดี ไม่หนัก ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน และตลอดทั้งวัน
วิธีเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพให้เหมาะสม
เพราะแต่ละคนมีปัญหาเท้าที่แตกต่างกัน และเท้าของแต่ละคนก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน มาดูวิธีเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพให้เหมาะสมกับแต่ละคนกัน ดังนี้
1. ผู้ที่ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า
อาการปวดฝ่าเท้าด้านหน้า มักพบในคนที่ต้องใส่ส้นสูงบ่อยๆ หรือรองเท้าบีบหน้าเท้ามากเกินไป ใครที่มีอาการปวดฝ่าเท้าด้านหน้า จึงควรเลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ย และถ้ามีอาการปวดหน้าเท้าด้วย ควรเลือกหัวรองเท้าที่พอดีกับส่วนจมูกเท้า เลือกแผ่นรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม กระจายน้ำหนักได้ทั่วฝ่าเท้า
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
2. ผู้ที่มีเท้าแบน
คนที่มีเท้าแบน จะมีอาการปวดบริเวณอุ้งเท้า หรือกลางเท้า บางคนที่เท้าแบน อาจมีปัญหาข้อเท้าล้มตามมาด้วย จึงควรเลือกพื้นรองเท้าแบบอุ้ง เพื่อมาช่วยพยุงอุ้งเท้า และมีส่วน Heel Counter หรือด้านหลังรองเท้า ที่ประคองข้อเท้าได้ดี กรณีที่มีอาการข้อเท้าล้มร่วมด้วย ฐานรองเท้า หรือ Outsole ต้องกว้างออก เพื่อการประคองข้อเท้าให้มั่นคงนั่นเอง
3. ผู้ที่มีอุ้งเท้าสูง
คนที่มีอุ้งเท้าสูง จะมีจุดกดรับน้ำหนักอยู่ที่บริเวณด้านหน้า และด้านหลังของอุ้งเท้า ทำให้ปวดหน้าเท้า และส้นเท้าได้ ถ้าใส่รองเท้าสูงไม่พอ อาจเกิดการเสียดสีหลังเท้าร่วมด้วย การเลือกรองเท้า จึงต้องเลือกให้มีความลึกที่เหมาะสม มีส่วนที่เปิดด้านบน ให้เหมาะกับความสูงของเท้า พื้นนิ่ม เพื่อลดการเสียดสีบริเวณที่ลงน้ำหนักเยอะ มีอุ้งรองรับเพื่อรองรับอุ้งเท้าที่สูง และเพื่อกระจายแรงของน้ำหนักให้ทั่วๆ อย่างเท่ากัน
4. ผู้ที่ปวดส้นเท้า
คนที่มีปัญหาปวดส้นเท้า อย่างกรณีที่ปวดเอ็นร้อยหวาย ควรเลือกรองเท้าแบบนิ่มๆ และหนา มีพื้นรองเท้าที่เหมาะสม เลือกส้นรองเท้าแบบที่สูงพอเหมาะ เพื่อลดการตึงตัวขอเอ็นร้อยหวาย เพราะถ้าใส่รองเท้าส้นเตี้ย เอ็นร้อยหวายจะตึงตัวอยู่ตลอดเวลา และส่งผลให้กระตุ้นการอักเสบ จนเกิดอาการปวดได้
5. ผู้ที่ผ่าตัดเท้าแล้วเท้าบวม
สำหรับคนที่เคยผ่าตัดมา แล้วหลังผ่าตัดเกิดเท้าบวมขึ้นมา ควรเลือกใส่รองเท้าที่สวมใส่และถอดออกได้ง่าย เพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น และควรเลือกรองเท้าให้เหมาะกับสรีระของเท้าที่กำลังบวมอยู่ด้วย ควรเลือกที่มีขนาดเหมาะสม ไม่กดบีบเท้า และปรับส่วนบนของรองเท้าได้ในกรณีที่เท้าบวมขึ้นมา
6. นักกีฬา
รองเท้ากีฬามีหลายประเภทตามชนิดกีฬา สำหรับนักกีฬา จึงควรเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพที่มีการออกแบบวัสดุให้รองรับกับชนิดกีฬานั้นๆ คือเล่นกีฬาชนิดไหน ก็เลือกรองเท้าให้เหมาะกับกีฬาชนิดนั้นๆ เพื่อประสิทธิภาพในการเล่นกีฬา ลดอาการบาดเจ็บจากกีฬาขณะที่ใช้งานรองเท้าที่ไม่เหมาะสม
7. ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุอาจจะมีปัญหาการทรงตัว การเดิน จนทำให้หกล้มได้ง่าย จึงควรเลือกรองเท้าแบบมียางกันลื่นตรงพื้นรองเท้า ฐานรองเท้าที่กว้างพอเหมาะ เพื่อให้มั่นคงในการทรงตัวมากขึ้น วัสดุระบายอากาศได้ดี เพื่อลดการอับชื้นของรองเท้า มีสายรัด เพื่อสวมใส่และถอดออกได้ง่าย และปรับให้พอดีกับเท้าได้ ควรเลือกแบบส้นเตี้ย ไม่ควรใส่ส้นสูงเกินไป เพราะอาจทำให้หกล้มได้ และควรเลือกแบบที่มีน้ำหนักเบา เพื่อให้การเคลื่อนไหวของร่างกายคล่องตัวมากขึ้น
ผู้สูงอายุบางคนอาจมีปัญหากระดูกเท้า หรือภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียง จึงควรเลือกรองเท้าที่กว้างพอดีกับกระดูกที่ยื่นออกมา และควรพอดีกับส่วนเท้าที่กว้างที่สุดด้วย อาจเลือกใส่รองเท้าแบบ Wide Toe box หัวรองเท้ากว้าง วัสดุนิ่ม เพื่อลดการเสียดสี
8. ผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวาน มักมีปัญหาเรื่องระบบรับความรู้สึกที่เท้า หรือการสูญเสีย Protective Mechanism เพื่อป้องกันการเกิดแผลที่เท้า จึงควรเลือกรองเท้าแบบหัวปิด เพื่อป้องกันเศษก้อนหิน หรือเศษต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หรือแผลที่เท้า
และควรเลือกรองเท้าแบบมีเชือก หรือมีสายรัดที่ปรับได้ กรณีที่เท้าบวม ควรเลือกที่มีวัสดุนิ่ม เพื่อลดการเสียดสี พื้นรองเท้าต้องนิ่ม น้ำหนักเบา และระบายอากาศได้ดี ลดการอับชื้น
ใครที่มีปัญหาเท้าผิดรูป หรือมีแผลที่เท้า ควรเลือกรองเท้าสั่งตัดเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และทำร่วมกับแผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคล หรือ Total Contact Insoles (TCI) เพื่อให้ได้รองเท้าที่ซัพพอร์ตปัญหาต่างๆ ของผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างดี
9. ผู้ที่มีครรภ์
สตรีมีครรภ์จะมีน้ำหนักตัวเพิ่ม และมีปัญหาที่ส้นเท้า หน้าเท้า ที่มีอาการบวมๆ ยุบๆ บริเวณเท้าเป็นบางช่วง การเลือกรองเท้า จึงควรเลือกแบบส้นเตี้ย พื้นหนานุ่ม เพื่อรองรับน้ำหนัก ส่วนบนของรองเท้าอาจเป็นเชือก หรือสายรัด ที่ปรับได้ตามความต้องการ
วิธีเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพ สำหรับคนเป็นโรครองช้ำ
โรครองช้ำ คืออาการปวดบริเวณจุดเกาะเอ็นพังผืดบริเวณฝ่าเท้า ซึ่งอยู่บริเวณส้นเท้า การเลือกรองเท้า จึงควรเลือกที่มีความนุ่มของบริเวณพื้นรองเท้า เพื่อการรองรับแรงกระแทกที่ดี ลดแรงกดที่เกิดที่ส้นเท้าได้ พื้นรองเท้าควรมีความหนา และเลือกรองเท้าให้พอดีกับเท้าที่สุด
เลือกพื้นรองเท้าที่มีส่วนพยุงที่อุ้งเท้า หากมีปัญหาจุดเกาะเอ็นพังผืดพังพืดฝ่าเท้าหรือโรครองช้ำ ร่วมกับปัญหาอื่นๆ เช่น เท้าแบน ข้อเท้าล้ม ก็ควรเลือกพื้นรองเท้าแบบที่ถอดแผ่นรองได้ เผื่อในกรณีที่ต้องสั่งทำแผ่นรองเท้าสั่งตัดเฉพาะบุคคล จะได้ใส่ไปในรองเท้าเดิมได้สะดวกโดยไม่ต้องซื้อรองเท้าใหม่นั่นเอง
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
สรุป
ได้เห็นกันไปแล้วกับการเลือกรองเท้าว่าสำคัญแค่ไหน หากใครกำลังมองหารองเท้าเพื่อสุขภาพ หรือรองเท้าผ้าใบที่เหมาะกับการยืนนานๆ ควรเลือกที่มีคุณสมบัติช่วยปกป้องเท้าผู้สวมใส่ รับน้ำหนักได้ดี ใส่ทำกิจกรรมได้โดยไม่ได้ทำให้เกิดผลข้างเคียง ถ้าเลือกรองเท้าไม่เหมาะกับสรีระเท้า รองเท้าจะบีบหน้าเท้าเกินไป ถ้ารองเท้าระบายอากาศไม่ดี จะทำให้อับชื้น จนกลายเป็นปัญหาเชื้อราที่เท้า
รองเท้าเพื่อสุขภาพที่ขนาดพอดีและเหมาะสมควรมีหัวรองเท้าที่มีพื้นที่เหลือจากปลายนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดครึ่งนิ้ว วัสดุยืดหยุ่น ไม่เบียดหน้าเท้า ส่วนบนของรองเท้า ควรมีสายรัด หรือเชือกผูก ที่ปรับตามขนาดของเท้าได้ ในส่วนของแผ่นรองเท้าในส่วนบนสุดที่สัมผัสกับเท้า ควรมีความนุ่มแบบพอเหมาะ รองรับน้ำหนักได้ดี แต่ไม่ควรนุ่มเกินไป และไม่แข็งเกินไป ถ้าเป็นแบบถอดแผ่นรองได้ยิ่งดี
บทความโดย พญ.อักษราภัค พนมพรพานิช ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู