ภาวะข้อไหล่หลุด สาเหตุคืออะไร? แก้ได้ด้วยการรักษาที่ถูกวิธี
หลายๆ คนอาจะเคยได้ยินคำว่า “ภาวะไหล่หลุด” ที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการได้รับอุบัติเหตุ แต่อาจจะไม่รู้ว่าเมื่อเจอกับภาวะนี้จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร อาการไหล่หลุดเป็นแบบไหน และไหล่หลุดมีวิธีการรักษาแบบไหนบ้าง จึงทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนที่ปวดไหล่จากข้อไหล่หลุดได้รับการรักษาเบื้องต้นที่ไม่ถูกวิธี หรือพยายามดึงข้อไหล่ให้กลับเข้าที่ด้วยตัวเอง ดังนั้น ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะข้อไหล่หลุดที่ทุกคนควรรู้ไว้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี
Table of Contents
ภาวะข้อไหล่หลุด คืออะไร?
ข้อไหล่ เป็นข้อที่เกิดการหลุดบ่อยมากที่สุดในร่างกาย เพราะเป็นข้อที่มีพิสัยการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย ใช้งานบ่อย และมีความยืดหยุ่นมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้อไหล่หลุดได้ง่าย โดยภาวะข้อไหล่หลุดที่เรารู้จักกันนั้นเป็นภาวะที่หัวกระดูกของข้อไหล่หลุดออกจากเบ้ากระดูก หรืออยู่ไม่ตรงกับเบ้ากระดูก
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยจะข้อไหล่หลุดไปทิศทางด้านหน้า ซึ่งลักษณะของข้อไหล่หลุด มาจากการไม่เข้ากันระหว่างหัวกระดูกและเบ้ากระดูกของข้อไหล่ โดยหัวกระดูกที่มีรูปทรงคล้ายกับลูกบอลและเบ้ากระดูกที่มีรูปทรงแบบแบน บาง และเล็ก ซึ่งส่วนของหัวกระดูกนั้น มีขนาดใหญ่กว่าเบ้ากระดูกถึง 4 เท่า
นอกจากนี้ นอกจากกระดูกแล้ว ความมั่นคงของข้อยังขึ้นอยู่กับเนื้อเยื่ออ่อนรอบข้อไหล่อย่างมาก เพราะเป็นส่วนที่ให้ความยืดหยุ่นและความมั่นคงเวลาขยับ หรือเคลื่อนไหว หากมีอุบัติเหตุทำให้เกิดการฉีกขาด จะส่งผลให้ข้อไหล่หลุดได้ง่าย
อาการไหล่หลุดที่เด่นชัด
สำหรับอาการไหล่หลุดที่เด่นชัด และสังเกตได้ด้วยตาเปล่านั้นมีหลายอาการ โดยอาการที่พบนั้นมักจะเกิดหลังจากได้รับอุบัติเหตุ ได้รับแรงกระแทก หรือเล่นกีฬา ดังนี้
- ข้อไหล่มีรูปร่างผิดปกติ เช่น ด้านข้างของส่วนไหล่จะแฟบลง และมีก้อนนูนขึ้นมาด้านหน้า เพราะว่าหัวกระดูกเคลื่อนที่ไปด้านหน้า
- มีอาการปวดบริเวณหัวไหล่มากกว่าปกติ จนไม่สามารถขยับ หรือเคลื่อนไหวได้ เพราะว่าเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ และข้อไหล่เคลื่อนออกจากเบ้ากระดูก
- มีอาการชา หรือรู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มทิ่มในบริเวณรอบๆ ข้อไหล่ที่หลุด เช่น ส่วนสะบัก หรือส่วนต้นแขน เป็นต้น
- มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งที่บริเวณรอบหัวไหล่ ทำให้มีอาการเจ็บ หรือปวดเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ไหล่หลุดเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง?
ภาวะข้อไหล่หลุดนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือเกิดจากอุบัติเหตุก็ได้เช่นกัน โดยสาเหตุของภาวะข้อไหล่หลุดนั้น มีดังนี้
- เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ล้ม หรือตกบันไดแล้วใช้แขนดันพื้นไว้ หรือได้รับอุบัติเหตุทางจราจร เป็นต้น
- เกิดจากการเล่นกีฬา เช่น เกิดการชน กระแทก หกล้ม หรือกระชากแขนกันในขณะที่เล่นกีฬา
- เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หมุนไหล่แรงเกินไป หรือทำท่าทางที่เสี่ยงต่อการเกิดข้อไหล่หลุด (ในกรณีที่เคยไหล่หลุดมากกว่า 1 ครั้ง)
- เกิดจากร่างกายที่มีความยืดหยุ่นสูง เช่น นักกีฬาที่มีข้อไหล่ยืดหยุ่นกว่าคนทั่วไป ก็จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่ข้อหัวไหล่จะหลุดได้ง่ายมากกว่า
- เกิดจากการเกร็ง หรือตึงของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ทำให้ข้อไหล่หลุดไปทางด้านหลัง อาจเกิดได้จากโรคลมชัก ไฟช็อต หรือไฟดูด ซึ่งเป็นสาเหตุของไหล่หลุดที่พบได้ไม่บ่อยมากนัก
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสไหล่หลุดได้ง่าย
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสไหล่หลุดได้ง่ายนั้นจะต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการไหล่หลุด เพราะว่าถ้าเกิดหลุดไปหนึ่งครั้งแล้ว ก็จะมีโอกาสหลุดซ้ำเป็นครั้งที่สอง หรือครั้งต่อๆ ไปตามมาได้ โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสไหล่หลุดได้ง่ายนั้นมีทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้
เด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ
กลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกที่มีโอกาสไหล่หลุดได้ง่าย คือ เด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ถือว่าเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการไหล่หลุด และมีโอกาสที่ข้อไหล่จะหลุดซ้ำบ่อยกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุที่ข้อไหล่ในวัยนี้มีโอกาสหลุดได้ง่ายนั้น เพราะว่าเป็นวัยที่มีข้อกระดูกยืดหยุ่นยืดหยุ่นกว่าวัยอื่นๆ จึงทำให้ข้อไหล่ของวัยนี้มีโอกาสหลุดสูงที่สุด
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ก็เป็นกลุ่มวัยที่มีความเสี่ยงเช่นกัน เมื่อประสบข้อไหล่หลุดแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น อาการกล้ามเนื้อหรือเอ็นฉีกขาด ทำให้ไม่สามารถยกแขนได้ หรืออาจเกิดอาการเจ็บเรื้อรังได้ในอนาคต ซึ่งคนไข้ในวัยนี้ควรนำส่งโรงพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง
ผู้ที่เคยไหล่หลุดมาก่อน
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสไหล่หลุดได้ง่ายอีกกลุ่ม คือ ผู้ที่เคยไหล่หลุดมาก่อน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นสาเหตุให้ข้อไหล่หลุดซ้ำได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้น ผู้ที่เคยไหล่หลุดมาก่อนจะต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำท่าทางต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการทำให้ไหล่หลุดอีกครั้ง ซึ่งศัพท์ทางการแพทย์เรียกท่าทางในลักษณะนี้ว่า Abduction and External Rotation เช่น ท่าจับห่วงรถไฟฟ้า ท่าสก็อตจั๊มพ์ที่ต้องกอดคอผู้อื่น หรือท่าทางอื่นๆ ที่ต้องใช้แขนเอื้อมไปด้านหลัง เป็นต้น
นักกีฬา
นักกีฬา เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสไหล่หลุดได้ง่าย เพราะว่าเป็นกลุ่มที่มีภาวะข้อยืดหยุ่นสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ แถมยังมีการทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับแรงกระแทกระหว่างเล่นหรือฝึกซ้อมกีฬา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้อไหล่หลุดง่ายมากยิ่งขึ้น
พันธุกรรม
โรคภาวะข้อหลวม เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อไหล่หลุด หรือข้อต่างๆ ภายในร่างกายหลุดได้ง่ายขึ้น โดยโรคทางพันธุกรรมโรคนี้นับว่าอยู่ในกลุ่ม Joint Laxity หรือที่เรียกว่าข้อหลวม ซึ่งเนื้อเยื่ออ่อนตรงส่วนข้อจะมีความยืดหยุ่นสูงกว่าปกติ ทำให้ข้อไหล่ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ยืดง่าย และหลุดได้ง่ายเช่นกัน
สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะข้อหลวมเป็นปกติ ในเบื้องต้นจะได้รับการกายภาพเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อไหล่ แต่ถ้าหากข้อหลวมร่วมกับเกิดภาวะข้อไหล่หลุดร่วมด้วย ก็จะต้องเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ หรือผลข้างเคียงที่อาจตามมาได้ในระยะยาว
ถ้าหากไหล่หลุด ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
หลายๆ คนที่เจอกับปัญหาไหล่หลุดอาจจะตกใจ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และอาจจะกังวลว่าจะสามารถจัดกระดูกกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่ หัวข้อนี้จะมาแนะนำ 3 สิ่งที่ผู้ป่วย หรือผู้ที่พบเจอผู้ป่วยไหล่หลุดควรปฏิบัติ ดังนี้
ห้ามขยับหัวไหล่กลับตำแหน่งเดิม
หลังจากเกิดอาการไหล่หลุด สิ่งแรกที่ควรทำทันที คือ ห้ามเคลื่อนไหวแขนกลับตำแหน่งเดิมด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือส่วนต่างๆ ในบริเวณหัวไหล่ได้ ถ้าหากผู้ป่วยดึงข้อไหล่เข้าเองอย่างผิดวิธี จะมีโอกาสทำให้เกิดกระดูกแตกหัก เนื้อเยื่อฉีกขาด หรือบาดเจ็บมากกว่าเดิมได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อทำการเอกซเรย์ จัดกระดูก และดึงข้อไหล่ให้เข้าที่โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ
ใช้ตัวช่วยเสริมประคองแขน
ถ้าหากไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ทันทีหลังจากที่เกิดอาการไหล่หลุด ผู้ป่วยควรประคองแขนด้วยการใช้ตัวช่วยเสริม เช่น ที่คล้องแขน หมอน และผ้า เป็นต้น แต่ถ้าไม่สะดวกก็อาจจะใช้มือจับ หรือประคองที่บริเวณข้อศอกไว้ก่อนก็ได้เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้แขนเคลื่อนไหวหรือขยับมากจนเกินไป แต่ถ้าในกรณีที่ไหล่ของผู้ป่วยนั้นมีรูปร่างผิดปกติจากข้อไหล่หลุด ให้ประคองแขนอยู่ให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด และรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
ประคบเย็น
สำหรับอาการเจ็บหรือปวดที่บริเวณไหล่ของผู้ป่วยที่ประสบภาวะไหล่หลุด สามารถประคบเย็น เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดก่อนเข้ารับการรักษา หรือพบแพทย์ได้ ซึ่งการประคบเย็นจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้เท่านั้น เพราะว่าอาการปวดจากข้อไหล่หลุดจะหายดีก็ต่อเมื่อให้แพทย์จัดตำแหน่งกระดูกให้กลับสู่ตำแหน่งเดิม
วิธีรักษาไหล่หลุด และระยะฟื้นตัว
สำหรับผู้ป่วยที่เคยประสบภาวะไหล่หลุดครั้งหนึ่ง จนเป็นสาเหตุให้เกิดไหล่หลุดได้ง่ายขึ้นแล้วนั้น การรับการรักษาที่ไม่ถูกวิธีก็อาจจะทำให้มีข้อไหล่หลุดซ้ำได้ง่ายและบ่อย ส่งผลต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันและการออกกำลังกาย อาจมีอาการปวดร่วมอยู่ได้บ่อยครั้ง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์ และเข้ารับการรักษาให้ตรงจุดมากที่สุด เพื่อจะได้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โดยอาการไหล่หลุดสามารถรักษาได้ทั้งแบบไม่ผ่าตัด และผ่าตัด ดังนี้
การรักษาไหล่หลุดแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาไหล่หลุดแบบไม่ผ่าตัดนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นการรักษาไหล่หลุดสำหรับผู้ป่วยที่ประสบภาวะนี้เป็นครั้งแรก โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย ทำการเอกซเรย์ และให้ยาช่วยระงับอาการปวด เพื่อจัดตำแหน่งกระดูกให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม และจะเอกซเรย์ซ้ำอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าข้อไหล่ส่วนที่หลุดนั้นได้กลับสู่ตำแหน่งเดิมแล้วหรือไม่
โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบไม่ผ่าตัดจะต้องใส่ที่คล้องแขนประมาณ 2-4 สัปดาห์ และจะมีการนัดตรวจซ้ำอีกครั้ง พร้อมกับเอาที่คล้องแขนออก และเริ่มทำกายภาพบำบัดหัวไหล่หลุด เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ให้เป็นปกติ
บางครั้ง การกายภาพนั้นก็เป็นวิธีที่ใช้กับผู้ป่วยภาวะข้อไหล่หลุดซ้ำๆ ต้องได้รับการผ่าตัด แต่มีเงื่อนไขทางสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ ซึ่งการฟื้นฟูกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่จะช่วยให้แข็งแรงขึ้นได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การรักษาไหล่หลุดแบบผ่าตัด
สำหรับการรักษาภาวะข้อไหล่หลุดแบบผ่าตัดนั้น เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เคยมีอาการข้อไหล่หลุด และมีหลุดซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้ง เพราะผู้ป่วยที่ข้อไหล่หลุดซ้ำๆ นั้นจะส่งผลให้เนื้อเยื่ออ่อนในข้อไหล่ฉีก ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ และอาจมีภาวะเบ้ากระดูกไหล่สึกหรือหักร่วมด้วย ทำให้ข้อไหล่หลวม และหลุดซ้ำอยู่เรื่อยๆ นั่นเอง
โดยแพทย์จะส่งตรวจ MRI เพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบดูว่าในข้อไหล่มีส่วนไหนที่ได้รับความเสียหายบ้าง เพราะว่าจะได้ประเมินอาการ และความรุนแรงของของผู้ป่วย เพื่อจะได้เลือกลักษณะของการผ่าตัดได้ถูกต้อง โดยการรักษาไหล่หลุดแบบผ่าตัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง
สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น 80% ของคนไข้จะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเย็บซ่อมแซมเยื่อหุ้มข้อไหล่ที่เกิดการยืด หรือฉีกขาดให้ใกล้เคียงปกติ ซึ่งลักษณะของการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องจะเป็นการเปิดแผลเล็กๆ เพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์เข้าไปเย็บซ่อมแซมเยื้อหุ้มข้อไหล่ให้ตึงขึ้น
การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องจะช่วยให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้ไว และไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน แถมโอกาสเสี่ยงในการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อในบริเวณรอบๆ ยังน้อยลงอีกด้วย ซึ่งในผู้ป่วยที่กระดูกเบ้าข้อไหล่ไม่ได้รับความเสียหาย หรือสึกหรอน้อย สามารถรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องทั้งหมด
การผ่าตัดแบบเปิด
การผ่าตัดแบบเปิด เป็นวิธีการผ่าตัดไหล่หลุดที่มักใช้ในผู้ป่วยที่เกิดภาวะข้อไหล่หลุดซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้งจนมีภาวะเบ้ากระดูกไหล่สึกเกิน 15-25% โดยแพทย์จะส่งผู้ป่วยไปตรวจ MRI หรือ CT Scan ก่อนผ่าตัด ถ้าหากพบว่าไม่สามารถผ่าตัดด้วยการส่องกล้องได้ หรือมีโอกาสที่จะผ่าตัดไม่สำเร็จสูง ก็จะต้องทำการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งการผ่าตัดแบบเปิดนั้นจะเป็นการผ่าตัดเพื่อเสริมกระดูกเบ้าหัวไหล่ของคนไข้ด้วยการตัดกระดูกจากกระดูกกลุ่มโคราคอยด์ โพรเซส (Coracoid Process) มาเสริมที่บริเวณเบ้าหัวไหล่ ซึ่งเรียกการผ่าตัดเสริมภาวะเบ้ากระดูกไหล่เสื่อมในลักษณะนี้ว่า Glenoid Reconstruction
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกวิธีการผ่าตัดรักษาไม่ว่าจะเป็นวิธีส่องกล้อง หรือวิธีผ่าตัดแบบเปิด จะเป็นการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์และผู้ป่วย ซึ่งต้องอาศัยหลายปัจจัยในการเลือกวิธีการรักษา
ระยะฟื้นตัว
สำหรับระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยภาวะข้อไหล่หลุดนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
- ผู้ป่วยไหล่หลุดที่รักษาแบบไม่ผ่าตัด จะต้องใส่ที่คล้องแขนเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ และหลังจากนั้นก็สามารถกลับมาใช้แขนได้เกือบใกล้เคียงกับปกติ แต่จะต้องรับการกายภาพบำบัดหัวไหล่หลุด เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวให้แข็งแรงขึ้น
- ผู้ป่วยไหล่หลุดที่รักษาแบบผ่าตัด จะต้องใส่ที่คล้องแขนเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ แต่จะสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงปกติหลังจากถอดที่คล้องแขนประมาณ 2-3 เดือน โดยในระหว่างนั้นจะต้องเข้ารับการกายภาพบำบัดหัวไหล่หลุด เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และวิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการฟื้นฟูหลังจากถอดที่คล้องแขนของทั้ง 2 แบบนั้นขึ้นอยู่กับสมรรถภาพทางร่างกาย และความแข็งแรงด้วย ซึ่งอาจทำให้ระยะเวลาของการฟื้นฟูของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน
ภาวะไหล่หลุดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน การประสบอุบัติเหตุ โรคทางพันธุกรรม การได้รับแรงกระแทก หรือการทำท่าทางต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการไหล่หลุด เป็นต้น โดยผู้ป่วยที่เผชิญกับภาวะไหล่หลุดนั้นสามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ด้วยการรักษาแบบไม่ผ่าตัด และผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ดังนั้น ถ้าหากคุณเป็นผู้ป่วย หรือพบผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุด ก็ควรจะระวังไม่ให้แขนข้างที่ไหล่หลุดนั้นได้รับการกระทบกระเทือน และรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี ป้องกันไม่ให้เกิดการไหล่หลุดซ้ำ และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจตามมาได้ในอนาคต
บทความโดย นพ.พัฒนเกติ ชีวะก้องเกียรติ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬา