กระดูกสันหลังเคลื่อนมีวิธีรักษาอย่างไรบ้างให้หายดี

ไม่ว่าใครก็ต้องเคยปวดหลัง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าอาการปวดหลังที่เป็นอยู่นั้น อาจไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสัญญาณเตือนภัยของภาวะ “กระดูกสันหลังเคลื่อน” ซึ่งถือเป็นโรคอันตราย หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรัง ไม่รีบรับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุที่มีเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ง่ายมากกว่าใคร เนื่องจากพอกระดูกเริ่มเสื่อมก็จะมีโอกาสกระดูกสันหลังเคลื่อนได้มาก 

ดังนั้น เพื่อให้เรารู้เท่าทันภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ให้สามารถดูแลตัวเองและญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดให้ปลอดภัยจากโรคนี้ให้ได้มากที่สุด การทำความรู้จักและเข้าใจกับภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยมองข้าม

กระดูกสันหลังเคลื่อนคืออะไร

Table of Contents

กระดูกสันหลังเคลื่อนคืออะไร

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Spondylolisthesis มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ ได้แก่ “Spondylo” แปลว่า “กระดูกสันหลัง” และ “Olisthesis” แปลว่า “เคลื่อน” ซึ่งโดยปกติแล้วกระดูกสันหลังของคนเราจะมีลักษณะเป็นข้อปล้องที่เรียงตัวต่อเนื่องกัน 

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน จึงหมายถึงการที่กระดูกสันหลังเคลื่อนผิดปกติ ไปจากการเรียงตัวในแนวเดิมตามธรรมชาติ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งการเคลื่อนไปด้านหน้า ด้านหลัง หรือว่าด้านข้างก็ได้ 

กระดูกสันหลังเคลื่อน ใครเสี่ยงเป็นได้ง่ายมากที่สุด

กระดูกสันหลังเคลื่อน ใครเสี่ยงเป็นได้ง่ายมากที่สุด

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงกระดูกสันหลังเคลื่อนมากที่สุด ได้แก่ ผู้สูงอายุ เพราะอายุยิ่งมากขึ้นกระดูกก็จะเริ่มมีความเสื่อมมากขึ้น จึงมีโอกาสที่กระดูกสันหลังจะเคลื่อนได้ง่าย ทั้งนี้ ผู้หญิงจะมีโอกาสเสี่ยงกระดูกสันหลังเคลื่อนได้ง่ายกว่าผู้ชาย เพราะมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน้อยกว่า และฮอร์โมนเพศหญิงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมของกระดูกด้วย นอกจากนั้นแล้ววิถีการใช้ชีวิตที่โลดโผน ทำงานหนัก ทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ เดินเยอะ ยกของหนัก ตลอดจนเล่นกีฬาหนักๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญโดยตรงที่ส่งผลให้กระดูกสันหลังเคลื่อนได้ง่ายมากขึ้น

รวมสาเหตุปัจจัยที่ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน

รวมสาเหตุปัจจัยที่ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถจำแนกได้ออกเป็น 6 ข้อดังต่อไปนี้

  1. กระดูกสันหลังเคลื่อนเนื่องจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด หรือ Congenital Spondylolisthesis ถือเป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด จนเป็นเหตุให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนในเวลาต่อมา ซึ่งพบได้ไม่บ่อยมากนัก
  2. กระดูกสันหลังเคลื่อนเนื่องจากตัวเชื่อมกระดูกสันหลังและข้อต่อผิดปกติ หรือ Isthmic Spondylolisthesis โดยตัวเชื่อมระหว่างข้อต่อและกระดูกสันหลัง ซึ่งเรียกว่า Pars Interarticularis อาจเกิดรอย หัก แตก หรือยืดออก จนทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลังปล้องบนและปล้องล่าง จึงกลายเป็นภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนในที่สุด
  3. กระดูกสันหลังเคลื่อนเนื่องจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือ Degenerative Spondylolisthesis เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากที่สุด จะพบได้ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย ซึ่งในช่วงอายุดังกล่าวนี้กระดูกสันหลังมักเกิดการเสื่อม เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังทรุดตัว ข้อต่อหลวม เนื้อเยื่อรอบ ๆ บริเวณกระดูกสันหลังเริ่มไม่แข็งแรง จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนได้ง่าย โดยมักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังช่วงเอว กระดูกเอวข้อที่ 4 และ 5 
  4. กระดูกสันหลังเคลื่อนเนื่องจากอุบัติเหตุ หรือ Traumatic Spondylolisthesis เช่น รถชน หกล้ม จนกระดูกสันหลังถูกกระแทกรุนแรง หรือเกิดการหัก เสียหาย ก็ทำให้มีโอกาสที่จะเสี่ยงกระดูกสันหลังเคลื่อนได้
  5. กระดูกสันหลังเคลื่อนจากโรคบางชนิดรบกวน หรือ Pathological Spondylolisthesis เช่น โรคมะเร็ง เนื้องอก ซึ่งเมื่อเกิดการลุกลามของโรคมาเบียดกระดูกสันหลังก็จะทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนได้ในที่สุด

อาการแบบไหน เป็นสัญญาณเตือนภัยกระดูกสันหลังเคลื่อน

อาการแบบไหน เป็นสัญญาณเตือนภัยกระดูกสันหลังเคลื่อน

เนื่องจากโครงสร้างของกระดูกสันหลังจะประกอบไปด้วยข้อต่อ กล้ามเนื้อโดยรอบ และในตัวกระดูกสันหลังก็จะมีช่องโพรงเส้นประสาท ซึ่งมีเส้นประสาทมากมายรวมอยู่ภายใน ดังนั้น อาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัยของภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจึงมีได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติ โดยอาการหลักที่พบได้เมื่อเกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ได้แก่

  1. อาการปวด เกิดได้ทั้งจากการปวดกระดูกและปวดกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบกระดูกสันหลัง ซึ่งคนไข้แต่ละรายก็จะมาด้วยตำแหน่งของการปวดที่ต่างกันไป ได้แก่ ปวดหลังช่วงล่าง ปวดบริเวณบั้นเอว ปวดบริเวณสะโพก เป็นต้น
  2. อาการปวดที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กระดูกสันหลังไม่มั่นคง ทำให้เมื่อขยับตัว ก้มหลัง แอ่นหลัง หรือบางทีแค่ลุกจากที่นั่ง ก็จะรู้สึกเจ็บปวดที่หลังขึ้นมาได้เลยง่าย ๆ ทันที
  3. เมื่อย ตึง กล้ามเนื้อบริเวณหลัง เนื่องจากเมื่อกระดูกสันหลังเคลื่อน กล้ามเนื้อรอบ ๆ จะต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลังมากขึ้น ส่งผลให้รู้สึกตึงหลัง กดบริเวณกล้ามเนื้อหลังแล้วเจ็บ หรือรู้สึกเมื่อยเร็วเมื่อยง่าย แม้ใช้งานหลังไปเพียงแค่นิดเดียว
  4. อาการชาบริเวณเท้าหรือขา หรืออาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย เกิดได้ในกรณีที่กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทเช่นกัน จึงอาจมีอาการชาร่วมกับอาการปวดร้าวลงขาได้
  5. อาการปวดสะโพกร้าวลงขา เกิดได้ในกรณีที่กระดูกสันหลังเคลื่อนจนไปเบียดทับเส้นประสาท ทำให้เมื่อยืนหรือเดินสักพักหนึ่งแล้วจะรู้สึกปวดสะโพกร้าวลงขา จะเป็นอาการที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย กล่าวคือ ถ้านั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ อาจไม่มีอาการเจ็บปวด แต่เมื่อลุกขึ้นยืน เดิน สักระยะจะเริ่มมีอาการเกิดขึ้น

วินิจฉัยอย่างไร จึงมั่นใจว่ากระดูกสันหลังเคลื่อน

วินิจฉัยอย่างไร จึงมั่นใจว่ากระดูกสันหลังเคลื่อน

อาการปวดหลังที่เป็นสัญญาณเตือนภัยหลักของภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนนั้น เป็นอาการที่อาจเกิดได้กับโรคชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่าคนไข้กระดูกสันหลังเคลื่อนจริง จะได้นำไปสู่การวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง แม่นยำ ตรงจุดสาเหตุของการเกิดโรคนั้น แพทย์จะมีแนวทางในการวินิจฉัยหลักๆ ดังต่อไปนี้

  1. ซักประวัติตรวจร่างกาย เรื่องทั่วไป เรื่องพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อเก็บข้อมูลความเสี่ยงอันเป็นปัจจัยที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน
  2. เอกซเรย์กระดูกสันหลัง โดยทำได้ทั้งเอกซเรย์ด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ตลอดจนเอกซเรย์ในท่าก้มหลังของคนไข้ เพื่อตรวจดูว่ามีการเคลื่อนเกิดขึ้นหรือไม่ และเกิดขึ้นในบริเวณใดของกระดูกสันหลัง โดยการเอกซเรย์จะทำให้ทราบได้เลยว่าคนไข้มีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือไม่
  3. ตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่อง MRI ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดร้าวลงขา ชา อ่อนแรงร่วมด้วย เพื่อตรวจดูเส้นประสาทว่าบริเวณใดบ้างที่ถูกกระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดเบียดทับ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
  4. ตรวจด้วยวิธีการทำ CT Scan ในกรณีกระดูกสันหลังเคลื่อนจากการประสบอุบัติเหตุ เพื่อตรวจสอบว่ามีการบาดเจ็บบริวณใด มีกระดูกแตกหักร่วมด้วยหรือไม่ กระดูกสันหลังตำแหน่งใดที่เคลื่อนตัวผิดปกติ เพื่อวางแผนการรักษาให้ได้ตรงจุด

กระดูกสันหลังเคลื่อน มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

วิธีรักษาภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนนั้น แพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุที่วินิจฉัยพบในคนไข้แต่ละราย และเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 วิธีคือ ได้แก่

1. การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแบบไม่ผ่าตัด

1. การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแบบไม่ผ่าตัด

โดยส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มผู้สูงวัยที่กระดูกสันหลังเคลื่อนอันเนื่องมาจากความเสื่อมของตัวกระดูกสันหลัง ซึ่งมักจะมาด้วยอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขาอันเกิดจากการที่กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โดยแนวทางการรักษาแบบไม่ผ่าตัดนั้น ทำได้ ดังนี้

1.1 ปรับพฤติกรรม ให้คนไข้ได้พักการใช้งานหลัง หลีกเลี่ยงกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ง่าย เช่น ยกของหนัก เดินเยอะ ๆ วิ่ง ออกกำลังกาย หรือนั่งกับพื้นนาน ๆ เป็นต้น

1.2 ให้ยาเพื่อลดอาการปวด โดยหากอาการปวดเกิดจากข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ ตลอดจนกล้ามเนื้อบริเวณหลังเกร็งตัวมากเกินไป แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ในขณะที่หากคนไข้มีอาการชา ปวดร้าวลงขา อันเกิดจากกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดอาการปวดปลายประสาทร่วมด้วย

1.3 ทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด เช่นในกรณีกล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว แพทย์อาจพิจารณาใช้การทำอัลตราซาวด์ เลเซอร์ ดึงหลัง หรือวิธีอื่น ๆ เพื่อช่วยลดปวดให้คนไข้ ซึ่งเมื่ออาการปวดลดลง ก็จะเสริมด้วยการบริหารเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหลังเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น

1.4 ใช้อุปกรณ์ซัพพอร์ตหลัง ใส่ให้กับคนไข้ จะสามารถช่วยลดอาการปวดได้

1.5 ฉีดยาบริเวณโพรงไขสันหลัง ซึ่งยาที่ใช้จะเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ ก็จะช่วยลดอาการปวดได้เช่นกัน

2. การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแบบผ่าตัด

2. การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแบบผ่าตัด

การผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนนั้น แพทย์จะพิจารณาจากอาการของตัวโรคเป็นสำคัญว่าเหมาะกับวิธีการผ่าตัดแบบใด แต่จะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดก็ต่อเมื่อรักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วไม่หาย คนไข้ยังมีอาการปวดหลังอยู่มาก มีอาการปวดจากการกดเบียดทับเส้นประสาทอยู่จนรบกวนการใช้ชีวิต โดยวิธีการผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนจะแบ่งได้หลัก ๆ ออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

2.1 ผ่าตัดขยายโพรงเส้นประสาทกระดูกสันหลังที่ถูกกดทับ ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดไม่มาก แต่มีอาการปวดร้าวลงขา หรือชาอ่อนแรงอันเกิดจากกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โดยสามารถผ่าตัดได้ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเปิด หรือผ่าตัดส่องกล้องแบบ Microscope หรือ Endoscope ก็ได้

2.2 ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดหลังมาก ร่วมกับมีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดขยายโพรงเส้นประสาท ร่วมกับผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง โดยจะใส่โลหะดามกระดูกสันหลังบริเวณที่มีปัญหา

การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแบบผ่าตัด

แล้วเชื่อมข้อกระดูกที่เคลื่อนให้กลับมาต่อกันเป็นแนวเดิมตามธรรมชาติของกระดูกสันหลังปกติ โดยเทคนิคในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังนั้น มีหลากหลายวิธี เช่น

  • การผ่าตัดผ่านทางด้านข้าง (OLIF: Oblique Lumbar Interbody Fusion และ DLIF: Direct Lateral Interbody Fusion)
  • การผ่าตัดผ่านทางด้านหน้า (ALIF: Anterior Lumbar Interbody Fusion)
  • การผ่าตัดผ่านทางด้านหลัง (TLIF: Transforaminal Lumbar Interbody Fusion และ PLF: Posterior Lumbar Interbody Fusion) โดยวิธีการผ่าตัดผ่านทางด้านหลังนั้น อาจจะใช้วิธีเจาะรูใส่โลหะตามกระดูกสันหลังและใช้กล้อง Microscope หรือ Endoscope เข้ามาช่วย จะเรียกวิธีนี้ว่า MIS TLIF หรือ Endoscopic TLIF 

โดยที่วิวัฒนาการการผ่าตัดกระดูกสันหลังก็จะมาในแนวของ MIS หรือ Minimally Invasive Surgery ทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย กล้ามเนื้อบาดเจ็บน้อย และคนไข้ฟื้นตัวเร็วมากขึ้น

เตรียมตัวอย่างไรก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อน

เตรียมตัวอย่างไรก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อน

แนวทางการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนจะคล้ายคลึงกันกับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอื่นๆ ทั่วไป โดยคนไข้จำเป็นจะต้องมาตรวจสุขภาพ เพื่อเช็กความพร้อมของสภาพร่างกายก่อนว่าพร้อมกับการผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะให้เจาะเลือด เอกซเรย์ รวมถึงตรวจสภาพความพร้อมของหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังจำเป็นจะต้องงดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการผ่าตัดให้เหลือน้อยที่สุด 

สำหรับคนไข้บางกลุ่มที่ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่เป็นประจำเพื่อรักษาโรคอื่นๆ อยู่นั้น จำเป็นจะต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะต้องงดยาละลายลิ่มเลือดก่อนการผ่าตัด ซึ่งก็จะต้องตรวจสภาพร่างกายดูว่าสามารถงดยาละลายลิ่มเลือดได้หรือไม่

หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนดูแลตัวเองอย่างไรให้ฟื้นตัวไวหายดี

หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนแล้ว การดูแลตัวเองอย่างใส่ใจ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำให้ฟื้นตัวไว้และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง โดยแนวทางในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ควรทำ ได้แก่

  1. ดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้โดนน้ำ โดยปกติช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ ต้องระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ เพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อ ซึ่งโดยมากจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อทำการตัดไหมแล้ว ก็สามารถอาบน้ำ โดนน้ำได้ตามปกติ
  2. หลีกเลี่ยงการใช้งานหลัง ในกรณีผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง จะต้องระมัดระวังการใช้งานหลังให้มากเป็นพิเศษ เพื่อให้ข้อกระดูกสันหลังที่เชื่อมเกิดการยึดติดอย่างเต็มที่ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนขึ้นไป ดังนั้น หลังผ่าตัดคนไข้จึงต้องหลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่ก้มหลังบ่อย หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้ต่ำ  หรือการนั่งกับพื้น เพราะจะทำให้เกิดแรงกดบริเวณกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังบริเวณที่เพิ่งผ่าตัดมาได้
  3. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่นั่งนานเกินไป ควรเปลี่ยนท่าทุก 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดบริเวณที่ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ทั้งนี้ คนไข้สามารถเดิน ยืน ใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติตั้งแต่หลังผ่าตัดเลย แต่ก็จำเป็นต้องระมัดระวังไม่รีบร้อนทำกิจกรรมหนัก ๆ มากเกินไป

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

แนวทางในการดูแลตัวเอง รวมถึงคนที่รักใกล้ชิด ให้เสี่ยงกระดูกสันหลังเคลื่อนน้อยที่สุดนั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่ทำให้อาจเกิดอาการบาดเจ็บที่บริเวณกระดูกสันหลัง เช่น การยกของหนักมาก ยกซ้ำๆ บ่อยๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 
  2. การออกกำลังกาย เล่นกีฬา โดยเฉพาะในนักกีฬาอาชีพ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยหากมีอาการปวดหลังบ่อยๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูอาการและวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดจากกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือไม่ ถ้าใช่จะได้รีบรักษาก่อนจะลุกลามเรื้อรัง
  3. ให้ความสำคัญกับการบริหารร่างกาย เสริมกล้ามเนื้อบริเวณหลังให้แข็งแรง เพราะกล้ามเนื้อหลังมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงกระดูกสันหลังไม่ให้เคลื่อนง่าย

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนนั้น แม้จะเกิดได้จากหลายสาเหตุแต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักเกิดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลังที่เป็นไปตามอายุที่มากขึ้น และการใช้งานร่างกายทำกิจกรรมที่เสี่ยงทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน ซึ่งหากเราที่เริ่มมีอายุมากขึ้นแล้วปวดหลังบ่อยๆ หรือพบเห็นผู้สูงอายุในบ้านมีอาการปวดหลังเรื้อรังนานมากกว่า 3 เดือนขึ้นไปแล้วไม่หาย มีอาการปวดร้าวลงขา ชา หรือมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ควรรีบเข้ามารับการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่ามีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือไม่ โดยหากพบว่ากระดูกสันหลังเคลื่อนจริง ก็สามารถรักษาให้หายดี กลับมามีชีวิตที่ปกติไม่ปวดหลังได้ด้วยหลากหลายวิธีทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งควรได้รับการแนะนำและวางแผนการรักษาโดยตรงกับแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อจะดีที่สุด 

บทความโดย : นพ.จิรชัย พิสุทธิ์เบญญา ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง

จันทร์, 10 เม.ย. 2023
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นๆ
อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เกิดขึ้นได้อย่างไร ปล่อยไว้อันตรายหรือไม่
อาการปวดสะบักร้าวลงแขน เกิดขึ้นได้อย่างไร ปล่อยไว้อันตรายหรือไม่
กระดูกสันหลังยุบ จากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
กระดูกสันหลังยุบ จากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
กระดูกสันหลังเคลื่อนมีวิธีรักษาอย่างไรบ้างให้หายดี
กระดูกคอเสื่อม
อาการกระดูกคอเสื่อมมีอะไรบ้าง รู้ก่อนป้องกันได้
top line