ไม่ต้องเป็นนักกีฬา ก็ใช้เวชศาสตร์การกีฬารักษาอาการบาดเจ็บได้

ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาอาชีพ มือสมัครเล่น หรือแค่คนที่ชอบออกกำลังกายเป็นกิจวัตร ต่างก็มีโอกาสบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ฝึกซ้อม หรือออกกำลังกายได้ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกว่า หากเป็นอะไรขึ้นมาก็แค่ไปรักษาในโรงพยาบาลตามปกติก็ได้ แต่ในปัจจุบันการเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในวงการกีฬาต่างประเทศ สาเหตุเป็นเพราะเวชศาสตร์การกีฬามีความสำคัญกับนักกีฬาและคนออกกำลังกายมากโดยที่เราอาจไม่รู้มาก่อน

เวชศาสตร์การกีฬาคืออะไร?

เวชศาสตร์การกีฬา คือ ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ส่งเสริม วินิจฉัย และรักษา ฟื้นฟู สภาพร่างกายของนักกีฬาทั้งมืออาชีพ สมัครเล่น ตลอดจนผู้ที่ออกกำลังกาย ให้มีศักยภาพร่างกายที่ดีที่สุด โดยใช้ความรู้ทางการแพทย์เฉพาะทางหลาย ๆ ด้าน รวมกัน อาทิ ความรู้เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ ด้านการกายภาพบำบัด ด้านโภชนาการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือสามารถทำให้ผู้ป่วยหายบาดเจ็บกลับมาเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายได้เหมือนเดิมโดยเร็ว ด้วยสมรรถภาพร่างกายที่คงเดิม หรือดีกว่าเดิม

ประโยชน์ของเวชศาสตร์การกีฬา

เหตุผลที่ทำให้ในปัจจุบันเวชศาสตร์การกีฬาเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการกีฬา และกลุ่มคนที่ออกกำลังกายอย่างจริงจังมากขึ้นนั้น เพราะประโยชน์ที่ครอบคลุมรอบด้าน ดังต่อไปนี้

ช่วยเสริมแกร่งสมรรถภาพร่างกายให้ดีขึ้น

ในปัจจุบันการจะมีสมรรถภาพร่างกายที่ดี หรือมี Good Performance ที่ทำให้การเล่นกีฬามีประสิทธิภาพ มีโอกาสชนะมากขึ้นนั้น ไม่ได้อาศัยเพียงแค่การฝึกซ้อมทักษะอย่างหนักให้เก่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยความรู้ทางเวชศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยด้วย เช่น ต้องทานอาหารแบบไหน วางแผนโภชนาการอย่างไรเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอต่อการเล่นกีฬาในแต่ละชนิดที่ใช้พลังงานแตกต่างกัน หรือควรต้องออกกำลังกายแบบใดบ้าง ต้องจัดโปรแกรมฝึกแบบแอนแอโรบิค (Anaerobic) มากแค่ไหน ต้องจัดโปรแกรมฝึกแบบแอโรบิค (Aerobic) เป็นสัดส่วนเท่าไร จึงจะเพียงพอต่อการเสริมแกร่งร่างกายให้แข็งแรงเหมาะสมกับชนิดกีฬา หรือรูปแบบการออกกำลังกายที่เป็นเป้าหมาย เป็นต้น

ช่วยรักษาฟื้นฟูอาการบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การหยุดเล่นกีฬาเพราะอาการบาดเจ็บของนักกีฬาอาชีพเพียงไม่กี่วัน อาจทำให้สูญเสียรายได้มหาศาล ในขณะเดียวกันสำหรับคนที่ออกกำลังกายด้วยความมุ่งมั่น การบาดเจ็บที่ทำให้กลับคืนสู่สนามได้ช้า ก็บั่นทอนจิตใจและสมรรถภาพร่างกายให้ถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้เอง เวชศาสตร์การกีฬาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะการกายภาพบำบัด และการฟื้นฟูแบบองค์รวม สามารถช่วยให้หายจากอาการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น กลับคืนสู่สนามแข่งขันและการออกกำลังกายได้ไวขึ้น โดยที่อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งการผ่าตัด เพราะมีเครื่องมือใหม่ ๆ และวิธีการรักษาที่ได้ผลดีมากมายเป็นทางเลือก อาทิ การรักษาด้วยเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser Therapy) ใช้บำบัดอาการปวดที่กล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นประสาท การบําบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy) เพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในการหายใจ และการฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) ซึ่งเป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ใช้เกร็ดเลือดในการรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณข้อ เอ็น และกล้ามเนื้อ แทนการฉีดสเตียรอยด์ ซึ่งนอกจากจะทำให้หายเร็วขึ้นแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากสเตียรอยด์ ที่ส่งผลต่อการเสื่อมของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในระยะยาวได้อีกด้วย

ช่วยป้องกันให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ยากขึ้น

เวชศาสตร์การกีฬา มีแนวทางในการออกกำลังกายที่เฉพาะเจาะจง ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแข็งแรงได้มากขึ้นอย่างถูกจุด ซึ่งเมื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อได้เหมาะสมกับชนิดของการเล่นกีฬาแล้ว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บลงได้ ยกตัวอย่างเช่น Hamstring Injury หรืออาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหลัง ใกล้กับข้อพับเข่า เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักวิ่ง หรือผู้ที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วในการเคลื่อนที่สูง ทีมเวชศาสตร์การกีฬาก็จะมีท่าทางการบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนนี้ให้แข็งแรงขึ้น จนลดโอกาสในการบาดเจ็บให้เหลือน้อยลงได้

ใครบ้างควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา?

แม้จะเรียกว่าเวชศาสตร์การกีฬา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้คำปรึกษาและรักษาปัญหาสุขภาพเฉพาะแค่กับนักกีฬาเท่านั้น โดยผู้ที่เหมาะสม และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ได้แก่

  • ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ไม่เคยมีปัญหาสุขภาพ แต่มีเป้าหมายในการเล่นกีฬา และการออกกำลังกายที่จริงจัง เช่น อยากลงวิ่งมาราธอนโดยที่ยังไม่เคยวิ่งมาก่อน ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาก่อนสักครั้ง เพื่อตรวจสภาพความพร้อมของร่างกาย ประเมินความเสี่ยงว่า สามารถที่จะออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด เพื่อเตรียมโปรแกรมฝึกเฉพาะตัวได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และพาให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
  • ผู้ที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬา แล้วเคยเกิดอาการบาดเจ็บบ่อยๆ บาดเจ็บซ้ำๆ บริเวณเดิมเรื้อรัง และยังมีเป้าหมายในการอยากออกกำลังกาย และเล่นกีฬาอยู่ ควรได้รับการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายจากแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น และรักษาให้สามารถกลับมาเล่นกีฬา ออกกำลังกายได้อย่างเต็มสมรรถภาพ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และมีเป้าหมายในการออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในการรักษา เช่น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสมรรถภาพของหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำตาลในกรณีคนไข้โรคเบาหวาน เป็นต้น การได้เข้าพบแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา จะช่วยทำให้สามารถวางแผนการออกกำลังกายได้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และวัตถุประสงค์มากขึ้น เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ออกกำลังกายได้มากขึ้น

สำหรับนักกีฬาอาชีพ และคนที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา ชอบออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจนั้น ไม่มีใครอยากบาดเจ็บ จนต้องหยุดเล่น และหากเมื่อได้รับบาดเจ็บ ก็ล้วนต้องการหายเจ็บ ฟื้นฟูร่างกายตนเองกลับมาทำกิจกรรมที่รักให้ได้เร็วที่สุด ด้วยสมรรถภาพร่างกายที่ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้เองเวชศาสตร์การกีฬาจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ ให้ทุกเป้าหมายในการเล่นกีฬา และการออกกำลังกายของทุกคน ยังคงได้รับการสานต่อ และเติมเต็มให้ประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง แม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่ขาดฝันเป็นอุปสรรคขัดขวางระหว่างทาง

อังคาร, 21 ก.ย. 2021
แท็ก
เวชศาสตร์การกีฬา
นักกีฬา
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นๆ
เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบคืออะไร? อาการบาดเจ็บที่คนชอบออกกำลังกายควรรู้ไว้
เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบคือ? คนออกกำลังกายควรรู้
ข้อเท้าหักต้องรักษาอย่างไร ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง
ข้อเท้าหักต้องรักษาอย่างไร ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง
กล้ามเนื้อฉีกขาด
อาการกล้ามเนื้อฉีกขาด พร้อมแนวทางการรักษาและวิธีฟื้นฟู
กล้ามเนื้ออักเสบ รักษา
ตอบทุกข้อสงสัย! ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาอย่างไร?
top line

Login