‘ข้อเท้าพลิก’ อาการบาดเจ็บที่อาจเรื้อรัง หากไม่รักษาให้ทันท่วงที

ข้อเท้าพลิก เป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่อาจพูดได้ว่าใครๆ ก็คงเคยเป็น เพราะหากเราเผลอไผลไม่ระวังตัว อาการบาดเจ็บเช่นนี้ก็สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ แต่รู้หรือไม่ว่าบางครั้งอาการดังกล่าวก็อาจไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ อย่างที่ใครหลายคนคิด

สาเหตุของการเกิดข้อเท้าพลิกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากกิจวัตรประจำวันทั่วไป สำหรับผู้หญิง โดยมากมักเกิดจากใส่รองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าส้นแคบแล้วเดินพลาด การสะดุดพลิกผิดท่าบนพื้นที่ขรุขระ ต่างระดับ ส่วนผู้ชายมักจะเกิดจากการเล่นกีฬา เช่น วิ่ง ฟุตบอล หรือบาสเกตบอล เป็นต้น ทำให้เกิดการอักเสบฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อเท้า และเกิดอาการปวดบวมฟกช้ำ 

ปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งคืออาการที่เราคิดว่าแค่ข้อเท้าพลิก เดี๋ยวก็หาย แต่ทำไมกลับรู้สึกเจ็บลึก เจ็บนาน บางครั้งเกิดข้อเท้าบวมเรื้อรัง ทำเอาระแวงไปหมดว่ากระดูกจะหักหรือเส้นเอ็นฉีกขาดหรือเปล่า แล้วเราจะสามารถแยกแยะอาการเหล่านี้ได้อย่างไรว่าระดับไหนที่ควรต้องไปพบแพทย์

อาการแบบไหนที่เรียกว่าเริ่มไม่ปกติ และควรปรึกษาแพทย์

หากผู้ป่วยเกิดข้อเท้าพลิก หรือมีอาการเจ็บข้อเท้าโดยที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุรุนแรง อาการปวดควรจะค่อยๆ บรรเทาลงภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการเหล่านี้ แนะนำว่าผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

  • ปวดมาก ไม่สามารถลงน้ำหนักเท้าข้างที่บาดเจ็บได้
  • ข้อเท้าบวมมากทันทีหลังจากพลิก
  • อาการปวด บวม อักเสบ ไม่ทุเลาลงนานกว่า 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมจึงแนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะทำการตรวจร่างกายวินิจฉัย ตรวจเอกซเรย์ หรือ MRI เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเรื้อรัง จนอาจลุกลามถึงขั้นที่เกิดภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงหรือภาวะข้อเท้าเสื่อมในอนาคตได้

การดูแลรักษาข้อเท้าพลิกด้วยตัวเองเบื้องต้น

ในกรณีที่ข้อเท้าพลิกไม่ได้รุนแรงมาก เรามีวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • พักการใช้งานข้อเท้า เดินเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเดินในระยะทางไกล 
  • ประคบเย็นในบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยลดอาการบวมช้ำ โดยประคบครั้งละ 20 นาที ถ้าพอมีเวลาให้ทำซ้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน เพื่อให้อาการปวดบวมลดลงได้เร็วขึ้น
  • ยกข้อเท้าให้สูงขึ้นขณะนั่งหรือนอน ช่วยลดอาการบวม 
  • ใช้ผ้าพันแผลแบบยืดพันข้อเท้า วิธีนี้ทำเพื่อประคองข้อเท้าไว้ไม่ให้ขยับใช้งานมากเกินไป แต่ต้องระวังว่าอย่าพันแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เท้าชาหรือทำให้ปลายเท้าขาดเลือดได้
  • การรับประทานยาลดการอักเสบเพื่อลดอาการปวดบวม 

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้ทำการดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

การพันข้อเท้าเพื่อประคองข้อเท้าไม่ให้ทำงานมากเกินไป

 

กันไว้ดีกว่าแก้.. ข้อควรปฏิบัติหากไม่อยากประสบเหตุข้อเท้าพลิกหรืออาการบาดเจ็บข้อเท้า

  • เลือกใส่รองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะกับขนาดและรูปเท้าของตัวเอง มีหน้าเท้ากว้าง ไม่บีบหน้าเท้า พื้นรองเท้านุ่ม ส้นรองเท้ากว้างและไม่สูงเกินไป เช่น รองเท้าออกกำลังกายหรือรองเท้ากีฬา
  • บริหารเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อเท้าด้านข้าง ลดโอกาสในการเกิดข้อเท้าพลิก
    • นั่งบนเก้าอี้ในท่าที่สบาย 
    • ใช้ยางยืดมาคล้องหรือรัดไว้กับเท้าข้างที่ต้องการบริหาร โดยปรับความตึงตามที่ต้องการ
    • ใช้เท้าอีกข้างหนึ่งเหยียบยางยืดไว้เพื่อคุมให้ความตึงคงที่ 
    • เริ่มบริหารโดยใช้ส้นเท้าเป็นจุดหมุน แล้วบิดปลายเท้าไปด้านนอก เช่น หากบริหารเท้าขวา ให้บิดปลายเท้าไปทางขวา ทำค้างไว้ 15-20 วินาทีแล้วพัก จากนั้นให้ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนครบข้างละ 10 ครั้ง (นับเป็น 1 เซ็ต) 
    • แนะนำให้ทำครั้งละ 3-4 เซ็ตต่อวัน
ท่าบริหารเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อเท้าด้านข้าง
  • ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ ควรจะต้องทำการยืดเหยียดเส้นเอ็นก่อนและหลังจากการออกกำลังกาย มีการวอร์มอัพและคูลดาวน์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้งาน และลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บ
  • สำหรับคนที่เคยมีประวัติข้อเท้าพลิกมาแล้ว อาจเลือกใช้วิธีใส่สนับข้อเท้าเพื่อพยุงเอาไว้ขณะทำกิจกรรมก็เป็นการลดความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง
อาการข้อเท้าพลิก

 

ข้อเท้าพลิกบ่อย สัญญาณอันตรายของโรคข้อเท้าหลวมไม่มั่นคง

อีกหนึ่งสัญญาณที่ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากเกิดอาการข้อเท้าพลิกบ่อยหรือข้อเท้าพลิกง่ายกว่าปกติ เช่น เดินบนพื้นลาดเอียง หรือพื้นที่ขรุขระ ไม่เรียบเพียงเล็กน้อย แต่ก็เกิดข้อเท้าพลิก ไม่ได้เกิดจากการประสบอุบัติเหตุที่ชัดเจน 

สาเหตุของการเกิดโรคข้อเท้าหลวม

โดยโรคข้อเท้าไม่มั่นคงสามารถอธิบายสาเหตุได้เป็น 2 กรณี 

  • กรณีแรกคือรูปทรงเท้าที่เอียงผิดรูปมาแต่เดิม ซึ่งเกิดจากความผิดปกติที่กระดูกเท้า มีอุ้งเท้าสูง ส้นเท้าเอียงเข้าด้านใน ส่งผลให้ข้อเท้าพลิกได้บ่อย ซึ่งแนวทางการรักษาของกรณีนี้คือการผ่าตัดกระดูกเพื่อจัดทรงเท้าให้ตรง ลดโอกาสเกิดการพลิก
  • อีกกรณีหนึ่งคือผู้ป่วยที่มีรูปเท้าปกติ แต่เคยมีอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกรุนแรงในครั้งแรกๆ และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ได้พักการใช้งานนานพอ ทำให้เส้นเอ็นที่ฉีกขาดสมานตัวไม่ดีหรือไม่สมาน เช่น นักกีฬาบาสเกตบอลที่ต้องมีการกระโดดบ่อยครั้ง เกิดข้อเท้าพลิกรุนแรง แต่เนื่องจากต้องการกลับไปเล่น จึงไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ได้ใช้เวลาในการฟื้นฟูนานเพียงพอ ทำให้เส้นเอ็นสมานไม่ดี และกลายเป็นโรคเส้นเอ็นข้อเท้าหลวมในที่สุด

ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเท้าหลวมไม่มั่นคง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และยังเกิดข้อเท้าพลิกซ้ำเรื่อยๆ นอกจากจะทำให้เกิดข้อเท้าพลิกได้ง่ายมากขึ้นในครั้งต่อไปแล้วยังสามารถเกิดการบาดเจ็บที่ตัวกระดูกอ่อนในข้อเท้า ทำให้เกิดอาการปวดบวมข้อเท้า ข้อเท้าอักเสบ ไปจนถึงข้อเท้าเสื่อมในอนาคตได้

แนวทางการรักษาสำหรับผู้ที่เป็นโรคเอ็นข้อเท้าหลวม

การรักษาจะมี 2 รูปแบบคือผ่าตัดและไม่ผ่าตัด

รักษาแบบไม่ผ่าตัด

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกบริหารเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้าให้แข็งแรง รวมไปถึงการใส่สนับในขณะใช้งานหรือเล่นกีฬาเพื่อซัพพอร์ตข้อเท้าให้มั่นคง 

โดยทั่วไปแล้ว สนับข้อเท้าจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ตามรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง ได้แก่

1. สนับข้อเท้าที่เป็นผ้ายืด ไม่มีแกน ข้อดีคือมีความบาง ใส่สะดวก ข้อเท้าขยับได้ค่อนข้างอิสระ ไม่อึดอัดขณะสวมรองเท้าเล่นกีฬา เหมาะสำหรับคนที่มีอาการข้อเท้าหลวมแบบไม่รุนแรง และยังต้องการความคล่องตัวขณะทำกิจกรรมอยู่  

สนับข้อเท้าที่เป็นผ้ายืด ไม่มีแกน


2. แบบมีแกนด้านข้าง โดยวัสดุที่ใช้จะมีหลากหลาย ทั้งที่ทำจากโฟม เจล หรือพลาสติกที่ประกบข้อเท้าทั้งด้านนอกและด้านใน ซึ่งชนิดนี้จะมีความแข็งแรง ป้องกันการพลิกได้ดี เพราะมีการล็อกที่แน่นหนา อาจจะเคลื่อนไหวข้อเท้าได้น้อยกว่าแบบผ้ายืดเล็กน้อย แต่ยังสามารถใส่เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมได้ตามปกติ เหมาะสำหรับคนที่มีอาการข้อเท้าพลิกบ่อยหรือข้อเท้าหลวมไม่มั่นคง

สนับข้อเท้าแบบมีแกนด้านข้าง

รักษาแบบผ่าตัด

จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยทำการรักษาด้วยวิธีการแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังเกิดข้อเท้าพลิกอยู่จนรบกวนการใช้งาน โดยแพทย์จะเป็นการผ่าตัดสร้างเส้นเอ็น เสริมความแข็งแรงด้านข้างข้อเท้า เพื่อให้ข้อเท้ามั่นคงและไม่พลิกซ้ำอีก

แต่หากใช้วิธีดังกล่าวแล้วยังอาการข้อเท้าพลิกอยู่ก็อาจจะต้องใช้วิธีการผ่าตัดสร้างเส้นเอ็น เสริมความแข็งแรงด้านข้างข้อเท้า เพื่อให้ข้อเท้ามั่นคงและไม่พลิกซ้ำอีก โดยจะเริ่มต้นจากการตรวจร่างกายเพื่อดูว่าข้อเท้าหลวมจริงหรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมที่ต้องการอย่างเต็มที่

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

Q&A

Q: ข้อเท้าพลิกมาเป็นเดือนแล้ว แต่ยังปวดอยู่เลย ควรทำอย่างไรดี

โดยปกติแล้ว หากเป็นอาการข้อเท้าพลิกธรรมดาที่เกิดจากเส้นเอ็นฉีกขาด เส้นเอ็นเหล่านี้จะสามารถสมานได้เองและหายดีภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งหากเวลาผ่านไปมากกว่า 1 เดือนแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเจ็บอยู่ แนะนำว่าควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เพราะอาการเจ็บนี้อาจไม่ได้เกิดจากเส้นเอ็นฉีกขาดเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีเรื่องของกระดูกหัก หรือกระดูกอ่อนในข้อได้รับบาดเจ็บร่วมด้วย เป็นต้น

Q: เล่นบาสเป็นประจำมาหลายปีจนมีอาการข้อเท้าหลวม จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง

เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นบริหารเส้นเอ็นให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอก่อน และใส่สนับข้อเท้าขณะเล่นกีฬาเพื่อเป็นการซัพพอร์ตในบริเวณนั้นๆ

 

ศุกร์, 12 มี.ค. 2021
แท็ก
เจ็บข้อเท้า
ข้อเท้าพลิก

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นๆ
ปวดส้นเท้าเสี่ยงเป็นโรคอะไร
รู้ไหม? เมื่อปวดส้นเท้า เราเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?
นิ้วโป้งเท้าเอียง
กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงคืออะไร? ทำไมมักพบในผู้หญิง พร้อมวิธีรักษาที่ควรรู้
เป็นโรครองช้ำ รักษาอย่างไรดี ?
โรคเท้าที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ พร้อมวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น
top line

Login