“ปวดข้อศอก” รักษาให้หายได้ อย่าปล่อยไว้จนเรื้อรัง
อาการ “ปวดข้อศอก” เป็นอาการที่สามารถพบเจอได้บ่อย โดยอาจเกิดขึ้นได้จากการใช้งานแขน หรือข้อศอกอย่างไม่ระมัดระวัง ส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณข้อศอกได้ง่าย แต่ว่าอาการดังกล่าวนั้นก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าหากใครที่กำลังมีอาการปวดข้อศอกก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
Table of Contents
Toggleปวดข้อศอก เกิดจากอะไร?
อาการปวดข้อศอกนั้นเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ 2 สาเหตุ ดังนี้
อุบัติเหตุ
อาการปวดข้อศอกที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้นมักจะเกิดในผู้ที่เคยมีประวัติได้รับอุบัติเหตุมาก่อนจนทำให้บริเวณข้อศอกมีอาการฟกช้ำ กระดูกหัก เอ็นขาด หรือข้อศอกเคลื่อนหลุด รวมถึง อุบัติเหตุที่เกิดได้ง่ายๆ เช่น การล้มในท่าที่ใช้มือค้ำลงไปพื้น และมีการบิดข้อศอกผิดท่า อาจทำให้บริเวณข้อศอกเกิดการบาดเจ็บได้ เพราะจะต้องรับน้ำหนัก และส่งผลให้กระดูกแตก ข้อศอกเคลื่อน หรือข้อศอกหลุดได้
ไม่ใช่อุบัติเหตุ
สำหรับอาการปวดข้อศอกที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุนั้นมักจะเกิดจากการใช้งานซ้ำๆ จนค่อยๆ มีอาการบาดเจ็บมากขึ้น เช่น การใช้แรงงานประจำวัน ทำงานบ้าน หรือยกของหนัก เป็นต้น แต่ว่าอาการปวดข้อศอกด้วยสาเหตุนี้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ที่เริ่มมีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป เพราะว่าเอ็นตรงจุดเกาะกระดูกข้อศอกนั้นมีการเสื่อมสภาพมากขึ้นตามอายุ ทำให้เกิดการฉีกขาดได้ง่าย และทำให้เจ็บในบริเวณปุ่มข้อศอกที่เป็นที่เกาะของเอ็นกล้ามเนื้อ
สาเหตุอื่นๆ
นอกจากนั้นอาการปวดข้อศอกที่เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ และการใช้งานแล้ว ยังสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน แต่ว่าสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่าสาเหตุอื่นๆ เช่น เกิดจากที่ผิวของข้อตรงข้อศอกเสื่อม กระดูกผิวอ่อนข้อเสื่อม ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรืออาการติดเชื้อที่มาจากแบคทีเรียที่กระจายมาจากแหล่งอื่นๆ เป็นต้น
ปวดข้อศอกมีกี่แบบ?
ในกรณีที่อาการปวด ไม่ได้เกิดจากอุบัตินั้น เราสามารถแบ่งตำแหน่งของอาการปวดข้อศอกเพื่อช่วยในการวินิจฉัย หรือคิดถึงสาเหตุของการเกิดโรค โดยอาการปวดข้อศอกสามารถจำแนกลักษณะอาการปวดโดยแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้ดังนี้
- ปวดข้อศอกด้านใน การปวดบริเวณนี้จะมีอาการเจ็บจากเอ็นที่เกี่ยวกับการงอข้อมือ และนิ้วที่เกาะปุ่มข้อศอกด้านในเสื่อม และบาดเจ็บ หรือฉีกขาดได้เหมือนกับการปวดข้อศอกด้านนอกแบบ Golfer Elbow โดยเกิดอาการเจ็บจากการใช้งานทั่วไป และเจ็บจากการที่มีเส้นประสาทกดทับ (Cubital Tunnel Syndrome)
- ปวดข้อศอกด้านนอก การปวดบริเวณนี้เป็นบริเวณที่พบบ่อยที่สุด โดยจะเจ็บในบริเวณจุดเกาะของเอ็นที่ใช้ในการกระดกมือขึ้น หรือเอ็นที่เกาะกับปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก (Tennis Elbow) หรืออาจจะเจ็บจากการที่เส้นประสาทบริเวณข้อศอกมีการกดทับ (Radial Tunnel Syndrome) ที่พบเจอได้บ่อย และบางทีอาจจะพบร่วมกับ Tennis Elbow ซึ่งอาจจะมีเนื้อเยื่อภายในข้อศอกอักเสบ บวมขึ้น บวมโต และเกิดอาการขัด รวมถึงอาจจะมีเสียงภายในข้อศอกเวลาขยับ และเจ็บร่วมด้วย
- ปวดข้อศอกด้านหลัง การปวดบริเวณนี้เกิดจากการที่เอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะบริเวณด้านหลัง หรือกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ (Triceps) ข้อเสื่อม ทำให้กระดูกไปชนกันด้านหลัง และส่งให้เกิดอาการปวด หรือเจ็บตามมา
โดยอาการปวดข้อศอก หรือเจ็บข้อศอกแต่ละส่วนนั้นสามารถใช้ในการแยกโรคได้ และจะนำไปสู่การตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพราะว่าในแต่ละบริเวณนั้นจะมีจุดเจ็บที่ต่างกัน ถ้าข้อศอกมีปัญหาตรงไหน จุดกดเจ็บจะชัดเจน และเพื่อจะได้แก้อาการปวดข้อศอกด้านใน แก้อาการปวดข้อศอกด้านนอก และแก้อาการปวดข้อศอกด้านหลังได้อย่างถูกต้อง
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
อาการปวดข้อศอกเป็นแบบไหน?
อาการปวดข้อศอกนั้นมักจะมีอาการปวดตามแนวท้องแขน ปวดร้าวทั้งแขนจนถึงข้อมือ และบริเวณมือ รวมถึงข้อมือมีอาการอ่อนแรง ซึ่งอาจมีอาการชาร่วมด้วย ในกรณีที่เป็นกลุ่มที่เกิดจากเส้นประสาท หรือมีอาการข้อศอกติดตามมาภายหลังเป็นภาวะแทรกซ้อน
ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเคยติดเชื้อมาก่อน โดยปกติแล้ว ถ้าหากพักการใช้งานประมาณ 1 สัปดาห์ หรือกินยาแก้ปวด อาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้น หรือหายไป แต่ถ้าพักการใช้งาน หรือกินยาแก้ปวดเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่หายดี ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังได้
ใครที่เสี่ยงต่อการปวดข้อศอกบ้าง?
ถึงแม้ว่าอาการปวดข้อศอกนั้นจะเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการนี้ได้ง่ายกว่าบุคคลกลุ่มอื่นๆ มีดังนี้
ช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป
สำหรับช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป หรือช่วงอายุ 30 ปีตอนปลาย จะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอาการปวดข้อศอก หรือมีโอกาสเจ็บเกี่ยวกับเอ็นกล้ามเนื้อได้ง่ายขึ้น เพราะว่าเอ็นมีการเสื่อมสภาพมากขึ้นตามช่วงอายุ หรือการใช้งาน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ในระดับเดิมเหมือนที่เคยใช้งานมาก่อน
นักกีฬา
สำหรับอาการปวดข้อศอกในกลุ่มนักกีฬานั้นมักจะเกิดจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเกิดกับกลุ่มนักกีฬามืออาชีพ แต่มักจะเกิดกับกลุ่มที่เป็นนักกีฬาสมัครเล่น เพราะไม่ได้มีการออกกำลังกายในความถี่เท่ากับกลุ่มนักกีฬามืออาชีพ รวมถึง กลุ่มผู้ที่เล่นยิมที่ฝืนความสามารถของกล้ามเนื้อของตัวเอง หรือผู้ที่ต้องการเพิ่มระดับในการเล่นกีฬาอย่างรวดเร็ว
ผู้ที่ใช้งานแขน หรือข้อศอกซ้ำๆ
ผู้ที่ใช้งานแขน หรือข้อศอกซ้ำๆ นั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการปวดข้อได้ง่าย เช่น ใช้แรงในการหยิบยก ยกของหนักบ่อยๆ หรือผู้ที่ต้องใช้แรงงานในการยกของเป็นประจำ ทำให้แขน และข้อศอกมีการใช้งานซ้ำๆ และใช้งานหนักเกินไป จนทำให้ข้อศอก เอ็นข้อศอกอักเสบ หรือส่วนต่างๆ ของแขนได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้มีอาการปวด และเจ็บข้อศอกตามมา
ผู้ที่ใช้งานแขน หรือข้อศอกผิดท่า
การใช้งาน หรือข้อศอกผิดท่าสามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อศอกได้เช่นกัน เช่น การกวาดบ้านแบบสะบัดมือไปข้างหลัง ทำให้ใช้กล้ามเนื้อ และเอ็นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้ข้อศอก หรือแขนนั้นผิดท่าได้ หรือการไปเที่ยว และหยิบกระเป๋าออกจากสายพานแบบรีบๆ อาจทำให้ยกขึ้นมาแบบผิดท่าทาง ซึ่งกระเป๋าก็มีน้ำหนักมากพอสมควร ทำให้กล้ามเนื้อไม่พร้อม และมีการยืดหยียดกระทันหัน ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อศอก หรืออาการเจ็บแขนตามมาได้
ปวดข้อศอกสามารถรักษาแบบไหนได้บ้าง?
อาการปวดข้อศอกนั้นสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าหากมีอาการปวดก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการเรื้อรังได้ โดยวิธีการรักษาอาการปวดข้อศอกนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
รักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาอาการปวดข้อศอกแบบไม่ผ่าตัดนั้นสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น หยุดพักการใช้งาน การกินยา การฉีดยา หรือการทำกายภาพบำบัด ถ้าหากเกิดจากเอ็นกล้ามเนื้อก็จะรักษาด้วยการหยุดพักการใช้งาน กินยา และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรืออาจจะมีการฉีดยาร่วมด้วย ซึ่งขึ้นอยู่การพิจารณาของแพทย์
นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน อัลตราซาวนด์ หรือช็อกเวฟ เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ถ้าเป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ก็จะไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรเข้าพบแพทย์ก่อน เพื่อทำการวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดที่เกิดมาจากสาเหตุใด และจะได้รักษาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
รักษาแบบผ่าตัด
การรักษาแบบผ่าตัดนั้นจะเป็นการรักษาที่จะทำก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีเบื้องต้น เช่น การหยุดพักการใช้งาน การกินยา หรือการทำกายภาพเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ว่ามีแนวโน้มที่อาการเจ็บปวดไม่ดีขึ้น และส่งผลกระทบ หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงจะมีการพิจารณาในการใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ด้วยเช่นกัน
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
ท่าบริหารแบบง่ายๆ ช่วยป้องกันเอ็นข้อศอกอักเสบ
สำหรับการทำท่าบริหารเอ็นข้อศอกอักเสบ หรือการทำกายภาพบำบัดนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการใช้มือข้างที่ไม่ได้เจ็บพับงอข้อมืออีกฝั่งให้สุด ในท่าที่แขนเหยียดตรง 90 องศา
โดยการทำกายภาพบำบัดด้วยท่าบริหารนั้นทำเพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่ออาการบาดเจ็บเหล่านั้นดีขึ้นแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยที่จะทำท่าบริหารในบริเวณข้อมือ แขน หรือข้อศอก จะต้องให้แพทย์วินิจฉัยก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัดเท่านั้น
ถ้าหากปวดข้อศอกแล้วไม่รักษาจะเป็นอะไรไหม?
ถ้าหากปวดข้อศอกแล้วไม่รักษาอาจทำให้เกิดอาการปวดข้อศอกแบบเรื้อรังได้ สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และทำให้สมรรถภาพในการใช้งานแย่ลงเรื่อยๆ และที่สำคัญ คือ ถ้าปล่อยไว้นานๆ หรือไม่รักษาเบื้องต้นอาจทำให้เส้นเอ็นฉีกขาด หรืออาการหนักมากขึ้นจนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาแบบผ่าตัด
โดยเฉพาะอาการเจ็บข้อศอกที่เกิดจาก Golfer Elbow และ Tennis Elbow ที่จะหายยากกว่าปกติ เพราะว่าไม่ใช่การอักเสบแบบธรรมดา แต่เกิดจากการเสื่อมของเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นต้องใช้เวลาในการรักษาตัวเองค่อนข้างนานที่อาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ดังนั้น ผู้ป่วยที่ปวดข้อศอกจากอาการนี้จึงต้องเข้าใจตัวเองที่เป็นโรคนี้ และมีวินัยในการทำกายภาพร่วมด้วย
อาการปวดข้อศอกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การเกิดจากอุบัติเหตุ การเสื่อมสภาพ หรือการใช้งาน และมีโอกาสขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป นักกีฬา หรือผู้ที่ใช้แรงงานแขนเป็นประจำ ถ้าหากผู้ป่วยคนไหนรู้สึกว่าตัวเองมีอาการปวดบริเวณข้อศอก ควรรีบพบแพทย์ และรักษาทันที เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอาการปวดข้อศอกแบบเรื้อรังตามมาได้ และถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ หรือไม่รักษาอาจทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัด แทนการรักษาแบบเบื้องต้นที่ไม่ต้องผ่าตัด และอาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
บทความโดย ผศ.นพ.ชินกาจ บุญญสิริกูล ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านมือ ข้อมือ และแขน