กระดูกสันหลังยุบ จากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
“โรคกระดูกพรุน” เป็นโรคร้ายที่หลายคนรู้จัก แต่กลับมองข้าม เพราะเป็นโรคเงียบที่ไม่ได้มีอาการเจ็บปวดกวนใจ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ก็เสี่ยงเป็นอันตรายกว่าที่คิด โดยหนึ่งในความเสี่ยงที่มาพร้อมกับโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุก็คือภาวะ “กระดูกสันหลังยุบ” ซึ่งอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด ลุกลาม รุนแรง จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข หรืออาจทำให้มีการกดทับเส้นประสาทได้
Table of Contents
กระดูกสันหลังยุบ จากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ คือ ภาวะที่กระดูกสันหลังเกิดการแตกหักยุบตัว อันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งกระดูกของผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนนั้น จะไม่แข็งแรงเหมือนกับกระดูกของผู้สูงอายุปกติทั่วไป ส่งผลทำให้เพียงแค่การล้ม หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ก่อให้เกิดแรงกระแทกปกติบริเวณหลัง ก็สามารถทำให้กระดูกสันหลังยุบ หรือแตกหักได้
สาเหตุของกระดูกสันหลังยุบ
สาเหตุหลักของภาวะกระดูกสันหลังยุบ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งสาเหตุของโรคกระดูกพรุนนั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทหลักด้วยกัน ได้แก่
- โรคกระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิ (Primary Osteoporosis) คือ ภาวะกระดูกพรุนที่เกิดขึ้นตามวัย มักพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง
- โรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ (Secondary Osteoporosis) คือ ภาวะกระดูกพรุนที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอายุ เช่น มีโรคบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ก่อนวัยอันควร อาทิ ไตวาย เป็นโรคที่ต้องรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือเป็นโรคที่ต้องผ่าตัดรังไข่ออกจนส่งผลทำให้ขาดฮอร์โมนและเป็นโรคกระดูกพรุนได้ เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วกระดูกสันหลังของคนเราจะคงรูปอยู่ได้ก็ด้วยตัวกระดูกสันหลังต้องมีความแข็งแรงและมีความหนาแน่นของมวลกระดูกสันหลัง หรือ Bone Mineral Density (BMD) อยู่ในระดับปกติ แต่เมื่อไรก็ตามที่เป็นโรคกระดูกพรุน ความหนาแน่นของมวลกระดูกสันหลังก็จะลดลง ทำให้รับแรงกระแทกได้น้อยกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบแตกหักได้สูง
ทั้งนี้ เกณฑ์ในการบ่งชี้ว่าเราเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่นั้น สามารถวัดได้จากค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกสันหลัง ซึ่งหากค่า BMD น้อยกว่า -2.5 ก็จะถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะตรวจวัดค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกสันหลังแล้วปกติ แต่หากเกิดอุบัติเหตุล้มแล้วกระดูกสันหลังยุบหัก ก็หมายความว่าความแข็งแรงของกระดูกอาจไม่ดี ซึ่งก็ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุนชนิดหนึ่งเช่นกัน
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
โรคกระดูกสันหลังยุบ สังเกตอาการอย่างไร
โรคกระดูกพรุน ถือเป็นโรคเงียบที่ไม่แสดงอาการ ถ้าไม่ได้เกิดอุบัติเหตุล้มจนกระดูกหักยุบ จึงไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน หากไม่เข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก แต่ในกรณีที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้วเกิดประสบอุบัติเหตุหกล้ม หรือไปทำกิจกรรมที่เสี่ยงทำให้กระดูกสันหลังยุบ เช่น ก้มหลังยกของหนัก ทิ้งตัวลงนั่งแล้วกระแทกแรงเกินไป จะสามารถสังเกตอาการกระดูกสันหลังยุบ ได้ดังนี้
- เจ็บปวดบริเวณที่กระดูกสันหลังยุบ ซึ่งตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณ “อกต่อเอว” หรือที่เรียกว่า “Thoracolumbar Junction” โดยจะรู้สึกปวดช่วงบริเวณกลางหลัง หรือค่อนลงมาบริเวณหลังด้านล่าง ดังนั้น สำหรับผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย แล้วมีอาการปวดขึ้นเฉียบพลันขึ้นมาทันที ก็อาจสงสัยได้ว่ามีภาวะกระดูกสันหลังยุบ
- อาการปวดหลังตลอดเวลา หากเป็นคนปกติที่ไม่ได้มีอาการกระดูกสันหลังยุบ ไม่ว่าจะนั่ง เดิน ยืน นอน หรือเปลี่ยนท่าทาง โดยปกติแล้วจะไม่ปวด แต่หากเป็นคนที่มีภาวะกระดูกสันหลังยุบ ทุกการขยับตัวจะทำให้รู้สึกปวดหลังได้ หรือแม้แค่นอนแล้วพลิกตะแคงเปลี่ยนท่าก็จะทำให้มีอาการปวดหลังได้อย่างมาก
กระดูกสันหลังยุบไม่รีบรักษา เสี่ยงเป็นอัมพาตได้จริงไหม
โดยปกติแล้วความอันตรายของภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุนั้น คือทำให้เกิดอาการปวดหลังที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากเป็นภาวะกระดูกสันหลังยุบที่รุนแรงมากๆ กระดูกสันหลังยุบตัวมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดอาการหลังค่อม ก็มีความเสี่ยงที่กระดูกสันหลังบางส่วนจะไปกดเบียดทับเส้นประสาทได้เช่นกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดร้าวบริเวณรอบซี่โครงได้ และก็มีส่วนน้อยมากๆ ที่จะทำให้เกิดอาการชา อ่อนแรงที่ขา
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีความเสี่ยงน้อยที่กระดูกสันหลังยุบแล้วจะทำให้เป็นอัมพาต ก็ไม่ควรประมาท และควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาทันทีเมื่อสังเกตพบอาการปวดหลังผิดปกติ
กระดูกสันหลังยุบ วินิจฉัยอย่างไร
เมื่อผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุเล็กน้อยแล้วมีอาการปวดหลังรุนแรง เข้ามาปรึกษาแพทย์ จะได้รับการตรวจว่ามีภาวะกระดูกสันหลังยุบหรือไม่ด้วยแนวทางในการวินิจฉัยดังต่อไปนี้
- เอกซเรย์กระดูกสันหลัง บริเวณที่สงสัยว่ามีการหักยุบ เพื่อยืนยันว่ากระดูกสันหลังยุบจริงหรือไม่
- ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI สำหรับผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังยุบแล้วปวดเรื้อรังมาหลายสัปดาห์ไม่หาย โดยการทำ MRI จะช่วยให้เราทราบได้ว่ากระดูกสันหลังที่ยุบนั้นเชื่อมติดกันแล้วหรือยัง รวมถึงยังทำให้ทราบด้วยว่าที่กระดูกสันหลังยุบนั้นมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคกระดูกพรุนหรือไม่ เช่น คนไข้อาจมีภาวะเนื้องอกที่บริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งก็อาจทำให้เกิดกระดูกสันหลังยุบตัวได้เช่นกัน
- ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกสันหลัง Bone Mineral Density (BMD) เพื่อยืนยันว่าคนไข้เป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นโรคกระดูกพรุน ก็มีความเสี่ยงที่อาการปวดหลังจะเป็นผลมาจากภาวะกระดูกสันหลังยุบ
ขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก
การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก หรือ Bone Mineral Density (BMD) เป็นการตรวจหาว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบได้ เพราะหากทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ก็จะได้ทำการรักษาให้หายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกสันหลังยุบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก จะใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น ทำได้ด้วยการเอกซเรย์ผ่านเครื่อง DXA Scan ฉายรังสีไปยังบริเวณที่ต้องการตรวจ ซึ่งตำแหน่งที่นิยมใช้ตรวจเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ มีอยู่ 2 ตำแหน่งด้วยกัน คือ บริเวณกระดูกสันหลังและกระดูกข้อสะโพก โดยหากตรวจพบว่าค่า BMD น้อยกว่า -2.5 ก็จะวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุน และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบได้
การรักษากระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
แนวทางในการรักษาภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 วิธีหลักๆ ด้วยกัน โดยขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ ดังต่อไปนี้
1. การรักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการไม่ผ่าตัด
ในช่วงแรกหลังจากที่ผู้ป่วยเพิ่งล้มหรือประสบอุบัติเหตุมาแล้วกระดูกสันหลังยุบ มีอาการปวดหลังรบกวนการใช้ชีวิต แพทย์จะพิจารณารักษาเบื้องต้นก่อนด้วยการให้ยาลดปวด แคลเซียม และยารักษาโรคกระดูกพรุน ร่วมไปกับการให้ใส่เสื้อเกราะพยุงหลัง เพื่อดามตัวกระดูกสันหลังจากภายนอก รวมไปถึงยังต้องมีการปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการก้ม การยกของหนัก หรือการทำกิจกรรมที่ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุซ้ำอีกด้วย
ทั้งนี้ โดยธรรมชาติแล้ว กระดูกสันหลังที่ยุบหักสามารถเชื่อมต่อติดกันเหมือนเดิมได้เอง โดยจะใช้เวลาในการรักษาตัวเองตามธรรมชาติเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 สัปดาห์ แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่จะไม่สามารถเชื่อมต่อติดเองกลับมาเป็นปกติได้ ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาตัว ความแข็งแรง และความหนาแน่นของมวลกระดูกในผู้ป่วยแต่ละราย
2. การรักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการฉีดซีเมนต์
ในกรณีที่กระดูกสันหลังยุบและได้การรักษาเบื้องต้นแล้ว แต่ผู้ป่วยยังมีอาการปวดเรื้อรังไม่หาย แพทย์จะใช้การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เพื่อตรวจสอบดูว่ากระดูกเชื่อมต่อติดหรือไม่ หากตรวจแล้วพบว่ากระดูกสันหลังที่ยุบหักไม่ติด (non-union) แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการฉีดซีเมนต์เข้าไปในกระดูกสันหลังที่ยังต่อไม่ติดเพื่อให้เกิดการยึดติดอันจะทำให้อาการปวดลดน้อยลง โดยการรักษากระดูกสันหลังยุบ ด้วยการฉีดซีเมนต์นั้น แบ่งได้ออกเป็น 2 วิธี ตามอาการความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ดังต่อไปนี้
- การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังยุบด้วยวิธี Vertebroplasty แพทย์จะใช้เข็มเจาะเข้าไปที่กระดูกสันหลังโดยตรง แล้วฉีดซีเมนต์เข้าไปบริเวณข้อกระดูกสันหลังที่ยุบหัก
- การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังยุบด้วยวิธี Balloon Kyphoplasty จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยกระดูกสันหลังยุบหักทรุดตัวมากๆ โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษเจาะเข้าไปบริเวณกระดูกสันหลังที่ยุบ จากนั้นจะทำการสอดบอลลูนเข้าไปเพื่อถ่างขยายให้กระดูกสันหลังที่ยุบถูกดันกลับสูงขึ้น ทำให้การยุบตัวลดลง แล้วจึงค่อยฉีดซีเมนต์เข้าไปเพื่อทำให้กระดูกสันหลังยึดติดแข็งตัวกลับสู่สภาพปกติ
การเตรียมตัวก่อนการรักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการฉีดซีเมนต์
คล้ายกับการผ่าตัดทั่วไป คือผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายก่อนว่าพร้อมสำหรับการรักษาหรือไม่
ขั้นตอนการรักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการฉีดซีเมนต์
- แพทย์จะเริ่มต้นจากการให้ยาสลบเพื่อให้ผู้ป่วยไม่เจ็บปวดในขณะทำการรักษา
- จากนั้นจะใช้เครื่องเอกซเรย์ในห้องผ่าตัดเป็นตัวช่วยในการกำหนดตำแหน่งที่จะทำการฉีดซีเมนต์เข้าไป
- แพทย์จะใช้เข็มพิเศษเฉพาะสำหรับการฉีดซีเมนต์เจาะเข้าไปยังบริเวณกระดูกสันหลังที่ยุบ ซึ่งการเจาะรูจะมีขนาดเล็กเพียงประมาณ 2-3 มิลลิเมตรเท่านั้น
- หลังจากยืนยันตำแหน่งได้ถูกต้องแล้ว แพทย์ก็จะดำเนินการฉีดซีเมนต์เข้าไปยังกระดูกสันหลังที่มีปัญหา
- โดยรวมแล้วจะใช้เวลาในการรักษาทั้งหมดประมาณ 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่รวมการแข็งตัวของซีเมนต์แล้วด้วย
การดูแลตัวเองหลังการรักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการฉีดซีเมนต์
โดยทั่วไปแล้วหลังจากการฉีดซีเมนต์เสร็จสิ้นแล้ว อาการปวดบริเวณหลังของผู้ป่วยก็จะลดลงทันที และเมื่อฟื้นจากยาสลบก็สามารถลุก นั่ง เดิน และยืนได้
ในช่วงแรกหลังการรักษา แพทย์จะยังคงต้องให้ใส่เสื้อเกราะพยุงหลังเอาไว้ ร่วมกับให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนไปด้วย เพราะเมื่อรักษาโรคกระดูกพรุนหาย กระดูกก็จะกลับมาแข็งแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังต้องให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการหักยุบซ้ำ โดยยังจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่เสียงทำให้กลับมากระดูกสันหลังยุบซ้ำได้ เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ก้มหลังมากๆ การพลัดตกหกล้มซ้ำ เป็นต้น
3. การรักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการผ่าตัด
การรักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการผ่าตัดนั้นพบได้ไม่บ่อยมากนัก โดยจะทำในเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น เช่น กรณีกระดูกสันหลังยุบแล้วมีการกดเบียดทับเส้นประสาท จึงจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อใส่โลหะดามกระดูกสันหลั และไปแก้ไขเส้นประสาทที่ถูกกดทับด้วย
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการรักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการผ่าตัดนั้น จะเริ่มต้นจากการตรวจเช็กสภาพร่างกายผู้ป่วยก่อนว่าพร้อมสำหรับการผ่าตัดหรือไม่ หากผู้ป่วยพร้อมสำหรับการผ่าตัดแล้ว แพทย์จะให้ยาสลบเช่นเดียวกันกับการรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์ จากนั้นจะดำเนินการผ่าตัดเปิดแผลนำเหล็กยึดเข้าไปดามที่บริเวณกระดูกสันหลัง หรือในขั้นตอนนี้แพทย์อาจเลือกใช้วิธีการเจาะรูแล้วใส่เหล็กยึดเข้าไปบริเวณด้านหลังก็ได้เช่นกัน
หลังผ่าตัดจะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการ และเมื่อปวดแผลน้อยลงแล้วจึงสามารถลุกเดินได้ตามปกติ และจะกลับบ้านได้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าปลอดภัยไม่มีความเสี่ยง
วิธีการป้องกันกระดูกสันหลังยุบ ทำได้อย่างไรบ้าง
แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากสูงวัยไปแล้วต้องทนเจ็บปวดกับภาวะกระดูกสันหลังยุบ และก็คงไม่มีใครอยากเห็นพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักต้องทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บปวดของภาวะกระดูกสันหลังยุบเช่นกัน ดังนั้น การป้องกันให้ตัวเองและคนที่รัก ห่างไกลจากภาวะกระดูกสันหลังยุบให้ได้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องใส่ใจ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ดูแลสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ดี ให้ปลอดภัย ไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ลื่นล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุอันนำไปสู่ไปสู่การทำให้กระดูกสันหลังยุบได้ เช่น ควรเลือกใช้กระเบื้องปูพื้นที่ช่วยกันลื่นได้ แสงสว่างภายในที่อยู่อาศัยต้องเพียงพอที่จะทำให้มองเห็นได้ชัด ควรจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบไม่เกะกะขวางทาง เป็นต้น
- ตรวจสอบสภาพร่างกายของตัวเอง ให้มั่นใจว่าแข็งแรง และไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุอันนำไปสู่ภาวะกระดูกสันหลังยุบได้ เช่น สายตามีปัญหาหรือไม่ มองเห็นได้ชัดเจนไหม การทรงตัวปกติหรือไม่ มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือไม่ เป็นต้น เพราะหากร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีปัญหาผิดปกติ ก็จะเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมากขึ้น
- รักษาโรคกระดูกพรุน ในคนสูงอายุควรเข้ามาตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก ซึ่งถ้าหากพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ก็ควรต้องรักษา เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกสันหลังยุบ หรือสำหรับผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังยุบแล้ว ก็ควรจำเป็นต้องรักษาโรคกระดูกพรุนอยู่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังยุบหักซ้ำ
- รักษามวลกล้ามเนื้อและกระดูกให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งทำได้ด้วยการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน เต้นแอโรบิก รำไทเก็ก ฯลฯ โดยการออกกำลังกายจะช่วยทำให้มวลกระดูกและกล้ามเนื้อของเราแข็งแรง ซึ่งจะช่วยป้องกันกระดูกหักยุบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อายุเท่าไรจึงควรเริ่มตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก
การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก คือวิธีการเดียวที่จะทำให้ทราบว่าเราเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ซึ่ง ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการป้องกันและลดความเสี่ยงภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี ซึ่งคำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุทั่วไปนั้น สำหรับผู้หญิง แพทย์แนะนำให้ตรวจที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และสำหรับผู้ชาย แพทย์จะแนะนำให้ตรวจที่อายุ 70 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ เหตุผลที่ผู้หญิงควรตรวจเร็วกว่าผู้ชาย เป็นเพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่า เนื่องจากหลังหมดประจำเดือน ฮอร์โมนของผู้หญิงจะลดต่ำลงมาก ซึ่งส่งผลทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วด้วย โดยในช่วง 3 ปีแรกหลังหมดประจำเดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่มวลกระดูกจะลดลงมากที่สุด ดังนั้น ผู้หญิงจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกเร็วกว่าผู้ชาย รวมถึงยังจำเป็นต้องสะสมแคลเซียมในช่วงก่อนหมดประจำเดือนเอาไว้ให้เพียงพอ พร้อมกับควรออกกำลังกายให้กระดูกเกิดการใช้งานเพื่อสะสมมวลกระดูกไว้ก่อนถูกดึงออกไปใช้ในช่วงวัยหมดประจำเดือนด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนอันจะนำไปสู่ภาวะกระดูกสันหลังยุบได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีโรคกระดูกพรุนก็อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงช่วงสูงวัย เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือผู้ป่วยที่ต้องตัดรังไข่ออกทำให้ขาดฮอร์โมน ฯลฯ ในกรณีดังกล่าวนี้จะมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้ก่อนวัย ซึ่งจะทราบได้ก็ด้วยการเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก
เลือกกินอย่างไร ช่วยเสริมสร้างกระดูกและแคลเซียม
อาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้เราห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไม่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ก็จะทำให้เสี่ยงกระดูกสันหลังยุบน้อยลงไปด้วย โดยคำแนะนำสำหรับการประทานที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและแคลเซียมนั้น หากเป็นช่วงที่อายุยังไม่ได้สูงมาก ควรรับประทานแคลเซียมให้ได้ปริมาณ 800 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากอายุมากขึ้นแล้วควรรับประทานแคลเซียมให้ได้ถึง 1000 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ สำหรับแคลเซียมที่รับประทาน จะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อย่างเช่น นม ถั่ว ปลา หรือจะเป็นอาหารเสริม วิตามินเสริมก็ได้เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม การที่มวลกระดูกจะสมบูรณ์แข็งแรงมากน้อยแค่ไหน นอกจากเรื่องการรับประทานแคลเซียมและวิตามินแล้ว การออกกำลังกายก็ถือว่ามีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าเราไม่หมั่นออกกำลังกายเลย มวลกระดูกกับกล้ามเนื้อก็จะลดน้อยลง ทำให้ไม่มีความแข็งแรงเท่าที่ควร ซึ่งสุดท้ายแล้วก็อาจทำให้เราป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนและเสี่ยงภาวะกระดูกสันหลังยุบในอนาคตได้
รักษากระดูกสันหลังยุบที่ kdms Hospital ดีอย่างไร
kdms Hospital เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคกระดูกและข้อ ดูแลรักษาผู้ป่วยสูงวัยที่มีภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนได้อย่างครอบคลุมรอบด้าน มีความพร้อมและความโดดเด่นในการรักษาเพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
- ดูแลตรวจค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อหาความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนโดยแพทย์เฉพาะทางเรื่องโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงภาวะกระดูกสันหลังยุบที่ดีที่สุด
- มีการรักษาภาวะกระดูกสันหลังยุบครบทุกรูปแบบ ทั้งการรักษาโดยไม่ผ่าตัด การใช้ยา การใช้อุปกรณ์ช่วยดามกระดูกสันหลังภายนอก การฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลังยุบ และในกรณีที่ต้องผ่าตัดเนื่องจากกระดูกสันหลังยุบทับเส้นประสาท ก็มีแพทย์เฉพาะทางสามารถดูแลผ่าตัดรักษาให้ได้
- มีการตรวจวินิจฉัยกระดูกสันหลังยุบด้วยเครื่อง MRI เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่ากระดูกสันหลังยุบเชื่อมต่อดีแล้วหรือไม่ หรือเป็นภาวะกระดูกสันหลังยุบจากปัจจัยอื่นๆ หรือไม่ เพื่อวางแผนในการรักษาได้อย่างแม่นยำเหมาะสม
- มีทีมกายภาพฟื้นฟู ดูแลผู้ป่วยกระดูกสันหลังยุบให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและมีความสุข ดูแลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา อยู่เคียงข้างผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
สรุป
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเงียบที่หากไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองก็จะไม่ทราบเลยว่าเป็นหรือไม่ เพราะไม่มีอาการปวดเป็นสัญญาณแจ้งเตือน ดังนั้น หากเราต้องการลดความเสี่ยงภาวะ “กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน” ในผู้สูงวัยให้ได้มากที่สุด การเข้ารับการตรวจเช็กความหนาแน่นของมวลกระดูกจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีของผู้สูงวัยที่ไม่ทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ แต่มีอาการปวดหลังเรื้อรังไม่หาย ลุก เดิน นั่ง ทำกิจกรรมเปลี่ยนอิริยาบถแล้วปวดหลังต่อเนื่อง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงอันนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง
ดังนั้น เพื่อให้ตัวเราเอง ตลอดจนผู้สูงวัยที่เป็นญาติผู้ใหญ่ที่รักและเคารพของเรา กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุขอีกครั้ง หากสังเกตพบอาการปวดหลังเรื้อรังผิดปกติ หรือพบอาการปวดหลังฉับพลันหลังประสบอุบัติเหตุเล็กน้อย ก็ไม่ควรชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
บทความโดย : นพ.จิรชัย พิสุทธิ์เบญญา ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง