Ganglion Cyst ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ เกิดจากอะไร พร้อมแนวทางรักษา
สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับอาการ Ganglion Cyst
|
Ganglion Cyst หรือก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ เป็นลักษณะเนื้องอกที่พบได้บ่อยที่สุดบริเวณข้อมือและข้อนิ้ว จึงทำให้เกิดอาการขัดบริเวณข้อหรืออาการปวดเมื่อขยับมือหรือข้อมือ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้งานได้ นอกจากนี้หากตัวก้อนมีขนาดใหญ่อาจทำให้ดูไม่สวยงาม จนสูญเสียความมั่นใจได้อีกด้วย บทความนี้จะมาแนะนำว่า Ganglion Cyst คืออะไร มีอาการอย่างไร พร้อมแนวทางการวินิจฉัย รวมถึงแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
Table of Contents
Ganglion Cyst คืออะไร
โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ หรือ Ganglion Cyst คือเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ข้อมือ โดยเนื้องอกชนิดนี้นับว่าเป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยที่สุด มีอัตราการพบถึง 50% บริเวณมือและข้อมือ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นบริเวณใกล้ข้อ ซึ่งเกิดได้หลายจุด ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่พบได้บ่อยสุดอย่างข้อด้านหลังข้อมือ ข้อมือด้านหน้า และตามข้อนิ้วต่างๆ นอกจากนี้ก้อนถุงน้ำที่ข้อมืออาจสามารถสังเกตเห็นได้หากมีขนาดใหญ่มากพอ และจะเห็นได้ชัดที่สุดเมื่อมีการขยับหรืองอบริเวณข้อส่วนที่มีก้อนถุงน้ำอยู่
Ganglion Cyst มีอาการอย่างไร
อาการโรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือมีหลายรูปแบบ ตามความรุนแรง และการใช้งานมือ ข้อมือ หรือข้อนิ้ว ดังนี้
- มีก้อนผิดปกติตามข้อมือหรือข้อนิ้ว อาจจะพบก้อนเฉพาะช่วงที่จำเป็นต้องใช้งานมือหนักๆ ช่วงไหนที่ไม่ค่อยได้ใช้งานมือ ก้อนก็อาจจะยุบลงไปได้
- มีก้อนผิดปกติตามข้อมือหรือข้อนิ้วร่วมกับอาการปวด เพราะการใช้งานมือหนักๆ จนทำให้เกิดการอักเสบบริเวณที่มีก้อนถุงน้ำ นอกจากนี้เมื่อก้อนถุงน้ำมีขนาดใหญ่ หากใช้งานมือในลักษณะเท้าแขนหรือลงน้ำหนักที่มือ จะทำให้ตัวก้อนถุงน้ำไปกดเบียดเส้นเอ็นบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้มีอาการปวดขึ้นมาได้
- ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือแตก เพราะมีก้อนถุงน้ำมีขนาดใหญ่ หากใช้งานมือหรือข้อมืออย่างหนัก ก็อาจทำให้เกิดการแตกของถุงน้ำที่ข้อมือ
Ganglion Cyst เกิดจากอะไร
ยังหาสาเหตุของการเกิด Ganglion Cyst ที่แน่ชัดไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการใช้งานข้อมือซ้ำๆ ไปมา ทำให้เยื่อหุ้มข้อมีความเสื่อมจากการใช้งาน ทำให้มีการสร้างถุงน้ำขึ้นมาจากตรงบริเวณเยื่อหุ้มข้อ
การวินิจฉัย Ganglion Cyst
การวินิจฉัย Ganglion Cyst เริ่มจากการซักประวัติว่าเคยมีประวัติการเกิดก้อนถุงน้ำหรือไม่ เพราะหากเคยเป็นแล้ว มักมีโอกาสที่กลับมาเป็นใหม่ได้ สามารถตรวจเพิ่มเติมได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
- การใช้แสงส่องตรวจสอบ โดยใช้แสงส่องไปที่ก้อน หากแสงวิ่งไปได้ทั่วก้อน จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าด้านในเป็นน้ำ ระบุได้ว่าเป็นก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ แต่ถ้าส่องเข้าไปแล้วแสงทึบ ก็อาจจะเป็นก้อนที่เกิดจากโรคอื่นได้
- การตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อระบุว่าด้านในก้อนเป็นน้ำหรือเป็นเนื้อ
- การทำ MRI สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นก้อนถุงน้ำหรือไม่ แต่ส่วนมากแค่การทำอัลตราซาวนด์ก็เพียงพอที่จะรู้ผลแล้ว
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
แนวทางการรักษา Ganglion Cyst
Ganglion Cyst ไม่ใช่ก้อนเนื้อร้ายและไม่มีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปเป็นเนื้อร้ายด้วย ดังนั้นการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการ ดังนี้
- กรณีที่ก้อนถุงน้ำมีขนาดเล็ก หรือไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ตัวก้อนถุงน้ำไม่ได้กระทบกับการใช้งานมือและข้อ รวมทั้งไม่มีอาการปวดร่วมด้วย ผู้ป่วยสามารถปล่อยไว้ได้
- กรณีที่ก้อนน้ำมีขนาดใหญ่ รวมถึงมีอาการปวดร่วมด้วย และมีการกระทบกับการใช้งานมือและข้อ หรือก้อนน้ำมีขนาดใหญ่จนทำให้สูญเสียความมั่นใจ สามารถรักษาได้ 2 ทาง ได้แก่
- การเจาะเพื่อดูดน้ำในถุงออก มีข้อดีคือสามารถทำได้ง่าย เพียงฉีดยาชาและเจาะน้ำออก หลังเจาะแล้วมีขนาดแผลเป็นรูเล็กๆ เท่านั้น แต่ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 50%
- การผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำออก เป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก มีการฉีดยาชาก่อนเริ่มผ่าตัด และเปิดแผลเพื่อเอาก้อนถุงน้ำออก ข้อดีคือโอกาสที่ก้อนถุงน้ำจะเกิดซ้ำมีน้อยมาก ประมาณ 10%
Ganglion Cyst ปล่อยไว้อันตรายไหม
Ganglion Cyst สามารถปล่อยไว้ได้ เพราะเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย และไม่มีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปเป็นเนื้อร้าย จึงนับว่าเป็นก้อนเนื้อที่ไม่อันตรายร้ายแรง อย่างไรก็ตาม หากตัวก้อนถุงน้ำจะไปกระทบกับการใช้งานมือและข้อมือในชีวิตประจำวัน แพทย์จะแนะนำให้รักษาเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้
ภาวะแทรกซ้อนจาก Ganglion Cyst
เนื่องจากตัวก้อนถุงน้ำ Ganglion Cyst ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงอะไรนอกเหนือจากอาการปวด หรือรู้สึกติดขัดเมื่อใช้งานแล้ว แต่หากมีการผ่าตัดนำ Ganglion Cyst ออกก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- เจ็บปวดบริเวณที่ผ่าตัด
- แผลเกิดการติดเชื้อหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง
การป้องกัน Ganglion Cyst
เนื่องจาก Ganglion Cyst หรือโรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ คือโรคที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ จึงยังไม่ได้มีแนวทางการป้องกันโรคที่แน่นอน ทั้งนี้หากสังเกตเห็นว่ามีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณข้อมือหรือข้อต่อ แพทย์แนะนำให้ใช้งานบริเวณเหล่านั้นให้น้อยลง เพื่อให้ก้อนถุงน้ำยุบลงไป และชะลอโอกาสในการกลับมาเป็นก้อนถุงน้ำอีกครั้งหลังจากยุบลงไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการชะลอการเกิดเท่านั้น ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดได้
รักษา Ganglion Cyst ที่ kdms Hospital ดีอย่างไร?
การรักษา Ganglion Cyst หรือก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ ที่ kdms Hospital มีทีมแพทย์คอยให้คำแนะนำ ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ดีและเหมาะสมกับตัวผู้ป่วย พร้อมความชำนาญด้านการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางด้านข้อมือ ลดความกังวลเกี่ยวกับอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจจะเกิดจากการผ่าตัดได้
นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital
สรุป
Ganglion Cyst คือเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เป็นตุ่มนูนขึ้นมามักเกิดขึ้นที่บริเวณข้อมือและข้อต่อ ยังหาสาเหตุแบบชัดเจนไม่ได้ แต่มีข้อสงสัยว่าอาจเกิดจากการใช้งานข้อมือซ้ำๆ ไปมา ทำให้เยื่อหุ้มข้อเสื่อม จึงสร้างถุงน้ำขึ้นมาจากตรงบริเวณเยื่อหุ้มข้อ หากก้อนถุงน้ำมีขนาดเล็กอาจจะไม่กระทบกับการใช้งาน แต่เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจจะทำให้รู้สึกติดขัดหรือรู้สึกปวด เมื่อใช้งานมือและข้อมือได้
เข้ามารักษาก้อนถุงน้ำที่ kdms Hospital แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยวิธี เช่น ใช้แสงตรวจสอบ ใช้อัลตราซาวนด์ และ MRI โดยแพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการเจาะหรือผ่าตัดเอาถุงน้ำออก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาติดขัดหรือปวดข้อมือและข้อต่อจากตัวถุงน้ำได้ รวมถึงป้องกันการเกิดซ้ำ โดยกระบวนการทั้งหมดจะอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อถือได้
บทความโดย นพ.ศุภกร บูรณะวงศ์ตระกูล ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านมือและข้อมือ