บทความ /

ปวดแบบนี้…ป่วยโรคไหน? รวมคำอธิบายอาการปวดจากคนไข้ที่พบได้บ่อยในห้องตรวจ

เนื่องจากหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูมักจะเป็นหมอที่จะถูกแพทย์สาขาอื่นส่งต่อคนไข้ที่มีอาการปวดมาให้บ่อยๆ ทั้งคนไข้ที่มีภาวะปวดเฉียบพลันหรือภาวะปวดเรื้อรัง ดังนั้นสิ่งที่ต้องถามคนไข้บ่อยๆ ก็คือประวัติที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด ต้องสอบถามอาการปวดเบื้องต้นเพื่อมองหาคำตอบให้ได้ว่ารูปแบบและความรู้สึกเจ็บปวดตามกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อแต่ละส่วนที่คนไข้พยายามอธิบายนั้นน่าจะมีสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งการบรรยายอาการปวดนั้นบางครั้งเกิดจากประสบการณ์ที่คนไข้เคยเจอมาดังนั้น ทำให้คำบรรยายบางครั้งอาจจะออกมาเป็นคำที่แปลกๆ ได้ เช่น ปวดเหมือนเอาพริกมาทา ปวดเหมือนกระดูกจะแตก ปวดเย็นเหมือนแช่ในตู้เย็น เป็นต้น

วันนี้จึงอยากจะชวนทุกท่านมาลองสังเกตว่าเวลาที่มีอาการปวดเกิดขึ้นในร่างกาย จะบรรยายออกมาเป็นคำว่าอะไรบ้าง เพราะบางครั้งคำบรรยายอาการปวดอาจจะช่วยแยกสาเหตุของโรคได้ ตัวอย่างคำอธิบายอาการปวดที่มักพบบ่อยในห้องตรวจ ซึ่งคุณหมอพอจะจำแนกจากปากคำของคนไข้ได้ตามภาพต่อไปนี้

กล้ามเนื้อบาดเจ็บ อักเสบ หรือถูกทำลาย ระบบประสาททำงานผิดปกติ
ปวดฝืดๆ หนักๆ
ปวดเหมือนถูกแทะ
ปวดเหมือนถูกแทง
ปวดเหมือนถูกมีดบาด
ปวดบีบๆ หนึบๆ ตื้อๆ ตุ๊บๆ แน่นๆ ตึงๆ
ปวดซ่าๆ ชาๆ
ปวดจี๊ดๆ เหมือนโดนเข็มตำ
ปวดฟรีซเหมือนถูกแช่แข็ง
ปวดแปล๊บเหมือนไฟฟ้าช๊อต
ปวดไหม้แสบร้อนเหมือนใครเอาพริกมาทา
ตารางที่ 1 : สาเหตุของอาการปวดในรูปแบบต่างๆ

ร่างกายของเราได้ส่งสัญญาณเตือนที่แตกต่างกันมาบอกใบ้ให้เราทราบ ยิ่งคุณสังเกตระดับความรุนแรง ระยะเวลา และความถี่ของอาการปวดโดยละเอียดได้มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง เพราะคุณหมอจะสามารถตั้งข้อสันนิษฐานคัดแยกประเภทอาการป่วยได้ว่า น่าจะเป็นภาวะปวดเฉียบพลันหรือภาวะปวดเรื้อรัง ปวดต่อเนื่องตลอดเวลา หรือปวดเป็นพักๆ

เมื่อทราบอาการเบื้องต้นแล้ว คุณหมอถึงส่งตัวคนไข้ไป X-ray สแกน MRI หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ตามความจำเป็นต่อไป เพื่อนำผลมาบันทึกลงในประวัติประกอบการวินิจฉัยสืบโรคได้ว่าคุณป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ และควรจะต้องได้รับการรักษาเยียวยาที่ถูกต้องในขั้นตอนต่อไปอย่างไร เช่น หากคุณมีอาการปวดแปล๊บเหมือนไฟฟ้าช๊อต (Electrical Shock Pain) ที่ต้นคอร้าวลงแขน อาจบ่งบอกถึงการถูกกดทับของเส้นประสาทที่ตำแหน่งต้นคอ แต่หากอาการปวดที่ต้นคอนั้นเป็นแค่ปวดหนักๆ ตึงๆ อาจจะเป็นเพียงแค่อาการปวดที่กล้ามเนื้อต้นคอเท่านั้น โดยไม่มีอาการรบกวนของเส้นประสาท เป็นต้น

KDMS เชื่อว่าคนไข้ยุคนี้คงจะจดบันทึกอาการไว้อย่างละเอียด และค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองจนเกิดความสับสนและวิตกกังวลใจเกินกว่าเหตุได้ ทางที่ดีจึงแนะนำว่าควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด อย่าเพิ่งไปนวดแผนไทยคลายเส้นเพราะอาจเพิ่มอาการบาดเจ็บให้สาหัสกว่าเดิมได้ค่ะ

ศุกร์, 20 ส.ค. 2021
แท็ก
ปวดบีบ
ปวดไหม้แสบร้อน
ปวดแปล๊บ
อาการปวด
ปวดซ่าๆ
ปวดตึง
ปวดจี๊ด
ปวดชาๆ
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นๆ
top line

Login