บทความ /

มวลกระดูกคืออะไร ทำไมต้องตรวจ ?

กระดูกของคนเราที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอวัยวะในร่างกายที่มีความแข็งแรงที่สุด สุดท้ายแล้วก็แตกหักได้เช่นกัน ถ้าไม่ระมัดระวังดูแลตัวเองให้ดี เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่กระดูกจะแข็งแรงน้อยลงจนเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนนั้นก็มีมากเป็นไปตามธรรมชาติร่างกาย เมื่อผู้สูงอายุหกล้มหรือประสบอุบัติเหตุ จะมีโอกาสกระดูกหักเป็นอันตรายได้ง่าย และรุนแรงกว่าคนในวัยหนุ่มสาว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถวางแผนป้องกันดูแลรักษาภาวะกระดูกพรุน และลดความเสี่ยงรุนแรงจากการเกิดกระดูกหักได้ ด้วยการตรวจมวลกระดูก เพื่อให้ทราบว่ากระดูกของเราแข็งแรงมากน้อยเพียงใด

มวลกระดูกคืออะไร ทำไมต้องตรวจ?

มวลกระดูก คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงภาวะความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งประกอบไปด้วยปริมาณและคุณภาพ โดยในเชิงปริมาณนั้น หมายถึงปริมาณแร่ธาตุและสารต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นเนื้อกระดูก เช่น ปริมาณความหนาแน่นของแคลเซียม ซึ่งถ้ามีน้อยก็จะส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อย เป็นต้น ส่วนในเชิงคุณภาพนั้น คือ สภาวะของกระดูกที่มีความพรุนมากหรือน้อย โดยหากมีรูพรุนมากก็จะหมายความว่ากระดูกมีคุณภาพไม่ดี

ดังนั้น การตรวจภาวะของมวลกระดูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบได้ว่า กระดูกของเราแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน เกิดภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ หรือมีความหนาแน่นของแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ ที่ทำให้กระดูกแข็งแรงลดน้อยลงมากแค่ไหน อันนำไปสู่การวางแผนดูแลรักษากระดูกให้แข็งแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการตรวจมวลกระดูก ง่าย ไว ไม่มีอะไรน่ากลัว

หลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้สูงวัย พอเอ่ยถึงการตรวจร่างกายแล้ว ก็มักมีความกังวล กลัวเสี่ยงเป็นอันตราย ทำให้เลือกตัดสินใจที่จะไม่เข้ารับการตรวจคัดกรอง ทั้งนี้ สำหรับการตรวจมวลกระดูกนั้น วิธีที่ใช้เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน คือการตรวจผ่านเครื่อง DXA Scan ซึ่งหลักการทำงานจะคล้ายกันกับเครื่องเอกซเรย์ โดยจะวัดค่าความสมบูรณ์ของมวลกระดูกจาก 2 ตำแหน่งหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ กระดูกสะโพก และ กระดูกสันหลังส่วนเอว เพราะ 2 บริเวณนี้มักเป็นจุดเกิดเหตุกระดูกยุบหักบ่อยที่สุด จึงใช้ค่าความสมบูรณ์ของมวลกระดูก 2 จุดนี้เป็นค่าอ้างอิงในการประเมินว่าผู้เข้ารับการตรวจมวลกระดูก มีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ รวมระยะเวลาในการตรวจจนถึงทราบผลแล้วประมาณ 10-15 นาที เท่านั้น

ผลจากการตรวจมวลกระดูก บ่งบอกอะไรเราได้บ้าง?

เมื่อตรวจมวลกระดูกเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะต้องเป็นผู้วิเคราะห์อ่านค่าและประเมินผลให้ เนื่องจากการอ่านค่ามวลกระดูกมีความซับซ้อน โดยผลของการตรวจวัดค่ามวลกระดูกนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  • มวลกระดูกปกติ หมายถึง กระดูกมีความแข็งแรงสมบูรณ์ดี
  • มวลกระดูกอยู่ในภาวะกระดูกบาง หรือ Osteopenia หมายถึง กระดูกเริ่มมีภาวะพร่องความแข็งแรง โดยอาจเป็นผลมาจากการขาดแคลเซียม ซึ่งแพทย์จะแนะนำการดูแลให้เหมาะสมตามสภาพมวลกระดูกของแต่ละบุคคล
  • มวลกระดูกอยู่ในภาวะกระดูกพรุน หรือ Osteoporosis หมายถึง เป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ตามความเหมาะสม โดยอาจใช้ยาเสริมสร้างกระดูก หรือลดการสลายของกระดูก เป็นต้น

การตรวจมวลกระดูกทำให้เราทราบสภาวะความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการวางแผนดูแลรักษาและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะกระดูกพรุน ซึ่งหากเราไม่ได้ตรวจมวลกระดูกเลย ก็จะไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุนอยู่ ทำให้หากเกิดอุบัติเหตุ หรือหกล้ม แม้จะไม่ได้รุนแรง ก็เสี่ยงกระดูกหักสูงกว่าคนที่มีภาวะมวลกระดูกปกติมากถึง 6-10 เท่า ดังนั้น การตรวจมวลกระดูกในกลุ่มผู้สูงวัย จึงสำคัญมากเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกหักให้น้อยลง

ใครบ้างที่ควรตรวจมวลกระดูก

โดยพื้นฐานแล้ว มวลกระดูกของคนเราจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน และในผู้ชายที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อถึงเกณฑ์ดังกล่าว ร่างกายจะสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งปัจจัยเรื่องฮอร์โมนเพศของผู้หญิงนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียมวลกระดูกโดยตรง จึงทำให้ผู้หญิงเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเตรียมตัวตรวจมวลกระดูก ให้คัดกรองภาวะกระดูกพรุนได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที สามารถแนะนำผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์ได้ดังต่อไปนี้

  • เพศหญิงตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป และเพศชายอายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ แต่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูก มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์ ในการรักษาโรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ หรือ โรค SLE เพราะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้เร็วกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเร็วกว่าอายุ 45 ปี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยมาก มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19

โดยส่วนใหญ่แล้ว การตรวจมวลกระดูกจะทำในผู้สูงอายุ สำหรับวัยหนุ่มสาวทั่วไปอาจไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ เพราะมีความเสี่ยงกระดูกพรุนน้อยมาก หรือสำหรับในนักกีฬาที่มีการใช้ร่างกายหนัก ๆ ก็เช่นกัน ที่อาจไม่จำเป็นต้องตรวจมวลกระดูก เพราะในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสม กระดูกจะยิ่งมีความแข็งแรงมากขึ้น แต่การออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาเรื่องข้อต่อ และการบาดเจ็บอื่น ๆ มากกว่า แต่ไม่ได้ส่งผลต่อภาวะกระดูกพรุนแต่อย่างใด

ใช้ชีวิตอย่างไร เสี่ยงทำให้กระดูกพรุนไวขึ้น

ในแง่ของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม อาทิ นมวัว ปลา ผักคะน้า ผักใบเขียว ฯลฯ ถือเป็นวิถีชีวิตที่จะช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรง และชะลอการลดลงของมวลกระดูกได้ดี ในขณะที่การไม่ค่อยออกกำลังกาย อยู่เฉย ๆ ไม่ค่อยทำกิจกรรมออกแรง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มกาแฟหนัก ๆ มากกว่าวันละ 6 แก้วขึ้นไป ฯลฯ วิถีชีวิตแบบนี้จะเสี่ยงทำให้ร่างกายสูญเสียมวลกระดูกเร็วขึ้น และเสี่ยงต่อภาวะกระพรุนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสำหรับใครที่แพ้นม หรือไม่ชอบทานนม ไม่ชอบทานผัก ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารของตนเองให้เหมาะสมมากขึ้น เพิ่มปริมาณอาหารที่ให้แคลเซียม เพื่อชะลอการสูญเสียมวลกระดูก

โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบสำหรับผู้สูงอายุทุกคน ซึ่งแท้จริงแล้วสามารถป้องกันและรักษาได้ โดยการตรวจมวลกระดูก เพื่อคัดกรองดูว่ากระดูกของเราอยู่ในสภาวะแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน เพื่อวางแผนในการดูแลรักษาให้เหมาะสม อันจะนำไปสู่การลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักรุนแรงได้ ดังนั้น สำหรับผู้สูงอายุทุกคน หรือ หากเราต้องการดูแลคุณพ่อคุณแม่ ญาติผู้สูงอายุ ให้ท่านมีคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีล่ะก็ การพาผู้สูงอายุใกล้ชิดเข้ารับการตรวจมวลกระดูกเมื่อถึงเกณฑ์ และหมั่นตรวจเป็นประจำทุก 1-2 ปี จะช่วยให้รับมือกับโรคกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตในบั้นปลายนั้นมีความปลอดภัยและมีความสุขได้มากขึ้น

Tue, 25 Jan 2022
แท็ก
กระดูกพรุน
ตรวจมวลกระดูก
มวลกระดูก
กระดูกบาง
Related doctors
Assoc. Prof. Gun Keorochana, M.D.
Assoc. Prof. Weerasak Singhatanadgige, M.D.
Assoc. Prof. Rattalerk Arunakul, M.D.
Assoc. Prof. Koopong Siribumrungwong, M.D.
Asst. Prof. Sirichai Wilartratsami, M.D.
Jirachai Pisutbenya, M.D.

Related packages
Endoscopic Discectomy used to treat a herniated or slipped disc, resulting in smaller incision, less pain and faster recovery performed by a team of spine surgeons....
package 451,000* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
1-Level Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody Fusion Endoscopic (MIS TLF) to treat Lumbar Disc Herniation performed by a team of spine surgeons....
package 492,000* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
Treatment of spinal disorders using steroid injections into the spinal cavity, performed by a team of spine surgeons....
package 49,000* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
บทความอื่นๆ
top line