บทความ /

ใครเป็นบ่อยยกมือขึ้น !! วิ่งทีไร…ตะคริวขึ้นทุกที

เคยสงสัยไหม ? ทำไมเวลาวิ่งหรือออกกำลังกายถึงชอบเป็นตะคริว หรือบางทีเมื่อนั่งหรือยืนนานๆ ก็รู้สึกเป็นตะคริวที่ขาเช่นเดียวกัน ส่วนบางรายก็สามารถเป็นตะคริวได้แม้ขณะนอนอยู่

ตะคริวคืออะไร และมีสาเหตุเกิดจากอะไร ?

ตะคริว คือภาวะที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อแบบชั่วคราว เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติทั้งที่เราไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ รวมถึงเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อที่มากเกินไปขณะวิ่ง ทำให้ปลายประสาทอาจเกิดการอักเสบ รวมถึงผู้ที่ร่างกายขาดเกลือแร่หรือน้ำอาจทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นอาจเกิดอาการล้าได้

ตะคริวที่เกิดจากการวิ่ง

ตะคริวที่เกิดจากการวิ่งในการออกกำลังกาย (EAMC) หรือ Exercise Associated Muscle Cramps เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง และไม่คลายตัว ถึงแม้จะเป็นแค่ชั่วคราวและไม่อันตราย แต่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดทรมาน เนื่องจากกล้ามเนื้อมัดนั้นขยับไม่ได้คล้ายกับการเป็นอัมพาต

ตัวกระตุ้นการเกิดตะคริว

ส่วนใหญ่การเป็นตะคริวไม่ได้มีตัวกระตุ้นอย่างชัดเจน บางรายอาจเกิดจากการที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันกลุ่ม Statin หรือผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือโรคที่มีการกดทับของเส้นประสาทที่สันหลัง เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ร่างกายขาดน้ำ และความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม ทำให้เกิดตะคริวได้ง่ายมากกว่าคนทั่วไป

กล้ามเนื้อส่วนใดมีโอกาสเกิดตะคริวได้บ่อย ?

  • กล้ามเนื้อน่อง (Calf Muscles หรือ Gastro – Soleus Muscles)
  • กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (Quadriceps และ Hamstring Muscles)
  • กล้ามเนื้อบริเวณหลัง (Back Muscles)

การรักษาาการเบื้องต้นขณะที่เป็นตะคริว

นวดและยืดกล้ามเนื้อ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวจะเกิดอาการหดเกร็ง แนะนำให้ค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อออกให้มาอยู่ในความยาวปกติของกล้ามเนื้อนวดประมาณ 1–2 นาที หากเริ่มรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงหรือดีขึ้นค่อยๆ คลายมือออก หากยังไม่ดีขึ้นให้ทำซ้ำจนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัวลง

การป้องกันตะคริวเบื้องต้นก่อนวิ่ง

ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากการวิ่งทำให้ร่างกายเสียเหงื่อ ซึ่งประกอบด้วยน้ำและเกลือแร่ หากไม่ได้รับการดื่มน้ำที่เพียงพอ ทั้งก่อนและหลังออกกกำลังกาย จะทำให้เกิดภาวะอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล ดังนั้นการดื่มน้ำให้เพียงพอจึงช่วยป้องกันตะคริวและหากเกิดอาการขึ้นก็จะไม่เจ็บมาก

อบอุ่นร่างกายก่อนวิ่ง (Warm–up) การยืดกล้ามเนื้อ (Muscle Stretching) ก่อนการวิ่ง จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้

ไม่หักโหมจนเกินไป หลีกเลี่ยงหรือลดการวิ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงเกินไป สำหรับนักวิ่งมือใหม่ไม่ควรหักโหม หรือหากรู้สึกกล้ามเนื้อเริ่มมีอาการตึงควรพักหรือหยุดวิ่งก่อน

เพิ่มปริมาณแคลเซียมและโพแทสเซียม เช่น การดื่มนม น้ำส้ม และกล้วย เพื่อบำรุงร่างกายและลดอัตราการเกิดตะคริว

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรึกษาวิธีการดูแลกล้ามเนื้อและรักษาสำหรับผู้ที่เกิดตะคริวบ่อยครั้งไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายได้

Tue, 10 Aug 2021
แท็ก
วิ่ง
ตะคริว

Related packages
บทความอื่นๆ
ทำไมต้องเสริมสมรรถภาพทางกายในการเล่นกีฬา?
[ถาม-ตอบ] อยากเริ่มวิ่งเทรล ต้องทำยังไง?
กล้ามเนื้อของคุณแข็งแรงแค่ไหน? ทดสอบด้วยตนเองง่ายๆ ในท่า Push Up
ไม่ต้องเป็นนักกีฬา ก็ใช้เวชศาสตร์การกีฬารักษาอาการบาดเจ็บได้
top line

Login