บทความ /

เท้าแบนคืออะไร หากเป็นแล้วควรหยุดเล่นกีฬาหรือไม่

เท้าแบน ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนที่ชอบออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือต้องเดินเยอะๆ เพราะเมื่อมีการใช้งานฝ่าเท้ามากเข้า ความรู้สึกเจ็บก็มักจะถามหาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคำถามที่คนมักจะสงสัยกันมากก็คือ หากพบว่าตัวเองมีภาวะเท้าแบนแล้ว ควรจะหยุดเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมหนักเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บที่เท้าของเราหรือไม่

ทำความรู้จักกับเท้าแบน 

โดยปกติเท้าของคนเราจะมีส่วนโค้งที่ยกสูงขึ้นมาบริเวณกลางฝ่าเท้าด้านใน ซึ่งเราเรียกส่วนนั้นว่าอุ้งเท้า แต่ในคนที่มีภาวะเท้าแบนจะสังเกตได้ว่าอุ้งเท้าด้านในเตี้ยลง ร่วมกับมีปลายเท้าเอียงออกไปทางด้านข้าง วิธีสังเกตคือหากลองลงน้ำหนักแล้วพบว่าฝ่าเท้าทั้งหมดแนบติดพื้น หรือในบางคนอาจจะมีอุ้งเท้าเตี้ยมากกว่าปกติจนแทบมองไม่เห็นส่วนที่โค้งเว้า นั่นหมายความว่าคุณอาจมีภาวะเท้าแบน

อีกรูปแบบหนึ่งนอกจากการมีอุ้งเท้าที่เตี้ยแล้ว ในบางคนอาจจะสังเกตได้จากการที่นิ้วเท้าหรือปลายเท้าปัดออกไปทางด้านนอก ซึ่งกรณีนี้จะเป็นปัญหาในเรื่องของแนวกระดูก

ภาวะเท้าแบนเกิดจากอะไร มีอาการรบกวนชีวิตประจำวันมากแค่ไหน

ส่วนใหญ่แล้วเท้าแบนเป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด โดยจะเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของรูปเท้าได้ตั้งแต่อายุประมาณ 6-8 ขวบ แต่เพราะในวัยนี้ยังมีน้ำหนักตัวน้อย เด็กๆ จึงสามารถเดินหรือวิ่งได้ตามปกติโดยไม่มีอาการเจ็บปวด เนื่องจากเส้นเอ็นและกระดูกยังแข็งแรงอยู่

แต่เมื่อผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน บวกกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น อุ้งเท้าที่แบนอยู่แล้วก็เริ่มแสดงอาการชัดเจนขึ้น โดยจะรู้สึกเจ็บเมื่อใช้งานเยอะๆ หรือทำกิจกรรมที่ลงน้ำหนักเท้ามากๆ ส่วนมากจะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุมากขึ้น โดยระยะแรกอาการจะสัมพันธ์กับการใช้งาน ถ้าใช้งานมาก เช่น วิ่งระยะทางไกล เล่นฟุตบอล เล่นบาสเกตบอลมากๆ จะมีอาการเจ็บ แต่ต่อมาเมื่อมีอาการมากขึ้น เพียงแค่เดินปกติในระยะทางไกลขึ้นก็อาจมีอาการเจ็บได้

อาการทั่วไปของภาวะเท้าแบน

รู้ไว้ไม่เสียหาย… ภาวะเท้าแบนมี 2 แบบ


1. เท้าแบนแบบยืดหยุ่น (Flexible Flatfoot)

เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุด สาเหตุมาจากการผิดปกติของเส้นเอ็นอุ้งเท้าด้านใน เกิดมีเส้นเอ็นเสื่อมสภาพจนไม่สามารถยกอุ้งเท้าไว้ได้ ทำให้เกิดภาวะเท้าแบนและมีอาการเจ็บ 

แนวทางการรักษา: แพทย์จะแนะนำให้ใช้แผ่นรองรองเท้าเพื่อหนุนอุ้งเท้าที่แบนให้กลับมาอยู่ในทรงที่ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงการหมั่นบริหารเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเท้าให้แข็งแรง และกินยาลดอักเสบ แต่หากรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป

ภาวะเท้าแบน

2. เท้าแบนแบบติดแข็ง (Rigid Flatfoot)

เป็นรูปแบบพบได้น้อยกว่าแบบยืดหยุ่น สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของกระดูกเท้า เช่น มีกระดูกบางตำแหน่งเชื่อมกันอยู่อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเท้าแบนผิดรูป และมีอาการเจ็บปวดเวลาเดิน 

แนวทางการรักษา: เนื่องจากภาวะเท้าแบนแบบติดแข็งเกิดจากปัญหาของกระดูก การรักษาจึงต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว โดยจะเป็นการผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูกใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีทรงเท้าที่ปกติ ซึ่งจะส่งผลให้อาการเจ็บหายไปด้วย

จริงๆ แล้วภาวะเท้าแบนไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ซึ่งสำหรับคนเป็นเท้าแบนที่มีไลฟ์สไตล์ชอบเล่นกีฬา รักการออกกำลังกาย ใช้ชีวิตแบบเอ็กซ์ตรีม หากคุณไม่ได้มีอาการเจ็บปวดขณะใช้งานก็ยังสามารถทำกิจกรรมที่ชอบได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือจะต้องใส่รองเท้ากีฬาที่ช่วยหนุนอุ้งเท้า และหมั่นบริหารเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเท้าอยู่เสมอ เพื่อเป็นการประคองและป้องกันไม่ให้อุ้งเท้าแบกรับน้ำหนักมากจนเกินไป เพียงเท่านี้คุณก็สามารถลุยได้ทุกกิจกรรมอย่างไม่มีลิมิต และยืดอายุการใช้งานเท้าไปได้อีกนาน

Q&A

Q: ภาวะเท้าแบนมีกี่แบบ แต่ละแบบต่างกันอย่างไรบ้าง

ภาวะเท้าแบนมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่
1. เท้าแบนแบบยืดหยุ่น (Flexible Flatfoot)
เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุด สาเหตุมาจากการผิดปกติของเส้นเอ็นอุ้งเท้าด้านใน เกิดมีเส้นเอ็นเสื่อมสภาพจนไม่สามารถยกอุ้งเท้าไว้ได้ ทำให้เกิดภาวะเท้าแบนและมีอาการเจ็บ
2. เท้าแบนแบบติดแข็ง (Rigid Flatfoot)
เป็นรูปแบบพบได้น้อยกว่าแบบยืดหยุ่น สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของกระดูกเท้า เช่น มีกระดูกบางตำแหน่งเชื่อมกันอยู่อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเท้าแบนผิดรูป และมีอาการเจ็บปวดเวลาเดิน

Q: แนวทางการรักษาภาวะเท้าแบนแต่ละแบบสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

1. ภาวะเท้าแบนแบบยืดหยุ่นแนะนำให้ใช้แผ่นรองรองเท้าเพื่อหนุนอุ้งเท้าที่แบนให้กลับมาอยู่ในทรงที่ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงการหมั่นบริหารเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเท้าให้แข็งแรง และกินยาลดอักเสบ 

2. ภาวะเท้าแบนแบบติดแข็งเกิดจากปัญหาของกระดูก การรักษาจึงต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว โดยจะเป็นการผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูกใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีทรงเท้าที่ปกติ ซึ่งจะส่งผลให้อาการเจ็บหายไปด้วย

Fri, 28 May 2021
แท็ก
เท้า
เท้าแบน

Related packages
บทความอื่นๆ
เป็นโรครองช้ำ รักษาอย่างไรดี ?
โรคเท้าที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ พร้อมวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น
เอ็นร้อยหวายอักเสบ เกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมคำแนะนำด้านวิธีการรักษาและป้องกันตัวเอง
เท้าแบนคืออะไร หากเป็นแล้วควรหยุดเล่นกีฬาหรือไม่
top line line