บทความ /

เจ็บข้อเท้า อาการบาดเจ็บใกล้ตัวที่คุณไม่ควรละเลย

 

อาการปวดข้อเท้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เนื่องจากเท้าและข้อเท้าเป็นอวัยวะสำคัญที่เราใช้งานมันอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ไปจนถึงการวิ่ง ออกกำลังกาย เล่นกีฬาต่างๆ เป็นอวัยวะที่รับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย ดังนั้นเราก็ควรหมั่นสังเกตและใส่ใจสุขภาพเท้าและข้อเท้าอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจึงไม่ควรละเลย เพราะเมื่อไหร่ที่ปล่อยให้อาการผิดปกตินั้นลุกลามอาจส่งผลร้ายตามมาได้

เมื่อเท้าและข้อเท้าเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้เราเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้ เราจะมีวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นอย่างไร และอาการเจ็บปวดแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

Table of Contents

หากเจ็บข้อเท้าในลักษณะนี้ ควรปรึกษาแพทย์


หากการเจ็บข้อเท้าเกิดขึ้นจากการใช้งานตามธรรมดา ไม่ได้เกิดจากการใช้งานหนัก หรือมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุหรือกระดูกหัก โดยปกติแล้วหากดูแลตัวเองด้วยการประคบเย็นอยู่เสมอ อาการเจ็บข้อเท้าควรจะค่อยๆ บรรเทาลงภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการต่างๆ เหล่านี้ร่วมด้วย แนะนำว่าควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

  • รู้สึกปวดข้อเท้ามากจนไม่สามารถลงน้ำหนักได้เป็นเวลานานกว่า 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ไม่สามารถขยับหรือกระดกข้อเท้าขึ้นหรือลงได้
  • ข้อเท้าบวมมากในช่วงเริ่มแรก และเมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนยังไม่ดีขึ้น

สาเหตุของอาการเจ็บข้อเท้าที่พบได้บ่อย


อาการเจ็บข้อเท้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเส้นเอ็น รวมไปถึงเรื่องการบาดเจ็บของกระดูกอ่อน และเส้นประสาทบริเวณข้อเท้าอักเสบ

  • รองช้ำ (พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ) เป็นการอักเสบที่บริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า อาการปวดจะอยู่บริเวณฝ่าเท้าใกล้ส้นเท้า ส่วนใหญ่จะมีอาการมากในช่วงเช้าที่ตื่นนอน หรือตอนลงจากเตียงแล้วเดินก้าวแรกๆ แต่เมื่อเริ่มทำกิจวัตรไปสักพักก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และอาการจะเป็นมากขึ้นอีกเมื่อยืนนานๆ หรือเดินระยะทางไกล

    โดยโรครองช้ำมีสาเหตุจากการที่เส้นเอ็นฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวายที่ตึงมากเกินไป น้ำหนักตัวมาก เดินระยะทางไกล หรือใส่รองเท้าที่ส้นแข็ง ไม่ถูกสุขลักษณะ
  • เอ็นร้อยหวายอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่บริเวณเส้นเอ็นร้อยหวาย ใกล้ๆ จุดเกาะเอ็นบริเวณส้นเท้า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากตัวเส้นเอ็นร้อยหวายตึงเกินไป

    แนวทางการรักษาของทั้งโรครองช้ำและโรคเอ็นร้อยหวายอักเสบนั้นใกล้เคียงกัน เบื้องต้นคือการทำกายภาพบำบัดโดยการบริหารร่างกาย เช่น ยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย, ยืดพังผืดฝ่าเท้า, นวดพังผืดฝ่าเท้า, การทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นเสียง (Shock Wave) เพื่อลดอาการอักเสบ, การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการมักจะทุเลาลงจากการทำกายภาพ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังมีอาการเจ็บอยู่ และต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
  • ข้อเท้าอักเสบ ในผู้ชาย สาเหตุของข้อเท้าอักเสบที่พบได้บ่อยคือโรคเกาต์ ส่วนในผู้หญิงจะเป็นกลุ่มโรคเกาต์เทียม หรือโรคกลุ่มข้อรูมาตอยด์ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมถูกต้องก็จะทำให้มีอาการปวดบวมข้อเท้าเป็นๆ หายๆ และเรื้อรังได้ 

อีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้ก็คือโรคข้อเท้าเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการใช้งาน การเล่นกีฬามากๆ นานๆ เป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะกีฬาที่มีการปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล หรือเกิดจากอุบัติเหตุ มักมีอาการข้อเท้าพลิกบ่อยๆ หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีรูปเท้าหรือข้อเท้าเอียงมาอยู่เดิม ทำให้น้ำหนักที่ผ่านข้อเท้าผิดปกติ มีการกระจายน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน จนเป็นสาเหตุของอาการปวดข้อเท้าเรื้อรังและข้อเท้าเสื่อม

  • การบาดเจ็บของกระดูกอ่อน มักมีสาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเท้าอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น ข้อเท้าพลิกรุนแรง กระดูกข้อเท้าหัก หลังจากรักษาการบาดเจ็บของกระดูกและเส้นเอ็นหายแล้ว เมื่อมีการใช้งานข้อเท้าผู้ป่วยกลับไปใช้งานจะยังมีอาการปวดลึกๆ ในข้อเท้าอยู่ หากใช้งานข้อเท้ามากๆ เช่น ไปออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา อาจมีอาการปวดบวมของข้อเท้าได้ ทำให้สงสัยได้ว่าอาจมีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนในข้อเท้า แต่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
  • เส้นประสาทบริเวณข้อเท้าอักเสบ บริเวณข้อเท้าและส้นเท้าของเรามีเส้นประสาทอยู่หลายเส้น ซึ่งทำหน้าที่สั่งการกล้ามเนื้อและรับรู้ความรู้สึกบริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้า หากมีการอักเสบหรือมีการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อเท้าจะทำให้เกิดอาการปวดชาบริเวณข้อเท้าและฝ่าเท้าได้ โดยลักษณะเฉพาะของอาการปวดจากเส้นประสาท คือจะเป็นอาการปวดร้าวจากข้อเท้าด้านในไปที่ฝ่าเท้า อาจมีอาการชาหรือรับรู้ความรู้สึกได้น้อยลงร่วมด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากอาการเจ็บปวดจากการอักเสบของเส้นเอ็นหรือข้อ ที่จะเป็นการเจ็บเฉพาะที่ชัดเจน ไม่ร้าว ไม่ชา

3 ท่าบริหารเส้นเอ็นสำหรับโรครองช้ำและเอ็นร้อยหวายอักเส

ท่าที่ 1 ท่ายืดเอ็นร้อยหวาย

1. ยืนโดยใช้มือยันกำแพงให้มั่นคง ถอยเท้าข้างที่เจ็บมาด้านหลัง ส้นเท้าแนบพื้น
2. แอ่นสะโพกไปทางด้านหน้าเพื่อยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย ค้างไว้ 10-15 วินาที และทำสลับกันไปทั้งสองข้าง
3. แนะนำให้ทำบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 ครั้ง จนเมื่อเอ็นร้อยหวายมีความยืดหยุ่น จะช่วยให้อาการเจ็บหรืออักเสบบริเวณเอ็นร้อยหวายและอาการของโรครองช้ำทุเลาลง

ท่าที่ 2 ท่ายืดพังผืดฝ่าเท้า

1. นั่งเก้าอี้ในท่าไขว่ห้าง โดยให้เท้าข้างที่จะทำการบริหารอยู่ด้านบน
2. ใช้มือทั้งสองข้างจับบริเวณนิ้วเท้า จากนั้นให้งัดนิ้วเท้าขึ้นเพื่อยืดพังผืดฝ่าเท้า ค้างไว้ 10-15 วินาที
3. แนะนำให้หมั่นทำบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 ครั้ง

ท่าที่ 3 ท่านวดพังผืดฝ่าเท้า

1. เตรียมวัสดุทรงกลมที่มีความแข็ง เช่น ท่อน้ำ PVC หรือกระบอกน้ำเหล็ก (หลีกเลี่ยงวัสดุที่สามารถแตกหักหรือบาดฝ่าเท้าได้)
2. นั่งบนเก้าอี้ นำวัสดุทรงกลมวางที่พื้น แล้ววางเท้าข้างที่จะทำการนวดลงบนวัสดุ
3. จากนั้นค่อยๆ คลึงนวดตั้งแต่บริเวณอุ้งเท้ามาจนถึงส้นเท้า คลึงกลับไปมาเพื่อยืดตัวพังผืดฝ่าเท้า ทำครั้งละ 15-30 วินาที วันละ 8-10 ครั้ง

การดูแลอาการเจ็บข้อเท้าแบบเบื้องต้น

หากผู้ป่วยกำลังประสบปัญหาบาดเจ็บข้อเท้าอยู่ สามารถใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้

  • พักการใช้งานข้อเท้า เดินเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเดินในระยะทางไกล 
  • ประคบเย็นในบริเวณที่รู้สึกเจ็บเพื่อให้เส้นเลือดหดตัว และช่วยลดอาการบวมช้ำ โดยประคบครั้งละ 20-30 นาที ถ้าพอมีเวลาให้ทำซ้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน เพื่อให้อาการปวดบวมลดลงได้เร็วขึ้น
  • หมั่นยกข้อเท้าให้สูงขึ้นขณะนั่งหรือนอน เพื่อช่วยลดอาการบวม 
  • ใช้ผ้าพันแผลแบบยืดพันข้อเท้า วิธีนี้ทำเพื่อประคองข้อเท้าไว้ไม่ให้ขยับใช้งานมากเกินไป แต่ต้องระวังว่าอย่าพันแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เท้าชาหรือทำให้ปลายเท้าขาดเลือดได้
  • การรับประทานยาลดการอักเสบเพื่อลดอาการปวดบวม 
บรรเทาการปวดข้อเท้าด้วยการพันข้อเท้าเพื่อประคองข้อเท้าไว้ไม่ให้ขยับใช้งานมากเกินไป

ไม่อยากให้อาการปวดข้อเท้าเรื้อรังถามหา ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

  • หมั่นบริหารเส้นเอ็นอยู่เสมอ ทั้งเอ็นฝ่าเท้า เอ็นร้อยหวาย เพื่อให้เส้นเอ็นมีความยืดหยุ่นพร้อมสำหรับการใช้งาน โดยเฉพาะก่อนและหลังการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา 
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เท้าหรือข้อเท้าไม่รับน้ำหนักมากจนเกินไป
  • เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย เหมาะสมกับรูปเท้าของตัวเอง หน้าเท้ากว้าง พื้นรองเท้าด้านในควรมีความนุ่มเพื่อซัพพอร์ตฝ่าเท้า แนะนำเป็นการสวมรองเท้ากีฬาจะดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยใช้วิธีการตามที่แนะนำไปแล้วแต่อาการปวดข้อเท้ายังไม่ดีขึ้นก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเช็กอาการอย่างละเอียดจะดีที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตรงตามอาการของโรค หรือในรายของผู้ที่อาการบาดเจ็บข้อเท้าของตัวเองดีขึ้นแล้วก็ต้องหมั่นดูแลและบริหารร่างกายทั้งก่อนและหลังทำกิจกรรม เพราะข้อเท้าของเราอาจยังไม่ฟื้นฟูกลับมาอย่างเต็มที่ก็เป็นไปได้

แต่จากข้อมูลกล่าวมานั้น แพทย์ไม่แนะนำให้พยายามเปลี่ยนท่าทางการวิ่งของตัวเองเพื่อจุดประสงค์ใดๆ เพราะอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บเท้าได้ โดยยังแนะนำให้วิ่งในท่าปกติตามที่ตัวเองเคยชินจะดีที่สุด เพราะแต่ละคนก็จะมีท่าวิ่งที่เคยชินและเป็นธรรมชาติเหมาะสมกับสรีระของตัวเองอยู่แล้ว

Q&A

Q: เคยล้มข้อเท้าพลิกรุนแรง ตอนนี้อาการดีขึ้น แต่วิ่งแล้วยังมีอาการเจ็บรบกวนอยู่ อยากกลับมาวิ่งอีกครั้ง ควรทำอย่างไรดี

เบื้องต้นผู้ป่วยลองสังเกตตัวเองดูก่อนว่าอาการเจ็บที่เป็นอยู่รบกวนการใช้งานมากหรือไม่ เช่น มีอาการเจ็บเมื่อวิ่งในระยะทางไกลๆ เท่านั้น วิ่งระยะใกล้ๆ ไม่มีอาการ หรือมีอาการเจ็บเมื่อพยายามฝึกวิ่งเพื่อเพิ่มระยะหรือเพิ่มความเร็ว ถ้าวิ่งแบบปกติไม่มีอาการ ลักษณะแบบนี้อาจจะดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยการค่อยๆ ฝึกพัฒนาการวิ่ง เพิ่มระยะทาง หรือเพิ่มความเร็วแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหม

แต่ถ้าอาการเจ็บเป็นตั้งแต่เริ่มวิ่ง หรือเจ็บมากจนไม่สามารถวิ่งได้ โดยเฉพาะถ้ามีอาการบวมแดงร่วมด้วย อาการแบบนี้แนะนำว่าควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เพราะอาการเจ็บเวลาใช้งานร่วมกับอาการบวมแดงอาจจะมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุครั้งก่อนแล้วยังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น มีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนในข้อเท้า มีเส้นเอ็นฉีกขาด หรือมีกระดูกชิ้นเล็กหักที่มองเห็นได้ยากด้วยการเอกซเรย์ ซึ่งในกรณีนี้ อาจจะต้องการตรวจเพิ่มเติมด้วย MRI ซึ่งจะช่วยการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับกระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นได้แม่นยำขึ้น

Q: การวิ่งโดยใช้ส้นเท้าลงก่อนกับการวิ่งโดยใช้ฝ่าเท้าลงก่อน จริงๆ แล้วแบบไหนคือวิธีที่ถูกต้อง และท่าทางเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดอาการเจ็บข้อเท้าหรือไม่ 

ตามทฤษฎีแล้ว การเดินหรือวิ่งของคนเราจะแบ่งตามวิธีการลงน้ำหนักได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

1. Heel Strike คือการใช้ ‘ส้นเท้า’ ลงน้ำหนักก่อน ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่คนส่วนใหญ่เป็นอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ข้อเสียของมันคือแรงกระแทกขณะเคลื่อนไหวจะมากกว่าส่วนอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อเข่า อาจจะทำให้เข่าเสื่อมเร็วได้

2. Midfoot Strike คือการใช้ ‘ฝ่าเท้าทั้งหมด’ ลงน้ำหนักพร้อมกัน ซึ่งข้อดีคือจะใช้พลังงานในการเดินหรือวิ่งน้อยกว่ารูปแบบอื่นๆ เหมาะสำหรับคนที่ต้องวิ่งระยะไกล เช่น วิ่งฮาล์ฟมาราธอน หรือฟูลมาราธอน

3. Forefoot Strike คือการใช้ ‘ปลายเท้า’ ลงน้ำหนักก่อน ข้อดีคือการใช้ปลายเท้าลงก่อนจะทำให้วิ่งได้เร็วขึ้น เหมาะกับคนวิ่งระยะสั้นที่เน้นความเร็ว แต่มีข้อเสียคืออาจจะทำให้รู้สึกเจ็บหน้าเท้าตามมาได้  
แต่จากข้อมูลกล่าวมานั้น แพทย์ไม่แนะนำให้พยายามเปลี่ยนท่าทางการวิ่งของตัวเองเพื่อจุดประสงค์ใดๆ เพราะอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บเท้าได้ โดยยังแนะนำให้วิ่งในท่าปกติตามที่ตัวเองเคยชินจะดีที่สุด เพราะแต่ละคนก็จะมีท่าวิ่งที่เคยชินและเป็นธรรมชาติเหมาะสมกับสรีระของตัวเองอยู่แล้ว

Fri, 12 Mar 2021
แท็ก
ปวดข้อเท้า
เจ็บข้อเท้า

Related packages
บทความอื่นๆ
เป็นโรครองช้ำ รักษาอย่างไรดี ?
โรคเท้าที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ พร้อมวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น
เอ็นร้อยหวายอักเสบ เกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมคำแนะนำด้านวิธีการรักษาและป้องกันตัวเอง
เท้าแบนคืออะไร หากเป็นแล้วควรหยุดเล่นกีฬาหรือไม่
top line