แบกเป้ให้ถูกระดับ ป้องกันภาวะหลังคด (Functional Scoliosis) ในเด็ก
เห็นลูกเดินตัวเอียงแบกของหนัก ไม่ใช่แค่ต้องห่วงจะเสียบุคลิกภาพเท่านั้น แต่ยังเพิ่ม โอกาสเกิดภาวะหลังคด (Functional Scoliosis) ได้ ซึ่งถึงแม้กระดูกจะไม่บิดงอเหมือนภาวะกระดูกหลังคด (Scoliosis ) แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังในอนาคตได้
ภาวะหลังคดนั้น มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากอวัยวะภายในร่างกายไม่สมดุล เช่น ขาสองข้างยาวไม่เท่ากัน หรือจากการแบกรับน้ำหนักสิ่งของเพียงข้างใดข้างหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ จนเคยชิน กลายเป็นพฤติกรรมติดตัวที่ทำร้ายกล้ามเนื้อหลังไปจนถึงข้อต่อกระดูกสันหลังจากแรงกระแทกยามที่เคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อเกิดซ้ำบ่อยครั้งเข้าจึงเกิดอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ส่งผลให้มีอาการปวดบ่า ไหล่ หลังไปจนโตได้
kdms ฝากข้อควรระวังจากคุณหมอให้กับผู้ปกครองคอยตรวจสอบตำแหน่งของกระเป๋าเป้สะพายหลังให้ได้ระดับเหมาะสมกับสรีระของเด็กๆ และควรมีน้ำหนักไม่เกินกว่า 15% ของน้ำหนักตัวผู้สะพาย
ตำแหน่งของกระเป๋าเป้สะพายหลัง
A อยู่ระดับเดียวกับสะบัก น้ำหนักเป้ที่รั้งบริเวณต้นคอจะส่งผลให้ปวดคอได้
B อยู่ระดับเดียวกับบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอก คือ ตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด
C อยู่ระดับเดียวกับบั้นเอว จะเกิดแรงกระแทกที่กระดูกบั้นเอวทำให้ปวดหลังได้
นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อเป้ที่มีสายรัดบริเวณสะโพกหรือสายรัดบริเวณอก เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักไม่ให้กดทับตำแหน่งไหนมากเกินไป และยังช่วยให้เคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้นด้วย
หากจำเป็นต้องใช้กระเป๋าสะพายข้าง ควรคาดสายสะพายเฉียงตัดลำตัวจะดีกว่าใช้บ่าเพียงข้างเดียวรับน้ำหนักกระเป๋า
รู้แบบนี้ หลังจัดกระเป๋าตามตารางเรียนแล้ว ต้องเช็คทุกเช้าก่อนลูกแบกเป้ขึ้นบ่าไปโรงเรียน หรือออกเดินทางไปทัศนศึกษาท่องเที่ยวที่ไหน ก็ต้องไม่ลืมปรับสายกระเป๋าให้ได้ระดับพอดีตัวจึงจะช่วยถนอมบ่าและหลังลูกเราไว้ได้อีกนาน
ผู้เขียน: ทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู kdms
ผู้เรียบเรียง: พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ