การผ่าตัด รักษาอาการมือชา ที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับ
อาการมือชาที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับเป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่มีการใช้มือในการทำงานซ้ำๆ อยู่ท่าเดิมๆ เป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนับว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลเร็วและตรงจุดที่สุด ทั้งยังใช้เวลาการพักฟื้นไม่นานอีกด้วย
เพื่อเป็นการทำความเข้าใจในรายละเอียด kdms จะมาลงลึกถึงสาเหตุของมือชา พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยการผ่าตัดในบริเวณต่างๆ
มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเส้นประสาทที่มาที่มือนั้นมีเส้นหลักๆ อยู่ 3 เส้น ได้แก่
- เส้นประสาทมีเดียน (median nerve) รับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นาง
- เส้นประสาทอัลน่า (ulnar nerve) รับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วก้อย นาง
- เส้นประสาทเรเดียล (radial nerve) รับความรู้สึกบริเวณด้านหลังมือ
เส้นประสาทแต่ละเส้น มักถูกกดทับในตำแหน่งเฉพาะของตัวเอง ซึ่งจะเกิดเป็นอาการต่างๆ กัน ที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- Carpal tunnel syndrome การกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) บริเวณข้อมือ
- Cubital tunnel syndrome การกดทับเส้นประสาทอัลน่า (ulnar nerve)บริเวณข้อศอก
- Radial tunnel syndrome การกดทับเส้นประสาทเรเดียล (radial Nerve) บริเวณแขน
เกิดจากการกดทับต่อเส้นประสาทชื่อว่ามีเดียน (median) บริเวณข้อมือ เป็นสาเหตุของมือชาที่เกิดจากการกดทับต่อเส้นประสาทที่พบได้บ่อยที่สุด
ซึ่งชื่อของกลุ่มอาการ Carpal tunnel syndrome นั้น มีความหมายตรงตัว carpus เป็นภาษาละติน แปลว่าข้อมือ carpal tunnel จึงหมายถึงอุโมงค์ที่ข้อมือ ที่มีเส้นประสาทมีเดียนวิ่งผ่านร่วมกับเอ็นงอนิ้วมืออีกหลายเส้น การใช้มือและข้อมือทำกิจกรรมมากๆ หรือนานๆ ทำให้เส้นประสาทถูกกดเบียดเข้ากับเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ด้านบน (transverse carpal ligament) ก่อให้เกิดอาการมือชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางบางส่วน
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้อยู่ที่การใช้มือในกิจกรรมต่างๆ ในประจำวันที่ข้อมืออยู่ในท่างอหรือเหยียดขึ้นอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น การใช้โทรศัพท์ การขับรถ การพิมพ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งในท่าทางเหล่านี้เอง เป็นท่าที่เส้นประสาทจะถูกกดทับโดยเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ด้านบน ทำให้มีอาการมือชาได้ การถูกดทับอาจเกิดขึ้นได้ทางอ้อมจากการใช้งานมือมากๆ จนเยื่อหุ้มเอ็นอักเสบ บวมหนาจนไปเบียดเส้นประสาทมีเดียนที่อยู่ในช่องอุโมงค์เดียวกัน ก็ทำให้เกิดอาการมือชาได้เช่นกัน
การผ่าตัดเพื่อรักษาการกดทับของเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome )
หากรักษาด้วยการพัก การกายภาพบำบัด และการให้ยาลดการอักเสบไม่ว่าจะรับประทานหรือฉีดยาเฉพาะที่แล้ว การผ่าตัดเป็นอีกทางที่ช่วยรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดนี้เป็นการทำให้เส้นทางที่เส้นประสาทวิ่งผ่านเปิดโล่งขึ้น ด้วยการผ่าคลายเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ที่เส้นประสาทมีเดียนลอดผ่าน (transverse carpal ligament release) ทำให้เส้นประสาทไม่ถูกกดเบียดภายในอุโมงค์
การผ่าตัดเปรียบเทียบได้กับร่างกายของเราเมื่อมีน้ำหนักมากขึ้น ก็จะเริ่มอึดอัดถ้าต้องใส่เข็มขัดรูเดิม การเพิ่มรูให้เข็มขัดหลวมขึ้นจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
การผ่าตัดคลายเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ที่เส้นประสาทนั้นสามารถทำได้สองแบบ
- แบบเปิดแผลผ่าตัดที่ผ่ามือ (open transvrse carpal ligament release) ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมานานได้ผลการรักษาดี แต่จะมีแผลที่บริเวณฝ่ามือขนาด 2-3 ซม. แต่เนื่องจากฝ่ามือเป็นส่วนที่ต้องใช้รับสัมผัส ต้องโดนน้ำเป็นประจำ ทำให้ยากต่อการดูเเลตัวเองหลังผ่าตัด อีกทั้งแผลเป็นบริเวณนี้ยังทำให้เจ็บรำคาญได้
- การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่ง คือการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อคลายเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ที่เส้นประสาท (endoscopic carpal tunnel release) โดยวิธีนี้ทำให้ไม่มีแผลที่ผ่ามือ แผลผ่าตัดจะเล็กเหลือ 7-8 มม.อยู่ที่ข้อมือแทน ทำให้กลับไปใช้มือในชีวิตประจำวันได้เร็วกว่า ลดอาการเจ็บแผลเป็นที่ฝ่ามือหลังผ่าตัด ที่สำคัญสามารถคลายเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ได้ตลอดความยาวของอุโมงค์ และมีความปลอดภัยสูง
ด้วยประสบการณ์เฉพาะด้านการส่องกล้องผ่าตัดของศัลยแพทย์ชำนาญการด้านมือที่โรงพยาบาล kdms วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องจึงถูกเลือกให้เป็นวิธีมาตรฐานของโรงพยาบาล เนื่องจากทำได้สะดวก ปลอดภัย และแผลเล็ก คนไข้จะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วกว่า
Table of Contents
2. Cubital Tunnel Syndrome หรือกลุ่มอาการเส้นประสาทอัลน่าบริเวณข้อศอกถูกกดทับ
เป็นสาเหตุมือชาที่พบได้เป็นลำดับสอง ซึ่งจะมีอาการชาด้านนิ้วก้อยและนิ้วนางบางส่วน เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทอัลน่า (ulnar nerve) บริเวณข้อศอก
สำหรับ cubitus ในภาษาละตินแปลว่าข้อศอก ดังนั้น cubital tunnel syndrome จึงหมายถึงการกดเบียดต่อประสาทอัลน่าในอุโมงค์ที่เส้นประสาทลอดผ่านบริเวณข้อศอก โดยลักษณะและตำแหน่งของเส้นประสาทส่วนนี้ เส้นประสาทอัลน่าจะถูกกดเบียดเเละถูกดึงรั้งอยู่ภายในอุโมงค์ได้ง่ายจากกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันปกติที่ต้องงอข้อศอกนานๆ หรือมีการงอเหยียดข้อศอกซ้ำๆ
ความเสี่ยงต่อโรคนี้เกิดจากกิจกรรมที่ต้องงอข้อศอกนานๆ พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ต้องอ่านหรือเขียนหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ปัจจุบันนี้ยังสามารถพบได้บ่อยในการใช้โทรศัพท์นานๆ ด้วย นอกจากนี้กิจกรรมที่ต้องงอเหยียดข้อศอกซ้ำๆ เช่น การเล่นกีฬา งานอดิเรกบางประเภท การทำงานบ้าน หรือการทำครัว ก็เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด อาการที่พบก็คือ อาการชาที่ฝั่งนิ้วก้อยและนิ้วนางบางส่วน ในบางครั้งอาจมีอาการปวดร่วมด้วย ในช่วงแรกอาการอาจเป็นเฉพาะเวลามีกิจกรรมที่ต้องงอข้อศอกนานๆ เมื่อเหยียดออกอาการชาจะดีขึ้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการชาตลอดเวลา หากปล่อยให้เป็นอยู่นาน กล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทนี้จะลีบ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ แต่สำคัญมาก ทั้งยังฟื้นฟูได้ยาก ดังนั้นควรรักษาให้หายก่อนที่กล้ามเนื้อจะฝ่อลีบจะดีที่สุด
การผ่าตัดเพื่อรักษากลุ่มอาการเส้นประสาทอัลน่าบริเวณข้อศอกถูกกดทับ
เบื้องต้นหากหากรักษาด้วยการรับประทานยา การพักใช้ข้อศอกในท่างอโดยการปรับท่าทางในกิจกรรมที่เป็นสาเหตุ หรือการกายภาพบำบัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น การผ่าตัดนับว่าเป็นวิธีการแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยการผ่าตัดนั้นมีจุดประสงค์เพื่อคลายหลังคาของอุโมงค์ ลดการกดเบียดต่อเส้นประสาทอัลน่าบริเวณข้อศอก
- การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเล็กสามารถทำได้ทั้งแบบแผลเปิดหรือแบบผ่านกล้อง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนไข้แต่ละราย
- ทั้งสองวิธีมีแผลเล็กๆอยู่ด้านในข้อศอกซึ่งเป็นบริเวณที่สังเกตเห็นได้ยาก ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องแผลเป็น
- หลังการผ่าตัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เลย
- เนื่องในภาวะนี้จุดที่เส้นประสาทโดนกดเบียดอยู่ไกลจากบริเวณที่ชา การฟื้นดีขึ้นของอาการชาจึงจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาช่วงหนึ่งอาการชาที่ดีขึ้นถึงจะสังเกตได้
3. Superficial radial nerve entrapment หรือการกดทับแขนงของเส้นประสาทเรเดียล
เกิดจากการกดทับแขนงของเส้นประสาทเรเดียล (superficial radial nerve) เป็นสาเหตุมือชาที่พบได้ประปราย ภาวะนี้เกิดจากการใช้งานข้อมือซ้ำๆ จนเส้นเอ็นเส้นหนึ่ง ไปทับ ไปเบียดเสียดกับเส้นแขนงเส้นประสาทเล็กๆ นี้ หรือเกิดจากสาเหตุการกดทับจากภายนอก เช่น การใส่นาฬิกา การคล้องกระเป๋าไว้ที่เเขน
สาเหตุที่ว่ามานี้ล้วนก่อให้เกิดอาการเจ็บหรือชาบริเวณหลังนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ บางคนอาจประสบกับอาการเจ็บแสบร้อนบริเวณนี้ได้เช่นกัน อาการอาจเป็นนานๆ ครั้ง หรือบางคนอาจเป็นมากจนกระทบชีวิตประจำวันมากก็ได้
การรักษาจะมีขั้นตอนตั้งแต่ พักการใช้งานข้อมือ รับประทานยาลดอาการอักเสบและยาลดอาการปวดจากเส้นประสาท หากอาการชาและอาการปวดไม่ดีขึ้นจึงพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเล็กๆ เพื่อรักษาที่ต้นเหตุ
การผ่าตัดเพื่อรักษาการกดทับต่อแขนงเส้นประสาทเรเดียล
การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเล็กๆ เพื่อตัดและคลายเอ็นส่วนที่กดทับเส้นประสาทจนเกิดอาการชาและปวด เนื่องจากว่าเป็นเส้นประสาทนี้อยู่ตื้นมาก การผ่าตัดด้วยเเผลเปิดเล็กๆ จึงพอเพียง หลังผ่าตัดสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ทันที
แนวทางการรักษาทั่วไปเมื่อมีอาการมือชาจากเส้นประสาทถูกกดทับ
โดยทั่วไปการรักษามือชาที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับมีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่
- การพักใช้งาน ทานยาลดการอักเสบ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้มือ และทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย
- ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อให้เส้นประสาทได้พักการใช้งาน
- หากอาการไม่ดีขึ้น จะรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ซึ่งทำได้เฉพาะการกดทับในบางตำแหน่ง
- รักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อให้หายขาด สำหรับรายที่อาการไม่ดีขึ้นหลังการรักษาข้างต้นที่กล่าวมา
โดยสรุป อาการมือชาไม่ใช่โรค แต่เรียกว่าเป็นกลุ่มอาการ เนื่องจากอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือมีอาการหลายอย่างรวมกัน เช่น บางคนมือชาน้อยแต่ปวดเยอะ บางคนปวดเยอะแต่ชาน้อย หรือบางคนมีอาการกล้ามเนื้อมือลีบลง ใช้งานได้ไม่ถนัด
ด้วยความที่อาการแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาการเหล่านี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ด้วย จึงควรได้รับการวินิจฉัยที่ละเอียดถี่ถ้วน การได้ปรึกษาพบแพทย์เฉพาะทางด้านมือและข้อมือที่มีประสบการณ์เฉพาะ จะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษามีความแม่นยำตรงจุด
Q&A
Q: วิธีรักษาการกดทับของเส้นประสาทที่บริเวณข้อมือมีอะไรบ้าง
หากรักษาด้วยการพัก การกายภาพบำบัด และการให้ยาลดการอักเสบไม่ว่าจะรับประทานหรือฉีดยาเฉพาะที่แล้ว การผ่าตัดเป็นอีกทางที่ช่วยรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดนี้เป็นการทำให้เส้นทางที่เส้นประสาทวิ่งผ่านเปิดโล่งขึ้น ด้วยการผ่าคลายเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ที่เส้นประสาทมีเดียนลอดผ่าน (transverse carpal ligament release) ทำให้เส้นประสาทไม่ถูกกดเบียดภายในอุโมงค์
Q: แนวทางการรักษาเมื่อมีอาการมือชาจากเส้นประสาทถูกกดทับมีอะไรบ้าง
โดยทั่วไปการรักษามือชาที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับมีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่
1. การพักใช้งาน ทานยาลดการอักเสบ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้มือ และทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย
2. ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อให้เส้นประสาทได้พักการใช้งาน
3. หากอาการไม่ดีขึ้น จะรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ซึ่งทำได้เฉพาะการกดทับในบางตำแหน่ง
4. รักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อให้หายขาด สำหรับรายที่อาการไม่ดีขึ้นหลังการรักษาข้างต้นที่กล่าวมา