บทความ /

มือชา ปลายนิ้วชา อาการบอกเหตุ และแนวทางการรักษาเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ

เวลาที่เราพูดถึงอาการ “มือชา” สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการที่เส้นประสาทถูกกดทับ (compressive neuropathy) หากนึกไม่ออกให้นึกถึงเวลาที่เรานั่งทับขาตัวเองนานๆ  เส้นประสาทก็จะถูกกดทับไปด้วย ทำให้มีอาการชา หรือเป็นเหน็บขึ้นที่บริเวณปลายขาปลายเท้า 

ซึ่งสาเหตุของมือชาที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับนั้น เกิดจากเส้นประสาทที่เดินทางมาที่มือจำเป็นต้องผ่านช่องแคบๆ ซึ่งบริเวณนี้เองเส้นประสาทมีความเสี่ยงที่จะถูกกดทับหรือโดนเบียดจากเพื่อนที่อยู่ข้างๆ เช่น เอ็น หรือ พังผืด 

โดยการกดทับนั้น เกิดได้จากการที่มีการขยับใช้งานส่วนนั้นซ้ำๆ บ่อยๆ หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต่างเป็นกิจกรรมแสนธรรมดาในชีวิตประจำวัน เช่น เขียนหนังสือ ทำงานบ้าน ใช้คอมพิวเตอร์ ทำอาหาร นวดขนมปัง ทำสวน เป็นต้น

ระดับของอาการชามือมีตั้งแต่เล็กน้อย ไม่ได้รบกวนชีวิตเรามากนัก จนไปถึงชามือตลอดเวลา นอกจากอาการชา ยังมักพบว่ามีอาการปวดแปลบๆ หรือปวดตื้อๆ ซึ่งเป็นลักษณะอาการปวดจากเส้นประสาท (neuropathic pain) ร่วมด้วย 

อาการมือชา: กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มควรเฝ้าระวัง

กลุ่มคนที่ใช้งานมือในลักษณะเดิมๆ ซ้ำๆ มีการใช้แรงที่มืออย่างต่อเนื่อง หรืออยู่ในท่าทางเดิมเป็นเวลานาน เช่น

  • กลุ่มแม่บ้านที่ใช้มือในการทำงานบ้านต่างๆ เป็นประจำ
  • กลุ่มคนที่ขับรถทางไกล หรือต้องขับเป็นเวลานาน
  • การเล่นกีฬาบางประเภทที่ต้องใช้มือจับอุปกรณ์ เช่น เทนนิส แบดมินตัน 
  • กลุ่มคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาการมือชานับเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการของออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) 

อ่านเพิ่มเติม: ปวดคอ บ่า ไหล่ กายภาพบำบัด และรักษาออฟฟิศซินโดรมอย่างไรเพื่อไม่ให้เรื้อรัง

อาการมือชา

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมือชา 

มือชาที่พบบ่อยพอจะแบ่งออกตามสาเหตุเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ อาการชาที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ (compressive neuropathy) กับ อาการชาที่มีสาเหตุจากโรคทางกายร่วมอื่นๆ 

อาการชาที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ (compressive neuropathy)

เกิดจากเส้นประสาทหลักของมือถูกกดทับในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ทำให้บริเวณที่เส้นประสาทไปเลี้ยงนั้นเกิดอาการชาและปวด กลุ่มนี้สังเกตได้จากอาการชามือมักเป็นที่ด้านใดด้านหนึ่ง สาเหตุเกิดจากการที่เส้นประสาทถูกกดเบียดในตำแหน่งที่ชัดเจน 

เส้นประสาทหลักของมือมีอยู่ 3 เส้น ได้แก่

  • เส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve)
  • เส้นประสาทอัลนาร์ (Ulnar Nerve) 
  • เส้นประสาทเรเดียล (Radial Nerve)  

โดยอาการมือชาที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือถูกกดทับ (carpal tunnel syndrome) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงฝ่ามือด้านนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง

อาการชาที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ (compressive neuropathy

อาการชาที่มีสาเหตุจากโรคทางกายร่วม

นอกจากนี้ยังมีอาการชาที่เป็นสาเหตุจากโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ปลายประสาทอักเสบ หรือขาดวิตามินบีรุนแรง โดยในกลุ่มนี้มักมีอาการชาส่วนปลายทั้งมือและเท้า มีอาการชามือทั้งสองข้างเท่าๆ กัน ซึ่งแนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง

อาการมือชาจากเส้นประสาทถูกกดทับ (compressive neuropathy)

อาการมือชาจากเส้นประสาทถูกกดทับ สามารถแบ่งออกเป็นระยะของอาการที่แตกต่างไป

  • ระยะแรก
    • มีอาการมือชาบางช่วง อาจรู้สึกยิบๆ ปลายนิ้วมือ ฝ่ามือ หรือบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ
    • มีอาการมือชาตอนกลางคืน ช่วงเช้ามืด หรือช่วงตื่นนอน 
    • มีอาการมือชาเฉพาะในขณะที่ใช้มือทำกิจกรรมบางชนิดๆ ซึ่งไม่ได้รบกวนชีวิตประจำวันมากนัก 
  • ระยะกลาง
    • อาการชามักเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ใช้มือทำกิจกรรมใดๆ 
    • หยิบจับสิ่งของแล้วไม่มีแรง เนื่องจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทไปเลี้ยง
    • นอกจากอาการชา อาจจะมีอาการปวดร่วมด้วย ลักษณะเหมือนโดนไฟช๊อต ปวดลึกๆ ปวดบีบๆ ในบริเวณที่ชา 
  • ระยะท้าย
    • มีอาการมือชาหรือปวดตลอดเวลา 
    • มีกล้ามเนื้อฝ่อลีบ เนื่องจากไม่มีเส้นประสาทไปเลี้ยง ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะยากต่อการรักษามากขึ้น

แนวทางการรักษาอาการมือชา

วิธีการรักษาอาการมือชาจากการที่เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับนั้น จำเป็นต้องอาศัยหลายวิธีร่วมกัน

  • หากมีอาการในระยะแรกๆ ควรพักการใช้งาน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้มือซ้ำๆ หรือนานๆ ทานยาลดการอักเสบ
  • สวมอุปกรณ์ช่วยพยุงข้อ เพื่อให้เส้นประสาทได้พักการใช้งาน และทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย
  • หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการชา หรือปวดบ่อยจนรบกวนชีวิตประจำวัน อาจจะพิจารณารักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่
  • พิจารณาผ่าตัด ในรายที่อาการยังไม่ดีขึ้น และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

อ่านเพิ่มเติม: การผ่าตัด รักษาอาการมือชา ที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับ 

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อให้เส้นประสาทได้พักการใช้งาน

 

การป้องกันและความเตรียมพร้อมก่อนเกิดอาการมือชา

จริงๆ แล้วอาการมือชาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จากการใช้งานข้อมือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ได้ผลแน่นอนจึงเป็นไปได้ยาก แต่กระนั้นการเตรียมพร้อมก่อนเกิดอาการมือชาก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำ

  • หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • ระหว่างการใช้งาน ในกรณีที่พิมพ์คอมพิวเตอร์ พยายามให้ข้อมืออยู่ในท่าตรง เพื่อไม่ให้ข้อมือต้องทำงานหนักขึ้น 
  • วางตำแหน่งให้มือสูงกว่าข้อมือเล็กน้อย แขนควรวางอยู่ข้างลำตัว ในท่าที่สบายๆ ไม่เกร็ง
  • หากจำเป็นต้องใช้งานมือข้างใดข้างหนึ่งในการทำงาน ควรฝึกให้มืออีกข้างใช้งานแทนกันได้ เพื่อไม่ให้ข้อมือข้างใดข้างหนึ่งทำงานหนักเกินไป
  • การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง จะช่วยให้ข้อมืออยู่ในท่าทางที่ถูกต้องระดับหนึ่ง
  • จัดสรรเวลาการทำงาน เพื่อให้ข้อมือได้มีเวลาพัก
  • ดูแลสุขภาพทั่วไป ไม่ให้น้ำหนักตัวเกินพอดี เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นที่อาจส่งผลต่ออาการมือชา เช่น เบาหวาน ข้ออักเสบ
  • ยืดเหยียด และออกกำลังกายข้อมือ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็น

ท่ายืดเหยียดที่ทำได้เองที่บ้าน

  • นวดเบาๆ 3-5 นาที บริเวณเส้นประสาทข้อมือ และกล้ามเนื้อ เพื่อยืดคลาย
การออกกำลังกายข้อมือเพื่อป้องกันอาการมือชาด้วยการนวดเบาๆที่ข้อมือ
  • ยืดเหยียด ผ่อนคลายข้อมือด้วยการดึงมือไปด้านบน และลงด้านล่าง ทำค้างไว้ราว 15-20 วินาที
การออกกำลังกายข้อมือเพื่อป้องกันอาการมือชาด้วยการยืดเหยียดข้อมือ
  • ออกกำลังกายยืดข้อมือ ด้วยการยกดัมเบลขนาดตามความเหมาะสมของแต่ละคน ยกขึ้นและลง เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อมือแข็งแรงขึ้น
การออกกำลังกายข้อมือเพื่อป้องกันอาการมือชาด้วยการยกดัมเบล
  • ทั้งนี้การยืดเหยียดและออกกำลังกายข้อมือควรทำตามกำลังของแต่ละคน เพราะหากทำผิดท่า หรือหักโหมเกินไปอาจส่งผลเสียต่อข้อมือมากกว่าข้อดี แนะนำว่าควรปรึกษาทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมนักกายภาพบำบัดร่วมด้วย

โดยสรุป อาการมือชาไม่ใช่โรค แต่เรียกว่าเป็นกลุ่มอาการ เนื่องจากอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือมีอาการหลายอย่างรวมกัน เช่น บางคนมือชาน้อยแต่ปวดเยอะ บางคนปวดเยอะแต่ชาน้อย หรือบางคนมีอาการกล้ามเนื้อมือลีบลง ใช้งานได้ไม่ถนัด 

ด้วยความที่อาการแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาการเหล่านี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ด้วย จึงควรได้รับการวินิจฉัยที่ละเอียดถี่ถ้วน การได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออร์โธปิดิกส์ด้านมือและข้อมือโดยตรง จะช่วยให้เข้าใจรายละเอียดของกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ พร้อมวางแผนการรักษาร่วมไปทีมแพทย์ในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติโดยไม่ต้องกังวลกับอาการชาและปวดอีกต่อไป

นัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษา และวินิจฉัยอาการได้ที่ 02-080-8999
Line @kdmshospital

https://lin.ee/PkZ8mk9

Q&A

Q: คนกลุ่มใดบ้าง ที่มีโอกาสเกิดอาการมือชา ปลายนิ้วชา

กลุ่มคนที่ใช้งานมือในลักษณะเดิมๆ ซ้ำๆ มีการใช้แรงที่มืออย่างต่อเนื่อง หรืออยู่ในท่าทางเดิมเป็นเวลานาน เช่น
1. กลุ่มแม่บ้านที่ใช้มือในการทำงานบ้านต่างๆ เป็นประจำ
2. กลุ่มคนที่ขับรถทางไกล หรือต้องขับเป็นเวลานาน
3. การเล่นกีฬาบางประเภทที่ต้องใช้มือจับอุปกรณ์ เช่น เทนนิส แบดมินตัน 
4. กลุ่มคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์

Q: วิธีการป้องกันก่อนเกิดอาการมือชา ปลายนิ้วชา มีอะไรบ้าง

จริงๆ แล้วอาการมือชาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จากการใช้งานข้อมือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ได้ผลแน่นอนจึงเป็นไปได้ยาก แต่กระนั้นการเตรียมพร้อมก่อนเกิดอาการมือชาก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำ
1. หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
2. ระหว่างการใช้งาน ในกรณีที่พิมพ์คอมพิวเตอร์ พยายามให้ข้อมืออยู่ในท่าตรง เพื่อไม่ให้ข้อมือต้องทำงานหนักขึ้น 
3. วางตำแหน่งให้มือสูงกว่าข้อมือเล็กน้อย แขนควรวางอยู่ข้างลำตัว ในท่าที่สบายๆ ไม่เกร็ง
4. หากจำเป็นต้องใช้งานมือข้างใดข้างหนึ่งในการทำงาน ควรฝึกให้มืออีกข้างใช้งานแทนกันได้ เพื่อไม่ให้ข้อมือข้างใดข้างหนึ่งทำงานหนักเกินไป
5. ยืดเหยียด และออกกำลังกายข้อมือ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็น

Tue, 15 Jun 2021
แท็ก
มือชา
นิ้วชา
Related doctors
Assoc. Prof. Thanapong Waitayawinyu, M.D.
Asst. Prof. Chinnakart Boonyasirikool, M.D.

Related packages
A minimally invasive surgery to relieve pressure on the median nerve in the wrist through a small incision. The procedure ensures that hand functionality remains unobstructed, resulting in fast recovery and full...
package 83,600* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
A surgical procedure to release finger’s tendon sheath, alleviating pain symptoms caused by Trigger Finger disease performed by a team of hand, wrist, and arm surgeons....
package 27,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
พังผืดทับเส้นประสาท
พังผืดทับเส้นประสาท โรคฮิตของคนใช้งานมือมากเกินไป ที่รักษาได้
“นิ้วล็อก” โรคยอดฮิต รักษาผิด เสี่ยงบาดเจ็บเพิ่ม
เจ็บข้อมือเรื้อรังไม่หาย ตรวจแบบส่องกล้องช่วยได้
รู้ยัง? เมื่อกระดูกข้อมือหัก ควรรักษากับ “หมอเฉพาะทางมือ”
top line

Login